5 เช็กลิสต์เพื่อพัฒนาเทคนิค SEO ให้กับธุรกิจของคุณ 

5 เช็กลิสต์พัฒนาเทคนิค on page seo และ off page seo

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคนี้ธุรกิจต่าง ๆ พากันแย่งพื้นที่บนหน้าแรกของ Google เราจึงควรลับคมกลยุทธ์เพื่อให้เว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกของ Google ได้เช่นกัน เพราะในโลกที่มีการแข่งขันสูง เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากกว่าย่อมมีโอกาสสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีกว่าด้วยค่ะ

ทาง STEPS Academy จึงขอนำเสนอแนวทางที่จะช่วยพัฒนาให้เว็บไซต์ของหลาย ๆ คนอยู่ในอันดับดีขึ้นบน Google ผ่านสองเทคนิคที่เรียกว่า On-Page SEO และ Off-Page SEO 

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับทั้งสองคำนี้ On-Page SEO คือการทำ SEO โดยเน้นพัฒนา ‘คอนเทนต์’ บนเว็บไซต์ เพื่อให้คอนเทนต์อยู่ในอันดับสูงขึ้น ในทางกลับกัน ฝั่งของ Off-Page SEO จะเน้นการนำปัจจัยภายนอกมาใช้ เพื่อให้ ‘เว็บไซต์’ ของเราดูน่าเชื่อถือค่ะ 

ส่วนรายละเอียดของการพัฒนาทั้ง On-Page SEO และ Off-Page SEO จะเป็นอย่างไร ลองตามไปดูกันเลยค่ะ โดยเราขอเริ่มเล่าจาก On-Page SEO ก่อนนะคะ

เช็กลิสต์สำหรับการพัฒนา On-Page SEO 

1.ทำความเข้าใจ Search Intent (จุดประสงค์ในการเสิร์จ) ของกลุ่มเป้าหมายแต่ละรูปแบบ

ถ้าอยากให้เว็บไซต์ติดอันดับดี ๆ บนหน้า Google สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการทำคอนเทนต์คุณภาพเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้เวลาบนหน้าเว็บไซต์มากและนานขึ้น ซึ่งเราจะทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผู้อ่านได้ต่อเมื่อเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายแต่ละแบบเสิร์จหาสิ่งต่าง ๆ บน Google ด้วยจุดประสงค์อะไรค่ะ

เราขอเรียกจุดประสงค์ของการเสิร์จว่า Search Intent ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ นะคะ

4 ประเภทของ search intent
  • การเสิร์จเพื่อหาข้อมูล (Informational) มาตอบคำถามหรือข้อสงสัยบางอย่าง เช่น ในไทยมี 7-11 กี่สาขา, วิธีทำเค้กกล้วยหอม, ยี่ห้อรถยุโรป
  • การเสิร์จเพื่อตัดสินใจซื้อ (Commercial) โดยดูรีวิวหรือดูคอนเทนต์เปรียบเทียบสินค้าบริการจากแหล่งต่าง ๆ เช่น รีวิวร้านอาหารทะเลในกรุงเทพ, เปรียบเทียบดีไซน์กระเป๋าแบรนด์เนม
  • การเสิร์จเพื่อสั่งซื้อ (Transactional) เมื่อผู้เสิร์จพร้อมจ่ายเงินผ่านการกระทำต่าง ๆ เช่น เสิร์จว่าสั่งเสื้อผ้ามือสองมาขาย, เสิร์จหาเบอร์โทรร้านนวดแผนไทยที่กำลังจะไป
  • การเสิร์จเพื่อเข้าเว็บไซต์ (Navigational) โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ URL ของเว็บให้ยืดยาว เช่น เสิร์จว่า Facebook เพื่อ Log In เข้า Facebook ค่ะ

หลายคนอาจสงสัยว่าถ้ารู้จุดประสงค์ 4 อย่างนี้แล้วมีข้อดีอะไร คำตอบคือเราจะสามารถวางแผนคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ด้าน SEO ได้มากขึ้นค่ะ 

หากอธิบายให้เห็นภาพคือเราจะแบ่งเนื้อหาได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม และเราจะดูได้ว่าเว็บไซต์ที่ติดหน้าแรกของ Google ในหัวข้อประเภทต่าง ๆ มีแนวทางการทำคอนเทนต์อย่างไร เพื่อนำไอเดียเหล่านั้นมาต่อยอดกับเว็บไซต์ของตัวเอง

ซึ่งการวิเคราะห์แนวทางการทำคอนเทนต์ที่ว่านั้นดูได้จากหลายอย่าง สมมติว่าเราทำธุรกิจอาหารคลีน แล้วอยากรู้ว่าคอนเทนต์แนวไหนมักได้ผลตอบรับดีด้าน SEO ให้เราพิมพ์คำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารคลีนลงไปในช่องค้นหา เพื่อดูว่า

