Meta Skill ทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องมี เพื่อโอกาสในอาชีพที่ดีกว่าเดิม 

meta-skill-new-gen-must-have

อย่างที่ทราบกันดี ว่าในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราเคยรู้ เคยพบเจอ เคยคุ้นชินในอดีต วิถีชีวิตของเราถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก ในอนาคต หลายธุรกิจกำลังค่อยๆล้มหายตายจากไป และหลายธุรกิจอาจจะถือกำเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมไปถึงการว่างงานของมนุษย์ที่จะเพิ่มมากขึ้น จากการถูกแทนที่โดย AI และกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นคนรุ่นใหม่ ที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วย

แล้วเหล่าคนรุ่นใหม่ ต้องรับมืออย่างไร

จึงจะมีโอกาสในอาชีพที่ดีกว่าเดิมได้ในอนาคต?

ในยุคต่อๆไปที่กำลังจะมาถึง การมีทักษะความรู้เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแล้ว เราจำเป็นจะต้องมีทักษะ การเรียนรู้ใหม่ และ Mind set ที่ดี เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย หรือที่เราเรียกว่า “Meta Skill”

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า “Meta Skill” คืออะไร แตกต่างจาก “Hard Skill” และ “Soft Skill” อย่างไร? ดังนั้นเราจะพาไปทำความเข้าใจกับ 3 ทักษะนี้กันก่อนค่ะ

  • Hard Skill คือ ทักษะเชิง “เทคนิคความรู้” เป็นทักษะความสามารถด้านอาชีพ หรือความชำนาญ ในการทำงานด้านนั้นๆ แม้จะเป็นทักษะเฉพาะ แต่ก็อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นทักษะนี้ก็จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่ออัปเดตให้ทันการเปลี่ยนแปลงในด้านนั้นๆ
  • Soft Skill  คือ ทักษะด้าน “สังคม” เป็นทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม, การโน้มน้าวใจ, บุคลิก เป็นต้น ซึ่งทักษะนี้จำเป็นมากขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นทักษะที่ทำให้เราแตกต่างจาก AI ได้
  • Meta Skill เป็นทักษะใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset หรือพร้อมที่จะเติบโต กระตือรือร้นในการเรียนรู้ สนุกกับการแก้ปัญหา และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทาย เพื่อพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จากที่ได้กล่าวไป เชื่อว่าหลายคนอาจจะมี Hard Skill และ Soft Skill กันในตัวเองบ้างแล้ว แต่ยังขาดทักษะสำคัญอย่าง Meta Skill ที่จะช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงใดๆที่จะเกิดขึ้น วันนี้เราจึงพาไปเรียนรู้เกี่ยวกับ  Meta Skill นี้กัน ว่ามีอะไรบ้าง และเราจะพัฒนาทักษะนี้อย่างไร ไปติดตามกันได้เลยค่ะ

3 Meta Skill สำคัญที่ควรมีคือ…

  1. Self-Awareness : รู้จักและเข้าใจ ทั้งตัวเองและความเป็นจริง
  2. Creativity  : สร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่พัฒนาไอเดียใหม่ๆ แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีให้ดีขึ้น และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้
  3. Resilience : ยืดหยุ่น สามารถลุกขึ้นมาได้ เมื่อใดก็ตามที่เจอกับความล้มเหลว 

1. Self-Awareness : รู้จักตนเอง

meta-skill-new-gen-must-have

“การรู้จักตนเองเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญญา” ― อริสโตเติล

การรู้จักตนเองในที่นี้หมายถึง…

Know Oneself – “รับรู้สิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆ”

