5 ขั้นตอน สร้าง Brand Identity ให้น่าจดจำอย่างแบรนด์ระดับโลก

ขั้นตอนการสร้าง Brand Identityให้มีประสิทธิภาพ

การสร้างแบรนด์สำหรับคุณคืออะไร?

การสร้างโลโก้ ชื่อแบรนด์ของธุรกิจตัวเอง?

การสร้างมูลค่าที่มากกว่าเดิมแก่สินค้าของคุณ?

ใช่ค่ะ​ สองข้อดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ แต่การสร้างแบรนด์มีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น มันคือการที่คุณสร้างมุมมองบางอย่างต่อลูกค้า การส่งมอบความรู้สึก ตัวตน ที่โดดเด่นและแตกต่าง ไปสู่ใจของลูกค้า และมันคือสิ่งที่สิ่งที่ผู้อื่นพูดถึงคุณ

5 ขั้นตอนการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์

  1. ศึกษาผู้ชม คู่แข่ง รวมถึงจุดแข็งของแบรนด์
  2. ออกแบบโลโก้และเทมเพลตสำหรับธุรกิจ
  3. การสื่อสารที่คุณจะใช้​ เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ชมทางโฆษณาและบนโซเชียลมีเดีย
  4. รู้ว่าควรหลีกเลี่ยงอะไร
  5. มีการติดตาม ตรวจสอบ

1. ศึกษาผู้ชม คู่แข่ง รวมถึงจุดแข็งของแบรนด์

เมื่อคุณเริ่มต้นธุรกิจ ขั้นตอนแรกในการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) คือการศึกษาตลาด ซึ่งการจะทำสิ่งนี้ได้ คุณต้องทำความเข้าใจห้าองค์ประกอบเหล่านี้ก่อน นั่นก็คือ

Audience (รู้จักผู้ชม)
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนแตกต่างกัน จะมีความต้องการที่ต่างกัน นั่นทำให้คุณไม่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการสำหรับเด็ก ด้วยวิธีเดียวกันกับการเสนอสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ได้ การเรียนรู้สิ่งที่ผู้ชมของคุณต้องการจากธุรกิจ จึงมีความสำคัญมากต่อการสร้างแบรนด์ให้คนจดจำและหลงรัก

Value Proposition & Competition (รู้คุณค่าหรือจุดแข็งของแบรนด์ และรู้จักคู่แข่ง)
การรู้คุณค่าและจุดแข็งของแบรนด์ คือการรู้ว่าอะไรที่ทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นในอุตสาหกรรมเดียวกับคุณได้ รู้ว่าสิ่งใดที่คุณสามารถมอบให้ผู้บริโภคโดยที่ธุรกิจเจ้าอื่นทำไม่ได้ อีกทั้งรู้จักข้อแตกต่างระหว่างคุณและคู่แข่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ การสังเกตคู่แข่งและเรียนรู้ความเป็นไปของพวกเขา จะเป็นบทเรียนให้กับคุณ เกี่ยวกับเทคนิคการสร้างแบรนด์ว่าแบบไหนใช้งานได้ดีและแบบไหนที่ไม่ควรทำ

Mission (มีพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน)
คุณอาจจะรู้แล้วหละว่า ธุรกิจของคุณตอนนี้กำลังนำเสนออะไรอยู่ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือคุณต้องมี Mission Statement หรือพันธกิจของบริษัทที่ชัดเจน ซึ่งเกี่ยวโยงกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายของคุณด้วย คุณจะไม่สามารถสร้างบุคลิกภาพที่ชัดเจนให้กับธุรกิจได้ จนกว่าคุณจะรู้ว่าธุรกิจนั้นทำเกี่ยวกับอะไร และมีมุมมองในสิ่งที่ทำอย่างไร

Personality (บุคลิกภาพของแบรนด์)
คุณสามารถสร้างภาพลักษณ์หรือบุคคลิกภาพของแบรนด์ได้โดยใช้รูปแบบ สี และภาพ เพื่อแสดงความเป็นแบรนด์คุณออกมา ซึ่งรูปแบบ สี และภาพเหล่านั้นจะสัมพันธ์กับโทนหรืออารมณ์ความรู้สึกของแบรนด์ด้วย เช่น แบรนด์แสดงถึงภาพลักษณ์ที่มั่นใจ กระฉับกระเฉงอย่าง Nike หรือแสดงภาพลักษณ์ความมีไหวพริบ เป็นมืออาชีพอย่าง Givenchy (จีวองชี่) ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน คุณต้องแน่ใจว่า Branding ของคุณนั้น ได้นำเสนอสิ่งที่เป็นคุณที่สุดออกมาแล้ว

