How to be CEO in Digital Transformation era

ยุคของดิจิตอลคืออะไร ? เราคงเคยได้ยินคำว่าดิจิตอลมามากมายบ่อยครั้ง ในที่ยุคที่คนสามารถเชื่อมต่อกับคนทั้งโลกได้ผ่านอินเตอร์เนต ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นใหม่เป็นกระแสได้อย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงในส่วนของธุรกิจ ธุรกิจหลากหลายประเภทมีอันต้องปิดตัวลง เช่น ธุรกิจให้เช่าวิดีโอ ธุรกิจทำนิตยสาร นอกจากความล้มเหลว ในทางตรงกันข้ามก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากมาย ถ้าย้อนเวลากลับไป10ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่าตอนนี้ทุกคนสามารถทำธุรกิจขายของออนไลน์ได้เพียงช่วงข้ามคืนเท่านั้น มีบริษัทสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย และเช่นกันก็ล้มหายตายจากไปเกินครึ่ง โอกาสและวิกฤตเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ยุคดิจิตอลได้ วันนี้เรามาพบกับคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO & Founder of RGB72 Digital Agency ครับ

การเป็นผู้บริหารในยุคดิจิตอลเป็นอย่างไรบ้างครับ

การจะเป็นผู้บริหารในยุคของการเปลี่ยนแปลงบนโลกดิจิตอลที่ดีได้นั้น ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจก่อนว่าคำว่า “ดิจิตอล” มันคืออะไร ความจริงคำว่าดิจิตอลมันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเราเลย ผมคิดว่าคำว่า “ดิจิตอล” มันมาตั้งแต่เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ต คำว่าดิจิตอลก็เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งดิจิตอลมันก็คือพวกคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีต่างๆที่เราก็คุ้นเคยกันมานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันพึ่งจะมาบูมในช่วงหลังเพราะผู้คนเริ่มเข้าถึงสื่อทางด้านดิจิตอลกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อดิจิตอล อุปกรณ์ดิจิตอล เราเริ่มรู้สึกไม่เคอะเขินที่จะคุยกับนาฬิกา หรือใส่แว่นตาวีอาร์อันเทอะทะแล้วพูดอยู่คนเดียว และไม่รู้สึกแปลกที่ทั้งโต๊ะอาหารห้าหกคนกินข้าวด้วยกันแต่ทุกคนแชทกันอยู่ในมือถือ ซึ่งพอเราเริ่มอินและชินกับคำว่าดิจิตอลมากขึ้น ผลของมันก็คือ ดิจิตอลมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ

ธุรกิจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเพราะดิจิตอลเข้ามามากขึ้นจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่ด้วยกันสองอย่างคือ เทคโนโลยี เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่นเทคโนโลยีการทำงาน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของวิธีการประชาสัมพันธ์ การโปรโมทสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้โฆษณาผ่านเฟสบุ๊ค การใช้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งแทนใบปลิว หรือโบชัวร์ บางทีเทคโนโลยีเข้ามามากมันก็สามารถเข้ามามีผลกับธุรกิจของเราได้เหมือนกัน ธุรกิจบางอย่างตายไป (ธุรกิจสิ่งพิมพ์) ในข้อแรกนี้ผู้บริหารต้องรู้ว่าอะไรจะมาอะไรจะไป เราต้องเข้าใจและทันมัน ผู้บริหารต้องกล้าที่จะเปิดใจ ยอมรับและกล้าที่จะรับสิ่งใหม่ๆเข้ามา ไม่ยึดติดกับ Platform เดิมๆที่ฉันเคยทำ ซึ่งมันดีอยู่แล้ว และต้องดีกว่าเดิมด้วย Platform เดิม ซึ่งมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปแล้ว คือเราต้องเปลี่ยน ต้องสนุกและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

 

ในฐานะที่พี่เก่งเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีประสบการณ์ทางด้านดิจิตอลมามากกว่า 10 ปี พี่เก่งคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จครับ

ผมคิดว่าในยุคนี้คนที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ปรับตัวได้เร็วจะเป็นคนที่ได้เปรียบในการทำธุรกิจ มันไม่มีคำว่าสูตรสำเร็จอีกต่อไปแล้ว แต่ก่อนเราเรียนแบบท่องจำแล้วนำไปสอบ เราเรียนได้เกรดสี่ในการท่องจำ จบออกมาก็มีโอกาสในการทำงานได้ดีเพราะเหมือนมันมีสูตรของมัน แต่ในปัจจุบัน Information มันไวมาก ทุกอย่างมันมาเร็ว เทคโนโลยีมาใหม่ทุกอาทิตย์ คนที่ปรับตัวได้ทัน และกล้าที่จะปรับ คนนั้นจะเป็นคนที่อยู่รอด ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเก่าจะตายและธุรกิจใหม่จะอยู่ แต่ธุรกิจใหม่แม้กระทั้งบริษัทอาร์จีบีของผมเองก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน ผมทำบริษัทนี้มาสิบหกปี เมื่อก่อนทำเว็บไซต์ ซึ่งวันหนึ่งเว็บไซต์มันก็เริ่มดรอปลง คนเริ่มหันไปหาเฟสบุ๊คมากขึ้น คนอยากทำแอพพลิเคชั่นมากขึ้น เราไม่สามารถยึดติดกับเว็บไซต์อย่างเดียวได้

