Google Ads นับเป็นอีกช่องทางที่สามารถสร้างประสิทธิภาพการซื้อโฆษณาบนโลกออนไลน์ และช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจในการทำธุรกิจ
แต่สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มต้นซื้อโฆษณาบน Google Ads คงพบว่าการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Google นั้นมีรายละเอียดที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อช่วยให้การซื้อโฆษณาของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น
ด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลายจึงมีข้อควรระวังที่ควรป้องกันระหว่างตั้งค่าโฆษณาบน Google ตัวอย่างเช่น
- ตั้งเป้าหมายในการซื้อโฆษณาผิด
- ไม่ตรวจทานการตั้งค่าต่าง ๆ
- เลือกคีย์เวิร์ดในการซื้อโฆษณาได้ไม่เหมาะสม
- ไม่ค่อยได้ตรวจสอบผลลัพธ์ของโฆษณาที่ลงไป
- บริหารงบประมาณของแต่ละแคมเปญได้ไม่ดีพอ
STEPS Academy จึงขอนำเสนอข้อควรระวังที่อาจเกิดขึ้นได้จากการซื้อโฆษณา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างการเสียค่าใช้จ่ายด้านโฆษณามากเกินไปโดยไม่ได้ผลลัพธ์กลับคืนมาค่ะ
ก่อนจะเข้าสู้เนื้อหาเราขอแนะนำให้รู้จักกับหลากหลายคำศัพท์ที่จะเล่าต่อไปในบทความนี้นะคะ
- Conversion คือการกระทำของลูกค้าซึ่งนำไปสู่การสร้างยอดขายให้ธุรกิจ ซึ่งการกระทำที่ว่าเป็นได้หลายอย่าง เช่น การกรอกข้อมูลส่วนตัวให้ติดต่อกลับ การสมัครสมาชิก การกดสั่งซื้อ
- Auto-apply Recommendations คือข้อแนะนำต่าง ๆ จากทาง Google ที่ปรากฏขึ้นมาระหว่างตั้งค่าโฆษณา เพื่อช่วยให้นักการตลาดวางกลยุทธ์ได้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
- Broad Match คือการกำหนดคีย์เวิร์ดแบบเปิดกว้างเพื่อให้โฆษณาของเราปรากฏพร้อมกับคีย์เวิร์ดอื่น ๆ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน
- Phrase Match คือการกำหนดคีย์เวิร์ดโดยใส่เครื่องหมาย “……” ล้อมรอบคำที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าใครค้นหาสินค้าหรือบริการโดยมีคำนั้นเป็นส่วนประกอบ โฆษณาของเราจะปรากฏขึ้นมา
- Exact Match คือการกำหนดคีย์เวิร์ดโดยใส่เครื่องหมาย […….] ล้อมรอบคีย์เวิร์ดไว้ ซึ่งถ้าใครไม่ได้ค้นหาโดยใช้คีย์เวิร์ดนี้ตรง ๆ โฆษณาของเราจะไม่ปรากฏ
- Negative Keywords คือการกำหนดว่าไม่ให้คนเสิร์จด้วยคีย์เวิร์ดไหนค้นหาโฆษณาของเราเจอ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการยิงโฆษณา
- Click Through Rate (CTR) คืออัตราการคลิกของกลุ่มเป้าหมายเทียบกับอัตราการเห็นโฆษณา (Impression)
- Quality Score คือคะแนนคุณภาพของคีย์เวิร์ดที่เลือกใช้ในโฆษณา ซึ่งถ้าคะแนนสูงโฆษณาบนหน้า Google จะอยู่ในอันดับที่ดี
- Text Ad หมายถึงโฆษณารูปแบบตัวอักษรที่ประกอบไปด้วยเฮดไลน์ คำอธิบายโฆษณา ลิงก์เว็บไซต์ และ Call to Action
