เคยเป็นกันไหมคะ เมื่อเวลาที่เราจะโพสต์รูปลง Instagram แต่คิดแคปชันไม่ออก ไม่รู้จะเขียนอย่างไรให้โดนใจลูกค้า และมีเทคนิคไหนบ้าง ที่จะทำให้แคปชันของเราแตกต่างไปจากแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า บรรดาผู้ประกอบการและนักการตลาด ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้ได้กลยุทธ์ในการสร้างแคปชันกันพอสมควรใช่ไหมคะ
เพราะการนำเสนอสินค้าบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่การโพสต์รูปหรือวิดีโอสวย ๆ หรือการใช้แพลตฟอร์มที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพียงเท่านั้น แต่การสร้างแคปชันเด็ด ๆ
มีส่วนช่วยให้กลุ่มเป้าหมาย มุ่งความสนใจมาที่สินค้าและบริการของเราได้ไม่แพ้กัน
อย่างที่เราทราบกันดีค่ะ ว่าพื้นฐานการตั้งแคปชันบน Instagram นั้น นอกจากการนำเสนอ หรือสื่อสารกับผู้ชม ด้วยข้อความปกติแล้ว เรายังสามารถใส่ Emoji และ # (แฮชแท็ก) ได้มากถึง 30 แฮชแท็กเพื่อเพิ่ม Engagement แต่การคิดแคปชันที่ใครเห็นเป็นต้องคลิก แถมยังมีความที่ฉีกแนวไปจากแบรนด์คู่แข่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น STEPS Academy จะมาแนะนำขั้นตอนเทคนิคการเขียนแคปชันบน Instagram ให้โดนใจ หรืออาจเป็นไอเดียที่ท่านไม่รู้มาก่อน แถมยังช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างยอดขายได้จากแคปชันที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
1. รู้จักกลุ่มเป้าหมาย
ผลสำรวจจาก Statista ได้บันทึกสถิติเอาไว้ว้า จำนวนผู้เล่น Instagram ในปี 2020 มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านคน ซึ่ง 500 ล้านคนจากกลุ่มผู้เล่น Instagram นี้จะเข้าไปที่หน้าฟีดทุกวัน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การโพสต์รูปและวิดีโอ การอัปเดตข่าวสารหรือเทรนด์ใหม่ ๆ และการเข้าไปเลือกชอปปิงสินค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการทั้งหลายคงทราบข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้กันเป็นอย่างดี แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ใครคือกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์
การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นการวิเคราะห์ตลาดเพื่อหากลุ่มเป้าหมาย จะช่วยให้การนำเสนอสินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนข้อแนะนำให้ท่านใช้วิธีวิเคราะห์ลูกค้า ด้วยหลักการ Customer Persona ค่ะ
Customer Persona คืออะไร
หลักการวิเคราะห์ Customer Persona คือการวิเคราะห์พฤติกรรมความชอบและความสนใจส่วนตัว ความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงความคิด และทัศนคติส่วนตัว มีความละเอียดและเป็นข้อมูลเชิงลึกมากกว่าการวิเคราะห์ Segmentation ซึ่งจะแบ่งตามหลักภูมิประชากรศาสตร์ (อายุ, เพศ, เมืองที่อยู่อาศัย) และพฤติกรรม (งานอดิเรก หรือ ช่องทางบนโลกโซเชียลที่ใช้ )
เรามาดูตัวอย่างการวิเคราะห์ Customer Persona กันค่ะ
สมมติว่า เรากำลังวางแผนคิดแคปชันโฆษณาบน Instagram ซึ่งเป็นแบรนด์สายการบินแห่งหนึ่ง และเรามีข้อมูลของลูกค้าตามภาพตัวอย่างด้านบน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า โดยจะข้อมูลระบุถึงข้อมูลทั่วไปของลูกค้าแบบ Insight รวมไปถึงรายละเอียดอื่น ๆ เช่น
