Social Proof คืออะไร ? 6 วิธีง่าย ๆ ที่ทำให้ธุรกิจของคุณน่าเชื่อถือ

Social Proof คืออะไร

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบไหน การมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ลูกค้าเริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไป เมื่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าถึง 81 % (ข้อมูลจาก Singlegrian) 

Social Proof คืออะไร ?


Social Proof คือ “ปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อใจกับความคิดเห็นของผู้อื่นในสังคม และปล่อยให้ความคิดเห็นนั้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ” ซึ่งในกรณีนี้เราก็มักจะสังเกตได้จากหลาย ๆ ครั้งที่เรามักจะซื้อสินค้า โดยการหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาช่วยในการตัดสินใจ หรือ การตามไปเข้าคิวร้านอาหารใหม่ ๆ ที่เป็นกระแสในสังคม

แล้ว Social Proof จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเราได้อย่างไร ? 

ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของตัวลูกค้า ที่เริ่มมีการค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์ก่อนตัดสินใจซื้อ การมี Social Proof มารองรับความกังวลของลูกค้าเหล่านี้ก็คือหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ตัดสินใจง่ายมากขึ้น 

แล้ว Social Proof ส่งผลกระทบกับการตัดสินใจได้มากขนาดไหน ? 

จากสถิติแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่ (76 %) ให้ความสำคัญกับ Social Proof มากเท่ากับคำแนะนำจากเพื่อน หรือ คนในครอบครัวเลย ซึ่งนี่ก็นับเป็นหลักฐานยืนยันว่าทุก ๆ ธุรกิจต้องเตรียมตัว ในการสร้าง Social Proof เอาไว้รองรับ

6 วิธีใช้ Social Proof ให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ

ในการใช้ Social Proof มาเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ก็มีทั้งหมด 6 วิธีด้วยกัน ซึ่งวิธีใช้ Social Proof เพิ่มความน่าเชื่อนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันได้เลยครับ

วิธีที่ 1 รู้ว่าธุรกิจเราต้องการ Social Proof แบบไหน แล้วเลือกใช้อย่างเหมาะสม


Social Proof สามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 6 ประเภทซึ่งเราจะต้องรู้ว่าแต่ละประเภทมีจุดเด่นอย่างไร เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยทั้ง 6 ประเภทของ Social Proof มีดังต่อไปนี้

1.1 Social Proof ประเภทการรับรอง (Certification)

ซึ่งก็เหมือนกับการสมัครงานที่ฝ่ายบุคคลจะต้องการหลักฐานที่รับรองความสามารถของผู้สมัครได้ ในการซื้อสินค้าก็เช่นเดียวกัน ที่ลูกค้ามักจะมองหาใบประกาศ หรือ การรับรองต่าง ๆ ที่ระบุว่าสินค้าตัวนี้มีความน่าเชื่อถือ 

รางวัลมิชลินไกด์รับรองคุณภาพ
รางวัลมิชลินไกด์รับรองคุณภาพ

ที่มา Michelin

โดยตัวอย่างของ Social Proof ประเภทนี้ก็พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น “มิชลินไกด์” ที่ถูกใช้ในการรับรองคุณภาพและความสมบูรณ์แบบของร้านอาหาร หรือ รางวัลต่าง ๆ ที่เห็นได้บนโปสเตอร์ภาพยนตร์ ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ Social Proof ประเภทนี้คือเราต้องมั่นใจว่าผู้ที่รับรองเรานั้นมีความน่าเชื่อถือ และ เป็นที่รู้จัก

ตัวอย่างโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่ใช้ Social Proof
ตัวอย่างโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่ใช้ Social Proof

ที่มา pastposter.com

1.2 Social Proof ประเภทการใช้สื่อ (Media Coverage)

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าสื่อในประเทศไทยมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่มีความเป็นสื่อมวลชน (Mass Media) อย่างสำนักข่าวต่าง ๆ  หรือ สื่อที่มีความเฉพาะทาง เช่น เพจรีวิวอาหาร ภาพยนตร์ รถยนต์ อสังหา ซึ่งสื่อเหล่านี้ในความคิดของลูกค้า มักจะมีภาพลักษณ์ที่มีความน่าเชื่อถือ และถือเป็น Social Proof ที่ช่วยภาพลักษณ์ของแบรนด์เราได้