- Responsive Search Ads คือโฆษณารูปแบบข้อความที่สามารถกำหนดเฮดไลน์ได้ถึง 15 แบบ รวมถึงเพิ่มคำอธิบายได้ 4 แบบ ซึ่งทางระบบจะรันโฆษณาออกมาได้ 43,680 รูปแบบเลยทีเดียว
- Google Ad Extensions คือรายละเอียดเพิ่มเติมนอกจากเฮดไลน์และคำอธิบาย เช่น รูป เบอร์โทร ตำแหน่งที่อยู่ เรทติ้ง ซึ่งใช้ออกแบบ Google Ads รูปแบบข้อความ
มาดูกันค่ะว่าข้อควรระวังที่คนทำ Google Ads ควรป้องกันไว้มีอะไรบ้าง โดยเราขอยกมาอธิบายทั้งหมด 6 หัวข้อนะคะ
ข้อควรระวังที่ 1 : ตั้งเป้าหมายด้าน Conversion (การกระทำของลูกค้าซึ่งนำมาสู่ยอดขาย) ผิด
หลายคนเข้าใจว่าหลังซื้อโฆษณาบน Google แล้วควรวัดผลตอบรับเรื่อง Conversion (การกระทำของลูกค้าซึ่งนำไปสู่การสร้างยอดขายให้ธุรกิจ) จากจำนวนคนที่เข้าชมเว็บไซต์ แต่ช่องโหว่ของวิธีการนี้คือแม้จะมีคนเข้ามาชมเว็บไซต์มากเท่าไร แต่ยอดขายที่ได้กลับมาอาจจะไม่ได้มากตามไปด้วย
การวัดผลแบบนี้จึงไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ เพราะสุดท้ายสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้คือยอดขายและกำไร ดังนั้น ถ้าอยากทราบแค่จำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์ เราสามารถใช้ตัวชี้วัดอื่น ๆ อย่างยอดคลิก หรือจำนวน Pageviews แทนได้เช่นกันค่ะ
ในทางกลับกัน เป้าหมายด้าน Conversion ที่ดีนั้นควรเป็นการกระทำบางอย่างของลูกค้าซึ่งนำไปสู่ยอดขายได้โดยตรง เช่น การกรอกข้อมูลส่วนตัวให้ทางร้านติดต่อกลับไป การกรอกรายละเอียดความสนใจในแบบสอบถาม การสมัครสมาชิก การกดสั่งซื้อ
ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนจากการโฟกัสแค่อยากให้มี Conversion มาก ๆ เป็นอยากให้มี Conversion ที่สร้างยอดขายได้มาก เราจะวางแผนการทำโฆษณาบน Google ได้อย่างมีกลยุทธ์ขึ้น เพราะฉะนั้นให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า
- เราจะสร้าง Conversion ด้านยอดขายให้มากที่สุดอย่างไรในงบประมาณจำกัด ?
- เราจะวางแผนกลยุทธ์การซื้อโฆษณาอย่างไรให้ได้ Return on Ad Spend (ROAS) ตามเป้าที่ตั้งไว้ ?
หลังจากวางกลยุทธ์ที่นำไปสู่การกระทำบางอย่างของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ให้เรานำกลยุทธ์ที่น่าจะได้ผลมาทดลองใช้ เพื่อดูว่ากลยุทธ์ไหนตอบโจทย์เป้าหมายด้านยอดขายได้ดีที่สุดค่ะ
ข้อควรระวังที่ 2 : ใช้ Auto-apply Recommendations (การแนะนำแบบอัตโนมัติ) โดยไม่ตรวจทานให้ดีก่อน
โดยปกติแล้ว ทาง Google จะมี Recommendations หรือข้อแนะนำต่าง ๆ ปรากฏขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อโฆษณาวางกลยุทธ์ได้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากขึ้นค่ะ ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า Google มีข้อแนะนำให้หลายอย่างมาก