จากตัวอย่างผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์คร่าว ๆ ได้ว่า
- ลูกค้าเป็นผู้หญิง มีอายุ 30-35 ปี
- รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมีมากกว่า 1 แสนบาท
- ช่องทางที่ลูกค้าใช้มี Instagram
- กำลังมองหาสายการบิน เพื่อจองตั๋วบินไปเที่ยวกับครอบครัว
- ทริปที่ต้องการไป เป็นทริปเที่ยวต่างประเทศ
- ต้องการสายการบินที่มีความสะดวกสบาย และมีความคุ้มค่าในราคา
จากผลการวิเคราะห์แบบคร่าว ๆ นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถคิดแคปชันได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย แถมยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดังนี้
“แพคเกจดีๆสำหรับคนในครอบครัว ด้วยเที่ยวบินตรงไปญี่ปุ่นพร้อมที่พัก ที่เน้นความสะดวกสบายไปกับที่นั่งกว้างขวาง ที่พักเดินทางสะดวก ปลอดภัย ใจกลางแหล่งท่องเที่ยว สบายกายสบายใจตลอดทริปการเดินทางไปกับเรา สายการบิน STEPS Airline”
สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อมีการคิดแคปชันเบื้องต้น
1. การสื่อสารตรงไปตรงมาหรือไม่ มีบางประโยคที่กำกวม หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจหรือไม่
2. อิโมจิที่ใช้เหมาะสมกับแคปชันหรือไม่ ¯\_(ツ)_/¯
3. ข้อความหรือบริบทที่ใช้เหมาะสมกับแคมเปญหรือไม่
2. หา Brand Voice ให้เจอ
Brand Voice คือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ หรือองค์กร ที่มีความสอดคล้องกันข้อความที่เราต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง Brand Voice คือคุณค่าของแบรนด์ และบุคลิกภาพที่นำเสนอผ่านการใช้คำและรูปแบบการนำเสนอ ทั้งในรูปแบบของภาพ เสียง และเนื้อหาเพื่อให้เกิดภาพจำในโลกธุรกิจ
ยกตัวอย่างเช่น :
Character: แรงบันดาลใจ เชี่ยวชาญ มีความสร้างสรรค์
Tone : อ่อนน้อม, ตรงไปตรงมา, ซื่อสัตย์, เข้มแข็ง
Language : วิชาการ, ภาษาเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น
ตัวอย่าง Brand Voice ที่โดดเด่น
Disney เป็นแบรนด์ที่มี Brand Voice โดดเด่นซึ่งสามารถสื่อถึง ความสนุกสนาน ความเป็นครอบครัว การใช้ภาษาที่เรียบง่าย และเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และแรงบันดาลใจ
3. ความยาวของแคปชัน
ผู้เล่น Instagram ส่วนใหญ่มักเลื่อนฟีดดูรูปภาพกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเขียนแคปชันให้กระชับ ได้ใจความ หรือการเขียนแคปชันทำให้ชวนสงสัย ที่เห็นปุ๊บแล้วอยากจะคลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมปั๊บ จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่าการสร้างแคปชันที่มีหลายย่อหน้า
สำหรับโพสต์ในแต่ละฟีด แคปชันจะสามารถแสดงได้เพียง 3 บรรทัดแรกเท่านั้น ส่วนคำอธิบายภาพที่มีความยาวมากกว่า 3 บรรทัด ผู้เล่นจะต้องแตะเพิ่มเพื่ออ่านส่วนที่เหลือ ผู้เล่นจะต้องแตะเพิ่มเพื่ออ่านส่วนที่เหลือ ซึ่ง Instagram แนะนำให้เขียนแคปชันไม่เกิน 125 ตัวอักษรค่ะ
