สวัสดีผู้อ่านทุกคนนะคะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงกระตือรือร้นกับการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย บางคนคนคงโฟกัสกันที่การเรียน และ หลายคนคงกำลังขวนขวายความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาทักษะตัวเองให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ ๆ
แต่บางคนอาจรู้สึกว่า ตอนนี้เรามีความเครียดหลายอย่างถาโถมจนรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เราต้องทำตัวให้ Active ตลอดเวลาเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่ภายในใจกลับรู้สึกว่าไฟในตัวมอดลงเรื่อย ๆ กลายเป็นความเหนื่อยล้าสะสม
หากคุณมีความรู้สึกนี้ คุณอาจมีภาวะ Burn Out อยู่ก็เป็นได้นะคะ
หากคุณรู้สึกตัว และ สังเกตได้ตั้งแต่ตอนนี้ว่า คุณกำลังเผชิญภาวะ Burn Out โดยมีความเครียดสะสม รู้สึกเหนื่อยล้า และกำลังหมดไฟในการทำอะไรบางอย่าง
ผู้เขียนมีแนวคิดดี ๆ มาฝาก เพื่อช่วยให้คุณลดความเครียดได้ แถมอาจจะทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย!
คุณเคยได้ยินคำว่าศิลปะการใช้ชีวิตด้วยการไม่ทำอะไรเลยไหมคะ 🙂
ความจริงแนวคิดนี้ นี้มีชื่อเรียกว่า “NIKSEN” เป็นศิลปะการใช้ชีวิตของคนชาวดัตช์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอาจฟังดูแปลก และ ชวนสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ ซึ่งวันนี้ ผู้เขียนจะมาแบ่งปัน ศิลปะแนวคิดแบบ NIKSEN จากหนังสือที่มีชื่อว่า “NIKSEN, The Dutch Art of Doing Nothing” กันค่ะ
NIKSEN คืออะไร
NIKSEN เป็นภาษาดัตช์ (Dutch) มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Doing Nothing หรือ “การไม่ทำอะไรเลย” ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Annette Lavrijsen เป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้หยุดพัก และ อยู่กับตัวเองบ้าง เพื่อให้สมองของคุณได้รู้สึกผ่อนคลาย และ ช่วยให้ระบบความคิดของคุณได้ค้นพบไอเดียใหม่ ๆ จากการที่ได้หยุดคิดไปชั่วคราวนั่นเอง
ถึงแม้ว่าในสมัยก่อนคำว่า NIKSEN อาจฟังดูแล้วให้ความหมายในเชิงลบ ดูขี้เกียจ ไม่มีประโยชน์ และ ขัดแย้งกับแนวคิดของชาวดัตช์ในสมัยเก่าที่เป็นคน Productive และขยัน
แต่อย่างไรก็ตาม การตีความหมายใหม่ในปัจจุบันของชาวดัตช์ต่างให้นิยามของคำว่า NIKSEN ในเชิงบวก เนื่องจากโลกของเรานั้นก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา มีสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งทำให้มนุษย์อย่างเราต้องวิ่งตามกระแส และเทคโนโลยีอยู่เสมอ ดังนั้น สิ่งที่ชาวดัตช์ให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ในการใช้ชีวิตก็คือ “การหยุดพักชั่วคราว เพื่อให้จิตใจได้สงบลง และเพื่อให้สมองมีเวลาได้พักจากเรื่องต่าง ๆ ”
ภายในบทที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ว่า ชาวดัตช์ หรือ คนในประเทศเนเธอร์แลนด์มีความสุขมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรในกลุ่มประเทศ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD (ที่มา: stats.oecd.org, 2019) ซึ่งผลสถิติได้เปรียบเทียบระหว่างชั่วโมงการทำงานของชาวดัตช์ และ กลุ่มประเทศ OECD หรือ ชาวยุโรปในประเทศอื่น ๆ เอาไว้ เพื่อให้เห็นความแตกต่างเอาไว้ดังนี้ค่ะ