ตัวอย่างการใช้สื่อใหญ่เป็น Social Proof
ตัวอย่างการใช้สื่อใหญ่เป็น Social Proof

ที่มา Ritual

จากตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่ามีหลายแบรนด์ที่ใส่คำวิจารณ์จากสื่อลงไปในโฆษณา หรือ แม้แต่การเข้าไปโปรโมตสินค้าผ่านสื่อใหญ่ ๆ ที่น่าเชื่อถือ

1.3 Social Proof ประเภทโซเชียลมีเดีย (Social Media) 

Social Proof รูปแบบนี้คือการใส่ข้อมูลลงไปให้ลูกค้าเห็นว่าแบรนด์ของเราถูกพูดถึง และ ติดตามบนโลกออนไลน์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็จะยิ่งมีความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญที่สุดของ Social Proof ประเภทนี้คือการที่ตัวเลข หรือ Social Proof เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นข้อพิสูจน์จากผู้ใช้จริง หรือ กลุ่มลูกค้าโดยตรง

ตัวอย่าง Social Proof ของ Hubspot
ตัวอย่าง Social Proof ของ Hubspot

ที่มา  Hubspot

1.4 Social Proof ประเภทการอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญ (Expert Referrals) 

ไม่ว่าธุรกิจของเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด แน่นอนว่าการที่แบรนด์ของเรามีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมนั้น ๆ มาสนับสนุน ก็จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่งการระบุว่ามีลูกค้ารายใหญ่ที่ตัดสินใจใช้สินค้าเป็นต้น

Social Proof ที่มีการอ้างอิงถึงผู้เชี่ยวชาญ
Social Proof ที่มีการอ้างอิงถึงผู้เชี่ยวชาญ

ที่มา tvtropes.org

1.5 Social Proof ประเภทการให้คะแนนและรีวิว (Rating, Review และ Testimonial) 

Social Proof ประเภทนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทที่เป็นข้อพิสูจน์จากลูกค้า หรือ ผู้ใช้งานโดยตรง ซึ่งจะยิ่งทำให้มีความน่าเชื่อถือของแบรนด์มีน้ำหนักมากขึ้น โดยการใช้ Social Proof ประเภทนี้ก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบทั้งการให้ดาว การให้คะแนน หรือ แม้แต่การเขียนรีวิว ซึ่ง Social Proof ประเภทนี้มักจะได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าสูง

ตัวอย่าง Social Proof ประเภทการให้คะแนนรีวิวใน Google Shopping
ตัวอย่าง Social Proof ประเภทการให้คะแนนรีวิวใน Google Shopping

1.6 Social Proof ประเภทการบอกต่อจากคนรอบข้าง 

Social Proof ประเภทนี้มีลักษณะเป็นการบอกต่อถึงประสบการณ์การใช้งาน (Word-of-Mouth) ซึ่งดูจะเป็นประเภทที่มีความหนักแน่น และ น่าเชื่อถือมากเป็นอันดับต้น ๆ เพราะผมเชื่อว่าใครหลายคนก็ต้องเคยซื้อสินค้าจากการบอกต่อของคนรอบข้างแน่นอน

โดยในกรณีนี้นอกจากการทำให้สินค้ามีคุณภาพที่ดี ลูกค้าติดใจจนบอกต่อแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งนั่นคือการใช้ รางวัล หรือ ส่วนลด เป็นแรงจูงใจ ให้ลูกค้าบอกต่อสินค้าไปเรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่า “Reward Referral” นั่นเอง

ตัวอย่าง Reward Referral ในเกม
ตัวอย่าง Reward Referral ในเกม

ที่มา Medium

วิธีที่ 2 เปิดรับคำติชมอย่างจริงใจ


การใช้ Social Proof ในรูปแบบของการให้คะแนน หรือ รีวิว มักจะมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งทุก ๆ แบรนด์มักจะกังวลกันนั่นคือ รีวิวที่เป็นไปในแง่ลบ ซึ่งหลาย ๆ แบรนด์มักจะใช้วิธีการนำรีวิวดี ๆ มากลบ แล้ว ลบรีวิวแย่ ๆ นั้นออกไป 

