อัปเดต 4 ความเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม YouTube ในปี 2022

อัปเดต 4 ความเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึม YouTube ในปี 2022

YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งนับเป็นจำนวนผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน ทำให้ในทุก ๆ นาทีมีวิดีโอรวมกว่า 500 ชั่วโมงถูกอัปโหลดขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการรับชมของคนเหล่านี้ โดยถ้าตีเป็นตัวเลขกลม ๆ จะพบว่าผู้ชมทั่วโลกดูวิดีโอใน YouTube กว่าวันละ 694,000 ชั่วโมงเลยทีเดียวค่ะ

ด้วยความนิยมของแพลตฟอร์มนี้ นักการตลาดจึงให้ความสนใจว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ใช้ YouTube ตอบโจทย์จุดประสงค์ด้านธุรกิจให้ได้มากที่สุด ในครั้งนี้ทาง STEPS Academy จึงขอมาเล่าว่าในปี 2022 นี้ ทาง YouTube ได้ปรับอัลกอริทึมอะไรบ้าง เพื่อให้ทุกท่านวางกลยุทธ์การตลาดในช่องทางออนไลน์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้นนะคะ

โดยในวันนี้เล่าจะเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 อย่าง ตามไปดูกันเลยค่ะ

1.การ Personalize คลิปวิดีโอแนะนำ โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์ Audience Profile

ในแต่ละวันทาง YouTube จะแนะนำวิดีโอให้คนทั่วโลกรวมกว่า 600 ล้านครั้ง ดังนั้น การที่คลิปวิดีโอของเราขึ้นหน้าแนะนำบนฟีด YouTube บ้างย่อมช่วยให้คนทั่วไปรู้จักชาแนลของเราเพิ่มขึ้น ซึ่งเราสามารถดูได้ว่าชาแนลของเราปรากฏบนหน้า Home Page ของคนอื่นบ่อยมากน้อยแค่ไหนได้ที่ YouTube Analytics Traffic Sources นะคะ 

ระบบหลังบ้าน youtube analytics

โดยวิธีการเข้าไปดู YouTube Analytics คือ

  • ล็อกอินเข้าชาแนล YouTube ของตัวเอง
  • คลิกตรง ‘ไอคอนโปรไฟล์’ ของชาแนลเรา
  • เลือกคำว่า YouTube Studio 
  • เมื่อทำตามนี้จะมีหน้ารีพอร์ตปรากฏบน Dashboard

คำถามคือควรทำอย่างไรให้ทาง YouTube แนะนำคลิปของเราให้ใครหลาย ๆ คน ในเมื่อทุกวันมีคนแข่งขันกันอัปโหลดคลิปใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ 

ถ้าอยากตอบคำถามนี้ได้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตัว Machine Learning ของ YouTube จะคอยเรียนรู้อยู่เสมอว่าผู้ใช้งานแต่ละคนชอบหรือไม่ชอบดูคลิปแนวไหน ผ่านการทำ YouTube Survey และการวิเคราะห์ประวัติการเข้าชม รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานต่าง ๆ เช่น 

  • นาย A มักคลิกดูคลิปแนวไหน
  • นาย B ดูคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไรได้ยาว 
  • นาย C ชอบกดไลค์ให้คลิปชาแนลอะไร

หากอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นคือทาง YouTube เก็บข้อมูลของลูกค้ากว่า 8 หมื่นล้าน Data Point ในทุกวัน เพื่อนำมาสร้างเป็น Audience Profile หรือ Audience Avatar แล้วให้ Machine Learning เรียนรู้ว่าควรจัดคนประเภทไหนไว้ในกลุ่มเดียวกัน หลังจากนั้นค่อยวิเคราะห์ต่อว่าคนแต่ละประเภทชอบหรือไม่ชอบคอนเทนต์แนวไหน เพื่อให้อัลกอริทึมแนะนำวิดีโอได้ตรงความสนใจที่สุดค่ะ

ในขณะเดียวกัน ฝั่งชาแนลต่าง ๆ ก็จะถูก Machine Learning ของ YouTube ประเมินอยู่เสมอว่า

  • ในหมวดคอนเทนต์เดียวกัน คอนเทนต์ชาแนลเราสู้คู่แข่งได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ผู้ชมดูคอนเทนต์ของชาแนลใดนานกว่า 
  • วิดีโอของใครเลือกใช้คีย์เวิร์ดในชื่อคลิปและส่วน Description ได้ดีกว่ากัน 
ที่มาของ youtube recommendation

