ท่ามกลางการแข่งขันในสนามโฆษณา การใช้คำโปรโมตที่ดึงดูดลูกค้าได้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้สินค้าบริการของเรานั้นโดดเด่นมากกว่าคู่แข่ง ซึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยให้นักการตลาดเขียน Copywrite ได้ดีขึ้นก็คือการพยายามทำความเข้าใจจิตวิทยาของลูกค้า และการใช้ทริคต่าง ๆ ประกอบการเขียน Copywrite ค่ะ
ตามมาดูกันเลยว่าเคล็ดลับที่ว่ามาจะมีอะไรที่น่านำไปปรับใช้บ้างค่ะ
Copywriting คืออะไร
Copywriting คือการเขียนข้อความโฆษณาเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้อความที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อให้ง่ายขึ้นค่ะ ซึ่งคนที่ดูแลงานส่วนนี้เป็นหลักก็คือ Copywriter ค่ะ
พอทราบความสำคัญของ Copywrite แล้ว ลองมาดูกันค่ะว่ากว่าจะเขียน Copywrite ที่น่าสนใจได้ ควรผ่านขั้นตอนอะไรมาก่อนบ้างค่ะ
5 ขั้นตอนเขียน Copywrite ดึงดูดใจลูกค้าให้ได้ผล
1.ทำความเข้าใจจิตวิทยาพื้นฐานด้านอารมณ์ของมนุษย์ก่อน
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์จะมีความต้องการพื้นฐานคล้าย ๆ กันไม่กี่สิ่ง ตัวอย่างเช่น
- อยากสุขภาพดี
- อยากมีรูปลักษณ์ที่ดี
- อยากมีเวลาว่าง
- อยากสะดวกสบาย
- อยากรู้สึกปลอดภัย
- อยากได้เงิน
- อยากเป็นที่ยอมรับ
- อยากเป็นที่รัก
- อยากมีชื่อเสียง
- อยากสำเร็จ
- อยากก้าวหน้า
- อยากมีความสุข
ถ้าถอดรหัสความต้องการเหล่านี้ได้ว่าสินค้าบริการของเราตอบโจทย์อะไร เราจะเขียนเพื่อนำเสนอขายสินค้าบริการได้อย่างตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นนะคะ
2.ใส่เหตุผลว่าทำไมถึงควรซื้อคือหัวใจสำคัญ
Start With Why คงเป็นวลีที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินกัน ซึ่งวลีนี้นำมาปรับใช้กับการเขียน Copywrite ได้ด้วย เพราะถ้ากลุ่มเป้าหมายหาเหตุผลว่า ‘ทำไม’ ถึงควรซื้อไม่ได้ พวกเขาก็จะเลื่อนผ่านโฆษณาของเราไปอย่างน่าเสียดายค่ะ
นอกจากเหตุผลในเชิงคุณภาพของสินค้าหรือบริการแล้ว เหตุผลว่าทำไมถึงควรซื้อตอนนี้ไม่ใช่ตอนอื่นก็สำคัญเช่นกันค่ะ
ดังนั้น ลองลิสต์ออกมาว่าทำไมสินค้าบริการของเราถึงน่าซื้อ ยิ่งลิสต์เหตุผลได้เยอะยิ่งดี แล้วค่อยมาคัดเลือกทีหลังว่าเหตุผลไหนสำคัญ น่ายกมานำเสนอค่ะ
ทริค : เน้นชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายจะได้อะไร โดยใช้สรรพนามเน้นถึงผู้อ่านให้มากกว่าการกล่าวถึงแบรนด์ตัวเองนะคะ เพราะโดยส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายจะสนใจแค่ว่าสินค้าบริการเหล่านั้นจะช่วยลดความเจ็บปวด ความกลัว หรือเพิ่มความสุขให้พวกเขาได้อย่างไร ไม่ได้อยากฟังแค่แบรนด์เรามีอะไรดีค่ะ
3.เน้นหลักฐานที่สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า
แน่นอนว่าการสรรหาคำเพื่อโน้มน้าวใจย่อมช่วยกระตุ้นอารมณ์ความอยากซื้อของลูกค้าได้ไม่มากก็น้อย
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นการใส่หลักฐานอ้างอิงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือก็ยังสำคัญ โดยเราสามารถใส่ Fact ที่น่าเชื่อถือในหลาย ๆ จุดของ Copywrite ไม่ว่าจะเป็นส่วนเฮดไลน์ ส่วนต้น ส่วนกลาง หรือส่วนท้าย
ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังนะคะ คือถ้าเขียนพรรณาจนสินค้าดูสมบูรณ์แบบมากเกินความเป็นจริง ลูกค้าอาจจะรู้สึกไม่เชื่อใจในตัวแบรนด์ได้เช่นกันค่ะ
4. ใส่ Call To Action กระตุ้นการกระทำที่ต้องการ
