ในต่างประเทศแทบไม่มีฝรั่งขายของผ่าน Facebook แต่เขาใช้ Facebook เป็นทางผ่านในการส่ง Traffic เข้าเว็บไซต์ซึ่งวางระบบ E-Commerce อันซับซ้อนเพื่อที่จะให้ผู้คนเหล่านั้นไม่หลุดมือไปไหน
ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง Conversion pixels เพื่อนำไปทำโฆษณาแบบ Re-target ทั้งสำหรับ Facebook ads และ Google AdWord มีการเก็บรายชื่อหรือ List-building เพื่อส่งอีเมล์หรือโทรศัพท์ไปขายของแก่ผู้มุ่งหวัง รวมไปถึงทำระบบตะกร้าหรือ Online shopping cart ที่สร้างประสบการณ์ซื้อของออนไลน์ที่ดีแก่ผู้เข้าเว็บไซต์
การทำเว็บไซต์ E-Commerce มีข้อดีหลายประการแต่ในบ้านเราไม่นิยมทำเพราะคนเกรงว่ามันจะยุ่งยาก ซับซ้อน และเสียเวลา ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริง! แต่หากคุณทำสำเร็จ คุณอาจหลงรักการมีระบบ E-Commerce เต็มรูปแบบ และหากคุณอ่านบทความนี้เพราะคุณคือคนหนึ่งที่สร้างเว็บไซต์ E-Commerce สำเร็จเป็นครั้งแรก ขอแสดงความยินดีด้วย คุณก้าวสู่เจ้าของธุรกิจออนไลน์เต็มตัวแล้ว และต่อไปนี้เราจะพาคุณไปเรียนรู้ การวัดผลและอ่านค่าที่มีความสำคัญต่อการพัฒนายอดขายและบริหารต้นทุน E-Commerce ของคุณ
ทำไมคุณต้องวัดผลและอ่านค่าการตลาดออนไลน์เป็น
เนื่องจากการเปิดร้านค้าออนไลน์นั้น ไม่สามารถสัมผัสลูกค้าได้เท่ากับการอยู่หน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาของลูกค้า อารมณ์ ลักษณะ การพูดคุย รวมไปถึงท่าทางต่าง ๆ ที่สามารถบอกอารมณ์ได้อย่างชัดเจน แต่ในขณะที่ร้านค้าออนไลน์นั้น เราไม่สามารถสัมผัสกับลูกค้าแบบนั้นได้ จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเก็บสถิติเอาไว้ แล้วนำมาจำลองเหตุการณ์หรือตั้งสมมติฐานขึ้นมาจากตัวเลขเหล่านั้น แล้วค่อยนำมาวิเคราะห์อีกที
ยกตัวอย่างเช่น…
ลูกค้าเข้ามายังหน้าขายสินค้าและมีการ Click ซ้ำ ๆ บริเวณรูปภาพ คุณสามารถเดาว่า ลูกค้าอาจคิดว่า รูปภาพนั้นกดแล้วจะเป็น ลิงค์ ต่อไปยังหน้าชำระเงิน คุณอาจพิจารณาใส่ ลิงค์ลงไปในรูปภาพด้วยเช่นกันจะดีหรือไม่ — เครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบพฤติกรรมการกดปุ่มบนเว็บเพจเรียกว่า Heat Map Application
ดังนั้น นอกจากที่คุณจะต้องเรียนรู้การติดตั้งตัวเก็บสถิติออนไลน๋ต่าง ๆ แล้ว ยังต้องวิเคราะห์และเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างท่องแท้ เพื่อที่จะได้นำผลการวิเคราะห์เหล่านั้น ไปตัดสินใจในการใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าบนโลกออนไลน์ของธุรกิจ
แล้วข้อมูลจากตัวเก็บสถิติสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างไร
ขึ้นชื่อว่าตัวเลขและสถิติแล้ว มีคำกล่าวนึงที่ใช้ได้เสมอก็คือ ‘ตัวเลขไม่เคยหลอกใคร’ ดังนั้น นักวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวเลขสถิตินั้นสามารถบอกได้ว่า มีจำนวนคนเข้าร้านค้าออนไลน์กี่คน อยู่บนเว็บไซต์นานเท่าไหร่ หยิบสินค้าใดเข้าตะกร้าบ้าง และอัตราการชำระเงินเมื่อเทียบกับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นอัตราที่เท่าไหร่
