ขั้นตอนการสมัคร Facebook Pay ที่ลูกค้าจะเปย์ผ่านแชทได้อย่างมั่นใจ

ขั้นตอนการสมัคร Facebook Pay

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักเจ้า Facebook Pay กันไปแล้วในบทความก่อนหน้า สำหรับบทความนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าเราจะสามารถเริ่มใช้งาน Facebook Pay กันได้อย่างไร ซึ่งต้องขอบอกเลยค่ะ ว่ามันง่ายมาก ๆ โดยวิธีการเริ่มต้นใช้ Facebook Pay จะแบ่งเป็น 2 ประเภทธุรกิจด้วยกัน โดยจะประกอบไปด้วย การสมัคร Facebook Pay สำหรับบุคคลทั่วไป แล้วการสมัคร Facebook Pay เพื่อใช้สำหรับนิติบุคคลค่ะ

Facebook Pay คือฟีเจอร์การเรียกชำระสินค้าผ่าน Messenger ที่ลูกค้าสามารถกดจ่ายเงินได้ทันที ไม่ต้องจำเลขบัญชีเพื่อออกไปโอนนอกแอปฯ

 

การสมัคร Facebook Pay (สำหรับบุคคลทั่วไป)


สำหรับการสมัครใช้งาน Facebook Pay สำหรับบุคคลทั่วไป สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอนค่ะ โดยก่อนที่จะเริ่มสมัครกันเราต้องเข้าไปยังเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันกันก่อน ซึ่งสามารถเข้าไปสมัครกันได้ตามลิงก์ด้านล่างเลยค่ะ

Facebook Pay คืออะไร
QR Code สำหรับสมัครผ่านแอปฯ

สมัครผ่านมือถือ 👉 FB.me/fb-pay-dmm

สมัครผ่านเว็บไซต์ 👉 FB.me/fb-pay-dmw

โดยการเริ่มต้นใช้งาน เราจำเป็นจะต้องเตรียม บัตรประจำตัวประชาชน, สมุดบัญชีที่มีชื่อ ตรงกับชื่อเจ้าของบัตร และ เบอร์โทรศัพท์เพื่อยืนยัน OTP เอาไว้ก่อนนะคะ  โดยหลังจากที่เราเข้าไปยังเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ให้เราทำตามขั้นตอน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ขั้นตอนด้วยกันค่ะ ซึ่งได้แก่

  1. ยืนยันตัวตน ที่เราต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ถ่ายรูปบัตรประชาชนถูกต้อง ใส่ข้อมูลติดต่อ และ รอรับรหัส OTP
  2. เลือกหมวดหมู่ร้านค้า โดยเลือกว่าธุรกิจของเราขายอะไร เช่น ธุรกิจขายขนมปังโฮมเมด เลือก ”เบเกอรี่” เป็นต้น
  3. เพิ่มบัญชีธนาคาร โดยเริ่มจากการกำหนดธนาคาร และ บัญชีธนาคารที่เลือกได้มากถึง 27 ธนาคาร (ชื่อเจ้าของบัญชีต้องตรงกับบัตรประชาชนในขั้นตอนแรก) 

แค่เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นใช้งาน Facebook Pay ได้แล้วค่ะ โดยเราต้องรอการยืนยันประมาณ 1 – 2 วันหลังจากการสมัครใช้งาน

การสมัคร Facebook Pay (สำหรับนิติบุคคล)


และสำหรับการสมัครเพื่อใช้กับนิติบุคคล ขั้นตอนการเริ่มต้นสมัครจะต่างกันเล็กน้อยค่ะ โดยก่อนอื่นเราจะต้องเข้าไปที่เว็บไซต์เพื่อสมัคร Facebook Pay กันก่อน ซึ่งเราสามารถเข้าไปสมัครกันได้ที่ลิงก์สำหรับมือถือ และ เว็บไซต์ อันเดียวกันกับด้านบน หรือจะสแกน QR Code อันเดียวกันก็ได้เลยค่ะ

