7 สูตรการเล่าเรื่อง Storytelling ให้แบรนด์ของคุณเป็นที่น่าจดจำ

7 สูตรการเล่าเรื่อง Storytelling ให้แบรนด์ของคุณเป็นที่น่าจดจำ

การมองหาความแตกต่าง ที่จะมาเป็นจุดแข็งให้กับแบรนด์ เป็นเรื่องที่นักการตลาด และเจ้าของธุรกิจจะต้องคิดหากลยุทธ์เพื่อมัดใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะต้องเจอกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น

  • คู่แข่งมีสินค้าแบบเดียวกัน
  • คุณสมบัติของสินค้าแบบเดียวกัน
  • โปรโมชันเหมือนกัน
  • ขายในสถานที่คล้ายกัน
  • ช่องทางขายเดียวกัน

แต่ว่า!! แบรนด์คู่แข่ง ก็ยังสามารถขายได้มากกว่า และยังขายในราคาที่สูงกว่าได้  ซึ่ง 1 ในวิธีการทำการตลาดนั้นมาจากการใช้คอนเทนต์แบบการเล่าเรื่อง หรือ Storytelling นั่นเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่าคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะรับสารได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องให้มีที่มาที่ไปแบบไม่ซ้ำใคร จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และกลายเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเล่าเรื่องเพียงแค่การเหตุผลกับลูกค้า ว่าทำไมพวกเขาจึงควรซื้อผลิตภัณฑ์ หรือทำไมต้องใช้บริการของธุรกิจเราเพียงอย่างเดียว จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

การแบ่งปันเรื่องราวเบื้องหลังของแบรนด์ของคุณ ว่าคุณผ่านอะไรมา ทำไมธุรกิจของคุณถึงมีอยู่ และธุรกิจของคุณได้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ซึ่งการที่ธุรกิจของคุณสามารถแบ่งปันเรื่องราว หรือประสบการณ์ที่เคยผ่านพบเจอมา จะทำให้ธุรกิจของคุณนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น และเชื่อมต่อกับผู้คน สร้างความไว้วางใจ โดยเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าออกไป จะส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าให้แก่แบรนด์ของคุณ โดยการเล่าเรื่องราวเช่นนี้เรียกว่า Stoytelling นั่นเอง

“Storytelling” คือ เทคนิคการเล่าเรื่องที่มีที่มาที่ไป มีจุดเริ่มต้น และ จุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพื่อผูกความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราว เพื่อสื่อสารอย่างเข้าใจ ช่วยให้เนื้อหาน่าติดตาม

เริ่มเห็นกันแล้วใช่ไหมคะว่าสิ่งที่แตกต่างกันในเรื่องที่กล่าวไปตอนต้น นั้นก็คือ “เรื่องราวของแบรนด์” ในคอนเทนต์นี้ ทางทีมงาน STEPS Academy จะขอยก 3 เหตุผลที่จะมาอธิบายให้ทุกท่านทราบกันว่าทำไมการเล่าเรื่องแบรนด์ของเราถึงสำคัญต่อการทำการตลาดออนไลน์ และอีก 7 สูตรการเล่าเรื่องที่หลาย ๆ แบรนด์ใช้กันแต่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ที่ทุกท่านอ่านแล้วสามารถนำไปใช้งานได้ทันที พร้อมทั้งมีตัวอย่างประกอบทำให้เห็นภาพกันมากขึ้น

 

3 เหตุผล ทำไมการเล่าเรื่องแบรนด์ถึงสำคัญสำหรับการทำการตลาดออนไลน์


1.สร้างความแตกต่างที่โดดเด่น

ในพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่มีการผลิตคอนเทนต์จำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน ธุรกิจหลายเจ้าทั่วโลก ใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ในการต่อสู้ เพื่อแย่งชิงวินาทีที่จะได้รับความสนใจจากผู้ชม จึงเป็นการแข่งขันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจคุณต้องปรับตัวในการสร้างคอนเทนต์ เพื่อรับมือคู่แข่งทางธุรกิจที่คล้ายกันบนโลกออนไลน์ และกำลังลงมือผลิตคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงกับกับธุรกิจคุณ จะเห็นได้ว่าท่ามกลางคอนเทนต์ที่มีอยู่มากมาย ทั้งจากคุณและคู่แข่ง จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับการเล่าเรื่องแบรนด์ของเราให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง

