แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีธุรกิจไหนไม่ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย ด้วยพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปและใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้หลายๆธุรกิจที่เคยทำออฟไลน์ จึงต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น แต่ในยุคที่ใครๆก็ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียกัน
“เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การตลาดที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่ผลิตออกไป
หรือแคมเปญเพื่อทำโฆษณาต่างๆนั้น ให้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ ต่อธุรกิจ”
อีกทั้งบางกรณี ที่เจอกับสถานการณ์โดนเจ้านายถามคำถามว่า “ธุรกิจของเราตอนนี้เป็นไปด้วยดีหรือไม่ บนช่องทางโซเชียลมีเดีย” แต่คุณไม่สามารถตอบคำถามให้เจ้านายเห็นเป็นรูปธรรมและชัดเจนได้ ซึ่งผลลัพธ์เชิงรูปธรรมที่เจ้านายคุณอยากได้ยินนี้ ไม่ได้หมายถึงยอดไลค์ ยอดแชร์ แต่เป็นตัวเลขที่จะทำให้พวกเขาเห็นภาพว่า การตลาดนี้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจหรือไม่ คุ้มค่าหรือขาดทุนอย่างไร
ด้วยเหตุผลต่างๆที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ธุรกิจจึงควรมีตัวชี้วัด ซึ่งก็คือ KPIs (Key Performance Indicators) สำหรับช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อชี้วัดว่า สิ่งที่เราผลิตออกไปก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจหรือไม่อย่างไรได้
Social media KPIs for REACH
ค้นหาว่า…มีกี่คนที่เห็นโพสต์ของคุณในโซเชียลมีเดียได้ ด้วย KPIs เหล่านี้
1. Impressions
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่า โพสต์ของคุณปรากฏขึ้นกี่ครั้งในฟีดหรือไทม์ไลน์ของผู้ใช้ นับทั้งหมดแม้ว่าผู้ใช้งานเหล่านั้นจะไม่หยุดดู เพื่ออ่านโพสต์ที่ปรากฏ
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุจำนวนการแสดงผล (Impressions) สำหรับแต่ละโพสต์ ในแต่ละแพลตฟอร์มที่กำหนด
- ระบุระยะเวลาที่จะวัดผล เช่น สัปดาห์ เดือน หรือไตรมาส
- เปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าเพื่อดูแนวโน้มของผลลัพธ์ว่าดีขึ้น หรือแย่ลงอย่างไร
2. Audience Growth Rate
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่า อัตราการเติบโตของผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียของคุณเป็นเท่าไหร่
จำนวนผู้ติดตามเพิ่มเร็วขึ้นเท่าใด และเร็วกว่าเดือนที่แล้วหรือไม่?
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุจำนวนผู้ติดตามใหม่สำหรับเดือนนั้นๆ บนแพลตฟอร์มที่เราต้องการวัดผล
- หารจำนวนดังกล่าวด้วยผู้ติดตามทั้งหมดของคุณ เพื่อดูอัตราการเติบโต
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพื่อดูแนวโน้ม
ตัวอย่าง
เดือนมกราคม
- เดือนมกราคม มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 100 คน บน Twitter
- Twitter มีผู้ติดตามทั้งหมด 5,000 คน
- (ผู้ติดตามใหม่ 100 คน / ผู้ติดตามทั้งหมด 5,000 คน )*100 = 2% growth rate หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดตามใหม่ 2%
เดือนกุมภาพันธ์
- เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 120 คน บน Twitter
- Twitter มีผู้ติดตามทั้งหมด 5,100 คน
- (ผู้ติดตามใหม่ 120 คน / ผู้ติดตามทั้งหมด 5,100 คน )*100 = 2.35 % growth rate หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดตามใหม่ 2.35%
