5 วิธีประหยัดงบประมาณในการซื้อโฆษณาบน Google Ads

5 วิธีประหยัดงบประมาณในการซื้อโฆษณาบน Google Ads

Google Ads เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยให้นักการตลาดซื้อโฆษณาได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ธุรกิจกว่า 80% จึงหันมาใช้ช่องทางนี้กันอย่างแพร่หลาย เพราะเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ (อ้างอิงจากข้อมูลของ WebFX)

อีกทั้งผู้บริโภคกว่า 63% ก็มีแนวโน้มว่าจะคลิกดูโฆษณาจากแพลตฟอร์มนี้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น (อ้างอิงจากข้อมูลของ BClutch.co)

ด้วยความนิยมนี้ การแข่งขันภายใน Google Ads ด้านค่าใช้จ่ายเลยสูงขึ้นตามไปด้วย ทาง STEPS Academy จึงขอแนะนำกลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณลงโฆษณาใน Google Ads โดยใช้งบประมาณน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ยังแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งเทคนิคที่เราจะนำเสนอในวันนี้มีทั้งหมด 5 ข้อ ตามไปดูกันค่ะว่าเราจะนำเทคนิคไหนไปปรับใช้เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อโฆษณาใน Google Ads ได้บ้าง

5 วิธีประหยัดงบประมาณในการซื้อโฆษณาบน Google Ads

1.วางกลยุทธ์ให้โฆษณาอยู่ในอันดับ 2-4 แทนอันดับที่ 1 บนหน้า Search Result

ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าอยากให้โฆษณาปรากฏบนหน้า Google เป็นอันดับที่ 1 เราจะต้องใช้งบประมาณในการโฆษณาเป็นจำนวนมาก เพราะหลายธุรกิจย่อมแข่งกันทุ่มเงินเพื่อแย่งตำแหน่งนี้ บริษัทที่มีเงินทุนมากกว่าเลยมีโอกาสได้ตำแหน่งที่ 1 บนหน้า Google ไปครอบครอง 

ธุรกิจเล็ก ๆ ที่มีเงินทุนไม่มากเท่าไรจึงควรใช้กลยุทธ์อื่น เช่น ตั้งเป้าหมายว่าโฆษณาไม่ต้องอยู่ในอันดับที่ 1 บนหน้า Google ก็ได้ แค่อยู่ในอันดับที่ 2-4 โดยไม่ตกลงไปในอันดับที่ต่ำกว่านี้ก็พอ เพราะธุรกิจที่ติดอันดับแรกบน Google อาจไม่สามารถสร้างยอดขายได้เสมอไป เพียงแต่มีโอกาสได้ Awareness มากกว่าคู่แข่งเท่านั้นเองค่ะ

อันดับโฆษณาบน google ads

ดังนั้น กลยุทธ์แรกที่เราควรใช้คือการลดงบประมาณในการ Bid ลงสักเล็กน้อย เช่น 0.5 ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18.15 บาท ถึง 36.29 บาท) เพราะการลดงบประมาณเท่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ในการโฆษณาเท่าไรนัก ทั้งนี้เราก็ควรเข้ามาเช็กบ่อย ๆ ว่าผลลัพธ์ของการโฆษณาเป็นอย่างไร เพื่อให้ยังได้ Conversion ในระดับที่ต้องการค่ะ 

ซึ่งนอกจากจะลดงบประมาณในการโฆษณาแล้ว เราก็ควรใส่ใจเรื่องการเพิ่ม Quality Score หรือคะแนนคุณภาพของโฆษณาด้วย เพื่อช่วยให้โฆษณาของเราไม่ตกลงไปในอันดับล่างจนเกินไป รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่อง Cost Per Click และ Cost Per Conversion ด้วยค่ะ

โดยเทคนิคการเพิ่ม Quality Score นั้นมีหลายอย่าง เช่น

  • ตั้งค่าให้โฆษณาของ Google แสดงผลได้ดีทั้งบนมือถือและหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • เลือกใช้คีย์เวิร์ดให้ตรงกับ Search Intent (จุดประสงค์ในการเสิร์จ) ของลูกค้าแต่ละรูปแบบ
  • ใส่ Negative Keywords เพื่อให้โฆษณาของเราไม่ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาบางคำ เราจะได้ไม่เสียค่าโฆษณาไปเปล่า ๆ 
  • ตรวจเช็กการสะกดคำและการใช้ไวยากรณ์ใน Ad Copy หรือข้อความที่ใช้โฆษณา เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
  • พยายามเขียนข้อความที่ใช้ในการโฆษณาให้น่าดึงดูดใจ ผ่านการปรับแต่งเนื้อหาในส่วน Meta Description
  • อย่าลืมเช็กผลลัพธ์หลังจากซื้อคีย์เวิร์ดใหม่ในไม่กี่วันแรก เพราะถ้าเจอปัญหาอะไรจะได้แก้ไขทัน 