ยกตัวอย่างเช่น มีคนเข้าร้านค้าออนไลน์ของคุณเป็นจำนวน 100 คน แล้วพบว่ามีคนที่จ่ายเงินจริง ๆ เพียง 1% หรือเข้าร้านค้าออนไลน์ 100 คน จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าจริง ๆ เพียงแค่ 1 คนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคุณรู้ตัวเลขเหล่านี้แล้ว ก็สามารถมากำหนดกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดเช่น ต้องการเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บไซต์เท่าไหร่ ต้องการให้อัตราการซื้อสูงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต่าง ๆ นั้น อาจแปรเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม ราคาสินค้า ในบางครั้งพบว่า แม้ว่าผู้คนใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์นานเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั่นอาจหมายถึงผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ ใช้เวลาอ่านและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริษัทก่อนที่จะตัดสินใจจ่ายเงิน แต่ก็อาจจะหมายถึง การที่ลูกค้าสับสนวิธีการเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่ออกแบบยุ่งเหยิงจนเกินไป และในท้ายที่สุดนอกจากจะไม่ซื้อสินค้าแล้ว เขาอาจจะไม่กลับมายังเว็บไซต์คุณอีกเลย
การวัดผลเบื้องต้นสำหรับ Ecommerce
ก่อนที่คุณจะทำการขยายขนาดของร้านค้าออนไลน์และลงงบโฆษณาให้มากขึ้น คุณควรมีข้อมูลเบื้องต้นที่เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว คุณอาจจะต้องสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ และนี่คือสถิติทั้ง 5 ที่คุณจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลเพื่อมาวิเคราะห์ โดยคุณสามารถติดตั้ง Google Analytics ลงบนเว็บไซต์ได้ฟรี
- Returning Visitors: คืออัตราการที่ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่เคยเข้ามาก่อนหน้านี้แล้วกลับมาเยี่ยมชมอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งตัวเลขนี้มาก จะแสดงให้เห็นถึงการมีผู้เยี่ยมชมขาประจำ ที่คอยติดตามเว็บไซต์อยู่เรื่อย ๆ
- Time on site: เวลาที่ผู้เยี่ยมชมใช้ในขณะที่กำลังเข้าเว็บไซต์ ยิ่งตัวเลขนี้มีค่ามาก นั่นแสดงให้เห็นถึงการทีผู้เยี่ยมชม สนใจข้อมูลหรือผลิตภัณฑ์ของแบรนด์
- Pages per visit: ค่าเฉลี่ยของการเยี่ยมชมแต่ละหน้าของเว็บไซต์ โดยจะนับจากการที่ผู้เยี่ยมชมเข้ามายังหน้าหนึ่งของเว็บไซต์ แล้วเข้าไปอ่านข้อมูลหน้าอื่น ๆ ต่อภายในเว็บไซต์ ยิ่งตัวเลขนี้มาก ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้เยี่ยมชมกำลังสนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัทอยู่
- Bounce rate: คืออัตราการเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์หน้าเดียวแล้วออกจากเว็บไซต์โดยไม่กดเข้าดูหน้าอื่นเลย นั่นแสดงว่าผู้เยี่ยมชมไม่ได้สนใจข้อมูลอื่นเลยบนเว็บไซต์ หรือข้อมูลที่แสดงนั้น ไม่ตรงกับความต้องการของผู้เยี่ยมชม ยิ่งตัวเลขนี้น้อยจะยิ่งดี เพราะจะหมายถึงว่าผู้คนยังคงเข้าเยี่ยมชมหน้าอื่น ๆ ภายในเว็บไซต์ต่อ
การวัดผลของลูกค้าที่อุดหนุนสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การจะวัดว่าแคมเปญโฆษณาใดที่ได้รับผลการตอบรับที่ดีที่สุด หรือแคมเปญใดสามารถเพิ่มยอดขายได้ดีที่สุดนั้น สามารถใช้ตัวแปรดังต่อไปนี้ เพื่อตัดสินใจว่า จะเพิ่มงบประมาณในแคมเปญใด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- Conversion Rate: คือ อัตราการการเปลี่ยนจากผู้เยี่ยมชมให้กระทำการบางอย่าง เช่น ลงทะเบียนหรือซื้อสินค้า ตัวอย่างเช่น หากมีคนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นจำนวน 100 คน และมีการชพระเงินเพื่อซื้อสินค้า 1 คน นั่นแสดงว่ามี Conversion Rate = 1/100 x 100% = 1% ซึ่งถ้าหากค่าของ Conversion Rate ต่ำ นั่นหมายถึงจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น วิธีการที่จะช่วยเพิ่ม Conversion Rate ให้สูงขึ้น สามารถทำได้โดยพัฒนา Landing Page ที่ส่งคนเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อปิดการขายหรือให้ลงทะเบียน