แทนที่เราจะใช้สร้างคอนเทนต์ที่บอกแค่ข้อมูล สถิติตัวเลขเพียงอย่างเดียว วิธีที่คุณจะสร้างคอนเทนต์ตัวเองโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด คือการสร้างเรื่องราวของแบรนด์คุณให้มีเอกลักษณ์ น่าสนใจ และแตกต่าง ใช้วิธีการเล่าเรื่องหรือ Storytelling ที่เข้าใจได้ง่ายและแบ่งปันประสบการณ์ที่ท้าทายของคุณเอง ปัญหาต่าง ๆ ที่คุณเจอและวิธีรับมือ ความสำเร็จและคุณค่าของแบรนด์ของคุณที่ไม่มีแบรนด์ใดจะสามารถลอกเลียนแบบได้

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากเว็บไซต์ blog.thebrandshopbw เผยว่าการสร้างแบรนด์ด้วยการเล่าเรื่อง (Brand Storytelling) คือกลยุทธ์ที่สร้าง Engagement ที่ดีระหว่างกลุ่มเป้าหมายและแบรนด์เป็นอย่างดี โดยสถิติปี 2023 นั้น ได้สรุปสถิติออกมาดังนี้

สถิติเกี่ยวกับ Brand Storytelling - 1
สถิติจาก blog.thebrandshopbw
  • 92% ของผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่มีการเล่าเรื่องผ่านโฆษณา
  • 55% ของลูกค้า จะจดจำเนื้อเรื่องของโฆษณาได้ดีกว่าเนื้อหาปกติทั่วไป
  • 68% ของลูกค้ากล่าวว่า การเล่าเรื่องราวให้กับแบรนด์นำไปสู่การตัดสินใจในการซื้อสินค้า และ บริการได้ดีขึ้น

2. การสร้างความเชื่อมั่น

เมื่อคุณกำลังสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา ให้คุณนึกถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากคุณอย่างแท้จริง (นอกเหนือจากเรื่องของสินค้าหรือบริการ)

สำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่น นั้นเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่การพูดถึงสินค้าหรือบริการของคุณเพียงอย่างเดียว คุณลองนึกถึงคุณค่าทางอารมณ์ และสิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือลูกค้าของเราได้

  • คุณอยากให้พวกเขาเดินจากเราไปด้วยความรู้สึกแบบไหนเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมกับคุณ?
  • อะไรคือสิ่งที่เราสามารถมอบให้พวกเขาได้เมื่อพวกเขามีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของคุณ?
  • ความหมายของแบรนด์เราที่มีต่อพวกเขา และอะไรคือเรื่องเล่าของคุณ

ใช้เรื่องราวของคุณในการเชื่อมต่อความรู้สึกที่ลึกซึ่งระหว่างแบรนด์กับลูกค้า การเริ่มบทสนาที่เปลี่ยนไป จากการพูดถึงธุรกิจของคุณเพียงอย่างเดียวให้กลายเป็นแบรนด์ที่แบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งที่แบรนด์สามารถช่วยเหลือให้ลูกค้าได้ก้าวข้ามผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าของคุณมีความเชื่อมั่นและเกิดความผูกพันกับแบรนด์ ว่าแบรนด์เป็นที่น่าเชื่อถือและสามารถช่วยเหลือเขาได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการของคุณ กลายเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนความสำเร็จของคุณ ติดตาม จงรักภักดี และกลับมาหาคุณอีกครั้ง