แต่ความจริงแล้วลูกค้าหลาย ๆ คนมักจะรู้กันว่า ในทุก ๆ สินค้าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีคนติ ดังนั้นการแสดงความจริงใจ ด้วยการปล่อยให้มีรีวิวที่ไม่ได้เป็นแง่บวกร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่บ้าง ก็นับเป็นการแสดงความจริงใจอย่างหนึ่ง

ในแง่ของพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค “คะแนนรีวิวที่มีความสมเหตุสมผล” ก็มีผลกระทบโดยตรงเช่นเดียวกัน โดยจากสถิติผู้บริโภคจำนวนมากมักจะมีความเชื่อมั่นกับแบรนด์ที่มีคะแนนรีวิวอยู่ที่ 3 – 4 ดาวเพราะมั่นใจได้ว่าเป็นรีวิวที่มีความจริงใจ ไม่ใช่การรีวิวแบบหลอก ๆ (ข้อมูลจาก Brightlocal)

ดังนั้นการแสดงความจริงใจ ด้วยการเก็บผลตอบรับแง่ลบ (ที่สมเหตุสมผล) เอาไว้ ก็นับเป็นการใช้เทคนิค Social Proof ที่ดีเช่นกัน โดยถ้าหากยังกังวลเรื่องภาพลักษณ์นั้น เราก็สามารถใช้จัดวางให้รีวิวแง่บวกเด่นกว่าก็ได้ 

วิธีที่ 3 เผยภาพการใช้งานจริง


การที่ลูกค้าเห็นภาพการใช้งานสินค้า และ บริการจริง จะยิ่งช่วยให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เพราะลูกค้าจะสามารถเห็นได้เลยว่าสินค้าและบริการมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ตัวอย่าง Social Proof ที่แสดงภาพการใช้งานจริง
ตัวอย่าง Social Proof ที่แสดงภาพการใช้งานจริง

ที่มา Asos

โดยวิธีการที่เราสามารถนำมาใช้ ก็มีทั้งการนำรูปจริงจากลูกค้ามาใส่ไว้ในหน้าสินค้านั้น ๆ หรือ แม้กระทั่งการทำแคมเปญการตลาดที่เปิดโอกาสให้คนใช้สินค้าแล้วถ่ายภาพรีวิว 

โดยเทคนิคนี้เราจะเห็นได้ตาม Instagram ร้านค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะประเภทเสื้อผ้า แฟชั่น ที่ร้านค้ามักจะลงรูปผู้ใช้จริงพร้อม Tag กลับไปที่ลูกค้าคนนั้น ๆ

วิธีที่ 4 การจับมือร่วมกับ Micro Influencer 


อีกหนึ่งวิธียอดนิยมของหลาย ๆ แบรนด์นั่นคือการใช้ Influencer หรือผู้ที่มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ซึ่งในอดีตเรียกได้ว่าเป็นวิธีการที่เพิ่มความน่าเชื่อของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าหลายคนมักจะเริ่มมีความสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการใช้ Influencer รายใหญ่ ๆ เพื่อโฆษณาสินค้า ซึ่งจากสถิติแล้วเพียงแค่ 4% ของลูกค้าเท่านั้นที่มอง Influencer ดัง ๆ มีความน่าเชื่อถือ (ข้อมูลจาก Miappi ผู้ให้บริการด้านการตลาดผ่านคอนเทนต์)

แล้วเราควรทำอย่างไร ? หนึ่งในทางออกนั่นคือการหันมาใช้ Micro Influencer หรือ ผู้มิอิทธิพลรายย่อยมากขึ้น โดยเน้นไปใช้ผู้อิทธิพลที่มีเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของเราจริง ๆ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ประกอบกับการนำงบไปใช้จ้าง Micro Influencer หลาย ๆ คน ก็ยิ่งทำให้ตัวตนของแบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าเพียงคนเดียว

