จริงอยู่ที่ว่าโซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ใช้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายถ้าไม่กดซื้อโฆษณา แต่ในความฟรียังมีความท้าทายซ่อนอยู่ เพราะโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อธุรกิจออนไลน์อย่างมาก อย่าลืมว่าหากทำการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing) ผิดชีวิตธุรกิจก็เปลี่ยนได้เช่นกัน เพื่อติดปีกให้ธุรกิจดิจิทัลมีประสิทธิภาพกว่าที่เคย มาเช็คลิสต์ 4 สิ่งที่ไม่ควรทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย และหาวิธีแก้ไขให้ทันท่วงที
#1 ขาดตัวตนที่ชัดเจน (Unclear Brand Identity)
เคยสงสัยไหมว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีการ Digital Marketing อะไรดึงดูดลูกค้า แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจดิจิทัลของคุณไร้แบรนด์ดิ้งที่ชัดเจน บทความสอนของ STEPS Academy ย้ำอยู่เสมอว่า “การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ดิ้ง หรือ Brand Identity ที่ดีไว้สื่อสารกับลูกค้า เท่ากับมีชัยไปกว่าครึ่ง”
Brand Identity คืออะไร? Cambridge Dictionary ให้ความหมาย Brand Identity ไว้ว่า “A set of ideas and features that a company wants people to connect in their minds with its products or brand” หรือแปลว่า ชุดความคิดไอเดีย และคุณสมบัติที่บริษัทฯ ต้องการสื่อสารเชื่อมต่อผ่านผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์
คุณสมบัติของ Brand Identity ที่ดีต้องมีอะไร
- ต้องมีความหมาย (Brand Meaning) และมีเรื่องเล่า (Storytelling) เน้นการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับแบรนด์ กำหนดกรอบการเล่าเรื่องราวการสื่อสารแบรนด์มีความให้ชัดเจน เห็นภาพชัดไม่สับสน
- ต้องมีจุดแข็ง จุดขายของแบรนด์ (Brand Strength) ให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาด
- ต้องมีภาพลักษณ์ (Brand Image) และบุคลิกของแบรนด์ชัดเจนมีลักษณะเฉพาะตัว (Brand Unique) เพื่อให้การรับรู้ไม่คลาดเคลื่อน และเกิดการเข้าใจผิด
- มีช่องทางสื่อสารแบรนด์ผ่านสื่อดิจิทัลที่เหมาะสม (Brand Communication) เลือกภาษาให้คอนเทนต์นั้น ๆ เหมาะกับช่องทาง ช่วยเพิ่มการเข้าถึงของผู้คน และลูกค้าใหม่
- ต้องมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นสินค้าหรือบริการของคนกลุ่มไหน (Brand Target) เพื่อคิดค้นผผลิตภัณฑ์ และแคมเปญนำเสนอสินค้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย
- ต้องมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค (Brand Experience) ให้มากกว่าสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง สร้างความประทับใจให้ลูกค้ารู้สึกเป็นคนพิเศษ สร้างการซื้อซ้ำ (Re-purchase) และกลายเป็นแฟนคลับในที่สุด กลุ่มลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์สินค้า (Brand Loyalty) ในอนาคต