แน่นอนว่าการศึกษา ทำความเข้าใจแบรนด์อาจจะน่าเบื่อ แต่ยิ่งคุณรู้เกี่ยวกับธุรกิจของคุณมากเท่าไหร่ ความเป็นตัวตนที่แตกต่างของแบรนด์คุณก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

การวิเคราะห์ SWOT

สิ่งสุดท้ายคือการวิเคราะห์ SWOT อันเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจแบรนด์ ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ช่วยให้คุณค้นหาคาแรคเตอร์ที่คุณต้องการนำเสนอในแบรนด์ได้ โดย SWOT ที่พูดถึงมีความหมายดังต่อไปนี้

  • Strengths (จุดแข็ง) : จุดเด่นหรือจุดแข็ง ของแบรนด์เองที่ทำให้ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง  เอกลักษณ์ที่ไม่มีคู่แข่งเจ้าใดสามารถเลียนแบบได้
  • Weaknesses (จุดอ่อน) : จุดด้อย หรือจุดอ่อนของแบรนด์ ที่จะต้องหาวิธีในการแก้ไข
  • Opportunities (โอกาส) : โอกาสจากสภาพแวดล้อมภายนอกของบริษัทเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กร
  • Threats (อุปสรรค) : เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องและพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น

ความแตกต่างระหว่างจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคคือ…

จุดแข็งและจุดอ่อน เกิดมาจากปัจจัยภายในของธุรกิจ ที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น ชื่อเสียงของแบรนด์ จุดเด่น เอกลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง หรือ คุณภาพสินค้าที่ดี ข้อเสีย ปัญหา หรือต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่ง ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สามารถปรับแก้ไขได้ แต่

โอกาสและอุปสรรค เป็นปัจจัยที่มาจากภายนอก หมายถึง เราไม่สามารถควบคุมเหตุการ์ณเหล่านั้นได้ เช่น เทรนด์ของธุรกิจชานมไข่มุกที่มาแรง หลายๆเจ้าก็เปิดแบรนด์ของตนเองออกมาแข่งกัน หรือ การปรับภาษีของสินนำเข้าบางอย่างก็อาจส่งผลต่อธุรกิจได้

ตัวอย่าง SWOT Coca-Cola หรือ Coke เมื่อพูดถึงแบรนด์นี้หลายท่านคงเห็นภาพเครื่องดื่มที่ถูกปากคนไทยหลายๆคน​ และเหมาะกับอากาศร้อนๆของบ้านเราเป็นอย่างมาก หรือ โฆษณาที่เห็นภาพคนดีดนิ้วแล้วทำท่าเป็นตัว C เรามาดูกันค่ะว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Coca-cola มีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้าง

  • Strengths (จุดแข็ง) : มูลค่าแบรนด์อยู่ที่ $ 77,839 ล้าน เป็นธุรกิจเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการตลาดและการโฆษณาที่แข็งแกร่ง มีช่องทางในการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่กว้างขวางที่สุด และ มีลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์
  • Weaknesses (จุดอ่อน) : ความเชื่อต่างๆที่มีต่อเครื่องดื่มน้ำอัดลม ขาดความหลากหลาย มีภาพลบต่อเครื่องดื่มน้ำอัดลม มีหนี้ที่สูงเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ
  • Opportunities (โอกาส) : การเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่ม ความต้องการทางตลาดของน้ำดื่มบรรจุขวดที่เพิ่มขึ้น ราคาของวัสดุการผลิตลดลง
  • Threats (อุปสรรค) : ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วยเครื่องดื่มของคู่แข่ง จำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม ข้อกำหนดทางกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลบนฉลาก
swot-coke
ภาพจาก : https://creately.com

 