- Page Load Time: จากข้อมูลของเว็บไซต์ shopify.com พบว่าการโหลดหน้าเว็บไซต์ช้า ส่งผลกระทบต่อยอดขายถึง 16% เนื่องจากผู้คนต้องการความรวดเร็ว และมีลักษณะใจร้อน ดังนั้นหากเว็บไซต์มีการโหลดหน้าเว็บช้า ผู้เยี่ยมชมก็จะกดออกแทบจะในทันที และอาจไม่กลับมายังเว็บไซต์นั้นอีกเลย โดยสามารถขอคำแนะนำจาก Google ในการเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บได้ที่ PageSpeed InsightsTips:โดยส่วนใหญ่แล้ว เว็บไซต์ที่มีขนาดภาพที่ใหญ่ จะมีผลต่อการโหลดหน้าเว็บไซต์เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรลดขนาดไฟล์ให้เล็กที่สุดโดยยังคงความสวยและชัดเจนของรูปภาพเอาไว้อยู่
- Customer Acquisition Cost (CAC): คืออัตราส่วนของต้นทุนที่ใช้ในการหาลูกค้าหนึ่งราย ซึ่งหากมีค่าสูงกว่า Customer Lifetime Value (CLV) แล้วล่ะก็แสดงว่าขาดทุนอย่างแน่นอน โดยวิธีการคำนวนค่า CAC อย่างง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่าคุณจ่ายค่าโฆษณาบน Facebook จำนวน 10,000 บาท และสามารถขายสินค้าได้จำนวน 100 ชิ้น ดังนั้น CAC จะเท่ากับ 10,000/100 ผลลัพธ์คือ 100 บาท เป็นต้น
- Customer Lifetime Value (CLV): คือมูลค่าที่ลูกค้าอุดหนุนสินค้าของแบรนด์ตลอดช่วงชีวิต ตัวอย่างเช่น หากโดยเฉลี่ยแล้ว ลูกค้าหนึ่งคน เข้ามาซื้อสินค้า จำนวน 1,000 บาท และมีกำไรต่อครั้งอยู่ที่ 500 บาท โดยเข้ามาซื้อเฉลี่ย 3 ครั้ง ดังนั้น CLV ก็คือ 500×3 = 1,500 บาท ซึ่งจะทำให้เรารู้ต้นทุนต่อการหาลูกค้าหนึ่งรายโดยประมาณ หากใช้งบประมาณเกินกว่านี้ จะทำให้ขาดทุนได้
การวัดผลสำหรับการขยายการเติบโตของธุรกิจ
เมื่อคุณสามารถวัดผลเบื้องต้นได้แล้วต้องการที่จะก้าวสู่การขยายธุรกิจโดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าได้รับความนิยมเป็นอย่างดี และเมื่อคุณต้องการขยายธุรกิจ จึงต้องมีตัววัดผลที่สำคัญเพิ่มเติมขึ้นมาซึ่งได้แก่
- จำนวน Transactions: ให้คุณคำนวณว่าในแต่ละเดือนมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นจำนวนกี่ครั้ง มีลูกค้าเปิดบิลกี่บิล
- มูลค่าเฉลี่ยต่อ Transaction: จากนั้นจงหาค่าเฉลี่ยว่าในแต่ละธุรกรรมนั้นมีมูลค่าเฉลี่ยเท่าไหร่
- รายได้: ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารายได้ของคุณมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- Unique Visitors: จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ไม่ซ้ำกัน แต่ตัวแปรนี้ยังไม่ต้องสนใจมาก เพราะหากมีจำนวนผู้ชมเยอะแต่ไม่มียอดขายเลย แสดงว่ากำลังเจาะตลาดผิดกลุ่มเป้าหมาย แต่หากดีพอแล้ว จำนวน Unique Visitors จะบ่งบอกถึงจำนวนคนทั้งหมดที่มีโอกาสเห็นสินค้าของเราโดยไม่ซ้ำคนกัน
Search Engine Optimization (SEO)
ถ้าหากสินค้าหรือบริการของคุณมักจะเป็นสิ่งที่ผู้คนชอบค้นหาบน Google คุณก็ต้องให้ความสำคัญกับ แหล่ง Traffic ฟรีที่มีผู้ใช้งานอย่างมหาศาล และนี่คือตัววัดผลที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ SEO