เพราะแบรนด์คือตัวกำหนดเรื่องราว และ เรื่องเล่า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารและสร้างภาพจำให้กับผู้ติดตามในโลกโซเชี่ยลมีเดียได้เป็นอย่างดี การสร้างตัวตนแบรนด์ที่ชัดเจน จะทำให้เราได้ไอเดียในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่แตกต่างและชัดเจนอยู่เสมอ เรามีตัวอย่างของแบรนด์ที่สามารถกลับมาสร้างความสำเร็จบนโลกโซเชี่ยลได้โดยเริ่มต้นจากการมีตัวตนที่ชัดเจนเริ่มจาก…
ตัวอย่างน่าสนใจ
โดมิโน่ พิซซ่า (Domino’s Pizza) ร้านพิซซ่าเล็ก ๆ ที่ปิดให้บริการในปี 1960 ของสองพี่น้องโมนาแกน ชาวมิชิแกน สหรัฐอเมริกา สู่ร้านอาหารบิ๊กเชนระดับโลกที่มี Brand Identity ชัดเจน
ทั้ง ๆ ที่โลโก้ไม่มีรูปพิซซ่า มีเพียงแค่ ตัวโดมิโน่แม่สีแดง-น้ำเงิน (โลโก้ปรับปรุงใหม่ปี 2012) เพื่อสื่อสารความสนุกสนาน สดใส เพิ่มการดึงดูดผู้คน สร้างปฏิสัมพันธ์ให้แบรนด์มีชีวิตชีวามากขึ้น มองผิวเผินก็คล้าย ๆ กับลูกเต๋าเหมือนกัน หากอ่านความหมายสื่อความรู้สึกจิตวิทยาของแต่ละสีแล้ว พบว่า
- สีแดง ให้ความหมาย มีชีวิตชีวา ความกระตือรือร้น ตื่นเต้น เร้าใจและยังมีความเป็นผู้นำในตัว
- สีน้ำเงิน ตรงฐานและฟ้อนท์ สื่อความหมายว่า เป็นมืออาชีพ ความจริง น่าไว้เนื้อเชื่อใจ
- สีขาว คือความสะอาด เรียบง่าย หรือเป็นการเริ่มต้นใหม่
เพราะฉะนั้นแล้วคอนเทนต์ทุกสื่อบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ของโดมิโน่ จึงต้อสื่อความหมายในทิศทางเดียวกันคือมีความตื่นเต้นสนุก สะอาด และ เชื่อถือได้อยู่เสมอ ทำให้แฟนๆของโดมิโน่ติดตามแบรนด์ไม่ว่าแบรนด์จะใช้ช่องทางไหนในการสื่อสารก็ตาม
ส่วนไอคอน 3 จุดบนตัวโดมิโน่มีที่มาจาก ครั้งแรกโดมิโน่ พิซซ่า ประเดิมเปิดให้บริการสาขาใหม่พร้อมกัน 3 แห่งนั้นเอง ทุกอย่างที่เป็นโดมิโน่ พิซซ่า สื่อความหมายผ่านคอนเทนต์ ภาพ วิดีโอและกราฟิกค่อนข้างชัดเจน โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ทำให้มีผู้คนติดตามพิซซ่าแบรนด์นี้อย่างล้นหลาม
พร้อมกันนี้ยังมีเอกลักษณ์การเรื่องเล่าที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด เช่น คลิป The Secret to Every Handmade Domino’s is…. บนยูทิวบ์สื่อถึงความสนุกจัดเต็มท้อปปิ้ง และยังมี Brand Experience ภายใต้สโลแกน You Got 30 Minutes รับรองว่า พิซซ่าส่งเร็วพร้อมทานภายใน 30 นาทีอีกด้วย
The Secret to Every Handmade Domino’s is…. (2017)
บนเฟซบุ๊กหลัก Domino’s Pizza มีความชัดเจนสุด ๆ ด้วยโทนสี และการเล่าเรื่องที่ทั้งเพจมีแต่พิซซ่ามียอดไลค์อยู่ประมาณ 19 ล้านไลค์ บอกเล่าเรื่องพิซซ่ากันแบบเต็ม ๆ พร้อมกับพิกัดอร่อยตามชายหาดและสวนสาธารณะหลายพันแห่ง แคมเปญนี้ก็สะท้อนความสนุกของตัวตนของแบรนด์โดมิโน่นั้นเอง ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ติดตามบนโลกโซเชี่ยลมีเดียได้เป็นอย่างดี
ศึกษาความเป็นโดมิโน่ พิซซ่า ผ่านคลิปโฆษณาออนไลน์ที่ยังคงความชัดเจนของแบรนด์ยังคงความสนุกสนาน มอบความสุข ตามด้วยคลิป April Foolday ที่เล่าเรื่องราวว่า กล่องจดหมายของคนรักพิซซ่าจะเปลี่ยนเป็น Heatwave Letterbox ติดไว้ที่หน้าบ้านช่วยให้คุณได้รับพิซซ่าของ Domino ได้ทุกเวลาที่คุณต้องการ ใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืนที่ล้อเล่นจนคนเชื่อจริง ๆ ก็มี !!