2. ออกแบบโลโก้ และเทมเพลตของธุรกิจ

เมื่อคุณรู้จักธุรกิจของคุณเพียงพอ ก็ถึงเวลาที่จะทำให้แบรนด์ของคุณมีชีวิตและตัวตนขึ้นมาได้แล้ว มีคำพูดหนึ่งของกราฟิกดีไซเนอร์ที่ชื่อว่า Paul Rand ได้พูดเอาไว้ว่า “การออกแบบ คือการสร้างแบรนด์แอมบาสเดอร์แบบเงียบๆให้กับแบรนด์ของคุณอยู่”  นั่นหมายความว่า การออกแบบเป็นสิ่งที่ช่วยเสนอความเป็นคุณ และความน่าสนใจของคุณให้ออกมาสู่สายตาผู้ชมด้วย ซึ่งการออกแบบเกี่ยวกับแบรนด์ที่คุณจำเป็นต้องรู้ มีดังต่อไปนี้

Logo (โลโก้)

แม้ว่าโลโก้จะไม่ได้เป็นทั้งหมดที่แสดงถึง Brand Identity แต่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างแบรนด์ โลโก้มักจะเป็นส่วนที่คนจดจำได้ดีที่สุดของแบรนด์ เพราะมีอยู่ทุกที่ ในทุกอย่างตั้งแต่เว็บไซต์ จนถึงนามบัตร ไปจนถึงโฆษณาออนไลน์ของคุณ ด้วยโลโก้อยู่ในทุกส่วนของการนำเสนอ จึงควรทำให้โลโก้ที่อยู่ในแต่ละชิ้นงานมีความกลมกลืนในทิศทางเดียวกัน เหมือนดังตัวอย่างด้านล่างนี้ค่ะ

ตัวอย่าง Starbucks แบรนด์เครื่องดื่ม ที่เหล่าพนักงานออฟฟิศและนักศึกษารู้จักกันอย่างดี ในการนำเสนอไม่ว่าจะโลโก้ของแบรนด์หรือการนำเสนอ Brand Identity เอกลักษณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดีในทุกๆช่องทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี ซองบรรจุภัณฑ์ แก้ว บัตรสมาชิก เว็บไซต์ คอนเทนต์ต่างๆ ผ่านการนำเสนอของบรษัท นั้นก็คือ

การปลดล็อคประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกค้าจากสายตาสู่กลิ่นเพื่อสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ในแง่ของประวัติความเป็นมาของแบรนด์ ความมุ่งมั่น ข้อเสนออื่นๆที่ Starbucks ให้มากกว่ากาแฟหนึ่งถ้วย แต่รวมไปถึงข้อเสนอที่ดึงดูดสำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบในแบรนด์และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

brand-color-starbucks
ภาพจาก : https://www.behance.net

 

Color & Type (สีและตัวอักษร)

รูปแบบของสี เป็นส่วนที่ช่วยเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ สีช่วยเพิ่มความหลากหลาย ทำให้คุณสามารถออกแบบให้แตกต่าง แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้

รูปแบบตัวอักษรเป็นเหมือนดาบสองคม หากไม่ได้ใช้อย่างเหมาะสม อย่างเช่นการออกแบบตัวอักษรแบบ “Mix and Match” ที่กลายเป็นเทรนด์ไปแล้วในปัจจุบัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการผสมผสานฟอนต์บางรูปแบบเข้าด้วยแล้วจะเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับธุรกิจ

ในโลโก้ บนเว็บไซต์ และในเอกสารใดๆ ที่ธุรกิจของคุณจัดทำขึ้นมา ทั้งรูปแบบพิมพ์ และแบบดิจิทัล ควรใช้ตัวอักษรที่สอดคล้องกัน ไปในทิศทางเดียวกัน หากคุณเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ Nike และโฆษณาของ Nike จะเห็นว่าพวกเขารักษารูปแบบตัวอักษร และสไตล์ของอักษรแบบเดียวกันเสมอค่ะ

nike-brand
ภาพจาก : https://www.pinterest.com

 

Templates (เทมเพลต)

สำหรับการทำธุรกิจ การส่งอีเมล เอกสาร หรือนามบัตรให้กับผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า เกิดขึ้นทุกวันในการทำงาน การสร้างเทมเพลตที่แน่นอนและสื่อถึงแบรนด์ได้เอาไว้ จะทำให้ธุรกิจของคุณมีภาพลักษณ์และความรู้สึกที่เป็นมืออาชีพ

Corporate Branding identity template design. Modern Stationery mockup for shop with modern blue structure. Business style stationery and documentation. Vector illustration
ภาพจาก : VectorStock.com

 