แต่เนื่องจากใน YouTube มีคลังวิดีโอจำนวนมาก การจะเลือกวิดีโอออกมานำเสนอให้ผู้ชมนั้นจึงต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Candidate Generation ค่ะ 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือถ้าในคลังของ YouTube มีหลายพันล้านวิดีโอ ในขั้นตอน Candidate Generation ทาง YouTube อาจจะดึงวิดีโอมานำเสนอสักหลักร้อยล้านวิดีโอ ซึ่งวิดีโอที่ถูกดึงขึ้นมานั้นจะอ้างอิงจากความชื่นชอบของผู้ชมเป็นหลัก 

ทั้งนี้ ถ้าคลิปไหนดึงดูดให้คนคลิกเข้ามามาก แต่สุดท้ายคนกลับอยู่ดูคลิปได้ไม่นาน ทาง YouTube จะประเมินว่าคลิปเหล่านั้นมีคุณภาพที่ไม่ดีเท่าไร จึงไม่ได้แนะนำคลิปประเภทนี้เท่าที่ควร 

ซึ่งถ้าใช้วิธี Candidate Generation เพียงอย่างเดียวก็จะมีจำนวนวิดีโอที่ถูกแนะนำมากเกินไป ทางหลังบ้านของ YouTube จึงมีการทำ Candidate Ranking ด้วยเพื่อจัดอันดับว่าควรนำเสนอวิดีโอไหน เรียงจากคะแนนมากไปน้อยค่ะ

โดยทาง YouTube จะประเมิน Ranking Candidate จาก Audience Profile ของแต่ละคนค่ะ โดยช่วงแรกทาง YouTube จะเริ่มแนะนำจากแนวคอนเทนต์ที่เราดูเป็นประจำก่อน หลังจากนั้น YouTube ถึงจะแนะนำคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เรามีตัวเลือกที่มากมาย และอยู่ในแพลตฟอร์ม YouTube นานขึ้นค่ะ

หลังจากเผยแพร่คลิปวิดีโอแล้ว ทาง YouTube จะเริ่มทดสอบวิดีโอนั้นกับ Core Audience หรือผู้ติดตามกลุ่มเดิม แล้วถ้าได้ผลตอบรับดี ตัวอัลกอริทึมจะค่อย ๆ แชร์คลิปนั้นให้คนที่คล้ายกับ Core Audience ดู และกรอบของ Audience ก็จะขยายขึ้นเรื่อย ๆ ถ้า YouTube ประเมินว่าคอนเทนต์ของเรามีคุณภาพ

แต่ถ้าชาแนลของเรายังมีผู้ติดตามน้อย ทางระบบหลังบ้านของ YouTube ก็จะยังไม่มีข้อมูลของช่องเราเท่าไร เราเลยจำเป็นต้องทดลองผลิตคอนเทนต์ออกมาเยอะ ๆ เพื่อทดสอบว่าใครเป็นกลุ่มคนที่สนใจคอนเทนต์ของช่องเรากันแน่ค่ะ

จะเห็นได้ว่าชาแนลที่มีผู้ติดตามมากกว่าจึงมีโอกาสในการขยายฐานผู้รับชมมากกว่าด้วย เพราะทาง YouTube มีฐานข้อมูลของผู้ติดตามเดิมมากพอสมควรค่ะ แต่อย่าเพิ่งน้อยใจไปนะคะ เพราะถ้าคลิปไหนได้รับฟีดแบ็กดี อัลกอริทึมก็จะยังคงแชร์คลิปนั้นออกไปในวงกว้าง แม้จะเป็นช่อง YouTube ที่ยังมีผู้ติดตามไม่มากเท่าไร หรือแม้คนดูจะยังไม่ได้ Subscribe ชาแนลของเราก็ตามค่ะ

2.ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของ YouTube Shorts คลิปวิดีโอสั้นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในช่วงเวลานี้

ช่วงหลังมานี้หลายคนน่าจะสังเกตว่าในหน้าฟีดของ YouTube มีคลิปวิดีโอสั้นปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะว่าทาง YouTube เล็งเห็นโอกาสที่คนส่วนหนึ่งชอบดูวิดีโอสั้น ๆ มากขึ้น จากอิทธิพลของแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น TikTok หรือ Reels ค่ะ