Domino’s reinvents the letterbox! (2017)
ตามด้วยโฆษณาล่าสุด What the flip! Meals on skate wheels ในพฤษภาคมปี 2018 การสร้างความแปลกใหม่ด้วยการส่งพิซซ่าด้วยสเก็ตบอร์ด ทั้งแตกต่างยังคงความสนุก และรักษ์โลกไปในตัว
What the flip! Meals on skate wheels
หากธุรกิจดิจิทัลขาดตัวตน ควรรีบสร้าง Brand Identity ธุรกิจให้แข็งแกร่งในยุคดิจิทัล ด้วยแบรนด์ที่แตกต่าง (Unique Digital Branding) ดังนั้น เรียนรู้ปัจจัยสร้างแบรนด์ให้มีเสน่ห์ดึงดูดลูกค้าบนโลกออนไลน์ หรือจะติดอาวุธด้วยการเรียนรู้คอร์ส Digital Branding & Marketing for Entrepreneurs เพิ่มเติมมุมมองการสร้างแบรนด์ให้กว้างกว่าที่เคย
#2 ไม่ให้ความสำคัญเรื่องคอนเทนต์ (Ignoring content marketing)
เพราะคอนเทนต์ที่ดีทำเงินได้และยังเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าสำหรับองค์กรอีกด้วย เพราะสามารถสร้าง Awareness ให้คนรับรู้ได้อย่างสนิทใจ พร้อมกับอุ่นร้อนให้คนแปลกหน้ากลายเป็นคนรู้จัก เปลี่ยนให้เป็นลูกค้าสร้างยอดขาย พร้อมจ่ายเงินให้กับคุณ !! และยังมีความเชื่อใจกล้าลงทะเบียนกรอกชื่อ-นามสกุล และข้อมูลอื่น ๆ ให้กับธุรกิจเรา
อ้างอิงให้เห็นความสำคัญของคอนเทนต์จากคำพูดเควิน แพลงค์ (Kevin Plank) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่งบริษัทฯ Under Armour ที่เคยกล่าวเมื่อปี 2017 ไว้ว่า “Every great brand is like a great story.” “แบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ คือ บอกเล่าเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมให้ผู้บริโภคเข้าใจ และรับรู้ถึงความเป็นแบรนด์ของเรา”
ดังนั้น การผลิต Content Transformation สร้างคุณค่าให้คอนเทนต์สู่ยอดขาย เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องลงมือเร่งด่วน
Content ที่ดีต้องเป็นแบบไหน?
หากเปรียบโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธปืน คอนเทนต์ก็ไม่ต่างอะไรกับกระสุน ถ้ากระสุนด้าน หรือคอนเทนต์ขาดคุณภาพ ไร้จุดยืน ไม่มีความแตกต่าง เลือกก้อปปี้คอนเทนต์ ธุรกิจดิจิทัลของคุณก็ไม่มีวันแจ้งเกิด ไม่น่าสนใจ และไม่สามารถสร้างยอดขายได้ในที่สุด ดังนั้น คอนเทนต์ที่ดีต้องสดใหม่ เข้าถึงง่าย ตอบคำถามและแก้ปัญหาของลูกค้าได้ดี เช่น
- การบอกเล่าสถิติ (Statistic)
- เทคนิค (Technique)
- เคล็ดลับ (Secret)
- การเปรียบเทียบข้อมูล (Comparison)
- รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้า
เพราะคอนเทนต์ (Content) คือการเล่าเรื่องราวที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บทความบนเว็บไซต์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงอินโฟกราฟิก (Infographic), การเล่าเรื่องผ่านภาพชุด (Photo Series), วิดีโอคลิป และพ็อดคาสท์ (Postcast) ฯลฯ
ผู้ที่จะชนะใจลูกค้าในยุคโซเชียลได้ คือ การให้ลูกค้ามากกว่าการแชร์ภาพ วิดีโอดี ๆ หรือการโพสต์แคปชันเด็ด สเตตัชโดน ๆ และต้องสร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้า สร้างการตลาดที่เป็นกันเอง ชักชวนด้วยการถามคำถาม มีความใกล้ชิดกับผู้คนสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการตัดสินซื้อ
ตัวอย่างการใช้คอนเทนต์ผิด ๆ
คอนเทนต์รูปแบบเดียวโพสต์ลงทุกโซเชียล (One Content to Multiple Social Platform)
สิ่งที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดดิจิทัลไม่ควรทำ คือ “ผลิตคอนเทนต์รูปแบบเดียว แต่โพสต์ลงทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย” เพราะการเล่าเรื่องเดิมซ้ำซาก ไม่เวิร์คแน่ ๆ เนื่องจากทำให้ธุรกิจดูน่าเบื่อ จำเจ หมดความน่าค้นหา นำไปสู่การเลิกติดตามในที่สุดอย่างไรก็ดี