3.ความเอาใจใส่

ในปัจจุบันการตลาดไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขันที่สำคัญ แต่ลูกค้าต้องการบริษัทที่พิสูจน์ว่าพวกเขามีความพยายามในการช่วยเหลือให้การสนับสนุนสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อนมนุษย์ หรือแม้แต่ทีมงานขององค์กร มากกว่าเรื่องของผลกำไรบริษัท นั้นทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าบริษัทนั้นให้ความสนใจกับเรื่องของการช่วยเหลือผู้อื่นนอกเหนือจากแค่ผลกำไรของตนเอง ทำให้ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์และอยากสนับสนุนแบรนด์นั้น ๆ ต่อไป เช่น ในทุกครั้งลูกค้าทำการซื้อสินค้าแบรนด์ของคุณ 10% ของรายได้จะถูกนำไปช่วยเหลือเด็กที่ขาดอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น

ภารกิจที่แบรนด์ปราถนาที่จะ “เปลี่ยนโลก” นั้นไม่ใช่เรื่องที่เพ้อฝันอีกต่อไป ตราบใดที่แบรนด์กำลังแสดงถึงคุณค่าและเป้าหมายของพวกเขา (ซึ่งมีแค่ 10% ขององค์กรที่ต้องการเปลี่ยนโลก) และผู้บริโภคต่างหันไปหาแบรนด์ที่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ บริษัทที่เอาใจใส่สังคมและสิ่งแวดล้อมสูงสุด 10 อันดับแรกในดัชนี Global Empathy นั้นเป็นกลุ่มที่ทำกำไรและเติบโตเร็วที่สุดในโลก อย่างเช่น Tesla Motor  ที่มีค่าดูแลสุขภาพแก่พนักงานเต็ม 100% แสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่พนักงานขององค์กร และผลิตภัณฑ์รถยนตร์ของ Tesla ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ และช่วยประหยัดพลังงาน

ถึงตอนนี้ทุกท่านคงเข้าใจแล้วใช่ไหมคะ ว่าการเล่าเรื่องหรือ Storytelling ที่ดีนั้นสำคัญต่อธุรกิจและการตลาดอย่างไร ต่อมาเราจะมาแนะนำ สูตรการเล่าเรื่องหรือ Storytelling 7 สูตรที่มีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยที่คุณสามารถนำมาเป็นพิมพ์เขียวใช้สำหรับการเล่าเรื่องแบรนด์ของคุณออกมาให้น่าสนใจ มีสูตรการเล่าเรื่องแบบไหนบ้างมาดูกันเลยค่ะ

 

7 สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่จะทำให้แบรนด์ของคุณเป็นที่น่าจดจำ

 

1. สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Before-After-Bridge

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Before-After-Bridge  อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://stepstraining.co/content/7-formula-storytelling

นี่คือหนึ่งในสูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่ได้รับความนิยมและง่ายที่สุดที่จะใช้ในการเล่าเรื่องราวของแบรนด์หรือนำไปเป็นโครงในการเขียนคอนเทนต์ โฆษณา และในความเป็นจริงเราสามารถนำมาใช้ในการเล่าเรื่องผ่านโซเชียลมีเดีย แคมเปญการตลาด หรือในหน้า Landing Page ได้เช่นกัน

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

  • Before (ก่อน) – แสดงให้ผู้อ่านรับรู้ถึงปัญหา
    นำเสนอผู้ชมด้วยปัญหาที่แบรนด์สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นและเริ่มเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาและควรได้รับการแก้ไข ซึ่งเราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งที่ระบุนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อ่านกำลังประสบปัญหาอยู่
  • After (หลัง)  – แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าเมื่อแก้ปัญหาแล้วเป็นอย่างไร
    อธิบายถึงอนาคตที่ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว ว่ามีลักษณะอย่างไร ดีขึ้นอย่างไร และพวกเขาได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
  • Bridge  (สะพาน) – แสดงให้เห็นว่าต่องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้น
    เมื่อพวกเขาเห็นแล้วว่าหากได้รับการแก้ไขแล้วจะส่งผลดีอย่างไรบ้างเราจึงควรแสดงให้เห็นว่าแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ ด้วยการมีแบรนด์เราเป็นตัวช่วย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ตัวอย่าง Colgate

