การสื่อสารด้วยเสียง มีอิทธิพลต่อคนฟังในระดับที่มากพอ ๆ กับการสื่อสารด้วยกลิ่น ภาพ และ การสัมผัส โดยหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เทรนด์ ASMR เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการสร้างคอนเทนต์ผ่าน Podcast YouTube หรือ Spotify ทั้งในรูปแบบเสียง หรืออาจมีภาพเคลื่อนไหวประกอบ ซึ่งหลาย ๆ คนที่ชอบฟังก็คงจะฟิน และ รู้สึกดีกันไม่ใช่น้อย ซึ่ง ความรู้สึกดีนี่แหละค่ะ จะเป็นกุญแจสำคัญที่แบรนด์สามารถนำไปกระตุ้นลูกค้าเพื่อให้เกิดการซื้อได้ง่ายขึ้น
ASMR คืออะไร
คำว่า ASMR มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า Autonomous Sensory Meridian Response ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้าบางอย่างมากระตุ้นประสาทรับความรู้สึก และก่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ หายเครียด และ เกิดความรู้สึกเคลิ้ม ๆ ฟิน ๆ รวมทั้งเกิดสมาธิ และการจดจ่อในการทำกิจกรรมบางอย่างอีกด้วย
ภาพตัวอย่างด้านบน เป็นเครื่องมือที่มีชื่อว่า Google Trends ที่แสดงผลลัพธ์การค้นหา Keyword ที่ติดเทรนด์ในช่วงเวลาต่าง ๆ เมื่อเราค้นหาคำว่า ASMR ก็ค้นพบว่า คำนี้ ๆ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นนับตั้งแต่ 2018 จนถึงปัจจุบัน
เรามาดูสถิติที่ทำการศึกษาด้าน ASMR ที่มีผลต่อจิตใจ จาก peerj.com กันค่ะ ผลสถิติค้นพบว่า 75% ของกลุ่มคนที่สัมภาษณ์ รู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ฟังเสียงกระซิบ และอีก 64% ชอบเสียงเคาะโต๊ะ หรือเสียงที่มีวัตถุมากระทบกัน
นอกจากนี้ ASMR อื่น ๆ ที่คนส่วนใหญ่ชอบฟังได้แก่
- เสียงคลื่นทะเล
- เสียงฝน
- เสียงคนคุยกันเบา ๆ
- เสียงการเคี้ยวอาหร
- เสียงร้องของสัตว์ เช่น เสียงแมว หรือ เสียงนก เป็นต้น
ตัวอย่างเสียงครางในลำคอของแมว (หรือที่เรียกว่า Purring) เป็นหนึ่งใน 28 เสียง ASMR ที่คนชอบฟังมากที่สุด
(ข้อมูลจาก https://www.healthline.com)
จิตวิทยาการตลาดกับการใช้ ASMR
นักการตลาดคงทราบดีว่า แรงจูงใจในการซื้อสินค้า และ บริการของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งมาจาก อารมณ์ ความชอบ และ ความรู้สึก ซึ่งการทำการตลาดที่ดี ควรมีหลักจิตวิทยาควบคู่ไปกับกลยุทธ์
นอกจากการผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด และการเลือกวัตถุดิบ หรือบริการที่มีคุณค่าต่อลูกค้าแล้ว การใช้จิตวิทยาการตลาดอย่าง ASMR เพื่อดึงแรงจูงใจ จะช่วยให้แคมเปญของคุณสำเร็จได้ง่ายขึ้นค่ะ
นอกจากที่แบรนด์จะการทำการตลาดด้วยการใช้ ASMR แล้ว กลุ่ม Influencer ก็นิยมใช้เสียง ASMR ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างคอนเทนต์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบวิดีโอคอนเทนต์ทั่วไป ที่มีการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ของ Influencer และใช้เสียง ASMR ประกอบ และ รูปแบบคอนเทนต์ที่ Influence สร้างเสียง ASMR มาเป็นแบบ Playlist ให้เราได้ฟังกัน
ตัวอย่าง YouTuber ที่ทำคอนเทนต์ ASMR การกินโดยเฉพาะ ซึ่งมีผู้เปิดคลิปนี้ไปแล้วถึง 102 ครั้ง
ธุรกิจประเภทไหน หรือสินค้าใดที่เหมาะกับการใช้หลักการ ASMR
เรามาดูตัวอย่างแบรนด์ดังจากทั่วโลกกันค่ะ ว่าแต่ละแบรนด์นั้น เค้าใช้ ASMR แบบไหนในการทำการตลาด หรือการทำโฆษณากัน ซึ่งในวันนี้ผู้เขียนได้รวบรวมธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค มาให้ทุกคนได้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณในอนาคตค่ะ
1. IKEA ปล่อยแคมเปญ Oddly IKEA