Consistency (ความสอดคล้อง) ในหลายๆสื่อที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ความสอดคล้อง ไปในทิศทางเดียวกัน คือสิ่งสำคัญที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้ คุณควรใช้เทมเพลตที่สร้างไว้ และทำตามการออกแบบที่คุณได้ตัดสินใจกับทุกส่วนของธุรกิจ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่กลมกลืนกัน

ตัวอย่าง Netflix ธุรกิจให้บริการสตรีมมิ่งวิดิโอออนไลน์ ที่หลายๆท่านกำลังเป็นสมาชิกในการดูหนัง ซีรี่ย์ต่างๆ หรือซีรี่ย์ชื่อดังที่เราชื่นชอบและติดตามมาทุกภาคซึ่งเป็น Original ของทาง Netflix อย่าง Stranger things ที่เพิ่งปล่อยภาค 3 ออกมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลายๆท่านอาจเคยเห็นโฆษณาของทาง Netflix จากหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือ Netflix ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการคุมโทน หรือความสอดคล้องของสื่อในทุกช่องทาง สังเกตุได้ว่าสื่อที่ปล่อยออกมาในแต่ละช่องทางถึงหน้าตาจะไม่เหมือนกันแต่เราก็ยังมีเอกลักษณ์ที่ทำให้เราจำได้ดังตัวอย่างในรูปค่ะ

netflix-ads
ภาพจาก : https://www.underconsideration.com

 

Flexibility (มีความยืดหยุ่น)

ใช่ที่ความสอดคล้องหรือการออกแบบให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การยืดหยุ่นเพื่อมองหาสิ่งที่ดีที่สุดต่อไปก็สำคัญเช่นกัน ความยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นกับการปรับเปลี่ยนแคมเปญโฆษณา สโลแกน หรือปรับภาพลักษณ์แบรนด์โดยรวมให้ทันสมัยขึ้น เพื่อสามารถดึงดูดผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้น จะต้องสอดคล้องกันทั้งแบรนด์ เช่น เมื่อคุณเปลี่ยนการออกแบบโทนของเว็บไซต์ คุณต้องปรับโทนในส่วนอื่น ช่องทางอื่นให้สอดคล้องกันด้วย

ตัวอย่าง VOGUE นิตยสารแฟชั่นชั้นนำของโลก เมื่อคุณลองค้นหา นิตยสาร VOGUE ในอินเตอร์เน็ตคุณจะพบหน้าปกของนิตยสารจำนวนมากที่ สี นางแบบ ความรู้สึก แฟชั่น ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแน่นอนค่ะ เรื่องของแฟชั่นเป็นอะไรที่เปลี่ยนไปไวมากๆ แต่ VOGUE ได้มีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับให้เข้ากับทุกๆแฟชั่นได้ เพราะแฟชั่นไม่มีอะไรที่ตายตัว ถ้าทุกคนสังเกตุหน้าปกของ VOGUE นั้น ตัวอักษรอาจเปลี่ยนสี หน้าปกอาจเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆแต่ เราก็ยังรู้ว่านี้คือนิตยสารแฟชั่นเพราะแบรนด์ได้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับไปตาม Mood&Tone ของหน้าปกทุกรูปแบบได้

VOGUE-Magazine

 

3. การสื่อสารที่คุณจะใช้​ เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ชมทางโฆษณาและบนโซเชียลมีเดีย

ตอนนี้คุณได้สร้างแบรนด์ของคุณเรียบร้อยแล้ว และได้พัฒนาแบรนด์ตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด  ตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะประสานหรือเชื่อมต่อแบรนด์เข้ากับผู้คนได้แล้ว

และหนึ่งในวิธีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายนี้คือ การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ในทุกๆด้าน คอนเทนต์คือสิ่งที่แทนแบรนด์ของคุณทางออนไลน์ คอนเทนต์เป็นเหมือนพนักงานขาย ร้านค้า แผนกการตลาด เป็นเหมือนเรื่องราวของแบรนด์คุณ คอนเทนต์ทุกชิ้นที่คุณเผยแพร่ จะสะท้อนแบรนด์คุณออกมา คอนเทนต์เป็นอย่างไรจะสะท้อนว่าแบรนด์เป็นแบบนั้นด้วยค่ะ

Language (ภาษา)

