ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่าความนิยมของคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นๆ ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระแสความฮิตนี้ได้เริ่มมาจากแพลตฟอร์มมาแรงอย่าง Tiktok ที่มียอดผู้ใช้งานแบบต่อเนื่อง (Monthly Active Users) พุ่งสูงในต้นปี 2021 อยู่ที่ 689 ล้านคน ต่อเดือน ตามมาด้วย Instagram ที่ได้ปล่อยตัวคอนเทนต์ในรูปแบบ Instagram Reels และ Youtube Shorts ตามมาค่ะ ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในคอนเทนต์แบบวิดีโอสั้นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 นาทีนั่นเองค่ะ
ก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจความแตกต่างของคอนเทนต์นี้แต่ละแพลต์ฟอร์ม เรามาทำความเข้าใจถึงพื้นฐานของคอนเทนต์วิดีโอแบบสั้นกันดีกว่าค่ะว่ามีรูปแบบอย่างไรบ้าง
ทำไม Short VDO form ถึงเป็นที่นิยม
ภาพจาก eastwestbank.com
รูปแบบของวิดีโอสั้นๆ ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการในการนำเสนอบน Social Media ที่ทำให้เราสามารถเข้าใจข้อมูลนั้นๆ ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสาร ความสนุกสนาน เสียงเพลง และเทรนด์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดการแข่งขันบนโลกออนไลน์ จึงทำให้รูปแบบของวิดีโอสั้นๆ สามารถสื่อสารถึงกลุ่มคนได้กว้างมากยิ่งขึ้น
โดยรูปแบบของการสื่อสารของวีดีโอสั้นๆนี้ สามารถทำลายรูปแบบการสื่อสารในแบบเดิมๆ ได้ โดยเฉพาะแบรนด์ที่ได้กระโดดเข้ามาสื่อสารในรูปแบบของวิดีโอสั้นๆ สามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกใกล้ชิด และมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการเลือกใช้ Influencer หรือ รูปแบบของ Challenge ที่ทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารออกมาในอีกแง่มุมได้อย่างน่าสนใจมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นช่องทางในการสร้าง Awareness ได้มากยิ่งขึ้นค่ะ
ในส่วนของแพลตฟอร์มที่รองรับคอนเทนต์วิดีโอในรูปแบบสั้นๆ มีหลายแพลตฟอร์มด้วยกันค่ะ ในวันนี้ผู้เขียนจึงได้นำทั้ง 3 แพลตฟอร์มมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างและความเหมาะสม มาฝากทุกท่านกันค่ะ
รูปแบบคอนเทนต์บน Tiktok
Tiktok เป็นแอพพลิเคชั่นสัญชาติจีน ที่ถูกเปิดตัวมาตั้งแต่ในปี 2017 และเริ่มโด่งดังในระดับโลกในปี 2019 โดยมียอดดาวน์โหลดพุ่งสูงถึงหนึ่งพันล้านครั้งค่ะ ซึ่งในประเทศไทย Tiktok เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันค่ะ
ข้อมูลจาก Google Trend แสดงจำนวนการค้นหาด้วยคำว่า Tiktok ใน Google Search ตั้งแต่ปี 2019-2021 ในประเทศไทย
กลุ่มผู้ใช้งานบน Tiktok
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของแต่ละแพลตฟอร์มคือ กลุ่มผู้ใช้งานค่ะ โดยกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่บน Tiktok อยู่ในกลุ่ม Gen Y และ GEN Z โดยมีอายุส่วนใหญ่อยู่ที่ 19-29 ปี และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายค่ะ (ข้อมูลจาก businessofapps)
ฟีเจอร์ที่โดดเด่นของ TikTok
- มีแฮชแท็ก Challenge ใหม่ๆ เกิดขึ้นให้ผู้ใช้งานได้ร่วมสนุกกันอยู่เสมอ