จากผลลัพธ์ดังกล่าวจะเห็นว่า เดือนกุมภาพันธ์มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดตามมากกว่า ผลลัพธ์นี้ เป็นผลดีให้ธุรกิจศึกษาต่อว่า มีปัจจัยอะไรหรือกิจกรรมอะไรในระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ส่งผลให้มีอัตราผู้ติดตามมากขึ้น เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจต่อไป
“ %Growth Rate ที่มากขึ้น
หมายถึงโอกาสที่จำนวนผู้พบเห็นคอนเทนต์ของคุณจะเพิ่มมากขึ้นด้วย”
3. Post Reach
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่า มีผู้ใช้งานกี่คนที่เห็นโพสต์ของคุณตั้งแต่เริ่มเผยแพร่
สำหรับ KPI นี้ ให้วัดผลโดยแบ่งตามเวลาที่โพสต์ และแบ่งตามเนื้อหาที่โพสต์ด้วย เพราะเวลาและเนื้อหาคอนเทนต์ เป็นตัวแปรสำคัญของการวัดผลข้อนี้ ให้สังเกตผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเปลี่ยนตัวแปรทั้งสอง นั่นก็คือช่วงเวลา และหัวข้อของคอนเทนต์
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุโพสต์ที่คุณต้องการวัดผล
- ระบุผลลัพธ์จำนวนผู้คนที่เห็นโพสต์ที่ระบุไว้นั้น (Reach)
- หารจำนวนดังกล่าว ด้วยจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบกับโพสต์อื่นๆ ในระยะเวลาเดียวกัน (เปรียบเทียบเนื้อหา) หรือในระยะเวลาต่างกัน (เปรียบเทียบช่วงเวลา)
ตัวอย่าง
A : โพสต์คอนเทนต์เนื้อหาเกี่ยวกับ Content Strategy ในวันธรรมดา 21.00 น. จากการโพสต์ดังกล่าว
- มีคนเห็นโพสต์ของคุณทั้งหมด 200 คน
- จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด 6,000 คน
- (จำนวนคนเห็นโพสต์ 200 / จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด 6,000) *100 = 3.3% post reach (มีจำนวนคนเห็นโพสต์ 3.3% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด)
B: โพสต์คอนเทนต์เนื้อหาเกี่ยวกับ Content Strategy เหมือนกัน รูปแบบเดียวกัน แต่เผยแพร่ในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ 11.00 น. จากการโพสต์ดังกล่าว
- มีคนเห็นโพสต์ของคุณทั้งหมด 1,000 คน
- จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด 6,000 คน
- (จำนวนคนเห็นโพสต์ 1,000 / จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด 6,000) *100 = 16.7 % post reach (มีจำนวนคนเห็นโพสต์ 16.7% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด)
จากตัวอย่างการโพสต์เนื้อหาลักษณะเดียวกัน แต่ลงในช่วงเวลาที่ต่างกันนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า โพสต์ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 น. มี %post reach ที่มากกว่าการโพสต์ในวันธรรมดา 21.00 น. การเก็บข้อมูลดังกล่าวจะทำให้คุณรู้ว่า ครั้งต่อๆไป ควรโพสต์วันใด ช่วงเวลาใด จะช่วยให้เข้าถึงผู้ใช้งานได้มากที่สุด เป็นต้นค่ะ
“KPI นี้ จะช่วยให้คุณทราบเวลาที่ดีที่สุดในการโพสต์คอนเทนต์
และเนื้อหาคอนเทนต์ที่คนสนใจที่สุดในช่วงเวลานั้นได้”
Social media KPIs for ENGAGEMENT
ลองมาดูกันว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์ของคุณหรือไม่ อย่างไร ด้วย KPIs ดังต่อไปนี้
4. Applause Rate
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่า มีกี่คนที่กดไลค์หรือชอบโพสต์ของคุณเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับผู้ติดตามทั้งหมด
KPIs นี้จะช่วยให้คุณนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมของคุณได้ โดยคุณจะต้องพยายามเข้าใจว่า ทำไมผู้คนจึงกดไลค์โพสต์นั้นๆของคุณ