แบรนด์ยาสีฟันที่หลาย ๆ ท่านคงคุ้นเคยกันดีก็ได้ใช้การเล่าเรื่องแบรนด์แบบ Before-After-Bridge โดยการเริ่มต้นด้วยปัญหาที่ว่าผู้ใหญ่ชอบให้ขนมกับลูกของตนเองเลยกลัวลูกจะฟันพุ และบอกว่าหากใช้ยาสีฟันแล้วจะช่วยให้ลูกของคุณมีฟันที่แข็งแรง สวย และไม่ฟันพุ ด้วยการใช้ยาสีฟันของ Colgate จะช่วยป้องกันฟันผุแบบมีประสิทธิ์ภาพ

 

2. สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Problem-Agitate-Solve

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเล่าเรื่องหรือ Storytelling ที่เป็นที่นิยม เป็นสูตรการเล่าเรื่องที่ง่ายต่อความเข้าใจและสามารถนำไปใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่โฆษณาไปจนถึงการเขียนคอนเทนต์ลงบล็อก

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

  • Problem(ปัญหา) –  ปัญหาที่เกิด
    ก่อนอื่นคุณต้องเล่าถึงปัญหาที่ผู้อ่านกำลังประสบ ความเจ็บปวดที่เคยเจอมา หรือปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายเราเคยพบประสบเจอมา
  • Agitate(กวนใจ) –  สิ่งที่กวนใจ
    จากนั้นคุณจะทำการเน้นย้ำปัญหาเหล่านั้นให้รู้สึกรุนแรงมากขึ้นเพื่อให้ผู้ชมนั้นได้รับความรู้สึกทางอารมรณ์
  • Solve (แก้ไข) – วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น
    ในที่สุดคุณจะแสดงให้เห็นว่าแบรนด์สามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร

ตัวอย่าง Toms Shoes

เจ้าของแบรนด์อย่าง Blake Mycoskie ที่เริ่มต้นธุรกิจรองเท้าจากการที่เขาได้ไปท่องเที่ยวในอเมริกาใต้และอาร์เจนตินาในปี 2006 สิ่งที่เขาเห็น คือเด็ก ๆ ที่นั่นไม่มีรองเท้าใส่ ต้องใช้ชีวิตเท้าเปล่าตลอดเวลาจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจที่จะแบ่งปันรองเท้าให้แก่เด็ก ๆ เหล่านั้น โดยใช้สโลแกนว่า “With every product you purchase,TOMS will help a person in need. One for One” แปลว่ารองเท้าทุกคู่ที่คุณซื้อ TOMS จะนำไปช่วยเหลือคนที่ต้องการแบบชิ้นต่อชิ้น ซึ่งแบรนด์ TOMS ได้ใช้การเล่าเรื่องแบรนด์ตนเองแบบ Problem-Agitate-Solve โดยปัญหามาจากเด็ก ๆ ไม่มีรองเท้าใส่ สิ่งที่กวนใจคือ Blake Mycoskie อยากช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น และลงมือแก้ปัญหาโดยการทำธุรกิจขายรองเท้าเพื่อนำรายได้นั้นมาช่วยเหลือเด็ก ๆ ส่งผลไปถึงผู้ซื้อที่รู้สึกดี ในการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือบุคคลอื่น ๆ

 

3.สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Features-Advantages-Benefits

quote-consumers-do-not-buy-products-they-buy-product-benefits-david-ogilvy
ภาพจาก : https://www.azquotes.com