ควรมองโซเชียลมีเดียให้ออกใช้เครื่องมือให้เป็น ถ้าจำเป็นต้องใช้คอนเทนต์เนื้อหาเดิมมีเรื่องเดียวที่โพสต์ลงโซเชียลจริง ๆ เนื่องจากเป็นแคมเปญสำคัญนั่นไม่มีปัญหา ถ้าต้องการเพิ่มความแตกต่าง คุณอาจจะลองเปลี่ยนมุมการเล่าเรื่อง ครีเอทการนำเสนอให้แตกต่าง หรือเพิ่มการใช้ปุ่ม Call to action ก็ช่วยได้นะ
คอนเทนต์ที่เล่นไม่รู้เรื่อง (Infelicitous Content)
การเล่นกับกระแสและเหตุการณ์ปัจจุบันก็ต้องคิดให้ดี ระมัดระวังให้มาก เนื่องจากกาลเทศะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ควรมีการเช็กข้อมูล Double-checking ทุกครั้ง เป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเล่นคอนเทนต์ที่มีความอ่อนไหว เช่น การเมือง ลัทธิ เชื้อชาติ ความงาม หากพลาดครั้งเดียวเท่ากับถูกจารึกบนโลกโซเชียลตลอดกาล แต่ถ้าผิดจริงก็จงยอมรับและปรับเปลี่ยนใหม่
คอนเทนต์ขาดความสม่ำเสมอ (Lack of Consistency)
เนื่องจากความสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้เปิดประตูหัวใจก็คือการโพสต์คอนเทนต์ให้พบเห็นเป็นประจำ ไม่บ่อยเกิน หรือไม่ห่างหายจนชาวเน็ตลืมว่า ธุรกิจดิจิทัลเรามีตัวตนอยู่
ดังนั้น ควรวางแผนการผลิตคอนเทนต์ให้ดี หรือถ้ากลัวพลาดจะลองใช้เครื่องมือ Social Media Management Tool ตารางออร์แกไนเซอร์พกพาออนไลน์ เข้าช่วยในการโพสต์ ดูแลความสัมพันธ์กับลูกค้าก็ได้ และยังมีฟีเจอร์วิเคราะห์ประสิทธิภาพในการโพสต์ ตรวจเช็คการมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่น่าสนใจเช่น
Social Media Management Tool | Use with Online Platform |
Agora Pulse | บริหารจัดการรอบด้านใน Facebook, Twitter, Instagram, Linkedinและ Google+ |
HootSuite | ช่วยดูแลจัดการ Facebook, Twitter, LinkedIn, Google+ |
Coschedule | ช่วยโพสต์บทความลง WordPress และดูแล Social Media ต่างๆ ได้แก่ Facebook, Twitter, Linkedin, Google+, Pinterest |
Buffer | ช่วยโพสต์คอนเทนต์ลง Facebook, Twitter, Instagram, Linkedin, Google+ ตามด้วย Pinterest |
ได้เรียนรู้เครื่องมือและความเหมาะสมในการคิดคอนเทนต์ไปแล้ว สิ่งที่สำคัญการพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพ คือ เลือกช่วงเวลาที่ใช่ อย่าให้ความพยายามครีเอทคอนเทนต์สูญเปล่า การเลือกเวลาโพสต์ให้ถูกใจชาวโซเชียลก็อีกสิ่งสำคัญ ไม่ควรโพสต์ในช่วงที่มีผู้เข้าชมเพจสูงสุด (Peak Time) เนื่องจากมีการสร้างคอนเทนต์จำนวนมาก ทำให้โพสต์ของเราจมหายกลางทะเลโซเชียล ถ้าเป็นไปได้ควรโพสต์ในช่วงเวลาเช้าก่อนทำงาน และหลังเลิกงาน เป็นต้น
#3 ไม่ใส่ใจรายละเอียดลูกค้า (Ignore Consumers’ Insights)
จากข้อดีของแพลตฟอร์มธุรกิจตั้งแต่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา 24 ชั่วโมง ช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างไวรัลให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นลูกค้า ช่วยโปรโมท สร้างยอดขาย เพิ่มช่องทางให้ลูกค้าช้อปปิ้ง และติดต่อโดยตรงได้ทันที
รู้จักการสร้างคอนเทนต์ไปแล้ว ในขณะที่ผลวิจัยจาก The Content Marketing Institute พบว่า กว่า 65% ของแบรนด์ไม่ผลิตคอนเทนต์ไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และไม่รู้จักกลุ่มผู้ชมที่แท้จริง (Audience)
คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ หากธุรกิจดิจิทัลมัวแต่พูดเรื่องตัวเอง ไม่ทำความรู้จักตัวตนลูกค้าคุณ (Customer Personas) ไม่สนใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หรือไม่ยอมฟังเสียงผู้บริโภคบ้างเลย เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่เรามารู้จักคอนเทนต์ที่ชาวโซเชียลชื่นชอบกันดีกว่าว่ามีกี่ประเภทที่ธุรกิจเราสามารถนำไปปรับใช้ได้
คอนเทนต์แบบไหนที่ใช่?
