ผลกระทบจากโควิด ที่มีต่อธุรกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็คงเป็นผลกระทบทั้งหมด
สำหรับธุรกิจในประเทศไทย ผลกระทบในรอบแรก ก็ดูเหมือนจะเป็นคลื่นส่งสัญญาณให้เราพึงระวัง ในการใช้ชีวิต ร่วมถึงการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
สำหรับครั้งนี้ ดูเหมือนคลื่นที่ซัดเข้ามา จะถาโถม แรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีอะไรที่ช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้เลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระหว่างการเผชิญหน้า กับสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “วิกฤติ” ก็พอจะมีทางให้เราหลุดรอดจากตรงนี้ไปได้ นั่นก็คือ การโฟกัสที่ทางออก ไม่ใช่ปัญหา เราเห็นว่าบรรดาธุรกิจต่าง ๆ ได้พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองในหลากหลายรูปแบบ ร้านอาหารก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เปิดทำการ Delivery มากขึ้น
ธุรกิจประเภทบริการ เช่น สปา โรงแรม ก็ต้องปรับตัวแยกหน่วยธุรกิจ สร้างกระแสเงินสดให้เร็วที่สุด หรือแม้แต่การสัมมนา หรือการประชุม ก็เปลี่ยนมาทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Virtual event, Live Streaming Seminar และ การประชุมผ่านแอปพลิเคชัน Zoom
สำหรับธุรกิจโรงเรียนแบบเรา ก็หนีไม่พ้นกับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
ในขณะเดียวกันที่เรากำลังเผชิญความท้าทายแห่งการเปลี่ยนแปลง
เราเองก็ได้รับฟังปัญหา ของลูกค้าที่มาขอคำปรึกษา หลากหลายธุรกิจ ทำให้แต่ละวันของเรา ต้องคอยฝึกฝนระบบความคิด และ วิธีคิดให้แตกต่างออกไปมากกว่าเดิม
ไม่ใช่แค่เพื่อความอยู่รอด แต่เพื่ออนาคต ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ทางทีม STEPS ACADEMY จึงขอรวบรวม วิธีคิด และ วิธีการ ที่จะทำให้เราแข็งแกร่งไปพร้อมกัน
โฟกัสที่ 1: โฟกัสที่ช่องทางการหารายได้เสมอ
เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ถูกหมุนเวียนด้วยรายได้และผลกำไรที่เข้ามา แต่ช่องทางการทำการตลาดที่ทำให้เกิด Conversion มากกว่า Awareness ก็คงเป็นช่องทางที่เราควรจะทุ่มเทเวลา ให้มากขึ้น และ ช่องทางที่เราอยากขอแนะนำจากประสบการณ์ของเรา คือ ช่องทาง Community ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Group, Line OA, Line Group หรือแม้แต่ฐานลูกค้าเดิมที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดผ่าน Email Marketing สำหรับ B2B, การทำ SMS Marketing ที่ยังไม่ตาย แต่ย้ำอีกทีนะคะ จะต้องเป็นฐานลูกค้า ที่เรามีสายสัมพันธ์ที่ดี เพื่อต่อยอดการขายได้ง่ายขึ้นค่ะ มาถึงตรงนี้ท่านที่อ่านจะเริ่มเห็นภาพมากขึ้นว่า หากเราไม่มี Community มาก่อนเลย
อาจจะต้องถึงเวลาที่เราต้องใช้ช่วงเวลานี้เร่งสร้างมันขึ้นมาอย่างรวดเร็วค่ะ
ตัวอย่าง เช่น
- การทำ Facebook Group เพื่อเป็นการให้ความรู้ลูกค้าประจำ
- การเข้าไปอยู่ใน Community ที่กลุ่มคนมีความสนใจในสิ่งที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับสินค้าของท่าน
- การสร้างโปรโมชั่นสะสมแต้มผ่าน Line OA
- การทำระบบ สมาชิก
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำแนะนำขั้นพื้นฐาน แต่การลงมือสร้างให้เกิดผลลัพธ์ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ขั้นพื้นฐานก็สำคัญที่สุดอยู่ดีค่ะ
นอกเหนือจาการสร้าง Community แล้ว การโฟกัสในช่องทางที่สร้างยอดขายอยู่แล้วก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่อาจจะต้องเพิ่มลูกค้าในการทำโปรโมชั่นต่างๆเข้าไปให้เข้ากับกระแส สิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหา หรือแม้แต่การซื้อโฆษณา ในช่วงเวลาที่หลายธุรกิจอยากประหยัดงบประมาณ ในการยึดพื้นที่โฆษณา ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาสำคัญ และช่วงเวลากอบโกย ของธุรกิจที่มีงบประมาณในการซื้อพื้นที่โฆษณาค่ะ แต่ในทางกลับกัน การซื้อโฆษณาโดยไม่คำนึงถึงระยะยาว ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีค่ะ