Dutch | OECD | |
เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำงานเกิน 50 ชั่วโมง | 0.40% | 11% |
Dutch | EU | |
ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ | 29.3 | 36.2 |
เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ทำงาน Part-time | 73.8 | 32.3 |
เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายที่ทำงาน Part-time | 27.4 | 9.8 |
จากภาพเป็นข้อมูลจาก stats.oecd.org ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าชั่วโมงการทำงานของชาวดัตช์ น้อยกว่าชั่วโมงการทำงานของคนในประเทศอื่น ๆ ในฝั่งยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับความสุขในการใช้ชีวิตแบบมีสมดุล หรือ Wok-Life Balance โดยเว็บไซต์ worldpopulationreview.com เผยว่าประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ในปี 2021
พอมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะสงสัยว่า แล้วการที่ไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉย ๆ นั้นส่งผลให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ ? จริงอยู่ที่เวลาที่เราทำงานน้อยลงแล้วอาจจะมีความสุขมากขึ้น เพราะได้ใช้เวลาไปกับการทำอย่างอื่น หรือการนั่งสบาย ๆ บนโซฟาที่บ้าน แต่ว่า งานของเราล่ะ ? จะพัฒนาขึ้นได้อย่างไร ?
คำตอบของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การจัดลำดับความสำคัญของการใช้ชีวิตค่ะ
การที่เรานำ NIKSEN ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันจะช่วยให้เราผ่อนคลาย และค้นพบไอเดียใหม่ ๆ เพื่อให้ช่วงเวลาที่เราต้องทำงานจริง ๆ ประสิทธิภาพ หรือ Productive มากที่สุด ซึ่งหัวใจหลักของการไม่ทำอะไรเลยมีอยู่ 5 หลักการได้แก่
1 เราจะคำนึงถึงแนวคิด NIKSEN หรือการไม่ทำอะไรเลยเป็นสิ่งสำคัญ
เพื่อให้เราได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภายหลัง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีสุขภาพจิตที่ดี
2 เราจะปล่อยตัวเองไม่ให้ทำอะไรเลยชั่วคราว
เพื่อให้เราได้พักสมอง และลดภาวะ Burn Out และให้เวลาตัวเองได้ตกตะกอนความคิด
3 เราจะจัดเวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันที่จะไม่ทำอะไรเลย
จัดเวลาของคุณให้ดีในแต่ละวัน อาจเป็นช่วงเช้าเมื่อตื่น หรือช่วงกลางคืนก่อนนอน เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย
4 เราจะใช้เวลาที่ไม่ทำอะไรเลย เป็นช่วงเวลาส่วนตัว
ช่วงเวลา NIKSEN ควรเป็นช่วงเวลาส่วนตัว ที่เราเองจะได้อยู่กับตัวเราเองจริง ๆ ไม่มีคนอื่น หรือปัจจัยอื่น ๆ มารบกวนเพื่อให้เกิดความสงบ
5 เราจะไม่ทำอะไรเลยให้ชินเป็นนิสัย
ฟังดูแล้วอาจจะตลกสักหน่อย แต่ผู้เขียนอยากบอกคุณว่า การทำให้ตัวคุณเองได้รู้สึกถึงช่วงเวลาว่างและ เงียบสงบบ้างเปรียบเสมือนการชาร์จแบตเพิ่มพลังในแต่ละวันเป็นอย่างดีค่ะ
เริ่มต้นปรับใช้วิธีการ NIKSEN ได้อย่างไร
ความจริงแล้ว NIKSEN หรือ การไม่ทำอะไรเลยสามารถเริ่มต้นในช่วงเวลาไหนของวันก็ได้ และใช้เวลาแตกต่างกันออกไปในแต่ละวันก็ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีเวลามากแค่ไหน คุณอาจจะเริ่มตั้งเวลาเมื่อต้องการใช้ความเงียบในการตกผลึกความคิด หรือ ต้องการเตรียมความพร้อมก่อนลุยงาน หรือ หยุดความฟุ้งซ่านก่อนนอน โดยบทความในหนังสือนั้นแนะนำเอาไว้ว่า ….