ในที่นี้พูดถึง “สิ่งที่เราเป็น” ไม่ใช่ “สิ่งที่เราอยากให้เป็น” หลายคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล มักจะไหลไปตามสังคมโดยไม่รู้ตัว จึงคิดไปเองว่าเราเป็นแบบนั้น แบบนี้ โดยไม่ได้กลับมาพิจารณาที่ตัวเองว่าจริงๆแล้ว ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เก่งอะไร ไม่เก่งอะไร รวมถึงภาวะทางอารมณ์ และมุมมองความคิดของตัวเราเองด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเข้าใจนิสัยตัวเองว่า “เป็นคนใจร้อน โมโหง่าย” ทำให้มีปัญหากับคนรอบข้างเสมอ เมื่อเรารู้จักตัวเอง จะสามารถเตือนเวลาที่เป็นแบบนั้นได้ หรือหาวิธีการดีๆฝึกฝนให้เป็นคนที่ใจเย็นขึ้น เราก็จะมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความสุขมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการทำงานในอนาคตโดยตรงด้วย เพราะคงไม่มีใครอยากรับคนใจร้อนมากๆ มาทำงานร่วมกันใช่ไหมล่ะคะ

อย่างไรก็ตามการพิจารณาตัวเอง จากความนึกคิดของเราเพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องรับฟังมุมมองของคนรอบข้างต่อสิ่งที่เราเป็นด้วยประกอบกันค่ะ

 

Accepting Reality  – “ยอมรับความเป็นจริง”

การรู้จักตนเองอย่างแท้จริงจะช่วยให้เรายอมรับสิ่งที่เป็น มองเห็นความความอ่อนแอของตัวเอง และสามารถเปลี่ยนจุดบอดของเรา ให้กลายเป็นจุดแข็งที่ดีขึ้นได้ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เราเป็น หลอกตัวเอง เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหา และพัฒนาให้เราก้าวไปข้างหน้าให้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนที่เก่งด้านเทคนิคมาก แต่อ่อนประสบการณ์ด้านการสื่อสาร หรือการนำเสนอที่ดี ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง และบอกกับตัวเองว่า “นำเสนอแบบนี้ก็โอเคนะ ไม่ต้องดีมากหรอก แค่เทคนิคที่เรามีก็ดีกว่าใครแล้ว” แน่นอนว่าความคิดนี้ ปิดกั้นการพัฒนาเราไปเรียบร้อย แทนที่เราจะสามารถเติบโตในสายงานมากขึ้นจากทักษะใหม่ๆ เรากลับย่ำอยู่ที่เดิม เพราะทัศนะคติต่อการยอมรับความจริงที่ไม่ดีเหล่านี้เองค่ะ

 

Be More Empathetic  – “เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่คนรอบข้าง”

บางคนอาจจะงง ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร จริงๆแล้วการรู้จักตัวเองเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบตัวโดยตรง เพราะใครก็ตามที่เข้าใจตัวเอง มักจะเข้าใจในความแตกต่าง จึงเห็นอกเห็นใจต่อคนรอบข้างตามไปด้วย 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเข้าใจความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง และรู้ว่าบางครั้งก็ผิดพลาดได้ เราก็จะเข้าใจความไม่สมบูรณ์แบบของคนรอบข้างด้วย จึงเห็นอกเห็นใจและไม่ซ้ำเติมในความผิดพลาดของคนอื่น 

นอกจากนี้ คนที่รู้จักตัวเองดีจะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และเข้ากับสังคมได้ดี ส่งผลต่อการทำงานร่วมกับคนอื่นในองค์กรได้ดีตามไปด้วยนั่นเองค่ะ

 

การรู้จักตนเอง ส่งผลต่อการพัฒนา และโอกาสในอนาคตอย่างไร?

การรู้จักตนเอง เปรียบเหมือนการมีแผนที่ชีวิตที่ถูกต้อง ยิ่งเรารู้จักตนเองมากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถนำพาตัวเราไปอยู่ในจุดที่ถูก เส้นทางที่ใช่ ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เราจะพัฒนาได้แบบก้าวกระโดดกว่าคนอื่น ลองนึกภาพง่ายๆ ถ้าในอดีต Steve Jobs ไม่รู้จักตนเองดีพอ หันเหตัวเองไปเป็นนักดนตรีแบบ The Beatles ที่ใครๆก็ชื่นชอบ Steve Jobs คงไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างที่ควรจะเป็นใช่ไหมล่ะคะ