ตัวอย่าง youtube shorts
รูปจาก clipchamp

โดย คลิปวิดีโอของ YouTube Shorts จะอยู่ในแนวตั้งและมีความยาวไม่เกิน 60 วินาทีเท่านั้น แต่ในช่วงก่อนหน้านี้ การเข้ามาของ YouTube Shorts ก็มีปัญหาบางอย่าง คือทาง YouTube จะแบ่งประวัติการรับชมของผู้เข้าชมเป็นสองส่วน ได้แก่ 

  • ประวัติการเข้าชม YouTube Shorts 
  • ประวัติการเข้าชม Long Form Video 

นั่นหมายความว่า สมมติชาแนล A มีทั้งคลิปที่เป็น YouTube Shorts และ Long Form Video แต่นาย B ซึ่งเป็นผู้ชมเข้ามาดูคลิป YouTube Shorts เป็นคลิปแรก หลังจากนั้นตัวอัลกอริทึมจะไม่ได้แนะนำคลิปของชาแนล A ที่เป็น Long Form Video ทำให้ YouTube Creator หลายคนออกมาต่อต้านว่าต่อให้ลงทุนทำคลิปวิดีโอแบบสั้น ๆ แค่ไหนก็ไม่ได้ช่วยให้ช่องเติบโตเท่าไรนัก 

แต่ สุดท้ายทาง YouTube ก็ได้แก้ไขความข้องใจนี้ด้วยการปรับให้อัลกอริทึมแนะนำคลิปวิดีโอทั้งสองแบบให้กับผู้ชม ไม่ว่าผู้ชมจะดู YouTube Shorts หรือ Long Form Video มาก่อนก็ตาม นั่นหมายความว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มยอดผู้รับชมและยอดผู้ติดตามให้กับชาแนลของเรา โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมากเท่าแต่ก่อน เพราะช่วงนี้ YouTube Shorts มี Organic Reach ที่ดีมากค่ะ

ซึ่ง สถิติที่น่าสนใจของ YouTube Shorts มีดังนี้ค่ะ

  • ถ้าคลิปมีความยาวน้อยกว่า 30 วินาที คนควรดูจนจบ
  • ถ้าคลิปยาว 31-60 วินาที คนควรดูอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของคลิป
  • ถ้าคลิปยาวหลายนาที ในช่วง 60 วินาทีแรก ต้องทำให้คนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ยังดูต่อ และอย่างน้อยที่สุดคนควรดูไปถึงครึ่งหนึ่งของคลิป

ดังนั้น เพื่อใช้ YouTube Shorts ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจ เรามีเทคนิคดี ๆ มาฝากค่ะ 

  • แยกชาแนลสำหรับ Short Video ออกมาต่างหาก เพื่อรองรับคนที่ชอบดูวิดีโอสั้น ๆ โดยเฉพาะ 
  • ใช้ชาแนลเดิมโดยลงทั้งคลิปสั้นและคลิปยาวผสมกัน แต่ถ้าไม่ค่อยมีเวลาทำคลิปยาว อย่างต่ำให้ลงคลิปสั้นวันละ 2-3 คลิป เพื่อให้ผู้ติดตามยังเข้ามาดูคอนเทนต์ของเราอยู่เรื่อย ๆ 
  • ลงคลิปสั้นโดยโน้มน้าวให้คนอยากไปดูคลิปยาวต่อ ในส่วนท้ายของคลิปสั้นให้เกริ่นว่าทำไมถึงน่าไปดูคลิปเต็ม แต่ถ้าพูดไม่ทันใน 60 วินาทีก็สามารถเขียนถึงคลิปเต็มได้ โดยปักหมุดไว้ในคอมเมนต์แรกใต้คลิป

พอรู้ทริคคร่าว ๆ แล้วลองมาดู ขั้นตอนการสร้างและอัปโหลด YouTube Shorts กันค่ะ

วิธีการอัปโหลด youtube shorts
รูปจาก firstpost
  1. เปิดแอป YouTube ในมือถือ 
  2. กดไอคอน ‘เครื่องหมายบวก’ ซึ่งอยู่บริเวณด้านล่างของหน้าจอ
  3. เลือกคำว่า ‘สร้างวิดีโอสั้น’ หรือเลือกคลิปที่มีอยู่แล้วในมือถือโดยกดแท็บ ‘อัปโหลดวิดีโอ’
  4. ถ้าเลือก ‘สร้างวิดีโอสั้น’ เราจะใส่ทั้ง Sound Effect, Text, Caption และ Filter ได้
  5. คลิก ‘อัปโหลด’ เพื่อเผยแพร่คลิปสู่สาธารณะ