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุระยะเวลาการทดสอบ
- ระบุโพสต์ที่คุณต้องการวัดผล
- รวมจำนวนการกดไลค์ หรือแสดงความชอบทั้งหมด
- หารด้วยจำนวนผู้ติดตามทั้งหมดของแพลตฟอร์มนั้นๆ
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ของคุณ
ตัวอย่าง
- โพสต์ที่ระบุ มีจำนวนการกดไลค์ 250 ครั้ง
- ผู้ติดตามบน Twitter ทั้งหมด 9,100 คน
- (จำนวนการกดไลค์ 250 / ผู้ติดตามบน Twitter 9,100 คน ) * 100 = 2.8% Applause Rate (มีจำนวนคนกดไลค์ 2.8% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดตามบน Twitter ทั้งหมด)
จากการวัดผลดังกล่าว คุณสามารถนำมาเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เช่น ในเดือนนี้คุณต้องการให้มียอดอัตราการกดไลค์เพิ่มขึ้นเป็น 3.0% แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือ 2.8% ดังการคำนวณที่แสดงไป ผลลัพธ์นี้จะทำให้คุณรู้ว่า สิ่งที่ทำอยู่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพื่อประเมินว่าควรทำอย่างไรต่อไปให้บรรลุเป้าหมายได้
“ % Applause Rate ของโพสต์ไหนเยอะ
แปลว่าผู้คนชื่นชอบเนื้อหา หรือการนำเสนอของโพสต์นั้นมากที่สุด ”
5. Average Engagement Rate
KPIs นี้ จะคล้ายคลึงกับ KPIs ด้านบน แต่จะรวมถึงจำนวนคอมเมนต์ และจำนวนการแชร์โพสต์นั้นด้วย ยิ่ง %Avg Engagement Rate สูง แปลว่าโพสต์ที่คุณผลิตนั้นดี ตรงความสนใจของผู้ติดตาม
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุระยะเวลาการทดสอบ
- รวมจำนวนการกดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ ทั้งหมด
- หารด้วยจำนวนผู้ติดตามทั้งหมดของแพลตฟอร์มนั้นๆ
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- ดูแนวโน้มเมื่อเวลาผ่านไปเปรียบเทียบกับเป้าหมายของคุณ
ตัวอย่าง
- โพสต์ที่ระบุมีจำนวนกดไลค์ 120 + คอมเมนต์ 230 + แชร์โพสต์ 165
- (ผลรวมด้านบน 515 / จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด 23,200) * 100 = 2.2% Average Engagement Rate (มีอัตราการ Engagement ทั้งหมด 2.2% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด)
ตัวชี้วัดนี้ จะทำให้คุณรู้ว่า ผู้ชมมี Engagement ต่อโพสต์เป็นอย่างไร และเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ผ่านๆมา ดีขึ้นหรือไม่ เช่น เดือนที่แล้วมี %Avg Engagement Rate เป็น 3.0% แต่เดือนนี้ลดลงเป็น 2.2% การวัดผลนี้ก็จะทำให้คุณได้รู้ว่า การ Engage ของผู้ชมลดลง เพื่อศึกษาต่อว่าเพราะอะไร จากสาเหตุไหน และพัฒนาต่อไป
“ KPIsนี้ จะทำให้คุณวิเคราะห์ได้ว่า
ควรโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร รูปแบบคอนเทนต์แบบไหนได้”
6. Amplification Rate
โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องไหน ที่มีอัตราการแชร์มาก หมายความว่าเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ ตรงกับความสนใจของผู้ติดตาม และเครือข่ายสังคมของผู้ติดตามนั้นๆ รวมถึงเป็นคอนเทนต์ที่ผู้ติดตามมองว่าเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา และคนอื่นๆด้วย
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุระยะเวลาการทดสอบ เป็นสัปดาห์ เดือน หรือไตรมาส
- นับจำนวนการแชร์โพสต์ ในช่วงเวลาที่กำหนด
- หารด้วยจำนวนผู้ติดตามทั้งหมดของแพลตฟอร์มนั้นๆ
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบอัตรานี้กับเป้าหมายของคุณ