นอกเหนือจากนี้ การเข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเอง ยังช่วยให้เราแก้ปัญหาในชีวิตได้เร็วมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น คนสองคนเจอปัญหาแบบเดียวกัน คนหนึ่งซับซ้อน ไม่เข้าใจว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร หรือจะจัดการกับความรู้สึกล้มเหลวอย่างไร ตรงกันข้ามกับอีกคนหนึ่งที่รู้จักตนเอง รู้จุดแข็งที่จะสามารถนำมาปรับ และพัฒนาต่อ รวมถึงจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้เร็ว แน่นอนว่าคนนี้จะสามารถแก้ปัญหา และก้าวไปข้างหน้าได้ดีกว่าค่ะ

 

2. Creativity : สร้างสรรค์

meta-skill-new-gen-must-have

“เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ด้วยความคิดแบบเดิมๆ” ―  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

การสร้างสรรค์ในที่นี้ ไม่ได้เพียงแค่คิดอะไรใหม่ๆ หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึง….

Improvisation – “มีไหวพริบ”

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงมักจะมาพร้อมกับสิ่งที่คาดไม่ถึงเสมอ การมีไหวพริบปฏิภาณ คือความสามารถในการคิดปรับเปลี่ยน ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่คาดคิดได้ สามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆที่ควรมี

ตัวอย่างสถานการณ์ของคนที่มีไหวพริบปฏิภาณเช่น สถานีอวกาศเจอสถานการณ์ไม่คาดคิด แรงดันอากาศลดลงผิดปกติจาการรั่วไหล นักบินที่มีไหวพริบเห็นรอยรั่วที่เป็นปัญหา จึงใช้นิ้วมืออุดรอยรั่วนั้นไว้ในทันที ก่อนที่จะเรียกลูกเรือคนอื่นๆจะมาซ่อมแซมต่อ ถ้าเป็นคนที่ไม่มีไหวพริบอาจจะรอเรียกผู้เชี่ยวชาญมาก่อน ซึ่งนั่นอาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที ตัวอย่างนี้แสดงถึงความสำคัญของปฏิภาณไหวพริบ คนที่มีทักษะนี้จะสามารถหาทางแก้ปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้อย่างรวดเร็ว

 

Problem-Solving – “แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้” 

ข้อนี้แตกต่างจากการมีไหวพริบตรงที่ สามารถแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องอาศัยความคิดในมุมมองที่กว้างขึ้น ต่างจากไหวพริบปฏิภาณ ที่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันท่วงทีก่อน ซึ่งปัญหาอาจจะไม่ได้มีความซับซ้อนเท่า

ตัวอย่างเช่น องค์กรหนึ่งเกิดปัญหาทางเทคนิคด้านโปรแกรมขึ้นในบริษัท เป็นปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ผู้ที่มีทักษะในข้อนี้จะสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เกิด และหาทางแก้ปัญหาจากแนวทางใหม่ที่ต่างไปจากเดิม หรือสามารถขยายขอบเขตของความคิดออกไปจากแนวทางเดิมๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนี้ได้ค่ะ

 

Innovation – “สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่”

ข้อสุดท้ายนี้ตรงตัวกับหลักของความคิดสร้างสรรค์ คือมีความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมี ออกนอกกรอบจากที่เคยเป็น และลงมือทำออกมาให้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆได้ 

 

ทักษะการสร้างสรรค์ ส่งผลต่อการพัฒนา และโอกาสในอนาคตอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปว่า ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เพียงการคิดค้นสิ่งใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องคิดกว้าง คิดต่างและคิดได้เร็วด้วย ซึ่งข้อนี้จะสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในอนาคตที่ AI กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะความสร้างสรรค์นี่ล่ะ ที่จะทำให้เราแตกต่างจากหุ่นยนต์ที่มักจะถูกใช้กับงานที่ทำซ้ำๆ 

ตัวอย่างเช่น ในอนาคต AI จะสามารถเข้าแทนอาชีพที่ทำซ้ำๆ ตายตัว อย่างพนักงานเสิร์ฟอาหารได้ แต่จะไม่สามารถเข้ามาแทนคนที่ดูแลหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นคนสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา และพัฒนาหุ่นยนต์นี้ได้ นั่นเพราะส่วนนี้อาศัยความคิดที่สร้างสรรค์ และมุมมองความคิดที่กว้างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์นั้นทำไม่ได้