หลังจากเห็นความสำคัญรายละเอียดลูกค้ากันแล้วมาตามต่อเลยดีกว่าว่าคอนเทนต์ไหนที่ชาวโซเชียลชื่นชอบ STEPS Academy แบ่งออกเป็น 8 ประเภทคร่าว ๆ ดังนี้
8 คอนเทนต์ที่ดึงดูดชาวโซเชียล
- คอนเทนต์เล่าสถิติ (Statistic) ระบุข้อมูลอ้างอิงสถิติที่เกิดขึ้นจริง ๆ ดึงดูดให้คนมีความสนใจเข้ามาติดตามเนื้อหาข้างในโดยเฉพาะเรื่องที่เขาชื่นชอบ ส่วนหนึ่งเพราะตัวเลขนั้นอ่านง่าย เข้าใจง่ายกว่าตัวหนังสือยาว ๆ
- คอนเทนต์เทคนิค (Technique)การเขียนกลวิธี แนะนำขั้นตอนความรู้ ความชำนาญเฉพาะเรื่อง เช่นบทความ
6 ขั้นตอนการตลาดออนไลน์ การเปลี่ยนจากคนแปลกหน้าไปเป็นลูกค้าตลอดกาล - คอนเทนต์บอกเคล็ดลับ เกร็ดน่ารู้ (Secret & Tips) ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเราชอบความลึกลับ น่าค้นหาโดยเฉพาะเคล็ดลับ เกร็ดน่ารู้ใหม่ ๆ ที่น่าจด น่าสนใจ ก็เป็นอีกคอนเทนต์ที่ชาวเน็ตชื่นชอบเช่นกัน
- คอนเทนต์เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย (Comparison) การเปรียบเทียบระหว่างสิ่งสองสิ่งหรือหลายสิ่งเข้าด้วยกัน อธิบายให้เห็นภาพ
- คอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจ และพลังบวก (Inspiration) การสร้างแนวคิดดี ๆ เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ผู้คน เป็นอีกคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
- คอนเทนต์แก้ปัญหา (Solves Problem) เนื้อหาประเภทนี้ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะมีปัญหาอะไร คนก็ค้นหาผ่าน Google ทั้งนั้น ยกตัวอย่างคอนเทนต์ที่เกิดมาเพื่อตอบปัญหา เช่น 3 ปัญหาหลัก ที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดยุคดิจิตอลส่วนใหญ่ กำลังเผชิญ หัวเรื่องชัดเจนว่า เขียนมาตอบคำถามจริง ๆ
- คอนเทนต์รีวิว (Review) บอกวิธีการใช้งาน แนะนำข้อดี ข้อเสีย ผ่านคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยการตัดสินใจของลูกค้าว่า จะซื้อสินค้าหรือไม่ เป็นต้น
- คอนเทนต์ตามกระแส (Trend Hit) เป็นการบอกเล่าเรื่องฮิต เรื่องติดตลาด เกาะกระแสที่ผู้คนสนใจพ่วงเข้าไปกับแบรนด์เรา เช่น “ออเจ้าทั่วบ้านทั่วเมือง” ทุกบนหน้าสื่อโซเชียลเมืองไทย การเล่นกับกระแสที่มาแรงมีข้อดีด้านที่เพิ่มเข้าถึง Awareness ให้คนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น แต่อาจทำให้ตัวตนของแบรนด์คุณถูกกลืนหายไปส่งผลกระทบระยะยาวให้แบรนด์ดิ้งไม่ชัดเจน ดังนั้น ต้องระวังให้ดี หากจะทำคอนเทนต์เกาะกระแสก็ต้องทำให้สอดคล้องกับ Brand Personality และแนวทางธุรกิจของเราด้วย
นอกจาก 8 เคล็ดลับที่เรานำมาฝากแล้วสิ่งที่ต้องห้ามลืมเป็นอันขาดคือ ศึกษาล่วงหน้าว่าผู้ติดตาม ลูกค้า ผู้บริโภคของเราชอบเสพคอนเทนต์ไหนเป็นพิเศษ ถ้าจะทำให้การออกแบบคอนเทนต์ได้ตรงใจกับลูกค้ามากขึ้นสิ่งที่เราควรศึกษา คือ Customer Personas : ทำความรู้จักตัวตนของลูกค้าคุณ สิ่งทางทีม STEPS ได้เคยให้ความรู้ไว้ในบทความที่ผ่านมา
ชาวโซเชียลชอบเล่นอะไร