  • คอนเทนต์ที่ติดหน้าแรกของ Google มักมีพาดหัวเป็นแบบไหน 
  • คอนเทนต์เหล่านั้นมักอยู่ในรูปแบบของ บทความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอมากกว่า

อย่างถ้าคอนเทนต์ที่ติดอันดับส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบรีวิว เราก็อาจจะลองทำคอนเทนต์รีวิวเมนูอาหารภายในร้านของตัวเอง 

นอกจากนี้ เรายังสามารถดูตรง People also ask หรือ Related Searches เพื่อนำคำถามส่วนนี้ไปต่อยอดเป็นคอนเทนต์ เนื่องจาก Google คัดสรรมาแล้วว่าคนส่วนใหญ่มักเสิร์จหาอะไรต่อค่ะ

2.ใช้ Long-Tail Keyword (คีย์เวิร์ดที่ยาวและมีความเฉพาะเจาะจง)

การใช้ Long-Tail Keyword หรือคีย์เวิร์ดขนาดยาวมีข้อดีคือคีย์เวิร์ดแบบนี้จะช่วยสร้างยอดขายได้ง่ายกว่า เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เสิร์จหาสิ่งที่สนใจหรือต้องการอย่างละเอียดมีแนวโน้มว่าจะตัดสินใจซื้อมากกว่านั่นเอง 

อีกหนึ่งข้อดีของ Long-Tail Keyword คือถ้าเราอยากซื้อโฆษณาบน Google เราจะสามารถจ่ายค่า Cost Per Click ต่ำกว่าคีย์เวิร์ดสั้น ๆ เพราะ Long-Tail Keyword มีคู่แข่งน้อย การแข่งขันไม่สูงค่ะ

ตัวอย่างการใช้ long tail keyword
รูปจาก SEMRUSH

สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่า Long-Tail Keyword มีหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะลองยกตัวอย่างให้ฟัง โดยคำค้นหาฝั่งซ้ายจะเป็น Short-Tail Keyword ส่วนคำค้นหาฝั่งขวาจะเป็น Long-Tail Keyword ค่ะ ตัวอย่างเช่น

  • สอนเต้น VS โรงเรียนสอนเต้นเด็กอนุบาล
  • โน้ตบุ๊ก VS โน้ตบุ๊กนักศึกษา 
  • รองเท้า VS รองเท้าเดินป่า 

ซึ่งถ้านึกไม่ออกว่าจะใช้ Long-Tail Keyword อะไร ให้เราลองพิมพ์คีย์เวิร์ดสั้น ๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้นในช่องการค้นหา แล้ว Google จะแนะนำเองว่ามีคนเสิร์จอะไรต่ออีก เช่น ถ้าอยากทำคอนเทนต์เกี่ยวกับชานมไข่มุก แต่นึกไม่ออกว่าจะใช้คีย์เวิร์ดอะไร ให้พิมพ์คำว่าชานมไข่มุกในช่องการค้นหา ทาง Google อาจจะแนะนำ Long-Tail Keyword ว่าวัตถุดิบชานมไข่มุก, แฟรนไชส์ชานมไข่มุก, ชานมไข่มุกไต้หวัน, ร้านชานม 24 ชั่วโมง เป็นต้นค่ะ 

หลังจากได้ Long-Tail Keyword ข้างต้นแล้ว เราสามารถนำคีย์เวิร์ดที่สนใจมาเช็กความนิยมในการถูกค้นหา ด้วยเครื่องมืออย่าง Google Keyword Planner หรือ Google Search Console เพื่อวิเคราะห์ว่าควรนำคีย์เวิร์ดไหนมาใส่ในเนื้อหาและพาดหัว เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วไปรวมถึงกลุ่มเป้าหมายอยากคลิกเข้ามาในคอนเทนต์ของเราค่ะ

3.แก้ไขเรื่องการใส่ Internal Links ในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า Internal Link คืออะไร Internal Link คือลิงก์ซึ่งเชื่อมโยงไปที่เนื้อหาภายในเว็บไซต์ของเราเอง เพื่อให้ผู้ชมอยู่ในเว็บไซต์ของเราได้นานขึ้น Google จึงจะตีความว่าเว็บไซต์ของเราดีมีคุณภาพค่ะ 

โดย Internal Link จะอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์นะคะ ที่เราเห็นบ่อยสุดจะเป็น ส่วนเนื้อหา เช่นในภาพนี้ค่ะ 

ตัวอย่างการใส่ internal link
รูปจาก Content Marketing Institute

ต่อมาคือส่วน ด้านบน ด้านข้าง หรือด้านล่างสุดของเว็บไซต์ อย่างของเว็บไซต์นี้ Internal Link คือลิงก์ในกรอบสีเหลืองที่ให้คนคลิกไปดูรถรุ่นต่าง ๆ โดยตรง