ทั้งนี้เมื่อเข้าไปยังเว็บไซต์แล้วให้เลือกตัวเลือก “เพจ”  ตามด้วยตัวเลือก “ดำเนินการต่อในฐานะนิติบุคคล” แล้วทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ได้เลยค่ะ

  1. กรอกข้อมูลนิติบุคคล ซึ่งประกอบไปด้วย ชื่อบริษัท และ หมายเลขจดทะเบียน 13 หลัก
  2. กรอกข้อมูลติดต่อ ซึ่งระบบจะแจ้งข้อมูลการเริ่มต้มการใช้งานผ่านช่องทางติดต่อนี้
  3. ยืนยันด้วยรหัส OTP ซึ่งระบบจะส่งไปที่เบอร์โทรศัพท์ที่เรากรอกเอาไว้
  4. เลือกหมวดหมู่ร้านค้า เช่นเดียวกันกับแบบบุคคลทั่วไป
  5. ส่งเอกสารละทะเบียนด้วยตนเอง โดยเราสามารถโหลดแบบฟอร์ม และ แนบเอกสารประกอบการสมัคร (ตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ Kasikorn Global Payment) เพื่อส่งอีเมล แล้วรออีเมลตอบกลับ จากนั้นจึงไปส่งเอกสารด้วยตนเองที่ธนาคารกสิกรไทย ณ สาขาที่กำหนดได้เลยค่ะ

วิธีการใช้งาน และ ตรวจสอบสถานะการชำระสินค้า 

 

สำหรับการใช้งานเจ้า Facebook Pay ตัวนี้ เราสามารถใช้งานได้โดยการเข้าไปที่ “Facebook Page Manager” แล้วจึงเข้าไปยังหน้าสนทนาของลูกค้า ที่เราต้องการจะเสนอราคาไป และ หลังจากนั้นเราก็สามารถทำตามขั้นตอนด้านล่างได้ทันทีค่ะ

  1. คลิกไอคอนเงินบาท หรือ “฿” ในหน้าแชท เพื่อเริ่มต้นเข้าสู่การใช้งาน Facebook Pay ค่ะ
  2. ระบุจำนวนเงินที่ต้องการเก็บ โดยจะต้องทำการตกลงกับลูกค้า เรื่องราคาที่พึงพอใจก่อนนะคะ
  3. ระบุชื่อสินค้า และ รายละเอียดอื่น ๆ แล้วเลือก “เรียกเก็บเงิน” ทั้งนี้สำหรับข้อมูรายละเอียดสินค้าไม่จำเป็นที่จะต้องกรอกก็ได้ค่ะ
  4. ใบเรียกเก็บเงินจะถูกส่งไปยังลูกค้า โดยจะถูกส่งไปที่หน้าแชทบน Messenger ทันทีที่กดยืนยันค่ะ
  5. ใบสลิปถูกแนบอัตโนมัติเมื่อมีการชำระสินค้า โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดเพื่อตรวจสอบได้
  6. ตรวจสอบโดยละเอียด แล้วทำการจัดส่ง โดยหลังจากที่เราจัดส่งเรียบร้อยให้กลับมาทำเครื่องหมายว่าจัดส่งแล้ว เพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบ
  7. ตรวจสอบสลิปการโอนอีกครั้ง โดยเงินจะถูกโอนมาให้ร้านค้าในวันถัดไป

📌 ทั้งนี้สำหรับร้านค้าจะมีวงเงินจำกัด ต่อการรับชำระสินค้า 1 ครั้งอยู่ที่ 20,000 บาทนะคะ แต่ถ้าหากอยากปรับวงเงินอย่างไรก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ KGP ได้เลยค่ะ

ตัวอย่างการใช้งาน

 

ตัวอย่างการใช้งาน Facebook Pay ตัวอย่างการใช้งาน Facebook Pay ตัวอย่างการใช้งาน Facebook Pay

การตรวจสอบสถานะการโอนเงิน


เมื่อมีการชำระสินค้าผ่าน Facebook Pay เป็นที่เรียบร้อย เราสามารถกลับมาตรวจสอบข้อมูลการชำระสินค้า และยอดเงินเข้าได้ โดยเราสามารถทำตามขั้นตอนได้ดังนี้ค่ะ