-
ถ้าคุณไม่มีเวลาเลย!
ให้คุณลองหาลูกบอลเล็ก ๆ มาบีบเพื่อให้กล้ามเนื้อมือได้ผ่อนคลายระหว่างคิดเรื่องงาน หรือในขณะที่คุณนั่งอยู่ เพื่อไม่ให้รู้สึกกดดันจนเกินไป
-
ถ้าคุณมีเวลา 5 นาที
ให้คุณลองจัดโต๊ะทำงานให้มีระเบียบขึ้น ซึ่งนอกจากที่คุณจะได้บรรยากาศทำงานใหม่ ๆ ไม่รกรุงรังแล้ว ยังทำให้จิตใจคุณสงบขึ้นอีกด้วย หรือถ้าคุณเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลยในช่วงเช้า ให้คุณตื่นมาและเริ่มต้นด้วยการนั่งเฉย ๆ มองออกไปนอกหน้าต่าง หรืออาจนั่งอยู่บนเตียงว่าง ๆ สัก 5 นาทีโดยไม่ต้องจับมือถือ หรือเปิดทีวี
-
ถ้าคุณมีเวลา 10 นาที
ลองมองหาสถานที่ที่มีความเป็นส่วนตัว หรือสถานที่ใดก็ได้ที่คุณรู้สึกสบาย ๆ แล้วหลับตา เพื่อพักสายตา และความคิดสักพัก ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถจัดลำดับความคิดได้ใหม่ และทำได้ดีขึ้นเมื่อคุณกลับไปทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณมีตัวช่วยดี ๆ อย่างเสียงเพลงเบา ๆ และ กลิ่น Aroma หอม ๆ ก็จะยิ่งทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นแม้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
ตัวอย่างเพลงเบา ๆ ในแนว Lofi Music ที่น่าฟัง สร้างบรรยากาศสบาย ๆ
-
ถ้าคุณมีเวลา 30 นาที
ให้คุณลองยืดเส้นยืดสายจากการนั่งทำงาน หรือเดินทำงานมาตลอดวัน คุณสามารถลองทำโยคะในท่าง่าย ๆ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกถึงการไหลเวียนของเลือด หรือออกไปเดินเล่นเพื่อสูดอากาศ และ เปลี่ยนบรรยากาศใหม่ ๆ ค่ะ
Productive ได้ และ NIKSEN ได้ไปพร้อม ๆ กันด้วยวิธี Pomodoro
สำหรับใครที่อยากทำงานให้มีประสิทธิภาพ แบบที่เรามักพูดกันว่า Work Smart หรือ การทำงานแบบชาญฉลาด แต่ยังสามารถหาเวลาพักได้ชั่วคราว ภายในหนังสือ NIKSEN ก็ได้หยิบยกเทคนิคก Pomodoro ขึ้นมาใช้เพื่อให้เราได้ฝึกวิธีการโฟกัสในการทำงาน และการ ‘ไม่ทำอะไรเลย’ หรือ การพักสักครู่ตามเวลาที่กำหนดค่ะ
Pomodoro คือ แนวคิดการบริหารเวลาในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และโฟกัสกับงานอย่างเต็มที่ โดยที่เรายังมีเวลาพัก ซึ่งคำว่า Pomodoro มาจากภาษาอิตาเลียน มีความหมายว่า มะเขือเทศ มาจากนาฬิกาจับเวลาของผู้คิดค้นทฤษฎีนี้นั่นเอง ดังนั้น เรามาดู 4 ขั้นตอนการบริหารเวลาด้วยเทคนิค Pomodoro กันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
1 ลิสต์งานที่ต้องการทำ
แบ่งงานชิ้นหลักที่ต้องทำ และงานชิ้นรอง จัดลำดับความสำคัญของเนื้องาน และ Dead Line ในการส่งงาน เพื่อกำหนดว่างานชิ้นไหนควรเริ่มทำก่อนหลัง
2 เตรียมนาฬิกา หรือแอปพลิเคชันจับเวลาไว้ที่ 25 นาที