แต่ถ้าเราตัดสินใจทำตามทั้งหมดนั้นโดยไม่ตรวจเช็กแต่ละคำแนะนำให้ดีก่อน เราอาจจะได้ผลลัพธ์การซื้อโฆษณาที่ไม่ดีเท่าไร เพราะ Recommendations ของทาง Google จะอ้างอิงผลลัพธ์ทางสถิติว่าซื้อโฆษณาโดยใช้กลยุทธ์อะไรแล้วจะขายดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Recommendations เหล่านี้จะประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ
เราจึงควรทำความเข้าใจแต่ละ Recommendations ให้ละเอียดว่าจะเลือกใช้ Recommendations อะไรเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในการซื้อโฆษณาค่ะ ซึ่งหลังจากเลือกใช้คำแนะนำไหนแล้ว ในช่วงแรกเราก็ควรเข้ามาเช็กแบบรายวันว่าคำแนะนำที่เลือกไปส่งผลต่อประสิทธิภาพโฆษณาอย่างไรบ้าง
ซึ่งถ้ารู้สึกว่าประสิทธิภาพโฆษณาเริ่มเสถียรแล้ว เราค่อยปรับการเช็กเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้ค่ะ เพราะถ้าเราไม่เข้ามาเช็กเป็นประจำแบบนี้ Recommendations ของทาง Google อาจทำให้เราเสียเงินโฆษณามากเกินกว่าความจำเป็น หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือการตั้งค่าแบบผิด ๆ อาจทำให้โฆษณาของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่มากพอด้วยค่ะ
ข้อควรระวังที่ 3 : กำหนดแค่ Broad Keyword (คีย์เวิร์ดความหมายกว้าง) เพียงอย่างเดียว
การกำหนดคีย์เวิร์ดใน Google Ads นั้นมีหลายแบบ ทั้ง Broad Match, Phrase Match และ Exact Match ซึ่งเราขออธิบายคีเวิร์ดแต่ละแบบให้ฟังอย่างคร่าว ๆ นะคะ
เริ่มจาก Broad Match หรือการกำหนดคีย์เวิร์ดแบบเปิดกว้างเพื่อให้โฆษณาของเราปรากฏพร้อมกับคีย์เวิร์ดอื่น ๆ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าคีย์เวิร์ดที่เรากำหนดไว้คือ ‘รองเท้าวิ่ง’ ตอนมีคนค้นหาเกี่ยวกับถุงเท้าสำหรับวิ่งหรือถุงเท้ากีฬาก็อาจมีโฆษณาของเราโผล่ขึ้นมาได้
ต่อมาคือการกำหนดคีย์เวิร์ดแบบ Phrase Match โดยใส่เครื่องหมาย “……” ล้อมรอบคำที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าใครค้นหาสินค้าหรือบริการโดยมีคำนั้นเป็นส่วนประกอบ โฆษณาของเราจะปรากฏขึ้นมา เช่น ถ้าเรากำหนดคีย์เวิร์ดว่า “ต่อเติมบ้าน” เมื่อมีคนเสิร์จเกี่ยวกับการรับต่อเติมบ้านครบวงจร หรือแนะนำช่างต่อเติมบ้าน โฆษณาของเราก็จะแสดงขึ้นมาที่หน้าการค้นหาค่ะ
อย่างสุดท้ายคือ Exact Match หรือการกำหนดคีย์เวิร์ดโดยใส่เครื่องหมาย […….] ล้อมรอบคีย์เวิร์ดไว้ ซึ่งถ้าใครไม่ได้ค้นหาโดยใช้คีย์เวิร์ดนี้ตรง ๆ โฆษณาของเราจะไม่ปรากฏขึ้นมาค่ะ
เช่น ถ้ากำหนดคีย์เวิร์ดว่า [เช่าชุดราตรี] ก็จะมีแค่คนเสิร์จว่าเช่าชุดราตรีเท่านั้นที่จะเห็นโฆษณาของเราค่ะ
พอรู้จักกับคีย์เวิร์ดแต่ละประเภทแล้วเราจะเห็นว่าถ้าตั้งคีย์เวิร์ดของโฆษณาเป็นแบบ Broad Match เพียงอย่างเดียวจะส่งผลให้คนเห็นโฆษณาของเรามากก็จริงแต่คนเหล่านั้นอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ทำให้เราเสียเงินค่าโฆษณามากกว่าที่ควรค่ะ