สูตรการเล่าเรื่องนี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ สูตรการเล่าเรื่องนี้ช่วยให้นักออกแบบและผู้จัดการ อธิบายและนำเสนอผลิตภัณฑ์ในแง่ของประโยชน์ มากกว่าแค่คุณสมบัติของสินค้าอย่างเดียว

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

  • Features (คุณสมบัติ) – สินค้าของคุณทำอะไรได้บ้าง
    อันดับแรกคุณต้องแสดงถึงคุณสมบัติหลักของสินค้าที่แบรนด์นำเสนอ ว่าสามารถทำอะไรได้ โดยใช้ข้อเท็จจริงของข้อมูลต่าง ๆ
  • Advantages (ข้อดี) – สิ่งนี้จะช่วยอะไร ทำอะไรได้บ้าง
    จากนั้นคุณจะนำเสนอข้อดีของแบรนด์คุณที่สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างไร
  • Benefits (ประโยชน์) – สิ่งนี้มีความหมายอะไรกับผู้อ่าน ทำไมต้องใส่ใจ
    สุดท้ายแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทำไมเขาถึงควรใส่ใจข้อเสนอของเราแบรนด์เราจะทำให้การใช้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นอย่างไร

ตัวอย่าง GoPro

ในจดหมายจากผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Nicholas Woodman บนเว็บไซต์ได้กล่าวไว้ว่า “GoPro จะช่วยให้คนจับภาพและแบ่งปั่นชีวิตประสบการณ์ที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตพวกเขาให้กับคนอื่น ๆ ในการฉลองด้วยกันเหมือนการนั่งบนภูเขากับเพื่อน ๆ ที่มีความหมายมากกว่าการอยู่คนเดียว สิ่งที่คุณแบ่งปันประสบการณ์นั้นทำให้ชีวิตมันสนุกขึ้น กล้องอเนกประสงค์ที่ดีที่สุดในโลก คือสิ่งที่เราทำ การทำให้คุณสามารถแบ่งปั่นเรื่องราวของคุณผ่านการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอที่น่าทึ่ง คือสิ่งที่เราทำ” ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องแบบ Features-Advantages-Benefits ซึ่งบอกคุณสมบัติคือกล้องที่จับภาพและถ่ายวิดีโอได้อย่างน่าทึ่งเป็นกล้องอเนกประสงค์ที่เล็กพกพาง่าย ข้อดีคือคุณสามารถแชร์รูปภาพ วิดีโอ แบ่งปันประสบการณ์ ความสนุกให้ผู้อื่น และประโยชน์คือทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากกว่าการอยู่คนเดียวโดยการแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตเราให้แก่คนอื่น

 

4. สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Three-Act Structure

ThreeActStructureFlat
ภาพจาก : https://www.nownovel.com

Three-Act Structure เป็นสูตรการเล่านิทานเก่าแก่ที่ถูกนำมาใช้ในละครยอดนิยมหลายเรื่อง ทั้งภาพยนตร์ หนังสือ การ์ตูน วิดีโอเกมและบทกวี ภาพยนตร์ฮอลลีวูดส่วนใหญ่ทำตามการเล่าเรื่องนี้เนื่องจากได้รับการพิสูจน์จากหลาย ๆ เรื่องแล้วว่าเป็นสูตรการเล่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จ

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

  • Act One / Setup (ติดตั้ง) – แนะนำตัวละครและฉากที่เกิดขึ้น
    ในฉากแรกจะเป็นการแนะนำตัวละครหลักของเรื่องและฉากหลักที่กำลังเกิดขึ้น
  • Act Two / Confrontation  (การเผชิญหน้า) – การเจอกับอุปสรรคปัญหา สิ่งกีดขวางต่าง ๆ
    ในส่วนที่สองนี้มักจะเป็นช่วงที่ยาวที่สุดของเรื่องราวทั้งหมดตัวละครหลักจะเผชิญหน้ากับอุปสรรคและปัญหา โดยอุปสรรคเหล่านี้จะปรากฎขึ้น เพื่อขัดขวางตัวละครหลักจากเป้าหมาย และจะเพิ่มความถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะใกล้เคียงกับการพยายามแก้ปัญหาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ
  • Act Three / Resolution (การยืนหยัด) – การยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาจนก้าวข้ามมาได้แล้ว
    หลังจากช่วงเวลาของการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคของเขา ในที่สุดตัวละครหลักก็จะได้ชัยชนะ และเรื่องราวก็จบลง เป็นช่วงเวลาที่ตัวละครหลักแสดงให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นจากตอนเริ่มต้น และตอนนี้เขาได้เปลี่ยนไปแล้ว