#Microinfluencer ใน Instagram ที่สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้
#Microinfluencer ใน Instagram ที่สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้

วิธีที่ 5 สร้างระบบอ้างอิง


อย่างที่ได้มีการพูดถึงไปก่อนหน้านี้ สำหรับการสร้าง Social Proof ด้วยวิธีการอ้างอิง หรือ บอกต่อจากคนรอบข้าง โดยการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้ามีการบอกต่อ หนึ่งในเทคนิคในการสร้างแรงจูงใจ ก็คือการใช้ Incentive หรือ สิ่งกระตุ้น ซึ่งในทีนี้สามารถเป็นได้ทั้ง เครดิตเงินสด ส่วนลด หรือรางวัล สำหรับคนที่มีการบอกต่อจนเกิดการซื้อ 

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องสำอางค์แบรนด์หนึ่งที่มีการเปิดแคมเปญให้คุณที่มีการซื้อสินค้าไป มีการบอกต่อเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ แล้วถ้าเกิดว่ามีใครเข้ามาซื้อ พร้อมระบุตัวตนว่าคือคนที่มาจากการบอกต่อของคุณ นั่นจำทำให้คุณได้ Incentive เป็นส่วนลดสินค้าเมื่อคุณเข้ามาซื้อในครั้งต่อไป เป็นต้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในบางครั้งเราอาจจะเห็นตามร้านอาหาร หรือ สถานที่ท่องเที่ยวที่มักใช้โซเชียลมีเดียมาเกี่ยวอย่างการถ่ายรูป แล้วให้กดไลก์ กดแชร์เพื่อรับรางวัล ซึ่งนั่นก็เปรียบเสมือนการใช้ Social Proof บอกต่อเข้าไปในวงกว้าง

ตัวอย่างการให้รางวัลจากการบอกต่อ (Reward Referral)
ตัวอย่างการให้รางวัลจากการบอกต่อ (Reward Referral)

ที่มา buyapowa.com

วิธีที่ 6 การแชร์ Non-Sponsored Content


อีกหนึ่งวิธีในการใช้ Social Proof เพื่อมาทำให้แบรนด์ของเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้นนั่นก็คือการแชร์คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีการกล่าวอ้างถึงตัวแบรนด์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของเรา เช่น บทความ ตัวอย่าง และ กรณีศึกษา เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นเจ้าของแบรนด์ขายเสื้อผ้ากีฬา เราอาจจะแชร์ผลวิจัยที่ระบุว่าการเลื่อใช้เสื้อผ้าที่เหมาะสมมีผลต่อสมรรถภาพ หรือ ผลสำรวจความรู้สึกหลังใช้งานว่ามีความแตกต่างจากการใส่เสื้อผ้าธรรมดาออกกำลังกายอย่างไร 

ซึ่ง Social Proof ในลักษณะนี้จะช่วยให้แบรนด์และสินค้าของเรามีภาพลักษณ์ที่ดี โดยไม่ต้องใช้วิธีการโฆษณาตรง ๆ รวมทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดูมีความเชี่ยวชาญและใส่ใจอีกด้วย

สรุป


ในการทำธุรกิจปัจจุบันความน่าเชื่อถือยังเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยหนึ่งในวิธีที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือ ก็คือการนำ Social Proof เข้ามาใช้ โดยสามารถนำมาใช้ได้ 6 วิธีได้แก่

1. เลือกประเภท Social Proof ที่มีความเหมาะสม

2. เปิดรับคำติชมอย่าจริงใจ

3. เผยภาพการใช้งานจริง

4. การจับมือร่วมกับ Micro Influencer

5. การสร้างระบบอ้างอิง

6. การแชร์ Non-Sponsored Content

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

14 เทคนิคการสร้าง Engagement บน Facebook เพื่อธุรกิจออนไลน์
เพิ่ม Reach ให้แบรนด์ได้ด้วยการสร้าง Youtube Bumper Ad ภายใน 6 วินาที