ทุกครั้งที่เขียน Copywrite ให้เราคิดไว้เสมอว่า อยากให้กลุ่มเป้าหมายทำอะไร (What) ที่ไหน (Where) เมื่อไร (When) หลังอ่าน Copywrite นั้น ๆ จบ
ตัวอย่างเช่น
- อยากให้กลุ่มเป้าหมายกดสั่งสินค้าออกใหม่ (What)
- ในเว็บไซต์ของแบรนด์เรา (Where)
- ตั้งแต่อาทิตย์แรกที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ (When)
5.ลองร่าง Copywrite หลาย ๆ แบบ
แน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าของเราย่อมมีความหลากหลาย ถ้าเราเขียน Copywrite แค่แบบเดียวจึงอาจจะไม่สามารถดึงดูดใจพวกเขาได้ทั้งหมดค่ะ
ในฐานะ Copywriter เราจึงควรแพลนไว้เลยว่าก่อนนำเสนอแต่ละคอนเทนต์หรือโฆษณาจะลองร่าง Copywrite ออกมา 2 แบบขึ้นไป
โดยเราสามารถนำ Copywrite ทั้ง 2 แบบไปโพสต์คนละวันเวลาหรือคนละช่องทาง แล้ววิเคราะห์ความแตกต่างของ Engagement เพื่อนำแนวทางที่วิเคราะห์ได้ไปปรับใช้ในครั้งถัด ๆ ไปค่ะ
ตัวอย่าง Copywrite น่าสนใจจากแบรนด์ต่าง ๆ
Ricola
ยาอมสมุนไพรช่วยให้ชุ่มคอ Ricola ใช้ลูกเล่นในการโฆษณาเพียง 6 คำเท่านั้น เพื่อสื่อสารให้เห็นว่าถ้าอยากแจ้งข่าวดีใคร ไม่มีการไอแทรกจะดีกว่า เลยชักชวนมากิน Ricola กันเถอะ
L’Oreal Paris
โดยทั่วไปคนจะจดจำ L’Oreal Paris ในฐานะแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิง โฆษณานี้เลยนำภาพจำดังกล่าวมาเป็นลูกเล่นที่ทำให้ผู้ชายหยุดดู เพื่อสื่อสารความเชื่อที่ว่าผู้หญิงก็ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้เช่นเดียวกัน
IKEA
ทาง IKEA นำตุ๊กตาฉลามสุดน่ารักมาจัดวางในเครื่องซักผ้า พร้อมคำบรรยายที่ทำให้เจ้าฉลามดูมีชีวิตจิตใจ จนกลุ่มเป้าหมายอยากซื้อไปในครอบครอง ทางแบรนด์จึงเสนอส่วนลด 25% พร้อม Call To Action ให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อในวันเวลาที่กำหนด
Ben and Jerrys
ทางแบรนด์ไอศกรีม Ben and Jerrys ใช้หลักการ Neuro Copywriting หรือการเล่นคำแบบแปลก ๆ เพื่อให้สมองจดจำโฆษณาได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นโฆษณานี้ที่เล่นคำว่า ‘dough’ ซ้ำหลายครั้ง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายจำชื่อไอศกรีมรส Cookie Dough ได้
ซึ่งเราสามารถใช้ทริค Neuro Copywriting ในกรณีอื่น ๆ ได้ด้วยนะคะ เช่น ใช้ตัวเลขแปลก ๆ เรียงกัน, ใช้คำเปรียบเปรย, ใช้คำเลียนเสียง เป็นต้นค่ะ
BarkBox
Copywrite นี้ทำให้เจ้าของสุนัขรู้สึกว่าแบรนด์ BarkBox ช่างเข้าใจทั้งความรู้สึกของเขาและเจ้าหมาเสียเหลือเกิน ด้วยคำบรรยายที่ว่าถ้าน้องหมาดูไม่ได้พอใจในขนมหรือของเล่น 100% ทางแบรนด์ก็พร้อมนำเสนอสินค้าใหม่จนกว่าน้องหมาจะรู้สึกพอใจที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ
- Copywriting Secrets เขียนโดย Jim Edwards
- How to write a good advertisement เขียนโดย Victor O Schwab
เราขอแนะนำหลักสูตรออนไลน์ Digital Content Marketing
จากแพลตฟอร์ม Upskill by STEPS Academy
หลักสูตรที่จะช่วยให้ผู้ที่สนใจสามารถพัฒนาคอนเทนต์
เพื่อสร้าง Awareness สร้างยอดขาย ช่วยให้เกิดการซื้อซ้ำ
พร้อม Workshop พิเศษที่จะทำให้เข้าใจได้ไว และนำไปปรับใช้จริงได้ง่ายขึ้น
หากสนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดหลักสูตร Digital Content Marketing ได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ https://upskill.in.th/courses/digital-content-marketing/