เรื่องที่สองที่ต้องปรับเลยคือ เรื่องของมนุษย์ พอดิจิตอลมันเข้ามา พฤติกรรมมนุษย์จึงเปลี่ยนไป อย่างผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทสมัยนี้ชอบบ่นว่า เด็กสมัยนี้มันความอดทนต่ำ อยากรวยเร็ว อยากเป็นเจ้าของกิจการ เรื่องมาก ขี้บ่น อยากเป็นนายตัวเอง คือความเป็นจริงตรงนี้มันไม่ใช่เป็นเพราะเด็ก แต่เด็กมันถูกหล่อหลอมจากในเรื่องของเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตที่เข้ามาทำให้เขามี Mindset แบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น ทำไมเด็กถึงรู้สึกว่าฉันอยากเป็นนายตัวเอง เพราะเด็กสมัยนี้เริ่มมีความรู้สึกว่าฉันไม่ค่อยอยากมาทำงานออฟฟิศ เพราะว่ามันไร้สาระ รถก็ติด เดินทางชั่วโมงหนึ่ง กลับชั่วโมงหนึ่ง เสียเวลา ทั้งๆที่ฉันมีอินเตอร์เน็ต อยู่บ้านสามารถทำงานได้ถ้าฉันมีความรับผิดชอบพอ บางคนมีรู้สึกว่าความรู้มันอยู่ทั่วไป ฉันสามารถเรียนรู้ได้เอง เทคโนโลยีมาใหม่ฉันสามารถเรียนรู้ได้ก่อนผู้บริหารเสียอีก ดังนั้นเขาจึงมีความคิดว่า ทำไมฉันต้องรอคำสั่งจากผู้บริหาร ฉันสามารถที่จะสร้างอะไรขึ้นมาได้เอง ยุคใหม่มันเป็นยุคที่ไม่ได้แปลว่าบริษัทใหญ่จะต้องเป็นผู้นำนวัตกรรม แต่คนทั่วไปสามารถเป็นผู้นำนวัตกรรมได้เช่นกัน จากเดิมเรามี Apple, IBM ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรม แต่ในยุคใหม่มันเป็นยุคที่คนหกพันล้านคนบนโลกเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน สามารถมีไอเดียใหม่ๆได้หกพันล้านไอเดีย หรือมากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมปัจจุบันถึงมีสตาร์ทอัพมากขึ้น

 

ถ้าอย่างนั้นในการบริหารบริษัทที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ พี่เก่งมีเคล็ดลับอย่างไรบ้างครับ

ผู้บริหารต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ว่า เขาชอบอะไร แบบไหน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่บอกว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการต้องออกจากงานทุกคน เราต้องเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร เด็กรุ่นใหม่สามารถหาความรู้ได้ตลอดเวลา เขาอาจจะมีความรู้ที่ดีกว่า เร็วกว่าและทันสมัยกว่าผู้บริหารแบบเรา ดังนั้นผู้บริหารก็ควรปรับ ซึ่งการปรับก็คือการฟัง ฟังและยอมรับความคิดเห็นของเขา มันไม่ใช่ยุคเก่าแล้วที่ผู้บริหารจะถูกทุกอย่าง ดังนั้นผู้บริหารจึงควรฟัง นำมาประมวลผลและทำการชี้แนวทาง ถ้าเด็กหรือทีมงานบางคนชอบเป็น หรืออยากเป็นนายของตัวเอง ซึ่งคำว่านายตัวเองก็คือ Entrepreneurship แต่ปัจจุบันก็มีการสร้างคนในองค์กรขึ้นมาจนเกิดคำว่า Intrapreneurship เขาเรียกว่าการมีความเป็น Ownership ในโปรเจคหรือผลงานของตัวเอง ยกตัวอย่างบริษัทของผม ผมเป็นเจ้าของ เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้เป็นเจ้าของโปรเจคนั้นๆ เขาสามารถใส่ความคิดของตัวเองเข้าไปในงานได้ เขารู้สึกรับผิดชอบกับงานส่วนนั้นๆ เขาเป็นเจ้าของผลงานนี้ เขาก็จะภูมิใจและพอใจที่จะทำโดยที่ไม่ลาออกไปทำธุรกิจของตัวเอง

 

มีเทคนิคอย่างไรบ้างที่สามารถทำให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานบ้างครับ ?

