SME ต้องรู้! พื้นฐานทำแบรนด์ให้ติด Google สำหรับผู้ประกอบการ

SME ต้องรู้! พื้นฐานทำแบรนด์ให้ติด Google สำหรับผู้ประกอบการ

SEO นั้นย่อมาจาก Search Engine Optimization ซึ่งแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า การปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับผู้บริการให้การค้นหา เช่น Google โดยเดิมที ผู้ให้บริการด้านการค้นหานั้น มีหลากหลายเจ้า แต่เนื่องจากร้อยละ 90 ของผู้ใช้งานในประเทศไทยนั้นจะใช้ Google เป็นหลัก ดังนั้น เนื้อหาภายในบทความนี้ จะเน้นไปที่การปรับแต่งเว็บไซต์สำหรับ Google เป็นหลักเช่นกัน

ความสำคัญของการทำ SEO สำหรับธุรกิจ SMEs

 

หากพูดถึงลักษณะการทำการตลาดแบบ Inbound Marketing และ Outbound Marketing จะมีความแตกต่างกันดังนี้

การทำการตลาดแบบ Outbound Marketing แปลตรงตัวได้ว่า คือการทำการตลาดแบบผลัก ซึ่ง Social Media นั้น เป็นการทำ Outbound Marketing กล่าวคือ เจ้าของแบรนด์ทำการผลักแคมเปญหรือโฆษณาต่าง ๆ ไปยังผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ร้องขอ แต่เมื่อผู้บริโภคที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเห็นแคมเปญนั้น ๆ แล้ว ก็มีโอกาสที่จะสนใจในสินค้าหรือบริการของเจ้าของแบรนด์นั้น ๆ ได้

ส่วนการทำการตลาดแบบ Inbound Marketing คือการทำการตลาดแบบดึงดูด ซึ่งการทำ SEO บน Google นั้นเป็นการทำ Inbound Marketing กล่าวคือ ผู้บริโภค เป็นคนเข้าหาเจ้าของแบรนด์ โดยมีความสนใจเกี่ยวกับด้านนั้น ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภค ต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ พวกเขาจึงพิมพ์คำค้นหาบน Google และ Google ก็ได้แสดงผลการค้นหาหน้าแรกจำนวน 10 เว็บไซต์ และผู้บริโภคที่ค้นหาข้อมูลเหล่านั้น ก็ได้ทำการคลิกลิงค์ไปยังเว็บไซต์เพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ

จะเห็นได้ว่า หากธุรกิจโฟกัสที่ Social Media เพียงช่องทางเดียว ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสทางการค้าเป็นจำนวนมหาศาล เพราะในวัน ๆ หนึ่งนั้น มีผู้ใช้งานบน Google นับล้านครั้ง และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไม ในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs นั้น ควรให้ความสำคัญกับการทำ SEO สำหรับ Google

เพราะ Google นั้นจะแสดงผลการค้นหาบนหน้าแรกเพียง 10 เว็บไซต์เท่านั้น ซึ่งจากสถิติจะพบว่า มีผู้ค้นหาหรือผู้บริโภคจะทำการคลิกเข้าเว็บไซต์ 3 อันดับแรก เยอะที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90 เลยก็ว่าได้

 

แต่ประเด็นก็คือ เว็บไซต์บนโลกออนไลน์นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเกิดใหม่ขึ้นทุกวัน แต่ลำดับผลการค้นหามีพื้นที่เพียงเล็กน้อย

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ หลักการทำงานของ SEO บน Google เพื่อให้มีโอกาสติดอันดับผลการค้นหา เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้คนคลิกเข้ามายังเว็บไซต์มากที่สุด และเมื่อมีคนเข้าเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก นั่นก็หมายถึงว่า คุณก็มีโอกาสทางการค้าสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยการทำ SEO นี้ หาก Google ได้เลือกเว็บไซต์คุณให้อยู่อันดับที่ดีแล้ว มันจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย ดังนั้น หากท่านเจ้าของ SMEs ลองคิดเล่น ๆ ว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ SEO นั้น ส่งผลให้ มีคนเข้าเว็บไซต์ แบบไม่ต้องเสียค่าลงโฆษณา แต่มีคนเข้าเว็บไซต์นับแสน นับล้าน คนต่อเดือน มันก็จะส่งผลให้ ค่าทำการตลาดของคุณนั้นลดลงอย่างมหาศาล และนั่นหมายถึงกำไรที่สูงขึ้นนั่นเอง