ใช้ภาษาที่ตรงกับบุคลิกของแบรนด์ของคุณ เช่น หากเอกลักษณ์ของแบรนด์คือความมีระดับ ภาษาที่ใช้ก็จะไม่ตลกหรือร่าเริงจนเกินเหตุไป เป็นต้น ภาษาที่คุณเลือกใช้จะสื่อถึงภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องสร้างโทนของภาษาให้เข้ากับบุคลิกของแบรนด์ด้วยค่ะ

ตัวอย่าง เมื่อพูดถึงแบรนด์ รถยนตร์ BMW ทุกคนจะเห็นภาพผู้ชายที่ดูสมาร์ท เท่ เป็นนักธุรกิจที่อายุน้อยแต่ประสบความสำเร็จ ขับรถด้วยความเร็ว ดูโฉบเฉียว หรือเราจะนึกถึงเสียงเร่งของเครื่องรถยนต์ที่มีเสียงดุดัน และเสียงล้อรถที่บดกับถนนเวลาดริฟต์รถ นี้ล้วนแตเป็นภาษาที่ทางแบรนด์สื่อสารออกมายังผู้บริโภคว่าแบรนด์ต้องการให้ผู้บริโภคเห็นอะไร ดังนั้นการใช้ภาษาสื่อสารออกมาทุกรูปแบบมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุของพรีเซ็นเตอร์ ท่าทาง สถานที่ เสียง แสง คำพูด หรือง่ายๆเมื่อพูดถึงแบรนด์แล้วคุณสามารถจินตนาการออกมาได้ว่าถ้าเขาเป็นคนจะมีลักษณะแบบใด

 

Connection & Emotion (ความสัมพันธ์ และอารมณ์)

ผู้คนมักจะชอบอะไรก็ตามที่มีเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องราวที่เข้าถึงอารมณ์ และสามารถทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ เอกลักษณ์ของแบรนด์ที่แข็งแกร่งจะสามารถสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภค ซึ่งอาจเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับแบรนด์

ถ้าหลายท่านยังไม่เห็นภาพ เรามีตัวอย่างของผลิตภัณฑ์รูปแบบเดียวกันแต่มีเอกลักษณ์การนำเสนอที่ใช้อารมณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ตัวอย่าง

เมืองไทยประกันชีวิต โฆษณาที่เน้นการทำวิดีโอที่ตลก เฮฮา แต่หลายท่านก็ดูแล้วสามารถจดจำได้เช่นกัน เป็นการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์อีกรูปแบบหนึ่งที่เชื่อมโยงความรู้สึกของลูกค้าด้วยความตลก และให้ความรู้สึกเป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม

 

Advertise (การโฆษณา)

โฆษณาไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือแบบดิจิทัล เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแนะนำแบรนด์ของคุณสู่สายตาโลก เป็นวิธีที่จะทำให้ข้อความ เอกลักษณ์ หรือจุดยืนของแบรนด์ให้ถูกเห็นและได้ยินไปยังกลุ่มเป้าหมายได้

ตัวอย่าง Procter & Gamble (P&G) : Thank You, Mom (2012)

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก กับโฆษณาที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเบื้องหลังนักกีฬาโอลิมปิก ปี 2012 ที่เป็นเรื่องราวของคุณแม่ผู้ซึ่งเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของทุกๆคนที่ต้องดูแลเราตั้งแต่เล็กๆในเรื่องของ การซักผ้า ทำอาหาร ดูแลบ้าน จนถึงวันที่ประสบความสำเร็จ โฆษณาของ Procter & Gamble (P&G) ได้ทำการตลาดทางอารมณ์ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลัง และได้เชื่อมโยงความรู้สึกเหล่าคุณแม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการซื้อผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี

 

Social Media (โซเชียลมีเดีย)

อีกวิธีที่ดีในการสร้างการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคของคุณ คือสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย มีแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตมากมายที่คุณสามารถใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ และนำเสนอตัวตนของแบรนด์ได้ ดังเช่น Coca-Cola ที่ใช้ประโยชน์จากรูปภาพปก Facebook สร้างความโดดเด่น และรักษาธีมของแบรนด์คือ “Happiness” ไปพร้อมๆกันด้วย

coke-FB-page

โซเชียลมีเดียนั้นมีความสำคัญโดยตรงต่อการสร้างความสัมพันธ์ของลูกค้ากับแบรนด์ หากคุณถูกกล่าวถึงในทวีต สถานะ หรือโพสต์ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำถามหรือข้อสงสัยจากลูกค้า นั่นเป็นโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับ
แบรนด์ จากการตอบสนองลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. รู้ว่าควรหลีกเลี่ยงอะไร