ตัวอย่างจาก Tesla Motors ที่มีแคปชันสั้น ๆ แต่ยังคงระบุรุ่นรถเอาไว้ให้ผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
ตัวอย่างที่ 2 นั้นตรงข้ามกับตัวอย่างแรกโดยสิ้นเชิง แต่ได้ผลผลัพธ์ที่ดี โดยที่ National Geographic นำเสนอภาพสุดประทับใจ พร้อมคำบรรยายเกี่ยวกับโลมาแม่ลูก เพื่อสร้างอารมณ์และคุณค่าของระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
4. สร้าง Keyword ที่โดนใจ
อย่าลืมว่าแคปชันที่ปรากฏบนหน้าฟีด จะเห็นได้เพียง 3 บรรทัดเท่านั้น และส่วนที่เหลือจะต้องกด เพื่อดูคำบรรยายส่วนที่เหลือ ดังนั้น การใช้ Keyword สามารถเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสนใจ และคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
ยกตัวอย่างจากแบรนด์ General Electric ที่มีแคปชันยาวเกินกว่า 3 บรรทัด แต่มี Keyword โดนใจลูกค้า นั่นคือคำว่า Epic Journey (มหากาพย์ความยิ่งใหญ่จากการเดินทาง) รวมไปถึงการกล่าวถึงผลิตภัณฑ์รุ่นล่าสุด ทำให้ลูกค้าทราบว่า สิ่งที่แบรนด์ต้องการจะนำเสนอคือผลิตภัณฑ์อะไร
5. แก้ไขแคปชันให้เหมาะสมกว่าเดิม
การคิดแคปชันให้โดน และเหมาะสมกับแต่ละแคมเปญไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นผู้ประกอบการและนักการตลาด ควรให้เวลาในการคิดและตกผลึก ซึ่งวิธีการที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมา คือวิธีการร่างแคปชันขึ้นมาก่อน ว่าโพสต์นี้ต้องการจะโฆษณาสินค้าและบริการอะไร มี Keyword หลักหรือไม่ กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาอ่านเป็นผู้บริโภคแบบไหน เราสามารถเขียนแคปชันให้ตลก หรือ ควรนำเสนอแนวิชาการ เมื่อพอร่างแคปชันได้แล้ว (ซึ่งอาจมีมากกว่า 1 แคปชัน) เราค่อยมาแก้ไขให้เหมาะสมขึ้น
เทคนิคการสร้างแคปชันให้น่าสนใจและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น คือการขอให้พื่อนร่วมงาน หรือทีม ช่วยกันอ่านแคปชันและแสดงความคิดเห็นก่อนโพสต์แคปชันลงไปจริง ๆ ซึ่งการระดมสมองในการคิดเรื่องสร้างสรรค์มีส่วนที่ทำให้งานประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นค่ะ
วิดีโอตัวอย่างจาก Hootsuite เป็นการแนะนำให้ใช้โปรแกรมเพื่อให้ทางทีมคอนเทนต์ หรือเพื่อนร่วมงานร่วมกันอ่านแคปชัน โดยที่สามารถให้คำแนะนำ หรือแก้ไขข้อความได้
6. ใช้แฮชแท็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ใคร ๆ ก็ใช้แฮชแท็กบนหน้าโพสต์ แต่การใช้แฮชแท็กให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่ทำแย่งความสนใจจากตัวแคปชัน เราสามารถซ่อนแฮชแท็กได้ด้วย 2 วิธีนี้ค่ะ
แยกแฮชแท็ก และ แคปชันออกจากกัน ด้วยการเว้นบรรทัดประมาณ 3 -5 บรรทัด ซึ่งผู้เล่น Instagram สามารถคลิกปุ่ม “เพิ่มเติม” เพื่ออ่านแฮชแท็ก ซึ่งการเว้นบรรทัดระหว่างการเขียนแคปชัน และแฮชแท็กอย่างชัดเจน จะทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านแคปชันได้ง่ายขึ้น ซึ่งจุดประสงค์หลักของการใช้แฮชแท็ก ทำให้สามารถค้นหาข้อความ ภาพ หรือ แบรนด์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การแยกแคปชัน และ แฮชแท็กออกจากกันจะเป็นผลดีมากกว่า
ไม่ใส่แฮชแท็กในแคปชันเลย แต่เลือกใส่แฮชแท็กในคอมเมนต์แทน
