ในปี 2022 นี้ Google Ads ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่ง STEPS Academy ขอนำเสนอ 3 การเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้นักการตลาดและนักโฆษณาบนโลกออนไลน์ได้ทางเลือกใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการโฆษณาให้คุ้มค่ามากขึ้น ทั้งด้านเวลาและด้านงบประมาณ การเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 อย่างนี้จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ
1. ใช้ ‘กลุ่มเป้าหมายที่เคยบันทึกไว้’ (Reuse Audiences) ได้โดยไม่ต้องตั้งค่าใหม่
ในช่วงที่ผ่านมานักการตลาดหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องของ Marketing Automation หรือการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การตลาดดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นอกจากการใช้ Marketing Automation แล้ว อีกเรื่องที่จะช่วยประหยัดเวลาได้คือการนำข้อมูลที่มีอยู่ในอดีตมาประมวลผลให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อทำการตลาดอย่างตอบโจทย์ และเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายในแคมเปญถัด ๆ ไปด้วย
สำหรับ Google Ads เองก็เล็งเห็นความสำคัญที่จะช่วยให้นักการตลาดและผู้ประกอบการได้ประหยัดเวลาวางแผนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นจึงพัฒนาฟีเจอร์ Reuse Audiences ให้นักการตลาดสามารถใช้กลุ่มเป้าหมายเดิมที่เคยกำหนดไว้ในแคมเปญก่อน ๆ เพื่อลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนค่ะ
ปัจจุบันฟีเจอร์ Reuse Audiences จะใช้ได้แค่กับฟังก์ชัน Audience Signals ใน Performance Max แต่สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับทั้งสองคำนี้ เราจะค่อย ๆ อธิบายให้ฟังนะคะว่าแต่ละอย่างคืออะไรบ้าง
มาเริ่มที่ Performance Max กันค่ะ Performance Max คือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถโปรโมทโฆษณาไปยังทุกแพลตฟอร์มบน Google โดยอาศัยการสร้างแคมเปญแค่ครั้งเดียว ซึ่ง Performance Max จะมีฟังก์ชัน Audience Signals ที่แนะนำว่าควรยิงโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมายไหนถึงจะเพิ่มยอดขายและ Conversion ในหลายช่องทาง ต่างจากเดิมที่คนยิงโฆษณาอาจจะนึกถึงกลุ่มเป้าหมายได้แค่ไม่กี่กลุ่ม ไม่ครอบคลุมเท่าที่ควรค่ะ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของทาง Google Ads ระบุว่าในอนาคตฟีเจอร์ Reuse Audiences จะถูกพัฒนาให้ใช้กับการโฆษณาแบบอื่น ๆ ได้ด้วยนะคะ คือ Discovery Campaign, Video Action Campaign และ App Campaign ค่ะ
โดย Discovery Campaign คือโฆษณาซึ่งจะมีทั้งภาพและข้อความอธิบายคล้าย Facebook Feed โดยโฆษณาชนิดนี้จะแสดงผลใน 3 จุด คือ
- หน้า Feed ของ YouTube
- หน้า Discover ใน Google Feed
- แท็บ Promotions และ Socials ของ Gmail
ซึ่งสถิติจาก Google ในปี 2022 ระบุว่า หากลงโฆษณาใน 3 จุดนี้มีโอกาสที่ผู้ใช้งานบน Google จะเห็นโฆษณากว่า 2.8 พันล้านคน ทำให้ผู้ลงโฆษณาประหยัดค่าใช้จ่าย แทนที่จะลงโฆษณาในช่องทางอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้ผลตอบรับดีเท่านี้ค่ะ
โฆษณารูปแบบต่อมาที่มีโอกาสใช้กับฟีเจอร์ Reuse Audiences ได้ในอนาคตคือ Video Action Campaign หรือการทำโฆษณาในรูปแบบวิดีโอ เพื่อเพิ่มยอดขายจากทั้งในและนอก YouTube ภายใต้เงื่อนไขการใช้ Cost Per Acquisition (CPA) หรือต้นทุนค่าโฆษณาต่อการกระทำบางอย่างของลูกค้า (การสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ การกรอกแบบฟอร์ม การสมัครสมาชิก ฯลฯ) ในราคาต่ำที่สุด
ส่วนโฆษณารูปแบบสุดท้ายที่มีโอกาสใช้กับฟีเจอร์ Reuse Audiences ได้คือ App Campaign หรือโฆษณาโปรโมท Application ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ Google เช่น Google Search, Google Play, YouTube, Gmail เพื่อเพิ่มจำนวนการติดตั้ง Application นั่นเองค่ะ
2. ใช้งาน ‘Audience Report’ ได้ง่ายขึ้น