รู้จักคอนเทนต์โปรดชาวโซเชียลแล้ว เรามาตามต่อว่าแพลตฟอร์มออนไลน์โปรดที่ผู้คนทั่วโลกชอบเล่นที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The Statistics Portal (ข้อมูล 8 พฤษภาคม 61) จะมีอะไรบ้างไปติดตามกันเลย
Facebook เหมาะสำหรับการสร้างเพจบริษัทฯ หรือองค์กร เพราะใช้ง่าย สะดวก ด้วยแพลตฟอร์มโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ แต่กฎเกณฑ์ที่เหมาะสำหรับธุรกิจคงต้องหมั่นติดตามอยู่เป็นประจำ มีข้อดีคือเป็นสังคมใหญ่มีผู้ใช้งานกว่า 2,234 ล้านคน ขณะที่คนไทยมีคนเล่นเฟซบุ๊กมากถึง 48 ล้านคน
YouTube มีผู้ใช้งาน 1,500 ล้านคนทั่วโลก ช่องไม่ต่างอะไรกับการยกทีวีขึ้นไปไว้ในอินเทอร์เน็ตผู้คนนิยมแชร์และส่งต่อให้เพื่อน และคนสนิทรับชม ดังนั้น ธุรกิจสามารถเล่าความประทับใจหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้รับรู้ ดังนั้น คอนเทนต์ไม่ต้องคิดลึก เน้นง่าย ชัดเจน ตรงใจ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจะดีกว่า
Instagram เป็นเครื่องมือการสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจด้วยภาพ หากพูดถึงธุรกิจที่เน้นความสบาย ๆ ยิ่งทำตัวเป็นมนุษย์เท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าถึงได้มากเท่านั้น
Twitter ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นเข้าถึงเร็ว สั้น เข้าใจง่าย ต้องระวังการเข้าใจผิดหรือภาษาที่สุ่มเสี่ยง เพราะจะสร้างดราม่าได้ง่ายมาก ๆ ล่าสุด มีผู้ใช้งานประมาณ 330 ล้านคนจากทั่วโลก แต่ในเมืองไทยไม่นิยมเท่าไหร่นัก
LinkedIn เป็นช่องทางรวมตัวของกูรูมืออาชีพในด้านต่าง ๆ มักจะเป็นหน้าเพจโชว์ความสามารถของผู้คนและธุรกิจ สร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ระหว่างคู่ค้า เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมอาชีพ แชร์ข้อความแบ่งปันให้ความรู้มีผู้ใช้งานทั่วโลก 260 ล้านคน
Snapchat เหมาะสำหรับสำหรับธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าวัยรุ่น Millennials ที่ชื่นชอบการสร้างวิดีโอที่ไม่เหมือนใคร ความแปลกใหม่
Line แอปพลิเคชันแชทจากญี่ปุ่นที่ใช้งานง่าย สะดวก ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และนิยมใช้ติดตามโปรโมชัน ส่วนลด และสิ่งที่สนใจในไลน์แอท (Line@) ธุรกิจที่ตนเองสนใจและใช้งาน เร็ว ๆ นี้มีผู้ใช้งานทั้งสิ้น 203 คนทั่วโลก
Pinterest ในแพลตฟอร์มนี้เป็นศูนย์รวมแฟชั่น ศิลปะ อาหาร อินโฟกราฟิก และภาพสวยงาม มีกลุ่มผู้หญิงใช้งานมากถึง 42% อยู่ในช่วงอายุ 18-49 ปี
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนที่เราหยิบยกมาจากสถิติของ The Statistics Portal เท่านั้น ให้จำไว้ว่าแพลตฟอร์มไหนยิ่งมีผู้ใช้งานมากเท่าไหร่ คู่แข่งก็ย่อมมีมากเท่านั้น
#4 ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เยอะเกินความจำเป็น (Use Unnecessary Multiple Social Platform)
การตื่นตัวนำธุรกิจออนไลน์เข้าร่วมกับทุกแพลตฟอร์มโซเชียลทั้ง Facebook, Twitter, LinkedIn, Instagram, Pinterest และ Snapchat การบุกทุกแพลตฟอร์มอาจมีข้อดี คือ ทำให้คนรู้จักเราและเข้าถึงง่าย
