สร้างตัวตนแบรนด์ & ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ จากกลยุทธ์การใช้ “ภาพ”

สร้างตัวตนแบรนด์ & ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ จากกลยุทธ์การใช้ “ภาพ”

ในชีวิตประจำวัน เราพบเห็นรูปภาพมากมายผ่านสายตานับไม่ถ้วน ทั้งจากโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ เกม ป้ายโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ บวกกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่มักจดจำสิ่งต่างๆผ่านภาพได้ดี ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แสดงผ่านภาพมีส่วนสำคัญต่อการตลาด โดยเฉพาะในยุคของสื่อสังคมออนไลน์ ที่เพิ่มโอกาสในการพบเห็นง่ายมากขึ้น 

ในระยะเวลา 3 วันที่เห็นคอนเทนต์ ผู้คนโดยเฉลี่ยจะจดจำคอนเทนต์จากภาพได้ถึง 65%
เมื่อเทียบกับคอนเทนต์รูปแบบการเขียนที่จดจำได้เพียง 10% brand-imageที่มา : www.mediavalet.com

อย่างไรก็ตามการบ่งบอกตัวตนของแบรนด์ ไม่จำเป็นจะต้องบอกผ่านสีที่ใช้ หรือโลโก้เพียงอย่างเดียว การใช้ภาพสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย กราฟิก วิดีโอต่างๆที่เราถ่ายทอดผ่านโฆษณา หรือคอนเทนต์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารตัวตนของแบรนด์ที่แตกต่างได้ทั้งสิ้น

brand-imageที่มา : CocaCola

ดังนั้น ถ้าเราสามารถเลือกใช้ภาพได้เหมาะสม บ่งบอกความเป็นแบรนด์ได้ชัดเจน เราก็จะสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ตรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เราเป็นแบรนด์ขายเสื้อผ้าแนวมินิมอล ลวดลายน้อยๆ สีพื้นๆสบายตา ถ้าเราสามารถสื่อสารผ่านภาพออกมาได้สอดคล้องกับสินค้ามากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถดึงดูดลูกค้าที่ใช่ กลุ่มเป้าหมายที่ชอบแต่งกายแนวมินิมอลได้ตรงมากขึ้นด้วย เป็นต้น

 

ภาพแบรนด์ (Brand Image)

เป็นการสื่อสารทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ไอคอน กราฟิก ที่แสดงตัวตนบางอย่างของแบรนด์สู่มุมมองของผู้บริโภค

เราคงเคยได้ยินคำคมที่ว่า “1 ภาพ แต่ล้านความรู้สึก” นั่นหมายถึงภาพที่เราถ่ายทอดออกไปผ่านสื่อโฆษณา คอนเทนต์ต่างๆนั้น ไม่ได้เป็นแค่เพียงสิ่งที่เราเห็นผ่านสายตา แต่ยังเป็นการสื่อถึงความรู้สึกนึกคิดของแบรนด์ (Brand Feeling) ด้วย 

brand-imageที่มา : Samsung / iPhone

Brand Image จึงเป็นการสื่อสารที่แสดงเอกลักษณ์บางอย่างของแบรนด์ ว่ามีความเชื่อแบบไหน รสนิยมแบบใด เช่น หรูหรา อบอุ่น หรือแนวลุยๆผจญภัย ซึ่งการสื่อสารผ่านภาพนี้ เราสามารถถ่ายทอดออกมาให้เห็นได้ในทุกๆช่องทางไม่ว่าจะเป็น ป้ายโฆษณา สื่อบนโซเชียลมีเดีย หน้าเว็บไซต์ต่างๆ 

ดังนั้น ภาพแบรนด์ (Brand Image) เป็นเหมือนการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายว่าแบรนด์เราเป็นอย่างไร ทันสมัยหรือย้อนยุค เรียบง่ายหรือซับซ้อน สงบหรือคล่องแคล่วว่องไว ตรงกับลักษณะการใช้ชีวิต รสนิยมของพวกเขาหรือไม่ และตอบโจทย์ความต้องการอย่างไร เป็นต้น

 

เราจะออกแบบภาพแบรนด์ (Brand Image) อย่างไร?