ตัวอย่าง
- โพสต์ที่ระบุมีจำนวนการแชร์ 95
- (จำนวนการแชร์ 95 / จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด 3,450) * 100 = 2.75% Amplification Rate (มีจำนวนการแชร์เป็น 2.75% ของจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด)
KPI นี้มีส่วนช่วยบ่งบอกว่า เนื้อหาดังกล่าวเป็นที่สนใจต่อผู้ชมหรือไม่ เช่น โพสต์หนึ่งของคุณมี %Amplification Rate เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมีอย่างชัดเจนจาก 2.75% เป็น 5.0% ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า เนื้อหาของโพสต์นั้นตรงใจผู้รับชมมากที่สุด สามารถนำไปใช้ต่อ โดยเขียนคอนเทนต์ต่อๆไปในหัวข้อที่เกี่ยวโยงกับเรื่องดังกล่าวได้
7. Virality Rate
KPI นี้คือจำนวนคนที่แชร์โพสต์ของคุณเทียบกับจำนวนคนที่มีโอกาสเห็นโพสต์ (Impression)
การวัดผลนี้ ออกมาในรูปของอัตรา ไม่ใช่จำนวนการแชร์นั้นๆเลย บางครั้งโพสต์ที่มีจำนวนการแชร์เยอะ 10,000 ครั้ง อาจจะมี %Virality Rate อยู่ที่ 0.03% แต่บางโพสต์ที่มีจำนวนการแชร์น้อยกว่า สมมติว่า 6,000 ครั้ง อาจจะมี %Virality Rate เท่ากับ 9.1% ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดีกว่า แม้จำนวนการแชร์จริงๆจะน้อย
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุระยะเวลาการทดสอบ
- นับจำนวนการปรากฏของโพสต์ (Impression) ในช่วงระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้
- นับจำนวนการแชร์ ในช่วงระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกัน
- หารจำนวนการแชร์ ด้วยจำนวนการปรากฏ (Shares/Impressions)
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบอัตรานี้กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ของคุณ
ตัวอย่าง
- โพสต์ที่ระบุมีจำนวนการแชร์ 110
- จำนวน Impressions 1,980
- (จำนวนการแชร์ 110 / จำนวน Impressions 1,980) * 100 = 5.6% virality rate (มีจำนวนการแชร์ 5.6% จากจำนวนการปรากฏโพสต์ทั้งหมด (Impression))
ตัวชี้วัดนี้จะช่วยบอกประสิทธิภาพของโพสต์ เช่น โพสต์หนึ่งมีจำนวนการแชร์ 500 ครั้ง และมี %Virality Rate 0.5% แต่อีกโพสต์หนึ่งที่เนื้อหาต่างกัน มีจำนวนการแชร์น้อยกว่าแค่ 100 ครั้ง แต่มี %Virality Rate 7% แสดงถึงความมีประสิทธิภาพของโพสต์นี้ที่มากกว่า ซึ่งคุณสามารถนำเนื้อหานี้ไปต่อยอดต่อได้ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรตัดสินผลลัพธ์จากแค่เพียงยอดแชร์ที่แสดงผลเท่านั้น แต่ยังต้องเปรียบเทียบการจำนวนการมองเห็นด้วย
“ %Virality Rate ช่วยบ่งบอกประสิทธิภาพของคอนเทนต์นั้นๆได้
เพราะเราไม่สามารถดูแค่จำนวนการแชร์ได้เพียงอย่างเดียว ต้องเทียบกับการปรากฏของโพสต์ทั้งหมดด้วย”
Social media KPIs for CONVERSION
8. Conversion Rate
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่า มีผู้ชมจำนวนกี่คน ที่ลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง (Take Action) ตามที่เป้าหมายที่วางไว้บ้าง
ลำดับการดำเนินการจนเกิดการ Take Action มักจะเป็นดังต่อไปนี้
- โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย
- ผู้ใช้คลิกที่ Call to Action (CTA) บนโพสต์ดังกล่าว
- เข้ามายัง Landing Page ของเว็บไซต์
- ลงมือทำบางสิ่งบางอย่างในหน้านั้น เช่น กดติดตามเพื่อรับข่าวสาร ดาวน์โหลดคู่มือ เป็นต้น
ขั้นตอนการดำเนินการ
- สร้างหน้า Landing Page สำหรับแคมเปญของคุณบนเว็บไซต์