ตัวอย่าง Extra Gum

Act One – ซึ่งเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครหลักสองคนที่รู้จักกันโดยบังเอิญ และผู้หญิงได้แบ่งหมากฝรั่งให้แก่ฝ่ายชายและทั้งสองก็ได้ตกหลุมรักซึ่งกัน

Act Two – เมื่อทั้งสองเรียนจบก็ได้อยู่ร่วมกันมีอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน ทั้งสองก็ยังคงแบ่งปันหมากฝรั่งให้กันและกัน แต่แล้วทั้งคู่ก็ต้องห่างไกลกันด้วยเรื่องของการทำงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ของทั้งคู่

Act Three – ทั้งคู่ยังคงยืนหยัดในความรักที่มีให้แก่กัน ฝ่ายชายได้นัดผู้หญิงมาสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งได้มีกรอบรูปที่ใส่เปลือกหมากฝรั่ง วาดเรื่องราวระหว่างเขาทั้งคู่จนถึงกรอบรูปสุดท้ายฝ่ายชายได้ขอผู้หญิงแต่งงาน

ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าหมากฝรั่ง Extra Gum อยู่ในทุกจังหวะเวลาของทั้งคู่ ซึ่งโฆษณาชุดนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ

 

5. สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Freytag’s Pyramid: Five-Act Structure

Freytags-Pyramid
ภาพจาก : https://www.referralcandy.com/blog/storytelling-formulas/

Gustav Freytag นักเขียนนวนิยายชาวเยอรมัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 ได้วิเคราะห์เรื่องราวของนักเล่าเรื่องกรีกโบราณ รวมไปถึงผลงานของเช็คสเปียร์ และได้ค้นพบรูปแบบในการเล่าเรื่อง เขาได้นำมาพัฒนาจนเป็นไดอะแกรมในที่สุด รู้จักกันชื่อ Freytag’s Pyramid ที่ช่วยให้นักเขียนจัดระเบียบความคิดของพวกเขา

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

  • Exposition (การแสดง)
    นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว เบื้องหลังของตัวละครและเป็นการแนะนำตัวละครให้แก่ผู้อ่าน
  • Inciting Incident (ต้นเหตุ)ต้นเหตุที่ส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ ที่ทำให้ตัวละครมีปฎิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
  • Rising Action (การลุกขึ้นลงมือทำ)นี่คือฉากสำคัญของเรื่อง เพื่อจะเป็นการเล่าเรื่องเพื่อไปให้ถึงจุดสำคัญของเรื่อง มักจะเป็นส่วนสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดตัวละครพยายามจะแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
  • Climax (จุดสำคัญ) เป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตัวละคร เป็นส่วนที่สำคัญของเรื่องราวที่เจอกับปัญหาความตึงเครียดที่มากที่สุด
  • Falling Action (ล้มเหลว)หลังจากเหตุการณ์สำคัญตัวละครอาจแพ้หรือชนะกับปัญหา เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจาก Climax แล้วอุปสรรคที่เจอ ตัวละครแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรจากเหตุการณ์ Climax
  • Resolution (การยืนหยัด)ตัวละครจะแก้ไขปัญหาและยืนหยัดการต่อสู้
  • Denouement  (แก้ไข)
    เมื่อตัวละครก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆได้แล้วในตอนจบนั้นเรื่องมักจะมีความสุขหรืออาจเป็นเรื่องที่เศร้า

