Content Marketing เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งดึงดูดให้ลูกค้ารู้สึกสนใจในแบรนด์ของเรา ทั้งทำให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนใจเลื่อนขั้นกลายเป็นลูกค้า ทั้งทำให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อใหม่ ทั้งทำให้ลูกค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่บอกต่อสินค้าบริการของเรา
ดังนั้น เพื่อไม่ให้พลาดประโยชน์และโอกาสเหล่านี้ เราจึงควรติดตามเทรนด์เกี่ยวกับการทำ Content Marketing อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ของแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่ของการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และในแง่ของการสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นค่ะ
5 เทรนด์และกลยุทธ์เหล่านี้จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ จะได้เตรียมพร้อมวางแผนการทำคอนเทนต์สำหรับปี 2023 นะคะ
1.หยิบคอนเทนต์เก่ามาเล่าใหม่ รักษาระดับ SEO ให้ดีอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพูดถึงเทรนด์คอนเทนต์ในปีต่อ ๆ ไปหลายคนอาจจะนึกถึงการหาไอเดียคอนเทนต์ใหม่ ๆ แต่ที่จริงแล้วเราสามารถนำคอนเทนต์เก่า ๆ มาอัปเดตให้ทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้นได้นะคะ
โดยเราแนะนำว่าคอนเทนต์ที่ควรนำมาอัปเดตนั้นควรเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับ Engagement ดีในช่วงที่ผ่าน ๆ มานะคะ ทั้งในเชิงของยอด Like ยอด Share ยอด Comment และยอดคนที่เข้ามาอ่าน
ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์ของคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้ผ่านเครื่องมือทั่วไปอย่าง Google Analytics เลยค่ะ เราจึงจะทราบเปอร์เซ็นต์ Performance ของคอนเทนต์ในหลาย ๆ แง่มุม ทำให้วาง KPI ให้คอนเทนต์ใหม่พัฒนาไปได้ไกลมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ใน Google Analytics จะระบุถึง
- Unique Pageviews จำนวนครั้งที่คนหนึ่งคลิกเข้ามาอ่านคอนเทนต์นั้น ๆ ของเรา ต่อให้เขาจะเข้ามาอ่านซ้ำกี่ครั้งเราจะยังนับเป็น 1 วิวเท่านั้น ต่างจาก Pageviews ที่แม้จะเป็นบุคคลเดิม ทางระบบก็จะนับจำนวนครั้งเพิ่มอยู่ดี ถ้ามีการเข้ามาอ่านซ้ำค่ะ
- Average Time On Page ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในคอนเทนต์นั้น ๆ
- Bounce Rate อัตราของผู้ใช้งานที่เข้าหน้าคอนเทนต์นั้นเพียงหน้าเดียวแล้วกดออก โดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ในหน้าเพจนั้นเลย
- Exit Rate เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้ามาในเว็บไซต์ แล้วอยู่หน้าคอนเทนต์นั้นเป็นหน้าสุดท้าย ก่อนกดออกจากเว็บไซต์ไป
ซึ่ง ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วพบว่าคอนเทนต์ไหนได้ผลตอบรับดีในหลาย ๆ ด้าน เราก็ควรนำคอนเทนต์นั้นมาอัปเดตเนื้อหาให้ทันสมัยที่สุด ถือว่าส่งผลดีต่อ SEO ของเว็บไซต์เราด้วยนะคะ เพราะว่าพอมีคนเสิร์จคีย์เวิร์ดของคอนเทนต์นั้น ๆ คอนเทนต์ของเราก็จะยังคงอยู่ในอันดับที่ดี ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีค่ะ
2.ใส่ใจให้เวลากับการพัฒนาคอนเทนต์ขนาดยาว (Long-Form Content)
หลายคนอาจจะคิดว่าสมัยนี้ไม่มีคนอ่านคอนเทนต์ยาว ๆ กันแล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน คอนเทนต์ขนาดยาวก็ยังตอบโจทย์ผู้อ่านได้ดีเสมอนะคะ เดี๋ยวเราจะขยายความให้ฟังกันค่ะ
ถ้าพูดให้เห็นภาพมากขึ้น ความแตกต่างของคอนเทนต์สั้นกับคอนเทนต์ยาวจะอยู่ตรงที่ในคอนเทนต์ขนาดยาวเราจะสามารถอธิบายหลาย ๆ เรื่องให้ผู้ติดตามได้เข้าใจในเชิงลึก และนำไปประยุกต์ใช้หรือปฏิบัติตามได้อย่างเป็นขั้นเป็นขั้นตอน
ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้สื่อกลางเป็นคอนเทนต์ขนาดสั้น สิ่งที่ผู้ติดตามจะได้รับกลับไปอาจเป็นเพียงเนื้อหาภาพรวมใหญ่ ๆ ของบางเรื่องเท่านั้นค่ะ
แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าเกิดลงทุนทำคอนเทนต์ยาว ๆ ออกไปจะมีใครอ่านจนจบไหม คำตอบคือ แม้ผู้ติดตามอาจจะอ่านไม่จบครบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ข้อดีที่ได้กลับมาคือผู้ติดตามจะอยู่ในเว็บไซต์ของเรานานขึ้นนะคะ
ซึ่งข้อดีของการที่มีคนอยู่ในเว็บไซต์นาน ๆ คือทาง Google จะประเมินว่าเว็บไซต์ของเรามีคุณภาพดีด้วย ช่วยให้คอนเทนต์ของเรามีโอกาสปรากฏบนหน้าแรกของ Google มากขึ้นค่ะ
ส่วน ในฝั่งของลูกค้าพวกเขาจะรู้สึกถึงความคุ้มค่าว่าเข้ามาในเว็บไซต์ของเราครั้งเดียวก็ได้ข้อมูลมากมาย แถมยังได้ประหยัดเวลาด้วย ค่ะ
3.ต่อยอดคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กลุ่ม Niche Market
บางคนอาจมองว่ายิ่งผลิตคอนเทนต์ที่ Mass ได้เท่าไรยิ่งดี แต่จริง ๆ แล้วยังมีแนวทางการทำคอนเทนต์อีกแบบที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการเน้นทำคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ความชอบความสนใจของกลุ่มเล็ก ๆ เรียกอีกอย่างว่าตอบสนอง Niche Market นั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนที่ชื่นชอบการทำเบเกอรี่ เราก็สามารถแตกหัวข้อคอนเทนต์ออกมาได้มากมาย เช่น
- สูตรการทำเบเกอรี่สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก
- สูตรการทำขนมแบบไม่ต้องใช้เตาอบ
- สูตรการทำขนมที่ Gluten Free
- สูตรการทำขนมที่ Lactose Free
ข้อดีคือเราจะแบ่งประเภทกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้นผ่านหลาย ๆ คอนเทนต์ที่มีจุดประสงค์และความสนใจของคนอ่านแตกต่างกันไปค่ะ เช่น ถ้าเราแชร์คอนเทนต์เกี่ยวกับสูตรการทำเบเกอรี่สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักใน Facebook เราก็สามารถดูได้ว่ามีใครมากด Like กด Share บ้าง จากนั้นเราจะสามารถเข้าไปศึกษาความชอบ ความสนใจ และทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นค่ะ
เมื่อเราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้นก็ถือเป็นโอกาสในการเพิ่มอยด Conversions และยอดขายให้กับธุรกิจของเราด้วยนะคะ
โดยยอด Conversions จะแบ่งได้เป็น 2 อย่างหลักคือ
- Micro-Conversions เช่น การที่กลุ่มเป้าหมายกด Sign Up ด้วย E-mail
- Macro-Conversions เช่น การที่กลุ่มเป้าหมายจ่ายเงินให้กับสินค้าบริการของเรา
4.ออกแบบคอนเทนต์แนว Personalized เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า
การทำคอนเทนต์แบบ Personalized เป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจในช่วงหลายปีมานี้ เพราะคอนเทนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความชอบของกลุ่มคนที่หลากหลายจะช่วยให้ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายรู้สึกประทับใจว่าทางแบรนด์ใส่ใจพวกเขาไม่น้อยเลย
จากนั้นถ้ากลุ่มเป้าหมายรู้สึกประทับใจพวกเขาก็มีโอกาสเปลี่ยนใจเลื่อนขั้นเป็นลูกค้าในไม่ช้าค่ะ นั่นหมายความว่า ยิ่งคอนเทนต์แบบ Personalized โดนใจลูกค้ามากเท่าไร แบรนด์ของเราก็ยิ่งแข่งขันกับแบรนด์อื่น ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น ในแง่ที่กลุ่มเป้าหมายก็จะกลายเป็นลูกค้า และลูกค้าที่เคยซื้อหนึ่งครั้งก็จะกลับมาซื้อใหม่ค่ะ