- Search volume: คำค้นหาที่ผู้คนมักค้นหาบน Google โดยคุณสามารถดูจำนวนการค้นหาได้ที่ Keyword Planner [ ที่ใช้บริการได้ฟรีจาก Google ]
- Average ranking position: ค่าเฉลี่ยของการแสดงผลการค้นหาบน Google โดยคุณสามารถดูได้จากรายงานของ Google Analytics ซึ่งจะบอกว่า Keyword ใดบ้าง ที่เมื่อมีผู้คนค้นหาแล้วมีเว็บไซต์ของเราติดอันดับอยู่ที่เท่าไหร่ โดยอันดับที่ 1 คือตำแหน่งที่ดีที่สุด คุณสามารถเรียนรู้การทำ SEO – เพื่อให้มีโอกาสติดอันดับผลการค้นหาบน Google เป็นอันดับต้น ๆ ได้ที่นี่
- Bounce rate: เมื่อผู้คนคลิกจาก Google มายังหน้าเว็บไซต์แล้ว ไม่พบข้อมูลที่ตรงตามต้องการแล้วออกจากเว็บไซต์ไปในทันที นั่นจะทำให้ค่า Bounce rate นี้สูงขึ้น ส่งผลให้การค้นหาในครั้งต่อ ๆ ไป จะมีอันดับที่ลดลง เนื่องจากไม่ตรงกับความต้องการของผู้ค้นหา
- Conversion rate: คุณสามารถติดตั้งตัวเก็บสถิติของ Google Analytics ได้ว่า เมื่อมีคนคลิกจาก Google แล้วมายังหน้าเว็บไซต์ แล้วจากนั้น เกิดการซื้อขายเป็นจำนวนเท่าไหร่ ก็สามารถนำมาคำนวณหาค่า Coversion rate ได้
- Revenue: ยอดขายที่ได้มาจากช่องทาง SEO นั้นมีจำนวนเท่าไหร่ คุ้มค่าที่จะลงทุนต่อหรือใช้ช่องทางอื่นแทน ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแล้ว
Search Engine Marketing (SEM)
ถ้า SEO คือจำนวน Traffic ที่ได้มาฟรี ๆ เนื่องจาก Google จัดอันดับผลการค้นหาให้โดยอัตโนมัติ(ซึ่งอาจใช้เวลานานและไม่มีความแน่นอน) ดังนั้น SEM ก็คือการจ่ายเงินเพื่อลงโฆษณากับ Google เพื่อให้ได้เห็นผลลัพธ์ได้อันดับที่ดีในทันที และนี่คือตัวแปรที่คุณต้องทราบ
- Search volume: คุณต้องแน่ใจก่อนว่า Keyword ที่คุณเลือกในการลงโฆษณานั้น มีจำนวนที่มากพอ
- Cost per Click (CPC): คุณสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายต่อการคลิกเข้าเว็บไซต์หนึ่งครั้งบนผลการค้นหาบน Google หากคุณกำหนดค่าที่สูงนั่นหมายถึงตำแหน่งโฆษณาของคุณจะแสดงผลเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับการกำหนดราคาต่อคลิกของคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ
- Average ranking position: บน Google Adwords จะบันทึกค่าเฉลี่ยของตำแหน่งที่โฆษณาของคุณขึ้นแสดงบนผลการค้นหาบน Google ซึ่งคุณจะประมาณการเบื้องต้นได้ว่า ค่า CPC ที่คุณกำหนดนั้น แสดงที่ตำแหน่งที่ดีหรือไม่
- Click-through rate (CTR): คืออัตราการมองเห็นโฆษณาเทียบกับการคลิกเข้ามายังเว็บไซต์ ถ้าหากมีคนเห็นโฆษณาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครคลิกเข้าเว็บไซต์เลย จะทำให้ค่า CTR ต่ำ นั่นหมายถึง คุณอาจจะต้องปรับหัวข้อโฆษณาใหม่ ปรับคำสื่อสารใหม่ ปรับ Keyword ใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการคลิกแล้วส่งคนมายังหน้าเว็บไซต์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขายต่อไป
- Bounce rate: กรณีที่มีคนคลิกโฆษณาเข้ามายังเว็บไซต์ แล้วกดปิดหน้าเว็บไซต์โดยที่ไม่ไปดูข้อมูลหน้าอื่นต่อเลย นั่นแสดงว่า ผู้คนที่คลิกโฆษณาเข้ามานั้นไม่ได้สนใจตัวผลิตภัณฑ์ หรือมีข้อมูลไม่ตรงตามความต้องการ คุณอาจจะต้องปรับแคมเปญใหม่