ตัวอย่าง The Spring

ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องหรือ Storytelling แบบพิระมิดของ Freytag เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์และเปิดตัวแคมเปญการบริจาครายเดือนจากแคมเปญที่ชื่อว่า “The Spring – The charity: water story”

ในเริ่มต้นเสียงของ Scott เปิดเรื่องด้วยธรรมชาติของน้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญและเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตทุกคนบนโลก และวันนึงแม่ของเขาก็ป่วยและจากโลกนี้ไป Scott ได้ตั้งเป้าหมายว่าเขาอยากจะเป็นหมอเพื่อรักษาคนป่วยแบบแม่เขา แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปจนเขาเป็นวัยรุ่น ก็ได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในความมืดมิด

ชีวิต Scott รายล้อมไปด้วยยาเสพติด แอลกอฮอลแล้ววันนึงเขาก็ตัดสินใจเริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง โดยการเป็นช่างภาพอาสา ออกเดินทางไปทั่วโลกด้วยเรือ Mercy Corp ที่มีทีมแพทย์ พยาบาล ออกเดินทางรักษาผู้คนจำนวนมาก ในระหว่างการเดินทาง Scott ได้บันทึกภาพของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้าทำให้เขาได้พบผู้คนมากมาย และช่วยเหลือในการผ่าตัดใบหน้า แล้วเขาก็ได้เห็นว่าผู้คนต่าง ๆ ที่ป่วย ล้วนดื่มน้ำที่สกปรกตามแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนโลกด้วยการนำน้ำสะอาดเข้าสู่ชุมชนที่ไม่มีทางเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด เราจึงเห็นได้ว่าตอนนี้ Scott คนเดิมที่มีชีวิตตกต่ำได้เปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่คอยให้ความช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้กับผู้คนที่กำลังรอการช่วยเหลือ

 

6.สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Simon Sinek’s Golden Circle

golden circle
ภาพจาก : https://blog.briantan.xyz

 

“People don’t buy what you do; they buy why you do it. And what you do simply proves what you believe” – Simon Sinek

“ผู้คนไม่ได้ซื้อสิ่งที่คุณทำ พวกเขาซื้อในเหตุผลที่คุณทำมัน และสิ่งที่คุณทำก็คือการพิสูจน์ในสิ่งที่คุณเชื่อ” – Simon Sinek

Simon Sinek หรือที่ทุกคนอาจเคยได้ยินเรื่องของ Golden Circle ซึ่งเป็นสูตรการเล่าเรื่องที่เริ่มต้นด้วยคำถามว่าทำไม และเจ้าของหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทม์สที่ชื่อว่า “START WITH WHY” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ทำไมต้องเริ่มด้วยทำไม” มาดูกันเลยค่ะ ว่าสูตรการเล่าเรื่องของ Simon Sinek นั้นเป็นอย่างไร

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

วงกลม 1 : Why – ทำไมถึงมีบริษัทเรา? เป็นการเริ่มตั้งถามให้กับคนในบริษัท

  • ทำไมบริษัทเราถึงมีอยู่?
  • ทำไมทุกคนในบริษัทต้องลุกขึ้นจากเตียงทุกเช้า?
  • ทำไมทุกคนควรสนใจเกี่ยวกับบริษัท?