การใช้โซเชี่ยลมีเดียทุกช่องทาง แต่ลืมไปว่าลูกค้าของเราไม่ได้อยู่ช่องทางนั้น ๆ ก็จะทำให้เราเสียแรง เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
อย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียคือบ้านเช่า ไม่ใช่บ้านของเราจริง ๆ หาธุรกิจคุณเลือกเปิดทุกแพลตฟอร์ม แต่ไม่รู้จักพฤติกรรมผู้ใช้งาน เสิร์ฟคอนเทนต์ไม่ต่อเนื่อง บริการลูกค้าไม่ทันใจ ไม่สามารถโฟกัสหรือดูแลลูกค้าได้อย่างครบครัน จนเกิดการร้องเรียนขึ้น หรือโพสต์กระทู้ด่า ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงกับแบรนด์ธุรกิจอยู่พอตัว
แนะนำว่าเลือกที่เหมาะสม เริ่มต้นโพสต์โซเชียลมีเดียด้วยการเลือกไม่กี่แพลตฟอร์ม โพสต์เป็นประจำจะได้ผลดีกว่า เพราะวัดผลประเมินผลง่าย ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจต้องการ และสร้างชุมชนให้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ให้มากขึ้นนั้นเอง และทั้งหมดคือสิ่งที่ห้ามทำในโลกใช้โซเชียลมีเดียที่โดยเด็ดขาด หากใครเข้าข่ายที่ STEPS Academy แนะนำว่า “เลี่ยงได้ก็เลี่ยง”
Kanokwan Chantorn
Content Team (STEPS ACADEMY)
แหล่งข้อมูล:
https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/brand-identity
https://www.forbes.com/sites/jaysondemers/2013/11/12/the-top-7-characteristics-of-successful-brands/#7f0a85e642f9
https://www.entrepreneur.com/article/308011
https://www.entrepreneur.com/article/294925
https://www.smego.rmutt.ac.th/2017/10/04/social-media-marketing/
https://www.forbes.com/sites/carminegallo/2017/01/08/3-tips-to-wow-an-audience-like-under-armours-founder-and-chief-storyteller/#5f3d43050c7b
https://stepstraining.co/content/5-steps-create-content
https://positioningmag.com/1165915
https://www.buzzfeed.com/bradesposito/adidas-boston-marathon
https://thenextweb.com/socialmedia/2014/11/14/tested-best-advice-get-clicks-facebook-heres-worked/
https://stepstraining.co/entrepreneur/5-case-study-to-build-a-brand-on-digital-world
http://hummingbird.digital/3-things-jessica-albas-the-honest-company-must-do-to-protect-its-brand/
http://www.adweek.com/brand-marketing/lessons-learned-from-the-5-biggest-brand-fails-of-2017-uber-pepsi-dove-and-more/
https://www.forbes.com/sites/jiawertz/2017/02/18/which-social-media-platforms-are-right-for-your-business/#10fab95112a2
https://www.marketingweek.com/2016/03/23/dominos-pizza-our-fast-food-rivals-have-lost-their-sense-of-identity/
https://www.entrepreneur.com/article/245483
https://www.forbes.com/sites/jaysondemers/2013/11/12/the-top-7-characteristics-of-successful-brands/2/#818be0061be2
https://www.entrepreneur.com/article/281523
https://www.statista.com/statistics/272014/global-social-networks-ranked-by-number-of-users/
https://www.matichonweekly.com/column/article_88648
https://www.logaster.com/blog/dominos-logo/