- Conversion rate: คุณสามารถติดตั้ง Conversion Rate ได้จาก Google Analytics ทันทีที่มีมีคนคลิกจากโฆษณา Google มายังเว็บไซต์ มีจำนวนคนลงทะเบียนหรือซื้อสินค้าเป็นจำนวนกี่คน เมื่อเทียบกับจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ทั้งหมด ซึ่งการเพิ่ม Conversion rate ให้สูงเข้าไว้จะยิ่งดี โดยคุณสามารถเรียนรู้จากการปรับ Landing Page ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- Customer Acquisition Cost (CAC): ค่า CAC บน Google Adwords นั้น จะคำนวณจากค่า Conversion rate ยกตัวอย่างเช่น หากค่า CTR = 10% นั่นหมายถึงว่า มีการคลิกเกิดขึ้น 10 ครั้ง จะขายสินค้าได้หนึ่งชิ้น ถ้าหากค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งคลิกคือ 10 บาท แสดงว่าคุณจะต้องจ่ายค่าโฆษณา 100 บาท จึงจะเกิดยอดขายหนึ่งครั้ง ซึ่งคุณก็จะต้องไปคำนวณต่อว่า ยังคงเหลือกำไรเท่าไหร่ ขาดทุนหรือไม่
Facebook Ads
Facebook ads หรือที่เราเรียกกันว่า Boost Post คือการกระตุ้นการเข้าถึงของโพสต์นั้น ๆ ด้วยการจ่ายเงิน เป็นที่รู้กันดีว่าปัจจุบันคนไทยโพสต์โฆษณาขายสินค้าบน Facebook เยอะมาก ทำให้การแข่งขันกันประมูลราคาค่าโฆษณาสูงตามไปด้วย ใครที่ยิงโฆษณาร้อยสองร้อยบาทนั้นยากที่เกิดยอดขายกลับมา
แต่ที่ยากไปกว่านั้นคือการโพสต์ขายของตรง ๆ ลงใน Facebook นั้นวัดผลและวิเคราะห์ได้ไม่ละเอียดเท่าการส่งคนเข้าเว็บไซต์ เพราะปัจจุบันจำนวน Like บนโพสต์นำไปวัดผลไม่ได้มาก บางคนกด Like โดยที่ไม่อ่านโพสต์เสียด้วยซ้ำไป ในขณะที่การกดลิงค์ไปยังเว็บไซต์ คุณยังรู้ว่า ลูกค้า Landing ไปยังเว็บเพจที่อยู่บนเว็บไซต์ของคุณแล้ว นอกจากนั้นยังวัดผลได้ว่า อยู่บน Landing page นั้นนานแค่ไหนจาก Bounce rate และ Time-on-site ของ Google Analytics — และที่เจ๋งสุดคือคุณสามารถเช็คว่าลูกค้าอ่านหน้าเว็บจนถึงบรรทัดสุดท้ายหรือไม่และเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ด้วย Content analytics application!
ทีนี้เมื่อคุณมีเว็บไซต์ และใช้ Facebook เป็นสะพานในการส่งคนเข้าเว็บไซต์ กรณีนี้ Like, Comment, Share จะไม่ใช่ KPI หลัก เพราะบางครั้ง Like น้อยยอดขายเยอะเพราะคนคลิ๊กเข้าเว็บเยอะนั่นเอง สิ่งสำคัญที่คุณอยากดูสถิติของ Facebook ได้แก่
- Impressions: คือจำนวนการมองเห็นทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมาย หากมีจำนวนน้อยเกินไป นั่นแสดงว่าคุณกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เล็กเกินไป ซึ่งอาจจะต้องทำการทดสอบด้วยกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
- CTR: อัตราการคลิกโฆษณา หากมีค่าที่ต่ำเกินไป คุณอาจจะต้องแก้ไขคำขึ้นต้น คำโปรย และรูปภาพของโฆษณา ให้ดึงดูดมากยิ่งขึ้น
- Cost per click (CPC): Facebook สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายเป็นแบบต่อคลิกได้ ซึ่งหากค่านี้มีค่าที่สูง ก็จะส่งผลให้ค่า CAC มีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย
สรุป
คนที่เพิ่งเริ่มต้นบริหารเว็บไซต์ E-Commerce ของตนเองอาจต้องปรับตัวมากหน่อยในช่วงแรก แต่สักพักคนจะยินดีกับศักยภาพในการรายงานและวัดผลของเครื่องมือออนไลน์สำหรับคนมีเว็บไซต์ที่ช่วยให้คุณตัดสินใจการตลาดและทุ่มเทงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วงแรกยังไม่ต้องโฟกัสหลายช่องทางการตลาดและให้มุ่งเน้นที่คุณถนัด ซึ่งส่วนมากถนัด Faceboo กัน คุณก็เน้นทำการตลาดบน Facebook และเว็บไซต์เป็นหลักก่อนขยับขยายไป Google และ Google AdWord ตามลำดับ