เรามาดูตัวอย่างจากโพสต์ของ Flight Centre CA ที่ใส่แฮชแท็กในคอมเมนต์แทนการใส่บนแคปชันค่ะ
7. ตั้งคำถาม
หนึ่งในวิธีที่จะทำให้ผู้อ่านเห็นแคปชันแล้วสะดุดตา คือการตั้งคำถามค่ะ ซึ่งทำให้ลูกค้าได้ฉุกคิด และ สนใจเข้ามาที่หน้าเว็บไซต์เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม และนอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และลูกค้าค่ะ
วิธีการตั้งคำถาม สามารถถามได้หลากหลาย ยกตัวอย่าง
- คำถามปลายปิด เช่น การตอบคำถาม ใช่ หรือ ไม่ใช่
- คำถามแสดงความคิดเห็นให้ผู้อ่านร่วมคอมเมนต์โพสต์นั้น ๆ
- คำถาม Multiple Choice ให้เลือกตอบ เป็นต้น
ข้อดีจากการตั้งคำถามบนแคปชัน คือการสร้าง Engagement ให้คนเข้ามาร่วมกดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์โพสต์ไปให้เพื่อน ๆ ได้ร่วมสนุก
ตัวอย่างแบรนด์ The Klog ที่โพสต์ภาพในรูปแบบของ Carousel เพื่อนำเสนอสินค้าพร้อมกัน 6 ภาพใน 1 โพสต์ และสร้างแคปชันให้ผู้เล่น Instagram ตอบคำถามเพื่อเลือกชุดจากทางร้านที่ถูกใจมากที่สุด
8. การ Mention
การสร้างแคปชันด้วยการ แท็ก หรือ Mention แอคเคาท์อื่น ๆ สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์ได้ โดยเทคนิคนี้เป็นเหมือนกับวิธีการใช้ Influencer อีกทางหนึ่งเพื่อโปรโมตแคมเปญของแบรนด์
ตัวอย่างจาก Apartment Therapy ที่ Mention ถึงผู้ถ่ายภาพ และสถานที่ถ่ายทำ
9. สร้างแคปชัน เพื่อกระตุ้นให้คนกดปุ่ม Call to Action (CTA)
วิธีสร้าง Engagement เพิ่มเติมสามารถทำได้ด้วยการสร้างแคปชันในรูปแบบของคำถาม เพื่อให้คนเข้ามาแสดงความเห็น หรือการแท็กแบรนด์อื่น ๆ รวมทั้ง Influencer เพื่อให้ผู้เล่น Instagram สามารถเห็นโพสต์ได้เยอะขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างแคปชันโดนใจ ที่ลูกค้าไม่อาจปฏิเสธได้ จะสามารถเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าคลิกเข้ามาที่ปุ่ม CTA (Call to Action) เช่น การสร้างแคปชัน นำเสนอคูปอง เพื่อรับสิทธิทดลองใช้
10. อย่ากลัวการใช้อิโมจิ
บางท่านอาจเคยสงสัยว่าการใช้อิโมจิบนแคปชันเหมาะสมหรือไม่ โดยจากมุมมองของผู้เขียนนั้น การใช้อิโมจิสามารถดึงดูดสายตาให้ผู้อ่านสนใจแคปชันได้และบางครั้ง อิโมจิสามารถสื่อถึงบางสิ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างโพสต์ได้เลยทีเดียว
ตัวอย่าง แบรนด์ Starbacks ใช้อิโมจิธงสีรุ้ง เพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBT
11. สร้างแคปชันด้วยคำคมโดน ๆ
การสร้างคำคมที่โดนใจสามารถนำคำพูดมาจากบุคคลดัง มาโพสต์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจได้ ซึ่งคำพูดที่จะนำมาใช้ ผู้ประกอบการสามารถเลือกวลีเด็ด หรือคำพูดที่มีความสอดคล้องกับแบรนด์มาโพสต์ จะเป็นผลลัพธ์ที่ดีกับตัวแคมเปญนั้น ๆ ค่ะ
ตัวอย่างจาก Gopro
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับเทคนิคการสร้างแคปชันที่ได้นำเสนอกันไป ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ประกอบการและนักการตลาดที่กำลังมองหาไอเดียใหม่ ๆเพื่อเขียนแคปชันจะนำเทคนิคการเขียนเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่โดนใจลูกค้ากันนะคะ
ข้อมูลจาก:
ttps://blog.hootsuite.com/