2.ดู Auction Insights เพื่อวิเคราะห์คีย์เวิร์ดที่คู่แข่งใช้

สำหรับ Google Ads ฟีเจอร์ Auction Insights จะอยู่ในแท็บ Keywords ด้านซ้ายมือของหน้าจอ ซึ่งฟีเจอร์นี้จะช่วยให้รู้ว่าใครเป็นคู่แข่งที่ซื้อโฆษณาโดยใช้คีย์เวิร์ดใกล้เคียงกับเราบ้าง 

วิธีใช้ auction insights ใน google ads

ดังนั้น ถ้าคลิกปุ่ม Auction Insights จะมีตารางแบบด้านล่างปรากฏขึ้นมา ซึ่งตารางนี้จะรวบรวมรายละเอียดการโฆษณาของทั้งเราและคู่แข่ง ทำให้ประเมินได้ว่าโฆษณาของใครมีประสิทธิภาพมากกว่า 

วิธีใช้ auction insights ใน google ads

หลังจากนั้นให้เรานำข้อมูลของคู่แข่งที่ได้ไปวิเคราะห์ โดยลองเสิร์จคีย์เวิร์ดเดียวกันใน Google เพื่อดูว่าโฆษณาอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาแล้วอยู่ในอันดับดีกว่ามีเทคนิคการเขียนโฆษณาอย่างไร ในทางกลับกัน ถ้าลองใช้คีย์เวิร์ดนั้นเสิร์จแล้วพบว่าโฆษณาอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาไม่ตรงกับกลุ่มสินค้าบริการที่เราจะขาย เราก็ควรพิจารณาเปลี่ยนคีย์เวิร์ดใหม่ให้ตรงกับสิ่งที่จะขายมากขึ้นค่ะ

แต่การทำแบบนี้มีข้อควรระวังเล็กน้อยคือถ้าเราใช้เครื่องมือเดียวเสิร์จคีย์เวิร์ดนั้นบ่อย ๆ โดยไม่คลิกเข้าไปดูโฆษณาเลย วันหลังโฆษณาของเราและคู่แข่งจะไม่ปรากฏขึ้นมาบนหน้า Google อีก เพราะ Google จะตีความว่าเราไม่ได้สนใจโฆษณาเหล่านั้น ทำให้วัดประสิทธิภาพโฆษณาได้ยากขึ้นค่ะ เพื่อเลี่ยงปัญหานี้เราจึงควรใช้หลาย ๆ เครื่องมือเสิร์จคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ดูนะคะ

ทีนี้เมื่อวิเคราะห์เทคนิคการโฆษณาของคู่แข่งเรียบร้อยแล้ว ให้เราวางกลยุทธ์ว่าจะทำโฆษณาอย่างไรให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งค่ะ ตัวอย่างเช่น

  • วางกลยุทธ์ให้ต่างจากรูปแบบที่ธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เขียนโฆษณากัน อย่างถ้าธุรกิจอื่นเน้นโปรโมตว่าให้ส่วนลด เราอาจจะเขียนโปรโมตแนวใหม่ว่าเราขายราคาสูงกว่าเพราะอะไร เช่น เพราะใช้วัตถุดิบชั้นดี 
  • ใช้คีย์เวิร์ดหรือสไตล์การเขียนคล้ายกับโฆษณาที่ติดอยู่ในอันดับแรก ๆ แล้วปรับเนื้อหาให้น่าสนใจกว่า 
  • เลือก Long-Tail Keyword ที่เฉพาะเจาะจงและลงรายละเอียดมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสปิดการขายได้ง่ายขึ้น 
เทคนิคการใช้ long tail keyword

โดยเราควรปรับความเข้าใจเกี่ยวกับ Long-Tail Keyword สักเล็กน้อย ถึงแม้จะมีคนเสิร์จน้อยกว่า แต่กลุ่มคนที่เสิร์จคีย์เวิร์ดอย่างละเอียดนั้นมีแนวโน้มตัดสินใจซื้อมากกว่า ในทางกลับกัน ถ้าเราเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่มีคนเสิร์จมาก แต่คีย์เวิร์ดนั้นดันกว้างเกินไปสำหรับสิ่งที่ขายก็มีแนวโน้มว่าเราจะเสียค่าใช้จ่ายมากไปโดยใช่เหตุค่ะ

3.กำหนด 1 Ad Group ต่อ 1 แคมเปญโฆษณา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้คีย์เวิร์ดได้ตรงจุด