นอกจากนี้ ถ้ามีคลิปวิดีโอยาวอยู่หลายคลิปแล้วอยากตัดทำเป็นคลิปสั้น เราสามารถใช้ฟังก์ชัน Clip ที่เป็นรูปกรรไกร ซึ่งอยู่ด้านล่างขวาของคลิปได้นะคะ

3.KPIs สำคัญสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและวัดผลลัพธ์ของคอนเทนต์ที่ลงใน YouTube 

ถ้าอยากรู้ว่า Performance ของชาแนลเราเป็นอย่างไร ให้เข้าไปดูใน YouTube Analytics แล้วจะรู้ว่าชาแนลของเรามีจุดอ่อน จุดแข็งตรงไหน และพัฒนาอะไรได้อีกค่ะ ซึ่งจากหลาย ๆ ตัวชี้วัดที่มี เราจะอธิบายถึงตัวชี้วัดสำคัญ ได้แก่ Impression, Click-Through Rate (CTR), Retention และ Watch Time ค่ะ

ตัวชี้วัดระบบหลังบ้านของ youtube
รูปจาก socialmediaexaminer

Impression 

มาเริ่มดูที่ Impression นะคะ โดย ทางระบบจะนับ 1 Impression ต่อเมื่อผู้ชมดู Thumbnail หรือภาพปกคลิปของเรา 1 วินาทีขึ้นไป ค่ะ ดังนั้น ถ้าใครเลื่อนผ่านหน้า YouTube แบบไวมาก ๆ ก็จะไม่ได้ทำให้เกิด Impression ใด ๆ ค่ะ

นอกจากในหน้า Homepage หรือหน้า YouTube Search แล้วเราจะแบ่งให้ดูอย่างละเอียดเลยนะคะว่ากรณีไหนที่จะนับเป็นจำนวน Impression อีกบ้าง

กรณีที่นับ Impression คลิปนั้น ๆ จะปรากฏใน

  • ส่วนคลิปยอดนิยมที่ติด Trending
  • ส่วนคลิปที่อยู่ใน Playlist ต่าง ๆ 
  • ส่วน Auto-Play หรือเล่นวิดีโอต่ออัตโนมัติ
  • ส่วน Up Next หรือวิดีโอแนะนำในฝั่งขวาของหน้าจอ

ในทางกลับกัน ถ้าลิงก์ของคลิปวิดีโอไหนถูกแปะไว้บนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่ YouTube ก็จะไม่มีการนับ Impression จากแพลตฟอร์มนั้น ๆ นะคะ

Click-Through Rate (CTR)

ต่อมาคือการวิเคราะห์ Click-Through Rate (CTR) ซึ่งหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของยอด Impression ที่นำไปสู่การคลิกดูวิดีโอ เช่น ถ้า Click-Through Rate คือ 5% นั่นหมายความว่าทุก ๆ 100 คนที่เห็น Thumbnail จะคลิกดูวิดีโอ 5 คนค่ะ 

ดังนั้น ยิ่งค่า Click-Through Rate สูงเท่าไร ยิ่งแปลว่ายอดวิวของเราจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และถ้ามีเปอร์เซ็นต์ Click-Through Rate ดีอย่างต่อเนื่องทาง YouTube จะตีความว่าคอนเทนต์ของเรามีคุณภาพดี และดันให้มีคนเห็นคลิปเหล่านี้มากขึ้นผ่านทางส่วนที่เรียกว่า YouTube Recommendations ค่ะ

ซึ่ง Todd Beaupré ผู้ที่อยู่ฝ่าย Product Team ของทาง YouTube ได้เล่าถึงสถิติที่น่าสนใจว่า “ถ้าสัปดาห์นี้มีคนดูวิดีโอของเรา 100 คน ในสัปดาห์หน้าจะมีอีก 700 คนที่จะได้เห็น Thumbnail ของคลิปเรา” ตีความได้ว่า ทุก ๆ 1 วิวที่ได้นำไปสู่โอกาสที่คนจะเห็นคลิปของเราเพิ่มขึ้นถึง 7 วิว หลังจากนี้ถ้าลงคลิปวิดีโอไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ลองนำยอดวิวที่ได้มาเปรียบเทียบกับสัปดาห์ถัดไปดูนะคะ