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ และ อุปกรณ์ตกแต่งบ้านระดับโลกอย่าง IKEA ได้ทำการศึกษาด้านการทำ ASMR ด้วยตัวเอง เพื่อเลือกหา “เสียง ASMR” ที่ดีที่สุด สบายหูที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้ฟัง และ รู้สึกได้ว่ากำลังสัมผัสสินค้าของแบรนด์อยู่ แม้จะนั่งอยู่ที่บ้าน โดย IKEA ได้สร้างคอนเทนต์ในลักษณะ การลูบไล้ผ้าปูที่นอน การใช้นิ้วเคาะสิ่งของตกแต่งบ้าน ประกอบกับเสียงกระซิบที่คอยบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และผ่อนคลาย ซึ่งสามารถรับชมตัวอย่างวิดีโอที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
2. Applebee กับเสียงย่างอาหาร
หากใครที่เปิดฟังเสียงนี้คงต้องหิวกันแน่นอน กับวิดีโอ ASMR จาก Applebee’s ร้านอาหารสัญชาติอเมริกัน ที่นำเสนอเสียงย่างเนื้อบนเตา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูของทางร้านค่ะ
สำหรับบางคนที่เป็นคนรักเนื้อย่าง เมื่อได้ฟังเสียงนี้แล้วอาจจะอยากสั่งอาหารกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามผู้ฟังบางกลุ่มก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอยากอาหาร แต่กลับรู้สึกผ่อนคลาย และ สามารถฟังได้เป็นชั่วโมง ๆ พร้อมกับนั่งทำงานไปด้วยก็ได้ค่ะ
3. Lush Cosmetics ทำการตลาดร่วมกับ Influencer
Lush Cosmetics เป็นแบรนด์จากอังกฤษที่มีผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ และ เป็นสินค้าทำมือทั้งหมด เช่น สบู่ ยาสระผม Bath Bomb ลิปบาร์ม และสินค้าบำรุงผิวอื่น ๆ ซึ่ง Lush นั้นได้ทำการตลาดร่วมกับ Influencer ที่มีชื่อว่า Taylor Darling โดยเธอมีช่องยูทูปเป็นของตัวเองที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ ASMR โดยเฉพาะ
ความพิเศษของการทำ ASMR ของ Lush นั่นก็คือ การอัดเสียงในขณะที่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์กำลังเอา Scrub มาขัดมือ พร้อมกับการรีวิวสินค้าแบบเสียงกระซิบไปด้วย และนอกจากนี้ ก็ยังมีเสียงฟู่จากการหย่อน Bath Bomb เสียงการใช้ครีมถูมือ และ เสียงสเปรย์ ซึ่งเมื่อผู้ฟังได้ยินเสียงเหล่านี้แล้ว จะมีความรู้สึกเหมือนได้ไปสปา และรู้สึกฟินเหมือนได้ใช้สินค้าด้วยตัวเองค่ะ
วิดีโอ ASMR จาก Lush ตัวนี้เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากมียอดผู้ชมจาก YouTube มากถึง 1.7 ล้านครั้ง
4 W Magazine กับการสัมภาษณ์คนดังแบบกระซิบ
มาถึงวงการสื่อนิตยาสารกันบ้างค่ะ เรียกได้ว่า ASMR เข้าถึงธุรกิจได้หลากหลายมากจริง ๆ ซึ่งทางนิตยาสาร W Magazine ได้สร้างแคมเปญ ASMR celebrity interviews in 2016 เพื่อ
สัมภาษณ์ดารา และ เซเลบชื่อดังระดับฮอลิวูด โดยในวิดีโอตัวอย่างด้านล่างนี้ เป็นหนึ่งในซีรีส์การสัมภาษณ์ในรูปแบบ ASMR กับ Margot Robbie ที่ได้พูดคุยแบบกระซิบกระซาบ และ ในระหว่างการสัมภาษณ์เธอก็ได้ทำเสียงเคาะต่าง ๆ ด้วยรองเท้า การเปิดขวนรินแชมเปญ และ การเคาะแก้วค่ะ
5 Calm App กับเสียงเล่านิทานก่อนนอน
ตัวอย่างแบรนด์สุดท้ายคือ Calm แบรนด์ที่ขาย “เสียง ASMR” โดยเฉพาะเพื่อคนที่ต้องการนอนหลับสบาย และ เพื่อการนั่งสมาธิ โดย Calm ได้มีแคมเปญร่วมกันกับดารา Matthew McConaughey ที่จะมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้ฟังได้หลับฝันดี หรือว่าใครที่กำลังมองหา เสียงเฉพาะ ที่เหมาะกับความชอบส่วนตัว สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกันเอาไว้ได้เพื่อฟังระหว่างการนั่งสมาธิ หรือลดความเครียดระหว่างวันค่ะ
สรุป
ASMR เป็นหลักการที่นักการตลาด และ แบรนด์สามารถนำไปใช้ในการทำโฆษณา หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีระหว่างการรับชม การได้ฟังเสียง และ เกิดการตัดสินใจในการซื้อสินค้าจากเราได้ง่ายขึ้น ซึ่ง ASMR ไม่ได้มีข้อจำกัดในด้านของประเภทธุรกิจ หรือ สินค้า แต่เป็นเรื่องของความสร้างสรรค์ และ หลักจิตวิทยาที่สามารถนำเสียงมาประกอบการคอนเทนต์ให้เป็นเรื่องราว และความรู้สึกดี ๆ ค่ะ
อ้างอิงจาก:
https://quuu.co
https://www.healthline.com
https://blog.hootsuite.com