บางคนบอกว่าต้องให้ Profit sharing แต่ผมรู้สึกว่าเงินเนี่ยเป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรจะคิดถึง และเราควรปลูกฝังให้ทีมงานเห็นว่าเงินเป็นสิ่งสุดท้ายที่สำคัญ เพราะว่าความเป็นจริงแล้วสำหรับผม เงินเป็นสิ่งที่มีความหมายน้อยที่สุดเลย เราสามารถหยิบให้เขาได้ โดยที่ไม่ต้องพยายามอะไรเลย แต่การที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็น Ownership มันไม่ใช่แค่เงิน แต่ความจริงแล้วมันอาจเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ เราโยนโปรเจคนี้ไปให้ทีมงาน เขาก็จะรู้สึกว่าเขาต้องมีความรับผิดชอบจริงๆ ถ้าเขาแข็งแรงพอ เราสร้างทีมให้เขา เราบอกเขาให้เป็นหัวหน้าและต้องดูแลน้องอีกสามคน เขาก็จะรู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบจะทำให้เขารู้สึกว่ามีความเป็น Ownership พอมีปัญหาเขาก็ต้องแก้ไขและเราปล่อยให้เขาแก้ ถ้าเขาแก้แล้วเราไม่ปล่อยให้เขาแก้ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบในการแก้ไขครั้งนี้ ความเป็น Ownership ก็จะลดลงเพราะเขารู้สึกว่ามีคนเอาความรับผิดชอบตรงนั้นไปแล้ว ดังนั้นเราต้องกล้าปล่อย และปล่อยให้เขาลุยไป ถ้าเขาผิดพลาดก็ต้องไปหาวิธีแก้มันกลับมาให้ได้

งั้นถ้าถามว่าผู้บริหารมีหน้าที่อะไร? มีหน้าที่เป็นแบคอัพ ในกรณีที่เขาอยากจะแก้ และเขาคิดไม่ออกจริงๆ เราสามารถเป็นคนที่เขาพึ่งพา เราสามารถคอยชี้แนะแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ เนื่องจากเด็กรุ่นนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง และมีความมั่นใจ ฉะนั้นเขาก็จะไม่ชอบโดนสั่ง มันหมดยุคแล้วที่เขาจะทำตัวเป็นเหมือนน็อตหรือสกรูตัวหนึ่งที่รอเรามาไข แต่เขาเหมือน Engine ที่มีสมองและสามารถคิดได้เอง หน้าที่ของผู้บริหารคือเป็นคน guide ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ควรจะทำอย่างไรและให้เขาประสบมันเอง ถ้าเขา Fail เราต้องสอนให้เขารู้จักว่าเมื่อ Fail แล้วต้องทำยังไงต่อ ไม่ใช่ Fail แล้วไปนั่งเศร้า ดราม่าในเฟสบุ๊ค อย่างนี้คือไม่เวิร์ค เราต้องไปปรับ Mindset เขาต้องโฟกัสที่ Foundation ว่าถ้าสถานการณ์แบบนี้ ควรที่จะทำยังไง คือเป็น Guider มากกว่า Boss

ณ วันนี้คนที่เป็นผู้บริหารไม่ต้องมาสอนเด็กแล้ว เพราะเด็กมีความรู้เยอะ เขาสามารถไปค้นหาจากอินเตอร์เน็ตได้ แต่สิ่งที่เขาไม่ได้คือแนวทางว่านายควรที่จะไปทำแบบนี้ เหมือนเป็นประสบการณ์ของวิธีแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมีมากกว่าเพราะเจอปัญหามาก่อน เรา Guide ทางให้เขาเป็นข้อๆ และให้เขาพิจารณาเองว่าวิธีไหนดีที่สุด ให้เขาประสบเอง ผิดหวังเอง สมหวังเอง คือผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่น่าจะต้องเป็นไปในรูปแบบนั้น

 

ทำไมต้องให้เด็กรุ่นใหม่ประสบกับความผิดหวัง ?