Tips การสร้างช่องทางการหารายได้ ด้วยการขายจากหลากหลายช่องทาง สามารถทำได้ด้วยวิธีการเหล่านี้ค่ะ
- การยิงโฆษณาเพื่อแนะนำสินค้า หรือโปรโมชันไปพร้อม ๆ กับการส่ง Email ให้กับลูกค้า
- 22 % จากกลุ่มเป้าหมายที่เห็นทั้งโฆษณา และเปิด Email มักตัดสินใจซื้อมากกว่าคนที่เห็นเพียงแค่โฆษณา หรือแค่เปิด Email เพียงอย่างเดียว
- การโพสต์ Content บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายใช้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการยิงแอด หรือโชว์แบนเนอร์บน Google
- 40 % ของนักชอปออนไลน์มักเริ่มต้นสร้างการรับรู้แบรนด์จากช่องทางหนึ่ง แต่ไปตัดสินใจซื้อสินค้าอีกทีเมื่อเห็นสินค้าจากอีกช่องทางออนไลน์หนึ่ง ซึ่ง หากคุณลงทุนทำการตลาดครั้งเดียว แต่เพิ่มช่องทางให้ลูกค้าได้มองเห็นมากขึ้น จะเพิ่มโอกาสให้ Conversion Rate เพิ่มขึ้น ซึ่งนำมาสู่การปิดการขาย
โฟกัสที่ 2: โฟกัสการทำกระสุนคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ทั้งยอดขาย และ แบรนด์
ก่อนหน้านี้เราเคยมีบทความเกี่ยวกับ Content Funnel ที่เคยกล่าวไว้ว่าเวลาทำกลยุทธ์ทางด้านคอนเทนต์
ต้องมี 3 ระดับคือ
- การทำคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ Awareness
- ตอบโจทย์ Lead Generation
- ตอบโจทย์ Conversion หรือยอดขาย
แต่สำหรับสถานการณ์ที่ต้องรวดเร็ว ฉับไว การเรียงร้อยคอนเทนต์ ตามกลยุทธ์ Content Funnel อาจจะไม่ทัน ซึ่งคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ จะเป็นคอนเทนต์ที่เน้นเรื่องของการขาย ผสมผสานกับรูปแบบที่ทำให้สินค้าของเราจับต้องได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอนเทนต์ประเภท โปรโมชั่น การเขียนเพื่อขายโดยการใช้ Pain Point ของลูกค้ามาสื่อ, การใช้คอนเทนต์ประเภท รีวิวสินค้า / Product Tutorial และ สาธิตการใช้สินค้า, Testimonial รีวิวจากลูกค้า, การทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ ข้อสงสัยลูกค้าให้มากขึ้นเช่น FAQ, การเสนอการให้บริการแบบ Free Trial เป็นต้น
นอกจากนี้ การสร้างคอนเทนต์ที่มอบคุณค่าให้กับผู้อ่าน ยังคงสำคัญมาก เพราะผู้อ่านจะเกิดการรับรู้แบรนด์ ทำให้ผู้อ่านจดจำ และ นึกถึงแบรนด์ของเราอยู่เสมอ เมื่อวันหนึ่งที่ผู้อ่านจะต้องตัดสินใจซื้อสินค้า และ บริการบางอย่าง พวกเขาก็อาจจะนึกถึงแบรนด์ของเราเป็นอันดับแรก ๆ
แต่จะดีกว่าไหม… หากเราปรับแผนการตลาดที่เน้นการสร้างคอนเทนต์เพื่อการขาย และได้ผลลัพธ์ทางการตลาดในแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น การสร้างคอนเทนต์วิดีโอ เพื่อให้เกิดความบันเทิง แต่เกิด Conversion ในการคลิกเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ด้วย
หรือการสร้างคอนเทนต์แบบ Real-Time Marketing หยิบยกเรื่องราวที่สังคมกำลังพูดถึงมาเป็นไวรัล และ Tie-in เนียน เพื่อขายสินค้า โดยการสร้างคอนเทนต์ที่ดีมีคุณค่า ควรมีลักษณะดังนี้
- สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อ่านได้จริง ทำให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าของเรา
- คอนเทนต์ที่ตรงใจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้อ่าน
โฟกัสที่ 3: เน้นการขยายตลาด ผ่านมิตรภาพมากกว่าการสร้างศัตรู
คือหลักการ Collaboration กับ มิตรธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งแบรนด์ควรมองหาช่องทางการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ เพื่อปรับกลยุทธ์รับมือสถานการณ์ Covid-19 ด้วยการมองหา Partnership ในการทำการตลาด โดยเฉพาะธุรกิจ SME หรือ Star Up เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดได้ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
อย่างในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัด Business Matching เพื่อหาคู่ค้าในการเจรจา และจับคู่การทำธุรกิจร่วมกัน
เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัด Krungsri Virtual Business Matching เพื่อช่วยเหลือธุรกิจออนไลน์ขนาดกลาง และขนาดย่อยในการจับคู่การค้า โดยมีหลายธุรกิจได้เปลี่ยนรูปแบบออฟไลน์สู่การค้าแบบออนไลน์ด้วยการช่วยเหลือของธุรกิจ Partner ที่จับคู่กันมา
และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP จัดกิจกรรมออนไลน์ “จับคู่ธุรกิจ ติดปีกการค้าออนไลน์” เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs ไทยส่งออกออนไลน์ข้ามแดน
Starbucks จับคู่เพิ่มเมนูใหม่กับ After You เพื่อเน้นการขยายตลาด ผ่านมิตรภาพ
ภาพจาก bkkfoodie.com
นอกจากนี้ ในธุรกิจในวงการอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็สามารถจับคู่กัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และขยายตลาดได้ เช่น ในธุรกิจอาหาร บาร์บีคิวพลาซ่า ที่ได้จับคู่กับพิซซ่าฮัท เพื่อแลกเปลี่ยนฐานลูกค้า และออกแบบเมนูใหม่ ๆ และ Starbucks จับคู่เพิ่มเมนูใหม่กับ After You เพื่อเพิ่มความหลากหลายในวงการแฟชัน Uniqlo ได้จับคู่กับ Designer: JW Anderson เพื่อออกแบบเสื้อผ้า
โฟกัสที่ 4: ไม่หยุดพัฒนา SEO
Search Engine Optimization หรือ SEO คือวิธีการที่นักการตลาดปรับปรุงเว็บไซต์ของแบรนด์ เพื่อให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ของการค้นหาบน Google ซึ่งระบบอัลกอริทึมของ Google มักมีการปรับเปลี่ยนและอัปเดตอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ผู้ค้นหา สามารถค้นเจอสิ่งที่ดีที่สุด ตอบโจทย์มากที่สุด
โดยนอกจากการพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีแล้ว การทำรูปภาพให้ติด SEO ก็สำคัญเช่นเดียวกันในกรณีที่มีการค้นหารูปภาพ รวมทั้งการทำ Local SEO (สำคัญมาก) เพื่อธุรกิจรายย่อย และร้านค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนในสถานการณ์เช่นนี้ การทำ Local SEO นั้นตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เนื่องจาก กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแบรนด์ แม้ในยามหน้าร้านของคุณไ ม่สามารถเปิดได้ในช่วงเวลาเดิม และ ทำให้ธุรกิจของคุณดำเนินต่อไปได้ในรูปแบบของ E-Commerce เช่น
- การส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่
- การประกาศจากทางร้านเพื่อสร้างความไว้วางใจ และข้อมูลที่ลูกค้าจำเป็นต้องรู้ก่อนเดินทางมายังร้านของคุณ
แนวทางการพัฒนา SEO ในปี 2021 ที่จะช่วยฝ่าวิกฤติ Covid นี้ได้แก่
- การเลือกใช้เครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเว็บไซต์
- การปรับใช้ Keyword ให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งนักการตลาดสามารถใช้เครื่องมือ Google Search Console เพื่อสร้าง Traffic บนเว็บไซต์ และใช้ Google Trends และ Keyword Planner เพื่อค้นหาคำยอดนิยมที่เหมาะสมกับคอนเทนต์ที่คุณต้องการปรับปรุง รวมทั้งการเลือกใช้ Keyword ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายบนหัวข้อเว็บไซต์
- การทำ Internal Link เพื่อให้ผู้อ่านอยู่บนหน้าเว็บไซต์ได้นานขึ้น
- การอัปเดต Blog เพื่อให้ผู้อ่านติดตามคอนเทนต์บนเว็บไซต์
- การเลือกใช้สื่อมัลติมีเดียที่หลากหลาย
- เขียน Meta Tags ให้เหมาะสม โดยเลือกใช้ Keyword ที่สำคัญ ( Meta Tags เป็นรายละเอียดภายใต้หัวข้อหลัก เมื่อมีการค้นหาบน Google)
- การทำ Site Mapping หรือทำแผนผังเว็บไซต์ ทำให้ Google สามารถสำรวจข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และ ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดหมวดหมู่คอนเทนต์ของคุณตามเกณฑ์การค้นหาของผู้ใช้เว็บไซต์
โฟกัสที่ 5: การใช้ Marketing Technology และ & Marketing Automation