- ใส่ Call to Action (CTA) ที่ดึงดูดให้คนอยากดาวน์โหลดหรือลงทะเบียนในเว็บไซต์
- สร้างโพสต์บนโซเชียลมีเดีย พร้อม Call to Action (CTA) ที่จะลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของคุณ
- วาง “คุกกี้” ติดตามผู้ใช้ เพื่อทำการตลาดต่อ เพิ่มโอกาสในการขาย
วิธีการติดตามวัดผล
- เผยแพร่โพสต์
- ระบุจำนวนการคลิก CTA ของโพสต์ บนโซเชียลมีเดีย
- ระบุจำนวน Conversion (กดCTAในหน้าเพจนั้น/ลงทะเบียนรับข่าวสาร/ลงทะเบียนรับคู่มือ)
- หารจำนวน Conversion บนเว็บไซต์ ด้วยจำนวนการคลิก CTA หรือลิงก์บนโพสต์
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงเวลาที่กำหนด
ตัวอย่าง
- จำนวน Conversion ของโพสต์คือ 130
- จำนวนการคลิก 4,100
- (จำนวน Conversion 130 / จำนวนการคลิก 4,100) * 100 = 3.2% Conversion Rate (เกิด Conversion ทั้งหมด 3.2% จากจำนวนการคลิกทั้งหมด)
หาก %Conversion Rate มีค่าสูง แสดงว่าจำนวนการคลิกที่เกิดขึ้นนั้นมีคุณภาพ เพราะแปรเปลี่ยนมาเป็น Lead หรือยอดขายได้ สามารถเปรียบเทียบกับเป้าหมาย หรือผลลัพธ์ที่เคยมีมา เช่น คุณเคยสามารถทำ %Conversion Rate ได้ 1.0% แต่โพสต์ปัจจุบันทำได้ดีขึ้นเป็น 3.2% แสดงว่ามีวิธีการบางอย่างที่คุณลงมือทำแล้วได้ผลในโพสต์ดังกล่าวนี้ค่ะ
9. Click-through Rate (CTR)
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอก อัตราการคลิกลิงก์หรือ Call to Action (CTA) ของโพสต์ว่าเป็นเท่าไหร่จากการปรากฏของโพสต์นี้ทั้งหมด
ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการแชร์ การกดไลค์ หรือคอมเมนต์ แต่โฟกัสไปที่ความสนใจของผู้ชม ว่าพวกเขาคลิกลิงก์ หรือสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม่
เป็น KPI ที่ธุรกิจควรเก็บข้อมูลบ่อยๆ เพราะตัวชี้วัดนี้จะทำให้คุณรับรู้ว่า ข้อเสนอแบบไหนน่าสนใจที่สุดสำหรับลูกค้า
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุจำนวนคลิก CTA ของโพสต์ที่จะทำการวัด
- ระบุจำนวน Impression ของโพสต์ที่จะทำการวัดเช่นเดียวกัน
- หารจำนวน คลิก ด้วยจำนวน Impression
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบอัตราดังกล่าวกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงเวลาที่กำหนด
ตัวอย่าง
- จำนวนการคลิก CTA ของโพสต์คือ 95
- จำนวน Impression 5,900
- (จำนวนการคลิก 95 / จำนวน Impression 5,900) * 100 = 1.6% Click-through Rate (มีผู้ใช้งานคลิก CTA เป็น 1.6% จากจำนวนการปรากฏโพสต์ทั้งหมด (Impression))
ตัวชี้วัดนี้บ่งบอกได้ว่า เนื้อหาในโพสต์นั้นๆน่าสนใจ หรือทำให้ผู้ชมอยากคลิกเพื่ออ่านต่อมากน้อยแค่ไหน สามารถเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือผลลัพธ์ในครั้งก่อนหน้าได้ เช่น โพสต์ในครั้งที่ผ่านมา ใช้รูปแบบการนำเสนอเป็นรูปภาพ ซึ่งได้ %CTR เป็น 1.6% แต่ในโพสต์ล่าสุดได้เปลี่ยนรูปแบบมาใช้วิดีโอนำเสนอแทนทำให้มี %CTR เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในช่วงเวลาการเผยแพร่เดียวกัน จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้คุณวิเคราะห์ได้ว่า รูปแบบการนำเสนอแบบวิดีโอทำให้ผู้ชมอยากคลิกมากกว่า เป็นต้นค่ะ
10. Bounce Rate
ในบางครั้ง แม้ผู้ใช้งานจะคลิกที่ CTA บนโพสต์และเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ของคุณแล้ว แต่พวกเขากลับไม่ได้กดคลิก CTA บนเพจหรือเว็บไซต์ตามที่คุณได้วางไว้ (Bounce)