Retention 

ปัจจัยสำคัญที่ YouTube จะใช้ประเมินคอนเทนต์ของเราคือเมื่อคนคลิกเข้ามาในคลิปแล้วจะหยุดดูได้นานแค่ไหน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคลิปทั่วไปจะมี Audience Retention อยู่ที่ 50-60% แปลว่าคนส่วนใหญ่จะดูคลิปถึงแค่ 50-60% แล้วกดออกนั่นเองค่ะ

วิธีวิเคราะห์กราฟ retention rate
รูปจาก invideo

จากภาพนี้คือตัวอย่างกราฟที่ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนดูคลิปเราเป็นอย่างไร รวมถึงคนดูส่วนใหญ่อยู่ในคลิปเรานานแค่ไหนค่ะ 

  • กราฟที่ 1 : ถ้าเส้นกราฟราบเรียบ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมาก หมายความว่าผู้ชมดูคอนเทนต์ส่วนนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ
  • กราฟที่ 2 : ถ้าเส้นกราฟค่อย ๆ เอนต่ำลง หมายความว่าผู้ชมไม่ค่อยสนใจเนื้อหาของคลิปในส่วนนั้นแล้ว เราจึงควรหาทางพัฒนาให้ครั้งหน้าเนื้อหาน่าสนใจขึ้น
  • กราฟที่ 3 : ถ้าเส้นกราฟส่วนไหนสูงขึ้นมาเป็นพิเศษ แปลว่าคอนเทนต์ส่วนนั้นน่าสนใจ ทำให้มีคนกดดูซ้ำหรือกดแชร์ต่อ
  • กราฟที่ 4 : ถ้าเส้นกราฟตกลงไปมาก ๆ ในส่วนไหน หมายความว่าคนส่วนใหญ่กดออกจากคลิปตอนถึงเนื้อหาส่วนนั้นค่ะ 

ดังนั้น ถ้าทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจจนผู้ชมส่วนใหญ่ดูถึงความยาวครึ่งหนึ่งของคลิปได้ ทาง YouTube จะเริ่มแนะนำคลิปของเราให้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากขึ้นค่ะ ซึ่ง Retention มีความเกี่ยวข้องกับ Watch Time ด้วยนะคะ

โดย Watch Time คือจำนวนเวลาโดยเฉลี่ยที่คนใช้ในการดูคลิปวิดีโอของเรา เช่น ถ้าคลิปของเรามีความยาว 10 นาที แล้วคนส่วนใหญ่ดูไปถึงครึ่งหนึ่งของคลิป (50%) นั่นหมายความว่าในคลิปนั้นมี Watch Time เท่ากับ 500 นาทีค่ะ ซึ่งถ้าใครอยากสร้างรายได้จากการทำ YouTube ก็จำเป็นต้องมีจำนวน Watch Time อยู่ที่ 4,000 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ก่อนจะสมัคร YouTube Partner Program ได้นะคะ 

อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจคือ ทางอัลกอริทึมของ YouTube จะให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่ผู้ชมใช้ในการดูคลิปมากกว่าจำนวนการคลิกเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้คนอยู่ดูคลิปนาน ๆ เราสามารถใช้เทคนิคหลายอย่าง เช่น ตัดต่อใส่กราฟิกหรือเอ็ฟเฟ็กต์ในคลิป ทำให้คลิปดูน่าสนใจ ไม่ราบเรียบเกินไป ไม่น่าเบื่อ เป็นต้นค่ะ

4.การเพิ่มจำนวนและคุณภาพ Engagement ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของทุกแพลตฟอร์ม

ในปี 2022 ทาง YouTube ได้พยายามผลักดันให้คนมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มมากกว่าการรับชมวิดีโอเพียงอย่างเดียว เลยจะเห็นได้ว่า YouTuber หลาย ๆ ท่านหันมาโพสต์ภาพและข้อความใน YouTube มากขึ้น และผู้ติดตามก็นิยมเข้ามาคอมเมนต์กันด้วย ถือว่าช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี 