 

เข้าใจหลักการทำงานของ Google Search Engine

หากเปรียบ Google เป็นห้องสมุด ที่มีผู้คนต้องการเข้ามาค้นหาข้อมูลต่าง ๆ และบรรณารักษณ์ที่คอยดูแลห้องสมุด ก็จะมีฐานข้อมูลเพื่อแนะนำหนังสือที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ใช้งานห้องสมุดมากที่สุดนั่นเอง

เพียงแต่ Google นั้น เป็นห้องสมุดโลก ซึ่งเว็บไซต์แต่ละแห่ง ก็เปรียบเป็นหนังสือแต่ละเล่ม โดย Google จะเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ทั่วโลก ซึ่งมีนับล้านล้านเว็บไซต์

จากนั้น เมื่อผู้คนพิมพ์คำค้นหาบนช่องค้นหาบน Google ทาง Google ก็จะแสดงผลการค้นหาที่คาดว่าน่าจะตรงกับความต้องการของผู้ค้นหามากที่สุด โดยมีการจัดลำดับผลการค้นหาบนหน้าแรกจำนวน 10 เว็บไซต์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด

 

ดังนั้น หลักการทำงานขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1. Crawling And indexing – หน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

Crawling ก็คือการที่ Search Engine รวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งหมดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์, วีดีโอ, รุปภาพ, หน้าเว็บไซต์, ข้อมูลต่าง ๆ โดยที่ข้อมูลบนโลกออนไลน์มันมีเยอะมาก ๆ ถึงมากที่สุด จึงต้องใช้หุ่นยนต์หรือ robot ช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อให้เกิดความรวดเร็วที่สุด โดยศัพท์ที่ใช้เรียก robot ก็คือ spider มันจะมีหน้าที่ไต่ไปตาม Links ต่าง ๆ ที่มีอยู่บนเว็บไซต์ แล้วเชื่อมโยง Links ทุก Links เท่าที่มันจะเข้าไปเก็บข้อมูลมารวบรวมได้

Indexing คือการนำข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจากทั่วทุกมุมโลกบนโลกออนไลน์นำมาจัดเรียงข้อมูลในฐานข้อมูล เพื่อเตรียมที่จะแสดงผล เมื่อมีคนค้นหาคำต่าง ๆ บน Search Engine

2. Providing Answers – มีหน้าที่แสดงผลการค้นหาต่อผู้ใช้งาน Search Engine

มันจะทำหน้าที่จับคู่และประมวลผล ระหว่าง คำที่ค้นหา(Keyword) กับข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมข้อมูล แล้วแสดงผลบน Search Engine โดยที่หลักการในการแสดงผลก็คือเกี่ยวข้องมากที่สุด และ สำคัญมากที่สุด นำมาแสดงผลต่อผู้ใช้งาน โดยที่ Search Engine ก็จะมีการหลักในการประมวลผลเพื่อจัดอันดับเว็บไซต์ที่ซับซ้อน โดยที่เป็นอีกเรื่องที่มีคนศึกษามากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าล่วงรู้วิธีการทำอันดับให้ได้อันดับต้น ๆ บน Search Engine แล้วล่ะก็ จะเกิดมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาล

ซึ่งแน่นอนครับว่า ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่อง ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้อันดับที่ดีบน Google แต่ Factor หรือปัจจัยบางอย่าง ที่ค่อนข้างตายตัว เมื่อทำแล้ว อันดับมักจะดีบนผลการค้นหา ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน ซึ่งเราจะมาศึกษาว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เว็บไซต์อยู่อันดับต้น ๆ บนผลการค้นหาบน Google นั่นเอง

 

เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน Search Engine

แน่นอนว่า หากไม่มีผู้ใช้งานผู้ให้บริการการค้นหา ก็คงไม่เกิด Search Engine ขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะ Search Engine นั้น ก็เรียนรู้และพัฒนาผลการค้นหาโดยศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานแต่ละคนด้วยเช่นกัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้งาน Google มักจะใช้ผ่านช่องทางของ Google Chrome และ Gmail เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น ทุก ๆ ครั้งที่มีคนพิมพ์คำค้นหาบน Google ทาง Google เองก็จะเก็บข้อมูลแทบทุกเม็ดทุกหน่วยเลยก็ว่าได้

และจากคำแนะนำของหัวหน้าวิศวกรของ Google นั้น ก็มีคำแนะนำที่น่าสนใจว่า เจ้าของเว็บไซต์ ควรสร้าง Content หรือเนื้อหา เพื่อผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นอันดับแรก ไม่ใช่สร้าง Content เพื่อ Google
เพราะหากเว็บไซต์ไม่มีข้อมูลที่ดี และ Google ไม่สามารถแสดงผลการค้นหาได้ดีพอ ก็จะไม่มีผู้ใช้งาน Search Engine ในที่ท้ายที่สุด

โดยลักษณะการค้นหาอาจแบ่งเป็น 3 ประเภทได้ดังนี้

1. ค้นหาเพื่อต้องการทำธุรกรรม – เช่นการซื้อของออนไลน์, การฟังเพลง เป็นต้น
2. ค้นหาเพื่อต้องการที่จะรู้ – เป็นการค้นหาข้อมูล หรือข้อสงสัยต่าง ๆ เช่น ราคาทองคำวันนี้, สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำในกรุงเทพ เป็นต้น
3. ค้นหาเพื่อไปยังเว็บไซต์ – เช่น facebook, sanook.com, kapook.com หรือ pantip.com เป็นต้น

 

พฤติกรรมทั่วไปของผู้ใช้การค้นหาบน Google

1. ผู้คนเกิดความต้องการรู้คำตอบหรือข้อมูลบางอย่าง หรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่
2. จากนั้นผู้คนจะเกิดคำถามอยู่ในหัวว่า ควรจะใช้คำอะไรในการค้นหาหรือสอบถาม Google โดยจะเรียกคำค้นหานั้นว่า Keyword
3. ผู้คนป้อนคำค้นหาลงในช่องค้นหาบน Google
4. จากนั้น Google จะทำหน้าที่แสดงผลการค้นหาที่สำคัญและตรงกับ Keyword มากที่สุด
5. โดยผู้ค้นหาจะทำการคลิก Link ของเว็บไซต์ที่ Google แสดงผลขึ้นมา
6. จากนั้นผู้ค้นหาจะอ่านเนื้อหาภายในหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาของตนเอง หากมีประโยชน์ และถูกใจผู้ค้นหา จะเกิดการแชร์ต่อหรือ bookmark เอาไว้กลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ในภายหลัง
7. แต่ถ้าเนื้อหาไม่ตรงตามความต้องการ ก็จะย้อนกลับไปดูผลการค้นหาของเว็บไซต์อื่น ๆ ต่อไป
8. หรือถ้ายังไม่พบ ผู้ค้นหาจะปรับเปลี่ยนคำค้นหาใหม่ ให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น หรือใช้คำที่ใกล้เคียงกันค้นหาใหม่

 

เข้าใจพื้นฐานการปรับแต่งเว็บไซต์ให้เป็นมิตรกับ Google

Indexable Content – การเก็บข้อมูลเนื้อหาภายในเว็บไซต์

Robot (spider) ของ Google มักมองเห็นเว็บไซต์เป็นตัวอักษรและเก็บข้อมูลเป็นตัวอักษร เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับ Google ควรจะกำกับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตัวอักษรให้ Google เข้าใจได้ง่ายขึ้น

1.ไฟล์ประเภทรูปภาพ นามสกุล gif, jpg หรือ png

จะมีส่วนที่เรียกว่า alt attributes (alt = alternative) เป็นส่วนที่เราสามารถกรอกใส่รูปภาพเพื่อให้ Google เข้าใจความหมายของรูปภาพได้ โดยที่หากเว็บไซต์ของท่านเป็น WordPress ก็มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกไว้อยู่แล้ว หรือถ้าเขียนในรูปของภาษา HTML จะได้ว่า alt=”
คำ อธิบายรูปภาพ”