ดังนั้น เราจึงควรเลือกใช้ Broad Match แค่ในบางกรณีเท่านั้น เช่น
- เมื่อเปิดตัวสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ แล้วต้องการสร้าง Brand Awareness
- เมื่อมีตัวเลขระบุว่าโฆษณาของเราที่ใช้ Broad Match ช่วยให้เกิดจำนวน Conversion ที่น่าพอใจและสร้างยอดขายได้จริง
ข้อควรระวังที่ 4 : ไม่ได้ใส่ Negative Keywords (กำหนดว่าคนเสิร์จคีย์เวิร์ดไหนจะไม่เห็นโฆษณาของเรา)
ก่อนจะทำความเข้าใจว่าทำไมการไม่ใส่ Negative Keywords ถึงเป็นปัญหา ลองมาดูกันว่า Negative Keywords คืออะไร และสำคัญอย่างไรต่อการซื้อโฆษณาค่ะ ซึ่งในข้อก่อนหน้านี้เราได้อธิบายไปแล้วใช่มั้ยคะว่าถ้าเรากำหนดคีย์เวิร์ดได้ตรงกับคำที่กลุ่มเป้าหมายค้นหา โฆษณาของเราจะปรากฏขึ้นมาค่ะ ในทางกลับกัน ถ้าเราจะกำหนดว่าไม่ให้คนเสิร์จด้วยคีย์เวิร์ดไหนค้นหาโฆษณาของเราเจอ เราก็ต้องตั้ง Negative Keywords ไว้นั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเช่น ถ้าธุรกิจของเราเน้นขายเสื้อผ้าสำหรับให้ผู้หญิงใส่ไปทำงาน เราอาจจะกำหนด Negative Keywords เป็นเสื้อผ้าเด็ก, เสื้อผ้าผู้ชาย, เสื้อกีฬา เพราะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขาย
ดังนั้น เมื่อคนเสิร์จหาสามคำนี้ก็จะไม่มีโฆษณาของเราปรากฏขึ้นมาโดยการกำหนด Negative Keywords มีข้อดีคือ
- โฆษณาของเราจะมีเปอร์เซ็นต์ Click Through Rate (CTR) สูงขึ้น เพราะผู้ค้นหาสินค้าบริการด้วยคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ได้เจอกับโฆษณาที่ตรงใจ
- ยอด Conversion มีโอกาสสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเมื่อเจอโฆษณาที่ใช่ กลุ่มเป้าหมายจะตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
- Quality Score หรือคะแนนคุณภาพของคีย์เวิร์ดที่เลือกใช้ในโฆษณาจะสูงขึ้น ทำให้โฆษณาบนหน้า Google อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การใส่ Negative Keywords ยังช่วยให้ลูกค้าที่เคยค้นหาคีย์เวิร์ดของเราแล้วไม่สนใจไม่เห็นโฆษณาของเว็บไซต์เราซ้ำอีก ซึ่งเราจะค้นหา Negative Keywords ได้โดยใช้ตัวช่วยอย่าง Search Term Report (STR) เพื่อให้รู้ว่าคีย์เวิร์ดที่คนค้นหาบน Google นั้นมีคำว่าอะไรบ้าง ตรงกับคำที่เราวางแผนไว้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะได้เปลี่ยน เพื่อไม่ให้เสียค่าโฆษณาไปอย่างน่าเสียดายค่ะ
ข้อควรระวังที่ 5 : ไม่เช็กผลลัพธ์ของคำต่าง ๆ ที่เลือกใช้ใน Text Ad
สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่า Text Ad คืออะไร เราจะมาขยายความให้ฟังกัน เพราะทุกคนคงเคยเห็นโฆษณาแบบนี้ตอนค้นหาสิ่งที่ต้องการบน Google ค่ะ