ตัวอย่างการใส่ internal link
รูปจาก Motors UK

ส่วนของเว็บไซต์ Amazon ในภาพด้านล่างนี้ Internal Link จะอยู่ที่แท็บด้านซ้ายมือค่ะ

ตัวอย่างการใส่ internal link
รูปจาก Amazon

ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับ Internal link มีดังนี้ค่ะ

  • คลิกลิงก์เข้าไปแล้วไม่เจอคอนเทนต์อะไร เจอแค่ข้อความ 404 Errors

ปัญหานี้เกิดจากบทความนั้นอาจถูกลบไปแล้วหรือเราใส่ลิงก์ผิด ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ เราควรตรวจเช็กลิงก์ให้ดีก่อนโพสต์ในเว็บไซต์นะคะ 

  • ใส่ Internal link ในแต่ละหน้าเว็บไซต์มากเกินไป

โดยทั่วไปทาง Google จะกำหนดว่าเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ควรใส่ Internal link เกิน 100 ลิงก์ต่อหน้า ดังนั้น ถ้าหน้าไหนใส่ Internal link มากถึงจุดนี้เมื่อไหร่ จะมีสัญญาณเตือนส่งไปที่ Site Audit report เราจึงควรไล่ลบบางลิงก์ออกไป และเหลือไว้แค่ลิงก์ที่จำเป็นเท่านั้นค่ะ

  • ใส่ Internal link ในบางคอนเทนต์น้อยเกินไป ทั้งที่มีส่วนที่ควรใส่มากกว่านี้ 

ถ้าในเว็บไซต์ของเราเล่าถึงเนื้อหาเรื่องไหนอยู่บ่อย ๆ เมื่อทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องนั้นอีกเราก็สามารถนำลิงก์ของคอนเทนต์เก่า ๆ มาอ้างอิงในบทความใหม่ได้ เพราะถ้าใส่  Internal link น้อยเกินไปจะเป็นการเสียโอกาสที่คนจะอยู่ในเว็บไซต์ของเรานานขึ้นค่ะ

เช็กลิสต์สำหรับการพัฒนา Off-Page SEO 

1.เพิ่มจำนวน Backlink (ลิงก์ที่แหล่งอื่นอ้างอิงหรือพูดถึงเว็บไซต์เรา)

Backlink หมายถึงลิงก์บนหน้าเว็บไซต์อื่นที่ลิงก์กลับมาบนหน้าเว็บไซต์ของเราค่ะ ซึ่งยิ่งเราทำคอนเทนต์ได้ดีมากเท่าไร คนเขียนคอนเทนต์จากเว็บไซต์อื่น ๆ จะยิ่งอ้างอิงเนื้อหาจากเว็บไซต์ของเรามากขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าเราเป็นเว็บไซต์แรก ๆ ที่เขียนเล่าถึงการตลาดแบบ Personalization ตอนที่การตลาดแบบนี้เป็นที่นิยมขึ้นมา คนทำคอนเทนต์จากเว็บไซต์อื่น ๆ ก็อาจจะอ้างอิงเนื้อหาจากเว็บไซต์เราเป็นส่วนใหญ่นั่นเองค่ะ

ซึ่งการวัดจำนวน Backlink นั้นสำคัญต่อ SEO ตรงที่ถ้าคอนเทนต์เราดีจนมี Backlink กลับมาหน้าเว็บไซต์มาก Google จะยิ่งประเมินว่าคอนเทนต์ในเว็บไซต์ของเราน่าสนใจและน่าเชื่อถือไม่แพ้เว็บคู่แข่ง ทำให้คอนเทนต์ของเรามีโอกาสติดอันดับต้น ๆ เมื่อมีคนค้นหาคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ค่ะ

ดังนั้น ลองมาดูกันนะคะว่าถ้าอยากเพิ่มจำนวน Backlink เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

  • ร่วมงานกับเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มรีวิวสินค้าบริการ 

ถ้าเว็บไซต์ไหนต้องการรีวิวสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราพอดี หรือถ้าเว็บไซต์ไหนมี Target Audience ใกล้เคียงกับเรา เราก็สามารถร่วมงานกับเขา เพื่อเปิดโอกาสให้เว็บไซต์ต่าง ๆ พูดถึงเราบนช่องทางออนไลน์ในแง่บวกค่ะ 

  • ขอให้เว็บไซต์ที่อ้างอิงคอนเทนต์ของเราไปใส่ลิงก์เครดิตให้ด้วย

ถ้าในบริษัทมีฝ่าย PR หรือฝ่ายอื่น ๆ ที่ช่วยมอนิเตอร์ว่าใครพูดถึงแบรนด์เราในโลกออนไลน์โดยไม่ได้ใส่ลิงก์กลับมาที่เว็บไซต์ เราสามารถติดต่อไปที่เว็บไซต์นั้น ๆ เพื่อขอให้พวกเขาช่วยใส่เครดิตเป็น Backlink ให้เราค่ะ