จากรูป จะมีอยู่ด้วยกันถึง 3 ส่วน ที่เว็บไซต์ ต้องการสื่อสารกับ Google ว่า ภาพนี้คือ Jack Ma
ส่วนของ URL : ก่อนการอัพโหลดรูปภาพ ก็จะมีการตั้งชื่อรูปด้วยคำว่า Jack-Ma1.jpg
ส่วนของ Title : เป็นการตั้งชื่อรูปภาพ โดยใช้คำว่า “แจ๊ค หม่า”
ส่วนของ Alt Text : เป็นการสื่อสารโดยตรงระดับโค้ด HTML กับ Google ว่า ภาพนี้คือ “Jack Ma”

 

 

2. ไฟล์ประเภท Video และ Audio

ควรมีการถอดเทปให้เป็นตัวอักษร เพื่อเป็นคำอธิบายวีดีโอ สาเหตุที่ต้องอธิบาย Google ด้วยตัวหนังสือ ก็เป็นเพราะว่า เวลาที่ Google นำข้อมูลไปแสดงบน
ผลการค้นหา จะได้มีข้อมูลแสดงต่อผู้ค้นหา เพราะเวลาที่ Google แสดงผลการค้นหานั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวหนังสือ หรือในบางครั้งเป็นวีดีโอ แต่ก็ต้องมีคำอธิบายกำกับมาด้วยว่าเป็นวีดีโอเกี่ยวข้องกับเรื่องใด ตัวอย่างเช่น รายการ “Whiteboard Friday บรรยายโดย CEO ของ moz.com” – https://moz.com/blog/launching-new-website-seo-checklist-whiteboard-friday
วิธีการปรับแต่ง On-Page Optimization หรือการปรับแต่ง SEO ภายในเว็บไซต์

จากการศึกษาพบว่า การปรับแต่งเพื่อให้ได้อันดับที่ดีบน Google นั้น มีด้วยกันกว่า 200 ปัจจัย และหลาย ๆ ปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่บางครั้งเราไม่สามารถควบคุมได้

ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้และเริ่มต้นทำได้ทันทีก็คือ การปรับแต่ง SEO ภายในเว็บไซต์ของเราให้สอดคล้องกับ Google นั่นเอง

จากรูป คือการปรับแต่งภายใน Content หรือเนื้อหาบทความที่อยู่ในแต่ละหน้าเพจของเว็บไซต์ ที่เลือกที่จะทำอันดับบน Google ด้วย Keyword คำว่า “Chocolate Donuts”

โดยจะมีการปรับแต่งในเนื้อหา เพื่อให้ Google เข้าใจว่าหน้าเว็บไซต์หน้านี้ ต้องการสื่อสารกับผู้ค้นหาด้วยคำว่า “Chocolate Donuts” โดยมีการปรับแต่งส่วนต่าง ๆ โดยให้มีคำว่า “Chocolate Donuts” ดังนี้