ตั้งเวลาเพิ่มเริ่มทำงาน โดยใช้เวลาทั้งหมด 25 นาทีต่อ 1 เซ็ต ซึ่งจะใช้เป็นนาฬิกาจับเวลาทั่วไปก็ได้ หรือใช้แอปพลิเคชันก็ดี ซึ่งแอปพลิเคชันจับเวลาที่สามารถโหลดมาใช้กันได้แก่:
– PomoDoneApp
– KanbanFlow
– Pomodor
– FocusList
– Pomotodo
3 เริ่มทำงาน โดยโฟกัสที่งานเท่านั้น
ในขณะที่เริ่มทำงาน ให้โฟกัสต่องานที่ทำเท่านั้น อย่าเพิ่งกังวลงานอื่น ๆ หรือทำอย่างอื่นไปในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผลงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากมีสาเหตุ หรือสิ่งรบกวนจริง ๆ ลองเขียนโน็ตบันทึกเอาไว้ก่อน แล้วย้อนมาทำทีหลังดูค่ะ
4 ทำงานครบ 25 นาที พัก 5 นาที
ภายในช่วงเวลาพักสั้น ๆ นี้ ลองหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายจากการทำงาน และเพื่อพักผ่อนสมอง
เช่น ดื่มน้ำผลไม้ที่ชอบ การพักสูดอากาศและชมวิวด้านนอก หรือการเล่นกับสัตว์เลี้ยง (กรณีที่work form home)
5 ทำซ้ำจนครบ 4 ครั้งจนครบ 2 ชั่วโมงแล้วพักเบรค 20-30 นาที
หลักการทำของ Pomodoro จะครบก็ต่อเมื่อมีการทำงาน และการหยุดพักครบ 4 เซ็ต (25+5+25+5+25+5+25+5 = 120 นาที) จากนี้เราสามารถพักเบรคให้ยาวขึ้นประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อให้สมองได้พักผ่อน และมีเวลาทบทวนงานอีกครั้งค่ะ
ข้อดีในการใช้เทคนิค Pomodoro ในการบริหารเวลา
– มีสมาธิมากขึ้น ไม่หลุดโฟกัสจากงาน
– การทำงานไม่ล้าจนเกินไป รู้จักกำหนดช่วงเวลาเบรคชัดเจน
– เารทำงานอาจเสร็จเร็วขึ้น เนื่องจากสมองได้โฟกัสเต็มที่
สรุป
NIKSEN: The Dutch Art of Doing Nothing เป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการใช้ชีวิตที่มีแนวคิดไม่ทำอะไรเลย เพื่อมองหาความสมดุลจากการเรียน การทำงาน หรือจากการโฟกัสบางสิ่งบางอย่าง ด้วยการพักชั่วคราว ปล่อยให้สมองได้ผ่อนคลายไม่ต้องคิดอะไร
ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้คุณรู้สึกได้ตกผลิตทางความคิด และ เกิดไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ โดยการที่เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองสักพัก อาจทำให้เราได้ทบทวนเรื่องราวบางอย่าง และ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหากใครที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้เพิ่มเติม ก็ลองไปหาซื้อ หรือสั่งออนไลน์เพิ่มเติมกันได้นะคะ ภายในหนังสือมีภาพวาดสดใสน่ารัก อ่านง่าย และมีหลายเทคนิคให้ลองปฏิบัติดู ผู้เขียนหวังว่า การแบ่งปันเรื่องราว NIKSEN จะเป็นประโยช์ให้กับทุกคนนะคะ
อ้างอิงจาก:
หนังสือ NIKSEN: The Dutch Art of Doing Nothing
worldpopulationreview.com