จากรูปนี้ในกรอบสีแดงคือ Text Ad ซึ่งหมายถึงโฆษณารูปแบบตัวอักษรที่ประกอบไปด้วยเฮดไลน์ คำอธิบายโฆษณา ลิงก์เว็บไซต์ และ Call to Action ค่ะ
ซึ่งตามหลักของ Responsive Search Ads แล้วเราสามารถ
- กำหนด Text Ad ใน Google Ads ได้ถึง 15 แบบ เพื่อให้ระบบสุ่มว่าจะแสดงผล 3 คำโฆษณาไหนให้ลูกค้าแต่ละราย
- ส่วนคำอธิบายหรือ Description นั้น เรากำหนดไว้ได้ 4 แบบ ซึ่งตัวระบบจะสุ่มว่าจะแสดงผล 2 คำอธิบายอะไรให้ลูกค้าแต่ละรายค่ะ
Responsive Search Ads จึงแสดงผลโฆษณาที่แตกต่างกันได้ถึง 43,680 รูปแบบเลยค่ะ
ด้วยความที่ระบบของ Google สุ่มเลือกคำโฆษณาเองแบบนี้ เราจึงควรเข้ามาเช็กอยู่เสมอว่าแต่ละคำที่ถูกนำไปใช้มีผลต่อประสิทธิภาพการโฆษณาอย่างไร เช่น คำไหนมีผลดีต่อการโฆษณามากกว่า หรือคำไหนใช้ซื้อโฆษณาแล้วไม่ได้ผล เราจะได้ตัดคำนั้นออกไปแล้วหาคำใหม่มาแทนค่ะ
ข้อควรระวังที่ 6 : ใช้เงินลงทุนกับแต่ละแคมเปญไม่เหมาะสม
เวลาเราใช้เงินลงทุนกับโฆษณาไหน เราย่อมอยากให้ผลลัพธ์เป็นรายได้กลับมาใช่ไหมคะ ซึ่งถ้าใช้คีย์เวิร์ดไหนซื้อโฆษณาแล้วได้ผลตอบรับดี เราก็อาจจะทุ่มเงินกับคีย์เวิร์ดนั้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาของเรามากขึ้นด้วย
ในทางกลับกัน ถ้าคีย์เวิร์ดไหนใช้สร้างยอดขายได้ไม่เท่าไร เราก็ควรลดงบประมาณที่ใช้ในคีย์เวิร์ดนั้น หรือถ้าเป็นไปได้ก็ลบคีย์เวิร์ดนั้นออกไปเลย
แต่ปัญหาที่จะเล่าต่อไปคือผู้ซื้อโฆษณาดันใส่เงินลงทุนน้อยทั้งที่คีย์เวิร์ดนั้นได้ผลตอบรับดี ทำให้โฆษณาไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร อย่างเช่น ถ้าเราดูแลอยู่ 5-10 แคมเปญ แต่จ่ายค่าโฆษณาแค่แคมเปญละ 180 กว่าบาทต่อวันจะทำให้โฆษณาของเราแสดงผลได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นค่ะ
วิธีแก้ไขคือให้เราวิเคราะห์ว่าคีย์เวิร์ดไหนหรือแคมเปญใดมีเสียงตอบรับดีที่สุด เราจะได้ทุ่มเงินในส่วนเหล่านี้ และปิดหรือเลือกใช้ส่วนที่ใช้ไม่ได้ผล
แต่ถ้างบประมาณจำกัดจริง ๆ ก็มีหลายวิธีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ได้ผลในการทำโฆษณามากขึ้น ตัวอย่างเช่น
- เลือกใช้แค่คีย์เวิร์ดที่เป็น Phrase Match และ Exact Match เพื่อให้โฆษณาของเราแสดงผลเมื่อคนเสิร์จคีย์เวิร์ดที่กำหนดไว้ ไม่ปนกับคีย์เวิร์ดอื่น ๆ ที่มีความหมายต่างกัน
- ใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ Google Ad Extensions เช่น ใส่รูป ใส่เบอร์โทร ใส่ตำแหน่งที่อยู่ ใส่เรทติ้ง เพื่อช่วยให้โฆษณาของเราโดดเด่น น่าสนใจ ทำให้คนอยากคลิกมากขึ้น
อ่านรายละเอียดคอร์สเรียนเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ 👇
https://stepstraining.co/digital-marketing-specialist
สำรองที่นั่งหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook: Inbox STEPS Academy
LINE OA: @STEPStraining https://lin.ee/jRRdsrN หรือโทร 065-494-6646