แม้ว่าคุณจะทำตามขั้นตอนทั้งหมดของการสร้างเอกลักษณ์แบรนด์ แต่ถ้าคุณมีความผิดพลาดในการปฏิบัติดังต่อไปนี้ แบรนด์ของคุณอาจจะสะดุดหรือล้มเหลวไปได้

อย่าเลียนแบบคู่แข่ง

คู่แข่งขันของคุณที่ขายผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบเดียวกันกับคุณ อาจมีการสร้างแบรนด์ที่ดี น่าเป็นแบบอย่าง จนทำให้คุณรู้สึกว่าอยากจะทำตาม เราอยากให้คุณหยุดความคิดนั้น แต่แนะนำให้คุณพิจารณาสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จ แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อยอดเป็นความคิดใหม่ๆของคุณเอง ซึ่งนั่นจะทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นขึ้นมาในอุตสาหกรรมของคุณมากยิ่งขึ้นได้

ตัวอย่าง ZARA และ G2000 ทั้งสองเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเหมือนกันแต่มีจุดยืนของแบรนด์ที่ชัดเจนทำให้พวกเขาโดดเด่นในจุดยืนของตนเเอง

  • ZARA จะเน้นที่ความเป็นแฟชั่นที่โดดเด่น
  • G2000 เน้นไปที่ความเป็นทางการน่าเชื่อถือ
ZARA
ภาพจาก : www.zara.com
G2000
ภาพจาก : www.g2000.co.th

 

อย่าเสียความสอดคล้องกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

แน่นอนว่า งานสิ่งพิมพ์ออฟไลน์ของคุณ อาจจะดูแตกต่างไปจากในออนไลน์เล็กน้อย แต่เรื่องของ สี ตัวอักษร รูปแบบ และข้อความ ควรจะสอดคล้องกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ค่ะ

 

5. มีการติดตามตรวจสอบ

คล้ายกับด้านอื่นๆของการตลาด เป็นเรื่องยากที่คุณจะรู้ว่าสิ่งที่คุณทำ เอกลักษณ์และการออกแบบที่คุณสร้างขึ้นมานั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยปราศจากการติดตาม ชี้วัด คุณจึงควรมีการวัดผลอย่างเช่น การใช้เครื่องมือ Google Analytics, การสำรวจ, สังเกตจากความคิดเห็น การพูดคุยโต้ตอบในโซเชียลมีเดีย ฯลฯ เพื่อตรวจสอบและรับรู้ว่าผู้คนพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ของคุณอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นโอกาสในการใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงแบรนด์ตามต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด หรือเพื่อปรับปรุงเอกลักษณ์ของแบรนด์ก็ตาม

สรุป

การสร้างแบรนด์ที่น่าจดจำ จะต้องใช้ทั้งรูปแบบ ตัวอักษร สี รูปภาพ และภาษาที่สื่อถึงคุณได้ชัดเจนและยังต้องสอดคล้องกัน ไม่ไปคนละทิศคนละทาง เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ได้ทันทีว่าคุณคือใคร และอะไรคือสิ่งที่คุณยึดถือจากโลโก้หรือเอกลักษณ์ที่พวกเขาพบเห็น ซึ่งนั่นหมายความว่า Identity ของแบรนด์เป็นมากกว่าแค่ชื่อและสัญลักษณ์เพียงเท่านั้นค่ะ หากคุณอยากพัฒนาแบรนด์ของคุณให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่างและสร้างการจดจำให้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้า

และเมื่อคุณสามารถสร้าง Brand Identity ให้น่าจดจำ แล้วอยากได้ไอเดีย หรือ กลยุทธ์ในการทำคอนเทนต์เพื่อสื่อสารออกไป วันนี้ STEPS Academy เรามีหลักสูตร Digital Content Marketing ที่จะทำให้คุณสื่อสารตัวตนของแบรนด์ออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

9 เคล็ดลับใช้ช่องทาง Twitter อย่างไรให้ตอบโจทย์และโดนใจลูกค้า
ทำการตลาดออนไลน์ ให้ถูกใจลูกค้า ถูกที่ ถูกเวลา ต้องเริ่มวิเคราะห์ Customer & Channel