ความมหัศจรรย์ของเสียงดนตรีคือ ความสามารถในการสื่อสารอารมณ์ และ ความรู้สึก ไปยังผู้รับฟัง แม้ว่าจะเป็นเพียงเสียงจากเครื่องดนตรีโดยปราศจากคำร้องก็ยังสามารถสื่อสารอารมณ์ของเสียงดนตรีเหล่านั้นออกมาได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่บางแบรนด์ได้มีการหยิบยกเสียงดนตรีมาใช้ในการทำการตลาดเพื่อช่วยในการส่งเสริมการตลาดของแบรนด์ให้มากยิ่งขึ้น และ เนื่องด้วยสถานการณ์ที่เรายังต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลมากยิ่งขึ้น การทำการตลาดด้วยเสียงดนตรีจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ วันนี้ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลในการทำการตลาดด้วยเสียงดนตรี หรือว่า Music Marketing มาฝากผู้อ่านทุกท่านกันค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงความสำคัญของ Music Marketing กันก่อนดีกว่าค่ะ
ความสำคัญของ Music Marketing
สำหรับผู้อ่านที่รับชม YouTube อยู่เป็นประจำจะสังเกตุเห็นได้ว่าในช่วงปี 2020-2021 มานี้ มีแทรนด์ที่มาแรงมากๆ ปรากฏอยู่บน YouTube อย่างแทรนด์ ASMR และ ได้มีหลายแบรนด์ที่ผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบดังกล่าว รวมไปถึงรูปแบบของเพลงและวิดีโอเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาพแสดงผลลัพธ์การค้นหา Keyword ที่ติดเทรนด์ในช่วงปี 2017 ถึงปัจจุบัน
จากรูปภาพข้างต้นเป็นข้อมูลจาก Google Trend พบว่า คำค้นหาในคำว่า ASMR มีจำนวนการค้นหาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับคำค้นหาอย่าง Candy และ Chocolate กลับพบว่าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าทั้ง 2 คำเลยค่ะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแทรนด์ที่กำลังมาแรงในโลกออนไลน์นั่นเองค่ะ
ตัวอย่าง Music Marketing เช่นแบรนด์ IKEA ที่ได้นำเสนอคลิปวิดีโอในรูปแบบ ASMR บรรยายการจัดเตียง และ จัดระเบียบ ตู้เสื้อผ้าพร้อมสินค้า วิดีโอมีความยาว 25 นาทีเต็ม และ มีผู้เข้าชมมากกว่า 2.4 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากจากผู้รับชม และ แสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ๆ ในการนำเสนอสินค้า
ความหมายของ Music Marketing
Music Marketing คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้การสื่อสารผ่านเสียงดนตรี เช่น การสร้างเคมเปญทางการตลาดด้วยการทำเพลงที่ใช้ในการโปรโมทสินค้า หรือ บริการ การสร้างความจดจำได้ของแบรนด์ (Brand Awareness) ซึ่งโดยส่วนใหญ่การทำ Music Marketing มักจะไม่เน้นเพียงการขายเพียงอย่างเดียว แต่มักจะเป็นการสร้างตัวตนของแบรนด์ในมิติอื่นๆ ผ่านทางเสียงเพลงให้แก่ผู้บริโภค
เสียงเพลงสามารถช่วยในการทำการตลาดได้อย่างไร
หากเราต้องการที่จะรู้จักใครสักคนมากยิ่งขึ้น เราสามารถดูได้จากเพลงในเพลย์ลิสต์ที่เลือกฟังค่ะ เช่นเดียวกันกับแบรนด์ ในการทำ Music Marketing แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วแบรนด์จะไม่ได้มีตัวตนเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่แบรนด์สามารถสร้างตัวตนขึ้นมาผ่านเสียงดนตรีได้ รวมไปถึงการสร้างอารมณ์และความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้บริโภคค่ะ โดยเราจะสังเกตุได้ว่าหากเราเข้าไปในแต่ละร้านค้าของแบรนด์ เราจะสังเกตุเห็นได้ว่าแต่ละแบรนด์จะเลือกเปิดเพลงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบทเพลงเหล่านั้นสามารถแสดงออกถึงความเป็นแบรนด์ได้เป็นอย่างดีค่ะ
1.เสียงเพลงช่วยสร้างตัวตนของแบรนด์
เมื่อเรานึกถึงตัวตนของแบรนด์ต่างๆ เรามักจะนึกถึง สินค้ายอดนิยมของแบรนด์ รูปแบบป้ายโฆษณา โลโก้ของแบรนด์ โดยเรามักจะลืมบทบาทสำคัญนั่นก็คือเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งข้อมูลจาก Brand Channel พบว่า 96% ของแบรนด์ที่ใช้เพลงที่เข้ากับตัวตนของแบรนด์ จะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถจดจำแบรนด์ได้มากกว่า และ การทดลองของ HUI Research พบว่า เพลงที่เข้ากับตัวตนของแบรนด์ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น 9%
ภาพจาก www.ambie.fm
2.เสียงเพลงส่งผลให้เกิด Customer Loyalty