  • ลองคอมเมนต์แสดงความเชี่ยวชาญในเว็บไซต์ต่าง ๆ 

สมมติว่ามีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับไอทีที่แพลตฟอร์มกระทู้แห่งหนึ่ง แล้วธุรกิจของเราขายสินค้าบริการเกี่ยวกับไอทีพอดี เราก็อาจจะจัดสรรคนให้เข้าไปช่วยตอบข้อสงสัย พร้อมแนบลิงก์เว็บไซต์ของเราไปในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อแสดงความเชี่ยวชาญ ให้คนที่อยู่ในวงการจดจำแบรนด์ของเราได้ และเข้ามาในเว็บไซต์เพื่อดูสิ่งที่สนใจเพิ่มเติม

  • สร้างคอนเนคชันกับอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในวงการ 

ถ้าอินฟลูเอนเซอร์พูดถึงแบรนด์ของเราในโซเชียลมีเดียแล้วแนบลิงก์คอนเทนต์หรือลิงก์สินค้าบริการของเราด้วย จะเป็นการช่วยเพิ่มยอดคลิกจาก Backlink ทำให้สร้าง Brand Awareness ของแบรนด์ได้ดี และทำให้แบรนด์เราดูมีความน่าเชื่อถือค่ะ 

2.พัฒนาความน่าเชื่อถือของ Domain Authority และ Page Authority 

มาทำความรู้จัก Domain Authority และ Page Authority กันก่อนนะคะ โดย Domain Authority (DA) คือคะแนนความนิยมของเว็บไซต์ ไล่ตั้งแต่ 1-100 คะแนน ซึ่งยิ่งคะแนนดีเท่าไร อันดับของเว็บไซต์บน Google ก็จะดีขึ้นเท่านั้น 

ดูคะแนนความนิยมของเว็บไซต์ด้วย domain authority

ส่วน Page Authority (PA) คือคะแนนความนิยมของเว็บไซต์ ‘แต่ละหน้า’ ซึ่งจะมีลำดับคะแนน 1-100 เช่นเดียวกับ Domain Authority ค่ะ เพียงแต่ว่าภายในเว็บไซต์เดียวกัน แต่ละหน้าจะมีคะแนน Page Authority ไม่เท่ากัน อย่างหน้าที่สร้างขึ้นมาใหม่จึงจะมีคะแนน PA น้อยกว่าหน้าอื่น ๆ 

ดูคะแนนความนิยมของหน้าเว็บไซต์ด้วย page authority

เราสามารถดูคะแนน Domain Authority และ Page Authority ของเว็บไซต์โดยเข้าไปที่  https://moz.com/tools/seo-toolbar คะแนนทั้งสองแบบนี้คิดค้นโดย MOZ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้าน SEO สำหรับผู้ทำงานด้านการตลาดออนไลน์ค่ะ

อย่างไรก็ดี หนึ่งสิ่งที่ทำให้คะแนนความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ลดลงคือการมี Backlink จากเว็บไซต์ที่เป็นแสปม ซึ่งสาเหตุของ Backlink แบบนี้มีหลายอย่างค่ะ เช่น เว็บไซต์คู่แข่งจงใจกลั่นแกล้ง เพื่อทำให้เว็บไซต์ของตัวเองติดอันดับสูงขึ้น หรือเพื่อทำให้ชื่อเสียงของเว็บไซต์เราเสื่อมเสีย

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือเจ้าของกิจการที่อยากเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะการวางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ STEPS Academy ขอนำเสนอหลักสูตร Digital Marketing Strategy ที่จะทำให้คุณกลายเป็นนักกวางกลยุธ์ที่ดี พร้อมกับมีความเข้าใจในกลไกการทำงานของโซเชียลมีเดียแต่ละช่องทางทั้ง Google, YouTube, Facebook และ Instagram 

อ่านรายละเอียดคอร์สเรียนเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ 

https://stepstraining.co/digital-marketing-specialist

สำรองที่นั่งหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

Facebook: Inbox STEPS Academy 

LINE OA: @STEPStraining https://lin.ee/jRRdsrN หรือโทร 065-494-6646

 

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

SOdA PrintinG แบรนด์ต้นแบบที่ใช้ Digital Marketing เข้าถึง เข้าใจลูกค้า เพิ่มยอดขายให้ธุรกิจกว่า 15 ปี
STEPS Sharing: CRM คืออะไร และทำไมถึงสำคัญต่อการทำธุรกิจในยุคนี้