เพื่อให้ผู้ยิงโฆษณาวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ทาง Google Ads จึงเปลี่ยนให้ส่วนของ Demographics (ประชากร) Audience Segments (กลุ่มเป้าหมาย) และ Exclusions (การยกเว้นจากกลุ่มโฆษณา) ที่เคยอยู่แยกกัน มาอยู่รวมกันในแท็บเดียวคือแท็บ Audiences เพื่อให้ผู้ยิงโฆษณาเห็นภาพรวมโดยไม่ต้องเสียเวลาคลิกอ่านข้อมูลทีละหน้าค่ะ
ลองมาทำความเข้าใจแต่ละส่วนให้มากขึ้นนะคะ
- Audience Segments คือกลุ่มเป้าหมายประเภทต่าง ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจซื้อ กลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน
- Demographics คือข้อมูลผู้เข้าชมโฆษณา เช่น เพศ อายุ สถานะ รายได้ต่อครัวเรือน
- Exclusions คือการตัดคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายออกจากการยิงโฆษณา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูว่าควรยิงโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมายไหน หรือจะตัดกลุ่มเป้าหมายใดออก เราจะทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อมูลลูกค้าที่เราใช้งานบ่อยถูกจัดระเบียบให้อยู่ในหน้าเดียวกันเรียบร้อยแล้วค่ะ
3. เปลี่ยน ‘ชื่อฟังก์ชัน’ ใหม่ให้ครอบคลุมการใช้งาน
สำหรับใครที่เคยยิงโฆษณาผ่าน Google Ads มาแล้ว คงเคยเห็นคำว่า Audience Type และ Remarketing ใช่ไหมคะ แต่ล่าสุดในปี 2022 ทาง Google Ads ได้เปลี่ยนวิธีการเรียกเป็นดังนี้ค่ะ
อย่างแรกคือคำว่า Remarketing หรือการทำโฆษณาแบบติดตามคนที่เคยเข้าเว็บไซต์แต่ยังไม่ซื้อสินค้าในทันที รวมถึงลูกค้าที่อยากให้กลับมาซื้อซ้ำ จะเปลี่ยนมาเป็นคำว่า ‘Your data’ แทนค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าใครเข้า Google Ads แล้วหาคำว่า Remarketing ไม่เจอ ลองมองหาคำว่า Your data แทนดูนะคะ
ต่อมาคือคำว่า Audience Type (ประเภทของกลุ่มเป้าหมาย) จะเปลี่ยนมาเรียกว่า ‘Audience Segments’ (กลุ่มเป้าหมาย) แทน เนื่องจากคำว่า Audience มีความหมายกว้างกว่า แต่พอเปลี่ยนเป็นคำว่า Segments ทำให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นค่ะ
ตัวอย่างเช่น
- Affinity Audience > Affinity Segment (การกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามความชอบ ความสนใจ ไลฟ์สไตล์)
- In-Market Audience > In-Market Segment (กลุ่มเป้าหมายที่กำลังค้นหาข้อมูลอยู่ และ มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าบริการของเรา)
- Life Event Audience > Life Event Segment (กลุ่มเป้าหมายที่จะมีเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การแต่งงาน การซื้อบ้าน การเปิดธุรกิจใหม่)
- Detailed Demographic Audience > Detailed Demographic Segment (รายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก เช่น อายุของบุตร สถานะการทำงาน)
- Custom Audience > Custom Segment (กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดจาก URL ของเว็บไซต์ที่กลุ่มเป้าหมายเคยค้นหา)
- Similar Audience > Similar Segment (กลุ่มเป้าหมายที่มีความใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายเดิม)
ส่วนคำที่เหลือในตารางอย่าง Combined List ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนเป็นคำว่า Custom Combination Segment จะหมายถึงการนำกลุ่มหมายเป้าหมายจาก Segment ต่าง ๆ มารวมกัน โดยใช้ฟังก์ชัน AND, OR และ NOT ค่ะ
🌟 หากคุณเป็นหนึ่งคนที่สนใจและอยากยกระดับการทำโฆษณาออนไลน์ หลักสูตร “Ads Optimization for Management 101” 📈 จะทำให้คุณรู้ลึกรู้จริงในด้านการบริหาร และการวางกลยุทธ์โฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มยอดนิยม ทั้งฝั่ง Facebook Ads และ Google Ads เพื่อให้ช่องทางออนไลน์ของคุณเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่
🔗 https://stepstraining.co/ads-optimization-101
ที่มา
https://martech.org
https://foretoday.asia
https://techfeedthai.com
https://www.oberlo.com
https://digitorystyle.com