@gabunion I thought he said it first and for the toothpaste…. why not just put the damn cap back on?!@dwyanewade #trickychallenge #tiktokpartner ♬ It’s Tricky – RUN DMC
- มีเพลงประกอบวิดีโอให้เลือก และ สามารถลิปซิงค์เสียงหรือนำเพลงจากคอนเทนต์อื่นๆ บน Tiktok มาใช้ได้
- สามารถ Edit วิดีโอได้ภายในแอพโดยมีทั้ง ฟิลเตอร์ แอฟเฟค การใส่ Green Screen AR Effect และลูกเล่นต่างๆ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานและความน่าสนใจ
สำหรับผู้ที่สนใจสร้างสรรค์คอนเทนต์บน Tiktok สามารถดูไอเดียเพิ่มเติมได้ที่บทความ 7 เทคนิค เพิ่มความสร้างสรรค์ให้กับวิดีโอบน TikTok อัพเดตปี 2021
TikTok เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
- เป็นธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ในช่วงอายุประมาณ 16 – 30 ปี
- มีความต้องการเพิ่ม Brand awareness หรือ ความเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น
- สามารถอธิบายสินค้าหรือบริการให้สามารถอยู่ในรูปแบบวีดีโอในระยะเวลาสั้นๆ ได้
- เป็นธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับคอนเทนต์ประเภทให้ความสนุกสนาน หรือ คอนเทนต์ในเชิงบวก
- เป็นธุรกิจที่ต้องการทดลองสิ่งใหม่ๆ และ สนุกไปกับการทำเทรนด์ใหม่ๆ บนแพลตฟอร์ม
IG Reels
IG Reels เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่จาก Instagram ที่ถูกเปิดตัวในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2020 เรียกได้ว่าเปิดตัวต่อจากกระแสความนิยมของ Tiktok นั่นเองค่ะ IG Reels จึงถือเป็นคู่แข่งกับ Tiktok และมีความคล้ายคลึงกันค่ะ
เนื่องด้วยรูปแบบของแพลตฟอร์ม Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอคอนเทนต์ในแบบรูปภาพ เป็นส่วนใหญ่ หากผู้อ่านท่านใดที่ใช้งาน Instagram กันเป็นประจำอยู่แล้วจะทราบดีว่า Influencer บน Instagram ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอคอนเทนต์ภาพถ่าย ที่มีการคลุมโทนสีของภาพบนโปรไฟล์ให้ดูน่าสนใจ องค์ประกอบและมุมของภาพที่มีความโดดเด่น และมีการตกแต่งภาพอย่างมีสไตล์นั่นเองค่ะ
แน่นอนว่าผู้ใช้งานบน IG Reels เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน เราจึงจะเห็นได้ว่าคอนเทนต์บน IG Reels จึงเน้นเป็นภาพถ่ายประกอบเสียงเพลง หรือวิดีโอสั้นๆ ที่มีการจัดมุมภาพและองค์ประกอบที่ลงตัวไปกับเสียงเพลงนั่นเองค่ะ
กลุ่มผู้ใช้งานบน IG Reels
หลังจากที่เราได้ทราบถึงรูปแบบของคอนเทนต์บน IG Reels กันไปแล้ว เรามาเจาะลึกไปถึงข้อมูลของผู้ใช้งานกันค่ะ กลุ่มผู้ใช้งานบน Instagram ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ที่ 18-29 ปี โดยมีสัดส่วนสูงถึง 71% ค่ะ และมีสัดส่วนของเพศไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีสัดส่วนของเพศชายอยู่ที่ 48.6 % และเพศหญิง 51.4 % ค่ะ (ข้อมูลจากbacklinko.com)
ภาพจาก backlinko.com
ฟีเจอร์ที่โดดเด่นของ IG Reels
- มีความยาวของวิดีโออยู่ที่ 15 วินาทีไปถึงจน 60 วินาที