Bounce Rate เป็น KPI ที่ใช้วัดปริมาณการเข้าชม (Traffic) บนเว็บไซต์ของคุณ และใช้เพื่อกำหนด ROI (Return of Investment) โดยเปรียบเทียบกันระหว่างแหล่งที่มาของการเข้าชมอื่น ๆ (เช่น การเข้าชมจากโพสต์ Twitter และการเข้าชมจากการค้นหาของ Google)
ยิ่ง Bounce Rate มีค่าต่ำๆ แสดงว่าคุณกำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ชมที่ถูกต้อง เหมาะสมมากขึ้นแล้ว
วิธีการติดตามวัดผล
- ติดตั้ง Google Analytics
- ไปที่ตัวเลือก ‘Acquisition’
- มองไปที่ด้านล่างของ ‘All Traffic’
- จะเห็นตัวเลือก ‘Channels’
- คลิกที่ตัวเลือก Bounce Rate
- ดูอัตราที่เกิดขึ้นในแต่ละช่องทาง
- เปรียบเทียบอัตราดังกล่าวกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงเวลาที่กำหนด
11. Cost Per Click (CPC)
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่า คุณจ่ายเงินไปเท่าไรต่อการคลิกหนึ่งคลิกในโพสต์โซเชียลมีเดียที่คุณซื้อโฆษณา ตามระยะเวลาที่กำหนด?
KPI นี้จะช่วยให้คุณทราบว่า การลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพหรือไม่ คุ้มหรือขาดทุน
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปของโฆษณาที่ต้องการวัด
- นับจำนวนการคลิกบนโฆษณานั้น
- หารค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น ด้วยจำนวนการคลิก
- เปรียบเทียบอัตราดังกล่าวกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงเวลาที่กำหนด
ตัวอย่าง
- สมมติคุณใช้เงิน 3,000 บาท สำหรับการซื้อโฆษณาบน Facebook นี้
- จำนวนการคลิก 430 ครั้ง
- (ค่าโฆษณา 3,000 / จำนวนการคลิก 430) = 6.97 บาทต่อการคลิกหนึ่งคลิก
อย่างไรก็แล้วแต่ ราคานี้จะคุ้มทุนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนการคลิกเข้ามานั้น ก่อให้เกิด Conversion มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่เทียบกับราคาของสินค้าที่ขายได้ด้วยค่ะ
12. Cost Per Thousand Impressions (CPM)
เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึง จำนวนเงินที่คุณจ่ายไปหลังจากผู้ใช้ 1,000 คนเลื่อนผ่านโพสต์ที่ได้รับการสนับสนุนของคุณ
CPM ไม่ได้มีไว้สำหรับวัดประสิทธิภาพของโฆษณา แต่ CPM เป็นตัวชี้วัดที่มีประโยชน์สำหรับ…
- กรณีที่เป้าหมายคือ การทำให้ลูกค้าใหม่เห็นแบรนด์ของคุณ
- รู้ล่วงหน้าว่าคุณจะจ่ายเท่าไหร่
- รู้ว่ามีกี่คนที่จะเห็นโฆษณาของคุณ
- ประเมินต้นทุนโครงการสำหรับการทำแคมเปญใหม่
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปทั้งหมดของโฆษณาในช่วงเวลาที่กำหนด
- หารค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น ด้วยจำนวน Impression
- คูณด้วย 1,000
- เปรียบเทียบอัตราดังกล่าวกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงเวลาที่กำหนด
ตัวอย่าง
- สมมติคุณใช้เงิน 2000 บาท สำหรับการซื้อโฆษณา
- จำนวน Impression ทั้งหมด 9,200
- (ค่าโฆษณา 2,000 / จำนวนการ Impression 9,200) *1,000 = 211.74 บาทต่อทุกๆ 1,000 Impressions
โดยส่วนใหญ่แล้ว ตัวชี้วัดนี้จะเหมาะกับเป้าหมายในขั้น Awareness ที่มุ่งเน้นให้คนพบเจอแบรนด์เยอะๆ ค่า CPM ที่น้อยกว่าจึงหมายถึงการเข้าถึงคนได้ในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็แล้วแต่ แม้ว่าจะมีคนเห็นแบรนด์เยอะ แต่ถ้าคนเหล่านั้นไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ก็ไม่เกิดประโยชน์กับธรุกิจ เพราะไม่มีโอกาสที่คนเหล่านั้นจะเกิดการตัดสินใจซื้อ ดังนั้นการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องลงมือทำด้วยค่ะ