ลองมาดูตัวอย่างการทำคอนเทนต์แบบ Personalized กันนะคะ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการลิสต์คอนเทนต์แนะนำในช่วงท้ายของคอนเทนต์ใด ๆ ค่ะ เช่น ถ้าคุณ A เข้ามาในเว็บไซต์เพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีในประเทศจีน ในช่วงท้ายของบทความเราอาจจะใส่ลิสต์คอนเทนต์แนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีในประเทศอื่น ๆ ไว้ ตัวอย่างเทคโนโลยีในประเทศอเมริกา ตัวอย่างเทคโนโลยีในประเทศดูไบ เป็นต้นค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เราควรถามตัวเองเสมอก่อนจะผลิตคอนเทนต์ใด ๆ ออกไปก็คือ
- ลูกค้าในอุดมคติของเรา เป็นใคร
- ลูกค้าในอุดมคติของเรา ต้องการอะไร
- ลูกค้าในอุดมคติของเรา จำเป็นต้องใช้อะไร
- อะไรทำให้ลูกค้าในอุดมคติของเรา ตัดสินใจซื้อสินค้าบริการ
เมื่อตอบคำถามเหล่านี้แล้ว ในขั้นต่อไปให้เรา วิเคราะห์ว่าลูกค้าคนไหนอยู่ในเสตจใดของ Customer Life Cycle เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์จุดที่พวกเขาอยู่มากที่สุด ค่ะ
- Brand Awareness : กลุ่มเป้าหมายเริ่มรู้จักแบรนด์ของเรา
- Consideration : กลุ่มเป้าหมายเริ่มหาข้อมูลและพิจารณาว่าจะซื้อสินค้าบริการจากเราดีไหม
- Purchase : กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อสินค้าบริการของแบรนด์เรา
- Retention : กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจกลับมาซื้อซ้ำ
- Advocacy : กลุ่มเป้าหมายแนะนำบอกต่อสินค้าบริการของเราให้กับคนรอบข้าง
5.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Voice Search ให้เกิดประโยชน์
ในไทยอาจจะไม่มีการใช้เทคโนโลยี Voice Search มากเท่าไรนัก แต่ในต่างประเทศเทคโนโลยี Voice Search เป็นที่นิยมใช้กันมาก เห็นได้จากหลาย ๆ เทรนด์ เช่น การใช้งานระบบสั่งการด้วยเสียงของ Alexa ที่นิยมใช้กันในฝั่งอเมริกา
เพราะลูกค้าสามารถใช้ Alexa เพื่ออำนวยความสะดวกสบายได้หลายอย่างค่ะ เช่น ใช้สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ใช้แสดงกราฟตลาดหุ้น ใช้เปิดเพลง ใช้บอกสภาพอากาศ ใช้โทรหาบุคคลอื่น ใช้จองโรงแรม ใช้จองตั๋วชมภาพยนตร์ เป็นต้นค่ะ
เราจึงจะมาแนะนำว่าธุรกิจต่าง ๆ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Voice Search ได้อย่างไรบ้างค่ะ โดยขอยกตัวอย่างจากธุรกิจที่มีช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ก่อนนะคะ
โดยให้เราลอง เปลี่ยนเฮดไลน์ของคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เป็นภาษาพูดมากขึ้น เพราะตอนค้นหาด้วย Voice Search คนก็จะใช้ภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียนนะคะ
ตัวอย่างเช่น ถ้านาย A อยากหาไอเดียสำหรับการไปเดต นาย A อาจจะใช้ Voice Search แล้วถามว่า “มีไอเดียสำหรับเดตมั้ย” เราจึงควรตั้งชื่อเฮดไลน์ให้สัมพันธ์กับ Voice Search ด้วย เช่น “5 ไอเดียออกเดตสำหรับมือใหม่” เป็นต้นค่ะ
นอกจากนี้ การใส่ใจทำ Featured Snippet ให้เป็นระบบก็สำคัญนะคะ เพราะจะส่งผลต่ออันดับ SEO โดยตรงเลย แต่สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ Featured Snippet คือผลการค้นหาที่ปรากฏอยู่ตำแหน่งบนสุด (ตำแหน่งที่ 0) เมื่อมีคนค้นหาสิ่งที่ต้องการบน Google Search ค่ะ
ซึ่ง คอนเทนต์ของเราจะปรากฏในรูปแบบของ Featured Snippet ได้ก็ต่อเมื่อ
- เราวางโครงสร้างคอนเทนต์ในเว็บไซต์อย่างเป็นระบบ
- เราเลือกใช้คีย์เวิร์ดของหัวข้อย่อยในคอนเทนต์ได้ตรงกับคำที่คนส่วนใหญ่ค้นหา
- เราใส่เนื้อหาที่เป็นคำตอบของข้อสงสัยต่าง ๆ ได้อย่างกระชับ ชัดเจน
คลิกเพื่อดูรายละเอียดคอร์สเรียนเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ : https://stepstraining.co/digital-content-marketing
สำรองที่นั่งหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook: Inbox STEPS Academy
LINE OA: @STEPStraining https://lin.ee/jRRdsrN
โทร 065-494-6646 หรือ 02-096-4474