ดังนั้นถ้าเราสามารถสร้างสมดุลของความสร้างสรรค์ทั้งหมดนี้ เราจะเป็นทั้งคนที่มีความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่และแก้ไขปัญหาได้ดี แน่นอนว่าบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดีแบบนี้จะเป็นที่ต้องการในตลาด ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนก็ตามแน่นอนค่ะ

 

3. Resilience : ยืดหยุ่นทางความคิด

meta-skill-new-gen-must-have

ความยืดหยุ่นในที่นี้ หมายถึงทักษะทางความคิดต่อการเอาชนะความล้มเหลว คนที่มีความยืดหยุ่นทางความคิดที่ดี จะสามารถยอมรับในความผิดพลาด ไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ที่ผ่านไปแล้ว ทำให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้มากและรวดเร็วกว่าคนอื่นๆ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนที่สุดก็คือ โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ที่เลื่องชื่อในเรื่องของการไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว อย่างที่รู้กันว่า กว่าจะได้ออกมาเป็นหลอดไฟที่เราใช้กันทุกวันนี้ เขาต้องทดลองผิดพลาดมาแล้วหลายร้อยครั้ง ซึ่งถ้าในวันนั้นเขาจมปลักกับความผิดพลาดไม่กี่ครั้ง เขาก็คงไม่สามารถสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาลนี้ขึ้นมาได้ ความยืดหยุ่นทางความคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การที่เราจะมีความยืดหยุ่นทางความคิดได้นั้นเราจะต้อง…

  • ลองผิดลองถูก            : เมื่อเราลองผิดลองถูก เราจะเริ่มเจอกับผลลัพธ์ทั้งที่ดี และไม่ดี
  • เอาชนะความล้มเหลว : เมื่อเราเจอผลลัพธ์ที่ไม่เป็นดังใจ อย่าจมปลัก ให้ก้าวข้ามความผิดพลาดนั้นไปให้ได้
  • เรียนรู้                        : นำความผิดพลาดเหล่านั้น มาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีให้กับเรา เพื่อหาหนทางพัฒนาต่อไป ไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดิม

“ทุกคนบนโลกนี้ล้มได้ เหมือนกัน แต่ลุกขึ้นมาได้เร็วหรือช้า ต่างกัน

 

สรุป

Meta Skill คือการสร้าง Mind set หรือทัศนะคติที่ดี พร้อมที่จะพัฒนา เรียนรู้ แก้ปัญหา สิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย ซึ่งบุคคลที่มีทักษะหรือทัศนะคติแบบนี้ มักจะรู้จักตัวเอง (Self Awareness) เป็นอย่างดี จึงมีความพร้อมที่จะพัฒนา มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการทำสิ่งใหม่ๆ รวมทั้งมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด สุดท้ายมีความยืดหยุ่นทางความคิด (Resilience) ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร ก็จะไม่จมปลัก แต่จะเรียนรู้และพัฒนาไปข้างให้ดีขึ้นเสมอ ใครก็ตามที่มีแนวความคิด และทักษะนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน สมัยใด สายงานใด ก็มีโอกาสเติบโต และเป็นที่ต้องการในตลาดได้อย่างแน่นอนค่ะ

 

ที่มา

https://liberationist.org/the-metaskills-you-need-to-thrive-in-the-21st-century/

https://www.careeraddict.com/make-yourself-more-valuable-develop-your-meta-skills

https://medium.com/a-visual-leader/what-are-the-competencies-needed-in-these-digital-times-2e274b26b491

https://thestandard.co/champ-engineering/

https://www.skillsdevelopmentscotland.co.uk/media/44684/skills-40_a-skills-model.pdf

https://www.brandbuffet.in.th/2019/08/rawit-how-to-restruct-organization-in-the-world-of-change/

https://positivepsychology.com/self-awareness-matters-how-you-can-be-more-self-aware/

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

9 วิธีคิดเพื่อพัฒนาตนเองในการสร้างสรรค์ Content [Infographic]
Virtual Reality สร้างประสบการณ์เสมือนจริงผ่านการตลาดยุคใหม่