วงกลม 2 : How – พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างไร?
จุดขายที่แตกต่างของคุณคืออะไร นี้เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการอธิบายว่าบริษัทเรามีดีกว่าคู่แข่งอย่างไร

วงกลม 3 : What – คุณทำอะไร?
บริษัทขายอะไร อุตสาหกรรมประเภทใด บริษัททำอะไร

ตัวอย่าง Apple

Why : พวกเราเชื่อในความท้าทายและทำอะไรที่แตกต่าง
How : สินค้ามีการออกแบบที่สวยงามและใช้งานง่าย
What : พวกเราสร้างคอมพิวเตอร์

ข้อดี  ของการเริ่มต้นตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมนั้นทำให้เราได้ทบทวนตนเองว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร? ทำไปเพื่ออะไร ?แล้วทำไมต้องทำ? เพื่อให้เราเข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของตนเองและ สื่อสารความเชื่อของแบรนด์ ไปสู่คนที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน ให้กลายมาเป็นผู้ภักดี

apple
ภาพจาก : https://www.referralcandy.com/blog/storytelling-formulas/

 

7. สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling) แบบ Dale Carnegie’s Magic

Dale-Carnegie
ภาพจาก : https://www.referralcandy.com

 

Dale Carnegie เจ้าของหนังสือขายดีตลอดกาลอย่าง  “How to win friend and influence people” หรือชื่อในภาษาไทยว่า “วิธีชนะมิตรและจูงใจผู้คน” และผู้มีอิทธิพลในการสร้างสูตรการเล่าเรื่อง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ และสร้างความน่าเชื่อถือ

สูตรการเล่าเรื่อง (Storytelling)

  • Incident (อุบัติการณ์) – ประสบการณ์ส่วนบุคคล โดยการเล่าเรื่องเหตุการณ์ของคุณเพื่อช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกร่วมกับคุณและแบ่งปันประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
  • Action (ลงมือปฏิบัติ) – แสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุการณ์โดยพวกเขาสามารถลงมือทำ ด้วยการช่วยเหลือจากแบรนด์ ซึ่งคุณต้องเตรียมการเล่าที่จะต้องมีความชัดเจน เพราะไม่มีใครคิดว่าผู้อ่านจะเข้าใจได้ทันที และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ หลังจากที่ฟังเรื่องราวของคุณ
  • Benefit  (ประโยชน์) – แสดงให้เห็นว่าทำไมพวกเขาถึงต้องทำตามและพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไร การวางโครงร่างให้ชัดเจนจะช่วยให้ผู้ฟังดำเนินการตามที่คุณต้องการ

ตัวอย่าง Threads 4 Thought

แบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าที่ใส่ใจสังคม พวกเขาใช้การเล่าเรื่องที่หลากหลายบนเว็บไซต์ ด้วยการใช้นางแบบเป็นตัวละครในการเล่าเรื่อง เมื่อผู้เข้าชมในหน้าแรกของเว็บไซต์นั้นจะถูกนำเสนอด้วย “จดหมายของผู้ก่อตั้ง” ที่เน้นปัญหาสังคมในปัจจุบัน มลภาวะ ปัญหาสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และอธิบายว่าลูกค้าสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยการใช้แบรนด์เราอย่างไร (เช่น 10% ของรายได้พวกเขาจะนำไปบริจาค) ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบของ Dale Carnegie’s Magic ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีระหว่างลูกค้ากับแบรนด์

Threads 4 Thought
ภาพจาก : https://www.seoptimer.com

 

สรุป

Content ณ ปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารแต่เป็นคุณค่าที่สามารถถูกผลิตได้โดยแบรนด์ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งการทำ Content Marketing ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน บวกกับการนำกลยุทธ์การเล่าเรื่องราวผ่านคอนเทนต์ และ โฆษณาจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้าได้ไม่มากก็น้อย ซึ่ง STEPS Academy มีคอร์สเรียนที่ชื่อว่า Content Marketing Strategy มาฝากสำหรับผู้ที่สนใจการทำการตลาดด้วยคอนเทนต์ค่ะ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://stepstraining.co/digital-content-marketing

 

บทความจาก : referralcandy

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

เขียน Copywriting ให้คนตัดสินใจซื้อ ด้วยเทคนิค “FOMO”
เพิ่ม Engagement ง่ายๆ! แค่เลือกประเภท Content ให้เหมาะสม กับแต่ละช่องทาง Social Media