ก่อนเข้าสู่เนื้อหาในข้อนี้มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Ad Group คืออะไร โดยก่อนที่จะลงโฆษณาใน Google เราต้องกำหนด Account, Campaign และ Ad Group ก่อนนะคะ 

วิธีสร้างแคมเปญโฆษณาใน google ads
  • โดย Account จะเป็นข้อมูลบัญชีผู้ใช้ อย่างในตัวอย่างคือบัญชีของร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางออนไลน์
  • ใน Campaign จะเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ เช่น แต่ละวันจะใช้เงินค่าโฆษณาไปกับการโปรโมต
  • โปรโมตโทรทัศน์และกล้องอย่างละเท่าไร 
  • ส่วน Ad Group จะใส่คีย์เวิร์ดที่เรากำหนดสำหรับโปรโมตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ เช่น ทีวีจอแบนหรือกล้องดิจิทัล เป็นต้นค่ะ

แต่ปัญหาคือนักการตลาดบางรายมักใส่หลายคีย์เวิร์ดที่ไม่เกี่ยวข้องกันใน Ad Group เดียวค่ะ อาจจะเพราะอยากประหยัดค่าโฆษณาบ้าง หรือเพราะไม่อยากเสียเวลาสร้างหลาย Campaign บ้าง ทั้งที่จริง ๆ แล้วการทำแบบนี้จะยิ่งส่งผลเสียนะคะ เช่น ลูกค้าจะไม่คลิกโฆษณาของเราเพราะไม่แน่ใจว่าเราเชี่ยวชาญด้านไหนหรือขายสินค้าบริการอะไรกันแน่ ทำให้เราได้คะแนน Quality Score ต่ำลง และต้องเสียค่า Click-Through Rate สูงขึ้นด้วย 

ดังนั้น วิธีแก้ไขคือให้เราสร้าง 1 Ad Group ต่อ 1 คีย์เวิร์ดเท่านั้น เช่น ถ้าเป้าหมายของธุรกิจเราตอนนี้คือจะโปรโมต E-Book และคอร์สออนไลน์ เราก็จะสร้าง Ad Group สำหรับโปรโมตทั้งสองอย่างแยกกัน ทำให้เมื่อลูกค้าเสิร์จหา E-Book พวกเขาก็จะไม่เจอโฆษณาคอร์สออนไลน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน 

ซึ่งการแบ่ง Ad Group แบบนี้มีข้อดีคือเราจะวัดผลง่ายขึ้นด้วยนะคะ เช่น ถ้าจะดูข้อมูลเชิงลึกว่าโฆษณาคอร์สเรียนออนไลน์ของเรามีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง เราก็จะวิเคราะห์ได้ผ่าน Ad Group ที่มีแค่คีย์เวิร์ดเดียว

4.เลือกใช้ Manual Bidding และ Automated Bidding ให้เหมาะกับเป้าหมายทางธุรกิจ

หลัก ๆ แล้วการซื้อโฆษณา Google Ads จะมีวิธี Bid อยู่ 2 แบบคือ Manual Bidding และ Automated Bidding มาทำความเข้าใจกันค่ะว่า 2 ฟังก์ชันนี้มีความแตกต่างกันตรงไหน และจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้อย่างไรบ้าง 

มาเริ่มกันที่ Manual Bidding ซึ่งนักการตลาดเป็นผู้กำหนดเองว่าจะจ่ายค่า Cost Per Click สูงสุดเท่าไร และจะปรับการใช้งบประมาณอย่างไรบ้าง โดยอ้างอิงจากรายงานตัวเลขหลังบ้านต่าง ๆ 

ในขณะที่ Automated Bidding ปล่อยให้อัลกอริทึมของ Google จัดสรรเองว่าจะบริหารงบโฆษณาอย่างไรบ้าง โดยประเมินจากแนวโน้มด้านยอดคลิกและยอด Conversion ซึ่งชื่อ Smart Bidding ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของฟังก์ชัน Automated Bidding ค่ะ

ฟังก์ชัน automated bidding ของ google ads

ภายในกลุ่มของ Smart Bidding จะประกอบไปด้วยฟังก์ชัน

  • Enhanced CPC เน้นให้โฆษณาได้จำนวน ‘คลิก’ มากที่สุด
  • Maximize Conversions เน้นให้โฆษณาได้จำนวน ‘Conversion’ มากที่สุด 