1. วิเคราะห์ลูกค้า

อย่างแรกคุณต้องนึกถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายก่อน ว่าอะไรที่สำคัญกับพวกเขา การใช้ชีวิตในแต่ละวันของพวกเขาเป็นอย่างไร มีรสนิยมแบบไหน ถ้าคุณเห็นภาพของลูกค้าชัดเจน ก็จะสามารถถ่ายทอดภาพที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะตอบสนองได้ดีกว่าออกไปได้ 

ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นแบรนด์จำหน่ายเสื้อผ้า กลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นแบบไหน

  • หรูหรา
  • มินิมอล
  • ลุยๆ ผจญภัย
  • วินเทจ

กลุ่มเป้าหมายแต่ละแบบ ก็จะใช้ภาพที่สื่อออกไปแต่ละแบบแตกต่างเช่นเดียวกันค่ะ

brand-imageที่มา : Japanese sewing bookstore / Chanel / The north face

หากผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจท่านไหน เพิ่งเริ่มต้นสร้างแบรนด์ การลองทำ Customer Persona และ Customer Avatar เพื่อหากลุ่มเป้าหมายที่ใช้สำหรับแบรนด์ จะช่วยให้การวางแผนสร้างแบรนด์เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และหากลุ่มลูกค้าเจอได้เร็วขึ้น
คอนเทนต์แนะนำ

 

2. วิเคราะห์แบรนด์ และคู่แข่ง

นอกจากที่เราจะต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ดีแล้ว เราต้องรู้จักแบรนด์ตนเอง มีการวิเคราะห์ Brand Value Proposition หรือวิเคราะห์ว่าเรามีจุดยืน จุดต่างอะไร ที่ควรนำเสนอออกมา อีกทั้งยังต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจคู่แข่งด้วย โดยวิเคราะห์ Brand Positioning เพื่อหาจุดแตกต่าง และสร้างจุดยืนของแบรนด์ ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในตลาดออกมาให้ได้ค่ะ

 

3. ออกแบบให้สอดคล้องกับแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมาย

การสื่อสารด้วยภาพ จำเป็นต้องพึ่งองค์ประกอบร่วมกันของสี ตำแหน่ง รูปแบบการวางภาพ ฉาก ตัวอักษร เนื้อหา ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่เราต้องการนำเสนอ

brand-image

ที่มา : 99designs.com

ดังตัวอย่างของแบรนด์รถยนต์อย่าง Mercedes Benz และ Dodge ที่ขายผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน แต่หลังจากวิเคราะห์แบรนด์ตนเอง วิเคราะห์ลูกค้า และวิเคราะห์คู่แข่งแล้ว จะเห็นว่าพวกเขาขายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน 

brand-image

ที่มา : Mercedes-Benz

Mercedes Benz จะตีตลาดกลุ่มเป้าหมายที่มีรสนิยมหรูหรา มั่นใจ ใช้ชีวิตแบบคนในเมือง และแสดงภาพลักษณ์ของคนที่มีรายได้สูง ข้อมูลเหล่านี้เอง ถูกนำมาใช้สื่อสารผ่านภาพในโฆษณาต่างๆ ถ้าสังเกตุจะเห็นว่าทางแบรนด์มักจะใช้สีเงิน ความเงา เพื่อสื่อถึงความหรูหราของตัวรถ มีการใช้ฉากหลัง และแสงสีที่บ่งบอกถึงการใช้ชีวิตหรูหราในเมือง 

brand-image

ที่มา : Dodge

ในส่วนของ Dodge ที่กลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชอบรถแนวสปอร์ต เร็ว แรง โฉบเฉี่ยว และแข็งแกร่ง จึงใช้ภาพรถที่เป็นสีแดง มีฉากหลังควันพุ่งเหมือนสนามแข่ง อีกทั้งใช้อักษรตัวหนาแทนตัวอักษรแบบบางเพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งด้วย