ดังนั้น เราจึงแนะนำให้โพสต์รูปและเขียนข้อความใน Community Post บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • การทำโพลเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ติดตาม เช่น ระหว่างคอนเทนต์ A และคอนเทนต์ B ผู้ติดตามสนใจคอนเทนต์ไหนมากกว่ากัน 
  • การโพสต์เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบางอย่าง 
  • การโพสต์โปรโมทว่าจะปล่อยคลิปเกี่ยวกับอะไร เวลาไหน 

ซึ่งจากตัวอย่างที่สามนั้น เราสามารถทำผ่านฟีเจอร์ YouTube Premiere ได้ด้วยนะคะ ซึ่ง YouTube Premiere คือการกำหนดเวลาพับลิชคลิปวิดีโอให้ทุกคนได้รับชมพร้อมกัน และทุกคนยังสามารถคอมเมนต์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรอชม YouTube Premiere ได้ คล้ายกับการรอชม YouTube Live เลยค่ะ

ตัวอย่าง youtube premiere
รูปจาก ari fitz

สาเหตุที่มี YouTube Premiere ก็เพราะว่าทาง YouTube เล็งเห็นโอกาสที่คนส่วนใหญ่มักกดรีเฟรชหน้าจอขณะรอชมคอนเทนต์บางอย่าง รวมทั้งบางท่านก็จะเข้าไปคอมเมนต์ใต้โพสต์โปรโมทคลิปนั้น ในโซเชียลมีเดียว่าใกล้ถึงเวลาลงคลิปใหม่หรือยัง หรือคอมเมนต์ในเชิงว่าอดใจรอคลิปใหม่ไม่ไหวแล้ว ทาง YouTube เลยพยายามรวบรวมให้คนมาคอมเมนต์กันในที่เดียวเลย ผู้ติดตามที่มีความชอบตรงกันจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบเรียลไทม์ด้วย

นอกจากนี้ ถ้าสามารถกระตุ้นให้ผู้ชมกด ‘แชร์’ คลิปต่อได้ Engagement ของคอนเทนต์เราจะเพิ่มขึ้นไปอีกค่ะ โดยยอดแชร์ถือเป็น Implicit Feedback หรือเรียกง่าย ๆ ว่าฟีดแบ็กที่ดูได้จากระบบหลังบ้านนั่นเองค่ะ

ตัวอย่าง Implicit Feedback เช่น 

  • ประวัติการค้นหาเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจ 
  • ลักษณะการคลิกเมาส์หรือการเลื่อนหน้าจอมือถือ
  • จำนวนเวลาที่ใช้ในการรับชมในแต่ละคลิปวิดีโอ 

ในทางกลับกัน Explicit Feedback หรือฟีดแบ็กที่ผู้ชมทั่วไปดูได้โดยตรงก็อาจจะเป็นจำนวนการกด Like หรือ Dislike เป็นต้น ซึ่งฟีดแบ็กทั้งสองแบบนี้มีผลต่อ Engagement โดยตรงนะคะ 

ประเภทฟีดแบ็กของผู้ที่ดู youtube
รูปจาก YouTube Channel : lucas parisi

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้พยายามทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจและลองใช้ Call-To-Action ที่ทำให้ผู้ชมอยากแชร์คลิปวิดีโอนั้นออกไปในช่องทางต่าง ๆ นะคะ เช่น ใน Facebook, Twitter, Instagram, TikTok เป็นต้นค่ะ

อย่างที่เห็นได้บ่อยคือในทวิตเตอร์ที่มักจะมีคนแนบลิงก์จาก YouTube เพื่อแนะนำแบบปากต่อปากว่าคลิปนั้นดีอย่างไร ทำไมถึงน่าไปดูค่ะ

🌟 หากคุณเป็นหนึ่งคนที่สนใจและอยากยกระดับการทำโฆษณาออนไลน์ หลักสูตร “Ads Optimization for Management 101” 📈 จะทำให้คุณรู้ลึกรู้จริงในด้านการบริหาร และการวางกลยุทธ์โฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มยอดนิยม ทั้งฝั่ง Facebook Ads และ Google Ads เพื่อให้ช่องทางออนไลน์ของคุณเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ 🔗 https://stepstraining.co/ads-optimization-101

 

 

 

 

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

5 ทักษะที่ต้องมีสำหรับผู้อยากเปลี่ยนสายงานมาด้าน Data Marketing
5 วิธีประหยัดงบประมาณในการซื้อโฆษณาบน Google Ads