โดย Target CPA หรือ Target Cost Per Action จะอยู่ภายในฟังก์ชันนี้ 

  • Maximize Conversion Value เน้นการสร้าง ‘รายได้’ ให้มากจากยอด Conversion 

โดย Target ROAS หรือ Target Return On Ad Spend จะอยู่ภายในฟังก์ชันนี้ 

ซึ่ง ถ้าเลือกใช้ Manual Bidding และ Automated Bidding ได้ถูกต้อง เราจะควบคุมงบประมาณการลงโฆษณาได้มากขึ้น ด้วยความที่รู้จุดประสงค์ว่าตั้งค่าโฆษณาแบบไหนเพื่ออะไร ทำให้ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการโฆษณาไปโดยเปล่าประโยชน์ค่ะ 

ลองมาดูตัวอย่างการตั้งค่าโฆษณาตามจุดประสงค์ต่าง ๆ กันค่ะ

ฟังก์ชัน smart bidding ใน google ads

ตารางนี้อธิบายว่า

  • ถ้าอยาก เพิ่มกำไร ให้ใช้ฟังก์ชัน Maximize Conversion Value และ Target ROAS 
  • ถ้าอยาก เพิ่มยอดขาย ให้ใช้ฟังก์ชัน Maximize Conversions และ Target CPA
  • ถ้าอยาก เพิ่มจำนวนผู้เข้าเว็บไซต์ ให้เพิ่มยอดคลิกด้วยฟังก์ชัน Maximize Clicks 
  • ถ้าอยาก เพิ่ม Awareness ให้ใช้ฟังก์ชัน Target Impression Share เพื่อให้คนเห็นโฆษณาของเรามากขึ้น

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยากบริหารงบประมาณด้วยตัวเองแล้วใช้ฟังก์ชัน Manual Bidding เราก็จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาเข้ามามอนิเตอร์อยู่เป็นประจำว่าต้องปรับกลยุทธ์การบริหารค่าโฆษณาอย่างไรบ้าง ไม่ให้ค่า Conversion ต่ำลงจนเกินไปค่ะ

5.ใช้ฟังก์ชัน Retargeting เพื่อยิงโฆษณาไปถึงลูกค้าเก่า

ลองนึกภาพตามว่าถ้าจะหาลูกค้าใหม่ เราจำเป็นต้องใช้ค่าโฆษณามากกว่าการโปรโมตเพื่อชวนให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อสินค้าบริการอีกครั้ง 

ดังนั้น การใช้เทคนิค Retargeting โดยตั้งเป้าหมายไปที่ลูกค้าเก่าเลยได้ผลง่ายกว่า ซึ่งจากรายงานของ Criteo ระบุว่าเทคนิค Retargeting จะช่วยเพิ่ม Conversion Rate ได้มากถึง 43%

แต่ Google Ads จะใช้คำว่า Remarketing แทน Retargeting นะคะ (อ้างอิงจาก : อัปเดต 3 การเปลี่ยนแปลงของ Google Ads ในครึ่งแรกของปี 2022)

คำถามคือใครเข้าข่ายของกลุ่มคนที่เราจะใช้เทคนิค Retargeting ได้บ้าง ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ

  • คนที่เคยเข้ามาหน้าเว็บไซต์
  • คนที่เคยเข้ามาดูสินค้าบริการบางอย่าง
  • คนที่เคยเข้ามาใน YouTube Channel 
  • คนที่เคยใช้แอปพลิเคชันของเรา
  • คนที่อยู่ใน Email List 

โดยถ้าจะซื้อโฆษณาแบบ Retargeting เราต้องสร้างแคมเปญใหม่ โดยคลิกที่คำว่า Browse แล้วค่อยเลือกแท็บ Remarketing นะคะ

วิธีการ retarget ใน google ads

ถ้าหลังจากนี้ยิงโฆษณาไปหาลูกค้าใหม่แล้วไม่ได้ผล ให้ลองกลับมาใช้เทคนิค Retargeting หรือการซื้อโฆษณาโดยวางเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าเก่าดูนะคะ เพราะเทคนิคนี้จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้ไม่น้อยเลยค่ะ

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่สนใจและอยากยกระดับการทำโฆษณาออนไลน์ หลักสูตร “Ads Optimization for Management 101” จะทำให้คุณรู้ลึกรู้จริงในด้านการบริหาร และการวางกลยุทธ์โฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มยอดนิยม ทั้งฝั่ง Facebook Ads และ Google Ads เพื่อให้ช่องทางออนไลน์ของคุณเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่

🔗 https://stepstraining.co/ads-optimization-101

ที่มา

https://www.wordstream.com

https://www.webapex.com.au

https://www.datafeedwatch.com

https://www.ppchero.com

https://www.websiterating.com

 

 

 

 

 

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

อัปเดต 4 ความเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม YouTube ในปี 2022
SOdA PrintinG แบรนด์ต้นแบบที่ใช้ Digital Marketing เข้าถึง เข้าใจลูกค้า เพิ่มยอดขายให้ธุรกิจกว่า 15 ปี