  1. ไปยัง Facebook Page ของเรา แล้วเข้าไปที่ “จัดการร้านค้า”
  2. เลือกตัวเลือก “การจัดการคำสั่งซื้อ”
  3. เลื่อนลงเพื่อดูข้อมูลยอดเงินที่ได้รับตามช่วงเวลา
  4. เลือก “รายการคำสั่งซื้อ” เพื่อดูรายละเอียดการจ่ายเงิน และ หลักฐานการโอน
  5. ทั้งนี้หากลูกค้ามีการชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิต หรือเดบิต จะไม่มีสลิปการโอนเงิน (มีค่าธรรมเนียมธนาคาร 2.675% รวม VAT แล้ว)

การชำระสินค้าผ่าน Facebook Pay (สำหรับลูกค้า)


มากันที่การเริ่มต้นใช้งาน Facebook Pay สำหรับฝั่งลูกค้ากันบ้างนะคะ อย่างที่บอกไปแล้วว่าข้อดีของ Facebook Pay ที่เด่น ๆ คือความปลอดภัย และ ความสะดวกสบาย ดังนั้นการชำระสินค้าจึงง่ายมาก ๆ เลยค่ะ โดยเมื่อเราได้รับคำขอชำระเงินจากร้านค้ามาแล้ว ให้เราเลือกที่
“ชำระเงิน” แล้วกด “เลือก” เพื่อเลือกวิธีการชำระสินค้าที่ต้องการ โดยเราสามารถเปลี่ยนได้ในภายหลัง

การชำระด้วย Mobile Banking : ระบบจะพาเราไปยังแอปฯ ธนาคารที่เราเลือกโดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องกรอกเลขบัญชี หรือ จำนวนเงิน แล้วกด “ยืนยัน” เพื่อทำการชำระเงิน ซึ่งระบบจะทำการส่งสลิปไปยังร้านค้าทันที ซึ่งเราสามารถกดที่ “กลับสู่ Messenger” เพื่อไปยังหน้าแชทอีกครั้ง โดยแอปฯ ของธนาคารที่เข้าร่วมก็ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงศรีค่ะ

การชำระด้วยบัตรเครดิต หรือ เดบิต : ระบบจะขึ้นหน้าต่างให้เรากรอกข้อมูลบัตรต่าง ๆ เพื่อชำระสินค้า โดยระบบจะทำการแจ้งสถานะการจ่ายไปยังผู้ขายอีกที อย่างไรก็ตามบัตรของเราจะต้องมีสัญลักษณ์ Visa, MasterCard, JCB ถึงจะใช้ได้นะคะ

ทั้งนี้สำหรับการชำระสินค้า ผู้ใช้จะสามารถชำระได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อเดือน ตามปีปฏิทินนะคะ แต่หากใครที่คิดว่า 300,000 บาทต่อเดือนน้อยเกินไป ก็สามารถโทรไปขอเพิ่มวงเงินได้ที่ KGP หรือ Kasikorn Global Payment 

มาถึงตรงนี้ทุกคนคงจะเห็นความง่ายและความสะดวกสบายในการใช้งาน Facebook Pay กันแล้วใช่มั้ยคะ ถ้าอย่างงั้นหากใครสนใจ อยากนำ Facebook Pay มาใช้เพื่อทำให้การขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Facebook ของคุณง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และ มั่นใจได้มากขึ้น คุณก็สามารถไปเริ่มต้นใช้กันได้ตามลิงก์ด้านล่างเลยค่ะ

Facebook Pay คืออะไร
QR Code สำหรับสมัครผ่านแอปฯ

สมัครผ่านมือถือ 👉 FB.me/fb-pay-dmm

สมัครผ่านเว็บไซต์ 👉 FB.me/fb-pay-dmw

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

เทรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่น่าจับตามองสำหรับปี 2021
เจาะลึก 7 เทรนด์ Digital Marketing ในปี 2021