- สามารถแชร์ Reels ลงไปใน Story ได้โดยจะอยู่บน Story เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยผู้ใช้งานท่านอื่นๆสามารถแชร์ Reels ลงใน Story ได้ด้วยเช่นกัน จึงสามารถเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้รับชมใหม่ๆได้
- มีฟิลเตอร์ให้สามารถเลือกใช้ได้ในจำนวนมาก โดยเป็นฟิลเตอร์เดียวกันที่ถูกใช้งานบน Story ซึ่งฟิลเตอร์ต่างๆผู้ใช้งานสามารถสร้างขึ้นมาเอง หรือเลือกใช้งานจากฟิลเตอร์ที่ผู้ใช้ท่านอื่นๆ สร้างขึ้นมาได้
IG Reels เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
- มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ในช่วงอายุประมาณ 18 – 30 ปี
- มีกลุ่มเป้าหมายอยู่บน Instagram อยู่แล้วและต้องการเพิ่มช่องทางให้มีคนรู้จักมากยิ่งขึ้น (เพิ่ม Brand Awareness) ที่ต้องการนำเสนอแบรนด์หรือนำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ
YouTube Shorts
Shorts เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่ใน YouTube ที่พึ่งเปิดตัวในปีที่แล้ว โดยล่าสุดสามารถใช้งานในประเทศไทยไทยได้แล้ว สำหรับฟีเจอร์นี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเพิ่มช่องทางในการมองเห็น หรือ เข้าถึงผู้รับชมใหม่ๆ บน YouTube เพราะมีหลักการการทำงานคล้ายกับ TikTok และ Reels ค่ะ
กล่าวคือเป็นฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มมาภายในแอปบน YouTube โดยเป็นรูปแบบวิดีโอให้เราสามารถเลื่อนขึ้น-ลง ในการรับชมคอนเทนต์อื่นๆ ตามความสนใจของเรา โดยคอนเทนต์ที่ขึ้นมาไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์ของบุคคลที่เรากำลังติดตามอยู่
กลุ่มผู้ใช้งานบน YouTube
กลุ่มผู้ใช้งานบน YouTube ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ที่ 18-25 ปี และ ในส่วนของข้อมูลด้านเพศพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยเป็นเพศชาย 62% และ เพศหญิงเพียง 32% ค่ะ โดยอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าผู้ใช้งานบน YouTube ส่วนใหญ่เลือกใช้งานจากโทรศัพท์มือถือสูงถึง 70% ค่ะ จึงเหมาะกับการรับชมคอนเทนต์บน Shorts นั่นเองค่ะ
ภาพจาก globalmediainsight.com
ข้อแตกต่างของ Youtube Shorts
- คลังเพลงที่มีขนาดใหญ่กว่า: โดยทั่วไปแล้ว YouTube มีคลังเพลงที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้ Shorts ได้เปรียบกว่าแอปพลิเคชั่นอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกัน คือมีเพลงให้เลือกค้นหาในจำนวนที่มากกว่านั่นเองค่ะ
- ฟีเจอร์ Private : มีฟีเจอร์ Private ให้สามารถตั้งค่าผู้ใช้งานที่สามารถมองเห็นคอนเทนต์บน Shorts ได้
- สามารถทำการแก้ไขวิดีโอหลังจากลงไปแล้วได้
Shorts เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
- ธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าหลักในวัยทำงานขึ้นไป เนื่องจากข้อแตกต่างที่ YouTube มีคือ สัดส่วนของผู้ใช้งานที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุที่มีจำนวนมากกว่า Instagram และ TikTok
- ธุรกิจที่มี Media บน Youtube อยู่แล้ว และ ต้องการเพิ่มการเข้าถึงผู้รับชมบน Youtube มากยิ่งขึ้น
เปรียบเทียบข้อแตกต่าง TikTok, IG Reels และ YouTube Shorts
ที่มา
www.verticalriver.co
www.freeadviser.in
vamp-brands.com