Music Marketing สามารถเข้ามาช่วยในการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดได้เป็นอย่างดีค่ะ เนื่องจากเสียงเพลงสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของผู้รับฟังได้ ในแง่ของการตลาดเสียงเพลงจึงสามารถส่งผลต่อการกลับมาบริโภคซ้ำของผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาของ Music Works พบว่า 31% ของผู้บริโภคจะกลับไปบริโภคซ้ำซึ่งเป็นเหตุผลมาจากเสียงเพลงค่ะ เสียงเพลงจึงเปรียบเสมือนการเก็บรักษาลูกค้า หรือ Retention เพราะเสียงเพลงทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเสียงเพลงภายในร้านนั้นเองค่ะ
ภาพจาก www.ambie.fm
3.เสียงเพลงช่วยในการส่งเสริมยอดขาย
มีหลายการศึกษาที่ต้องการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงดนตรี และ พฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งผลพบว่าการทำ Music Marketing ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของยอดขายค่ะ โดยถ้าหากเพลงดังเกินไปจะส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความรำคาญหรืออึดอัด ทำให้ใช้เวลาอยู่ในร้านน้อยลง แต่เมื่อเสียงเพลงเบาลงผู้ซื้อมักจะใช้เวลาอยู่ในร้านนานมากขึ้น โดยทำให้ยอดขายสูงขึ้นถึง 38% แต่ถึงอย่างไรก็ตามเพลงที่เลือกเปิดจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแบรนด์ด้วยนะคะ
ภาพจาก www.ambie.fm
ตัวอย่างการใช้ Music Marketing
เสียงดนตรีสามารถขับกล่อมจิตใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละคนจะมีช่วงเวลาในการเลือกฟังเพลงที่แตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของการใช้ชีวิตเช่น บางคนชอบฟังเพลงเบาๆ ในขณะทำงาน บางคนอาจชอบฟังในช่วงก่อนนอนเพื่อความผ่อนคลาย หรือ บางคนชอบฟังในขณะขับรถ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันการทำการตลาดด้วยเสียงเพลงนี้ เราสามารถทำได้มากกว่าการทำเพลงออกมาเพื่อให้ติดหูคนฟัง หรือ ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวแล้วนะคะ ดังนั้นเรามาดูกรณีศึกษาในการใช้เสียงเพลงเพื่อให้เพลงเหล่านั้นสามารถเข้าไปอยู่ในช่วงเวลาต่างๆ ของผู้บริโภคกันค่ะ
1. Uniqlo: Life Wear Music
ภาพจาก https://mixmag.asia
Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าจากญี่ปุ่นเปิดโปรเจ็ค Lifewear Music ซึ่งเป็นภาพแบบ Long Take ความยาวประมาณ 30 นาที ถ่ายผู้คนในขณะทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเพลงแนวสบายๆ สื่อสารความเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีค่ะ ซึ่งบทเพลงจากโปรเจ็คนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟังในช่วงที่หลายท่านยังคงต้องกักตัว หรือทำงานอยู่ที่บ้านกันค่ะ
2. Starbuck
ภาพจาก www.starbuck.com
สำหรับผู้อ่านที่เข้าร้านกาแฟของสตาร์บัคอยู่เป็นประจำ คงทราบกันดีว่าแบรนด์กาแฟนี้ ยังมีเอกลักษณ์สำคัญคือการเปิดเพลงสบายๆ ให้กับลูกค้าในขณะทานกาแฟ หรือ นั่งทำงานยาวๆ ในร้านนั่นเองค่ะ โดยล่าสุดสตาร์บัคได้จัดทำเพลย์สลิสต์บน Spotify คัดเลือกเพลงมาให้ผู้ที่ชื่นชอบสามารถเข้าไปรับฟังกันได้ด้วยค่ะ ซึ่งการจัดทำเพลย์ลิสต์เพลงที่เลือกเปิดในร้านออกมาถือเป็นอีก 1 กลยุทธ์ที่สามารถช่วยในการสื่อสาร และ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้
3. Disneyland
ภาพจาก https://disneyparks.disney.go.com
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในด้านของความโดดเด่นของเสียงเพลงนั่นก็คือ Disneyland นั่นเองค่ะ ซึ่งในสวนสนุกของ Disneyland ก็จะมีเพลงบรรเลงตามแต่ละโซนของสวนสนุกที่แตกต่างกันออกไป โดยล่าสุด Disneyland Paris ได้เปิดตัวช่องอย่างเป็นทางการใน Spotify และ YouTube Music ให้เข้าไปรับฟังเพลงจาก Disney กันได้แล้วค่ะ
4. H&M
H&M แบรนด์เสื้อผ้าจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเพลงที่เลือกเปิดในร้านจะมีทำนองค่อนข้างเร็ว และให้อารมณ์สนุกสนาน ซึ่งทาง H&M ก็ได้เปิดตัวใน Spotify จัดทำเพลย์สลิสต์ที่ใช้เปิดภายในร้านเช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งถือได้ว่ามีผู้ที่ชื่นชอบบทเพลงจากทาง H&M เป็นจำนวนมากและจะเห็นได้ว่ามีผู้จัดทำเพลย์ลิสต์เพลงบน YouTube อยู่เป็นจำนวนมากเลยค่ะ
5. Headspace
ภาพจาก www.headspace.com
ตัวอย่างสุดท้ายของการทำ Music Marketing นี้เป็นแอพลิเคชั่นที่น่าสนใจ นั่นก็คือ Headspace ค่ะ Headspace เป็นแอปลิเคชั่นที่รวบรวมเพลงที่ช่วยในการนอน การลดความเครียด การทำสมาธิ และ การทำงานค่ะ รวบไปถึงบทความที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนค่ะ ซึ่งทำออกมาในรูปแบบของการสมัครสมาชิกรายเดือนในการเข้าไปรับฟังค่ะ
อ้างอิง
https://www.sleepfoundation.org
https://www.headspace.com
https://www.ambie.fm
https://blog.hootsuite.com