แค่ภาพๆเดียว ก็เห็นได้แล้วว่าแม้จะเป็นสินค้าแบบเดียวกัน ก็สามารถใช้ภาพสื่อสารจุดเด่นที่แตกต่าง ดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ 

 

ตัวอย่างแบรนด์ที่มี Brand Image ให้คนจดจำได้

1. Gopro

แบรนด์จำหน่ายกล้องแนวกิจกรรมผจญภัย (Action Camera)

brand-image

ที่มา : Instagram Gopro

สังเกตุว่าภาพของ Gopro ที่นำเสนอผ่านแต่ละช่องทางไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ โฆษณาต่างๆ จะถ่ายทอดไปในแนวทางเดียวกัน โดยยึดหัวใจการสื่อสารหลักๆของแบรนด์คือ

  • Active : คล่องแคล่ว
  • Fun : สนุกสนาน
  • Adventurous : ผจญภัย
  • Daring : กล้าหาญ

ตัวอย่างวิดีโอจาก Gopro

ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่มีงานอดิเรกชอบกิจกรรม หรือกีฬาผจญภัย ที่อยากเก็บภาพเอาไว้ ก็จะเลือกใช้สินค้าของ Gopro ด้วย ส่งผลให้ภาพถ่ายของลูกค้าที่มาจากการใช้งานจริง ก็ไปในแนวทางเดียวกันกับแบรนด์ด้วย

เมื่อภาพสื่อถึงแบรนด์ได้ชัดเจนแบบนี้ แม้จะไม่เห็นโลโก้เลย แต่เมื่อเราเห็นโฆษณาภาพถ่ายหรือวิดีโอ ที่มีกลิ่นไอของการผจญภัย ลุยๆ ก็จะนึกถึงแบรนด์ Gopro ก่อนเสมอ ถือเป็นการสื่อสารแบรนด์ผ่านภาพที่ประสบความสำเร็จมากๆค่ะ

 

2. Headspace

บล็อกและแอปพลิเคชั่นทำสมาธิ บริหารจัดการอารมณ์

brand-image

ที่มา : headspace.com

ภาพของแบรนด์ที่คนจดจำได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นภาพถ่ายเสมอไป อาจจะเป็นภาพกราฟิก อย่าง Headspace ที่มีการใช้โทนสีหลักคือสีส้ม ประกอบกับตัวการ์ตูนลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนรู้สึกว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องง่ายขึ้น 

brand-image

ที่มา : app headspace

เป็นอีกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อเห็นภาพการ์ตูนในลักษณะนี้ ใช้โทนสีแบบนี้ ก็จะทราบได้ว่าเป็นเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นของ Headspace นั่นเองค่ะ

สรุป

การนำเสนอตัวตนที่แตกต่างของแบรนด์ หรือสร้างการจดจำแบรนด์ได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากโลโก้ หรือสีที่ใช้เพียงอย่างเดียว ภาพที่เราสื่อออกไปในทุกๆช่องทางก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สามารถนำเสนอจุดเด่น ความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ออกไปได้เช่นเดียวกัน

เพียงแต่เราต้องเข้าใจตัวตนและจุดเด่นที่แท้จริงของแบรนด์ รวมถึงเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ที่เชื่อมโยงเราและลูกค้าออกมา ก็จะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่จดจำต่อกลุ่มเป้าหมายได้ค่ะ

 

ที่มา
https://99designs.com/blog
https://thebrandingfox.com

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

สรุปสถิติ!! Digital Branding พัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในใจผู้บริโภค ในปี 2020
7 รูปแบบ Chatbot สำหรับดูแลลูกค้าอัตโนมัติ บน Facebook Fanpage