  • Title – ชื่อบทความ เป็นส่วนแรกและส่วนสำคัญมากที่จะสื่อให้ Google และผู้ค้นหารู้ได้ทันทีว่า บทความนี้เกี่ยวกับเรื่องใด และตรงกับความต้องการของผู้ค้นหาหรือไม่ การเขียน Title ที่ดีจะมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจคลิก Link จากหน้าแสดงผลการค้นหาบน Google แม้ว่าเว็บไซต์จะไม่ได้อันดับหนึ่งก็ตาม แต่ถ้าเขียนได้โดนใจผู้ค้นหาล่ะก็ มีโอกาสที่ผู้ค้นหาจะเข้ามาเยี่ยมชมได้ดีขึ้นได้
  • Meta Description – แม้ว่าจะไม่มีผลโดยตรงต่อ Google แต่มีผลอย่างมากต่อผู้ค้นหา ถ้าเขียนรายละเอียดอย่างย่อเกี่ยวกับเนื้อหาบทความในหน้านั้น ๆ ได้ดี ก็มีสิทธิที่จะทำให้ผู้ค้นหา Click เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์สูงขึ้นด้วย
  • Meta Keyword – เป็นการบ่งบอกกับ Google ว่าในหน้าเว็บเพจนั้นๆ ต้องการที่จะทำอันดับด้วย Keyword ใดบ้าง
  • URL – สั้น กระชับ ได้ใจความ ยิ่งดี เพราะง่ายต่อการแชร์ หรือการทำ link กลับมายังบทความ
  • Domain name – ไม่แนะนำให้ใช้เครื่อง Hyphens (-) ในการจดโดเมน แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ในหลาย ๆ ครั้งที่โดเมนแบบมี Hyphens ก็ทำอันดับได้เหมือนกัน
  • Heading & Sub-Heading – หัวข้อย่อยต่าง ๆ ควรมี Keyword หรือ คำใกล้เคียง Keyword อยู่ด้วย
  • Image – เกี่ยวกับรูปภาพ ตั้งแต่ชื่อไฟล์, Alt Attribute, Title ของรูปภาพควรมี Keyword อยู่เสมอ
  • Bold/Strong – การเน้นตัวหนาในส่วนสำคัญของบทความที่มี Keyword อยู่ด้วย
  • Internal Link – การสร้าง Link เชื่อมโยงบทความที่เกี่ยวข้องภายในเว็บไซต์ของเราเอง และในทางที่ดีควรทำ Link เป็นตัวหนังสือ (anchor text link)
  • Navigation – การทำเมนูหรือแผนที่นำทางไปยังบทความต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บข้อมูลของ Google และผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ Navigation ควรมีด้านบนสุดบริเวณเมนู, sidebar/widgets(ด้านข้าง) และ Footer(ด้านล่างสุดของเว็บไซต์)
  • Content – เนื้อหาบทความต้อง Unique ไม่ซ้ำใคร และควรแบ่งบทความให้เป็นย่อหน้าหรือหัวข้อย่อยที่อ่านได้ง่าย
  • Share Button – ปุ่มแชร์บทความไปยัง Social Media ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้อ่านและทำให้เกิด Link ที่ดีอีกด้วย
  • Multi-Device – หน้าเว็บไซต์จะต้องปรับแต่งให้สามารถรองรับได้ในทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์, มือถือ, แท็ปเลต หรืิอุปกรณ์ mobile ต่าง ๆ

 

แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ในการสร้างเว็บไซต์ อย่าลืมว่าให้สร้างเพื่อประโยชน์ของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถึงแม้เว็บไซต์จะเป็นมิตรกับ Google มากแค่ไหนก็ตามที แต่ถ้าคนไม่ชอบ ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน เพราะ Google ก็เป็นเพียงหุ่นยนต์นั่นเอง

Image Credit: https://dc8hdnsmzapvm.cloudfront.net/rand/wp-content/uploads/2013/08/perfectly-optimized-page3.gif

 

ดังนั้น หากธุรกิจของท่านมีการทำ Content Marketing หรือการทำการตลาดด้วยเนื้อหาอยู่แล้ว ก็ควรปรับแต่งให้สอดคล้องกับหลัก SEO เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจจาก Google ที่มีผู้คนใช้งานอย่างมหาศาล

 

Resources

  • https://www.contentshifu.com/fundamental/inbound-marketing-vs-outbound-marketing/
  • https://dc8hdnsmzapvm.cloudfront.net/rand/wp-content/uploads/2013/08/perfectly-optimized-page3.gif
  • http://static.googleusercontent.com/media/www.google.com/th//webmasters/docs/search-engine-optimization-starter-guide.pdf
  • https://moz.com/beginners-guide-to-seo
  • https://moz.com/blog/visual-guide-to-keyword-targeting-onpage-optimization
  • https://mytasker.com/blog/google-ranking-factors/

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

5 ข้อผิดพลาดที่เจ้าของกิจการมองข้ามเมื่อเริ่มทำตลาดออนไลน์
3 ขั้นตอนการสร้างกลยุทธ์การตลาดออนไลน์สำหรับ SME ให้รวยอย่างยั่งยืน