Marketing Technology หรือ MarTech เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำการตลาดออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนักการตลาดสามารถประหยัดเวลาในการทำแผนการตลาดบางอย่าง ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจากการ เช่น การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า และ ทำการวัดผลจากแคมเปญ อย่าง Google Analytics โดยที่โปรแกรมสามารถเรียกดูข้อมูลกันได้แบบ Real-time หรือการใช้ Mailchimp ส่ง Email เพื่อนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ
เครื่องมืออื่น ๆ ที่แบรนด์สามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ได้ ระบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเรียนรู้ง่าย ได้แก่
- LIne OA แอปพลิเคชั่นในการสนทนาที่สร้างขึ้นมา สำหรับธุรกิจเพื่อดูแลลูกค้าบนช่องทาง LINEทำให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ง่าย สั่งซื้อสินค้าได้สะดวก
- Facebook Pay ฟีเจอร์เรียกรับชำระสินค้า ที่ร้านค้าสามารถส่งบิลเรียกเก็บได้ใน “Messenger” ทันที โดยที่ลูกค้าทำแค่เพียงเอานิ้วจิ้มไปที่บิลที่กดจ่ายได้เลย เหมาะสำหรับธุรกิจที่มักจะใช้ช่องทาง Facebook ในการทำการตลาด ที่เริ่มมีการทักเข้ามาซื้อสินค้าจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก (ไม่มากก็ใช้ได้นะคะ) ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนยุ่งยาก และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า
วิธีการสมัคร Facebook Pay คลิกที่นี่
ภาพจาก https://www.theverge.com
โฟกัสที่ 6: หมั่นผลิต Engagement จากทุกช่องทางออนไลน์ที่คุณมี
การที่แบรนด์เพิ่มช่องทางการติดต่อให้หลากหลาย จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์ (Engagement) นอกเหนือจากช่องทางเว็บไซต์ ซึ่งคอนเทนต์ในปัจจุบันสามารถแชร์ได้มากกว่า 1 แพลตฟอร์มแล้ว แต่อาจจะต่างกันตรงที่ขนาดของวิดีโอและรูปภาพ
มื่อนักการตลาดผลิตคอนเทนต์ 1 คอนเทนต์ออกมา ก็สามารถเลือกโพสต์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีได้เลย เช่น คุณอาจจะโพสต์วิดีโอที่แนะนำสินค้าคอลเลคชันใหม่ทั้งบน Facebook, Instagram และ TikTok และจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่คุณมี หรือหากคุณต้องการโพสต์คอนเทนต์วิดีโอ การสามารถทำได้บน YouTube และ Facebook หรือการเปิด Live รีวิวสินค้า เพื่อให้ผู้ชมเข้ามาร่วมคุยกับผู้ประกอบการ ยิ่งจะทำให้ Engagement ของคุณสูงขึ้นจากการกดแชร์ กดไลก์ การแท็กเพื่อน
โฟกัสที่ 7: การทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง
การทำให้ธุรกิจของคุณรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนเช่นนี้ คือการทำการตลาดในช่องทางออนไลน์ต่อไป และไม่หยุดอยู่กับที่ ซึ่งแบรนด์จะได้ทั้งการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ๆ และ การรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้ ด้วยการนำแนวทางทั้ง 6 วิธีที่ผู้เขียนได้แนะนำไปปฏิบัติใช้อย่างสม่ำเสมอ และปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของคุณเอง เพื่อดึงดูดลูกค้าจากทิศทางต่าง ๆ และ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ว่าแบรนด์ของคุณจะยังคงนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ อีกทั้งลูกค้าจะยังคงได้รับคุณค่าจากคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่แบรนด์ผลิตออกมาให้อยู่เสมอ
สรุป
ความท้าทายที่ผ่านเข้ามานี้ แน่นอนว่ายังคงมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาเสมอ หากนักการตลาด และผู้ประกอบการสามารถพลิกมุมมอง และช่องทางการทำกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยการนำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เข้ามาปรับใช้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
อย่างที่ทุกคนทราบกัน ว่าสถานการ์ณการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้กลับมาอีกครั้ง แต่ทุกท่านสามารถนำ “บทเรียน” จากการฝ่าวิกฤติในครั้งนั้น และเตรียมตัวพร้อมได้ดีกว่าที่เคยค่ะ
ข้อมูลจาก
https:// digitalagencynetwork.com
https:// www.moneyandbanking.co.th