13. Social Media Conversion Rate
KPI นี้กล่าวถึง เปอร์เซ็นต์ Conversion Rate ทั้งหมดที่มาจากโซเชียลมีเดีย
ตัวชี้วัดนี้ ใช้เพื่อทราบว่าการโพสต์แต่ละครั้งมีประสิทธิภาพอย่างไรสำหรับแคมเปญ สิ่งนี้จะช่วยให้เห็นว่า ข้อเสนอของคุณตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจมากเพียงใด
สมมติว่าคุณมีหน้า Landing Page พร้อม CTA เพื่อดาวน์โหลดคู่มือฟรีแล้ว สองสิ่งที่คุณต้องการรู้คือ
- มีผู้ดาวน์โหลดคู่มือกี่คน (Conversion ทั้งหมด)
- ในจำนวนนั้นมาจากการโพสต์บนโซเชียลมีเดียเท่าไหร่ (Social Media Conversions)
ขั้นตอนการดำเนินการ
- สร้างโพสต์ พร้อม Call to Action ที่ลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์ของคุณ
- วาง Cookies ติดตามผู้ใช้ เพื่อทำการตลาด เพิ่มโอกาสในการขาย
วิธีการติดตามวัดผล
- ระบุจำนวน Conversion หรือ Download ทั้งหมด
- ระบุจำนวน Social Media Conversion หรือ Conversion ที่มาจากช่องทางโซเชียลมีเดีย
- หารจำนวน Conversion หรือ Download ทั้งหมด ด้วยจำนวน Social Media Conversion
- คูณ 100 เพื่อแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์
- เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
ตัวอย่าง
- มีผู้ใช้ดาวน์โหลดคู่มือทั้งหมด 300 คน
- 180 คน มาจากโพสต์บนโซเชียลมีเดีย
- (180 / 300) * 100 = 60% Social Media Conversion Rate (60% ของผู้ใช้งานที่เข้ามาดาวน์โหลดคู่มือ มาจากช่องทางโซเชียลมีเดีย)
เป็นค่าที่ทำให้คุณประเมินได้ว่า ตอนนี้ช่องทางโซเชียลมีเดียหรือช่องทางใด ที่ทำให้เกิดยอดขายหรือสร้าง Lead ได้มากกว่า เพื่อโฟกัสได้ถูกจุดว่า คุณควรลงทุนในช่องทางไหนคุ้มค่ากว่าตามสถานการณ์ในขณะนั้นค่ะ
Total Social Media KPIs
และนี่คือ KPI ของโซเชียลมีเดียทั้งหมดที่นักการตลาด และผู้ประกอบธุรกิจต่างๆควรรู้ ซึ่งทางทีมงานหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกๆคน ให้สามารถนำไปใช้วัดผลของแคมเปญหรือกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆบนโซเชียลมีเดียได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นจากการรวบรวมสูตรทั้งหมดในบทความนี้ค่ะ สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า หากคุณไม่มีการวัดผลงานที่ได้ลงมือทำไปเลย คุณจะไม่สามารถรับรู้ความเป็นไปของสิ่งที่ทำอยู่ว่าดีหรือไม่ KPI จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจ ที่คุณจำเป็นจะต้องรู้ และนำไปใช้ค่ะ
อย่างไรก็แล้วแต่ บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำการตลาดออนไลน์เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายๆอย่าง ที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้การตลาดบนโลกออนไลน์ของคุณประสบความสำเร็จได้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจ อยากจะพัฒนาทักษะ รวมถึงวางกลยุทธ์ด้าน Digital Marketing ได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ คอร์สเรียน DMS (Digital Marketing Specialist) สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ ทุกๆทักษะความรู้ที่ควรมีสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ สามารถเรียนรู้ได้ในคอร์สนี้เลยค่ะ
สามารถอ่านรายละเอียดคอร์ส และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
https://stepstraining.co/digital-marketing-specialist
ที่มา
https://blog.hootsuite.com/social-media-kpis-key-performance-indicators/