ผมคิดว่าความผิดหวังมันเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ประสบความสำเร็จ คือวันก่อนผมไปเจอประโยคหนึ่งมาที่ Bounce, The Street รัชดา มันมีสติกเกอร์แปะอยู่ คือเขาบอกว่า The harder you fall, The higher you bounce. ก็คือหมายความว่า ยิ่งคุณกระโดดลงไปในแผ่นเด้งนั้นเท่าไหร่ คุณก็จะกระโดดได้สูงเท่านั้น มันสามารถเปรียบเทียบได้กับชีวิตประจำวัน ถ้าคุณผิดหวังบ่อยๆหรือคุณล้มบ่อยๆ คุณก็จะโตขึ้น แต่ถ้าคุณกลัวและไม่กล้าล้ม หรือว่าพอล้มแล้วมีคนมาโอ๋ตลอด เขาก็จะไม่รู้เลยว่าจะแก้ไขยังไง ถ้าเราโยนโปรเจคไปแล้วเขาทำเจ้ง ทำผิดหรือเกินเดทไลน์ โดนลูกค้าด่า เขาก็ไปโดนด่าเอาเอง เขาก็จะรู้แล้วว่าครั้งหน้าจะต้องปรับตัวอย่างไร

 

มีวิธีการหาทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อย่างไร ควรมีลักษณะบุคลิกแบบไหน หรือว่าควรรับคนที่เก่งแล้วเข้ามา?

แต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกันนะ แต่ในมุมมองของผม ความรู้พื้นฐานเนี่ยต้องมี แต่ว่าจะเอาระดับเทพมาเลยไหม ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราด้วย แต่สิ่งที่ผมโฟกัสมากกว่าความรู้คือ Mindset อย่างที่บอกว่าถ้าเรารับพนักงานที่ชอบดราม่า อันที่ผมบอกว่าให้เขาล้มเอง ให้เขาประสบความสำเร็จเองมันจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพอเมื่อเขาล้ม เขาจะดราม่าว่าไม่มีใครช่วยเขาเลย คือคนแบบนี้ต่อให้คุณปล่อย มันก็ไม่เวิร์ค คือผมโฟกัสที่ Mindset ก่อน ผมจะหาคนที่มีพลังที่อยากจะเรียนรู้ เพราะผมคิดว่าเรื่องเรียนมันสามารถสอนกันได้ทีหลัง และความรู้ใหม่มันมาทุกอาทิตย์ แต่ถ้ารับคนที่เก่งอยู่แล้ว และ Mindset ไม่ดี ฉันไม่อยากเรียนรู้แล้ว ฉันเก่งที่สุดในโลก อันนี้มันก็ไม่เวิร์ค คือถ้าถามว่าหาคนยังไง ก็เหมือนคนอื่นทั่วไป แต่ว่าตอนที่มาสัมภาษณ์เราจะดูว่าเขาเข้ากับเราได้หรือเปล่า ก็มีหลายคนที่เข้ากับเราไม่ได้เพราะมีบุคลิกที่แตกต่าง

 

เด็กยุคนี้ชอบบอกว่า ทำอะไรก็ได้ที่เขามีความสุข อยากรู้ว่าจะทำยังไงให้เมื่อเขาเข้ามาทำงานแล้วมีความสุข และอยู่กับเราได้นานขึ้น?

ผมคิดว่าที่สำคัญเลยคือ สภาพแวดล้อม เขาเคยมีงานวิจัยนะว่า 70% มาทำงานเพราะเพื่อน มาทำงานเพราะเจ้านาย ที่เหลือมาทำงานเพราะเงิน ดังนั้น ถ้าเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมันก็จะเวิร์ค ซึ่งปัจจัยหกอย่างที่มนุษย์ต้องการ (ฟังมาจาก TED’s Talk) ที่สามารถทำให้คนอยากอยู่กับเรา พี่น้องรักเรา เพื่อนรักเรา ทุกคนรักเรา คือ

  1. ความแน่นอน (Certainty) ทุกคนต้องการความแน่นอน นัดสิบโมง เธอมาสิบโมง, สัญญาว่าวันเกิดปีหน้าจะให้ของชิ้นใหญ่ แล้วเราให้ของชิ้นใหญ่ เราไม่ลืม คือแฮปปี้ อันนี้จะเป็นสิ่งที่จะทำให้เขาประทับใจ
  2. ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความไม่แน่นอน หรือ Surprise ต่างๆเช่น วันเกิดเรา แต่เพื่อนทำเป็นลืม แต่สุดท้ายตอนเย็นก็มาแฮปปี้เบิร์ดเดย์ หรือหนังบางเรื่องที่ตอนท้ายเหมือนจะจบแบบ Happy Ending แต่สุดท้ายพระเอกกลับถูกรถชนตาย มันจะทำให้เราจำหนังเรื่องนั้นได้ แต่เรื่องเหล่านี้ต้องเป็น Surprise ในเรื่องดีๆด้วยนะ
  3. ความเป็นเอกลักษณ์ (Unique) คนทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงใส่แว่นแบบนี้ ทำไมคนถึงแต่งตัวแบบนี้ ทำไมถึงใส่รองเท้าแบบนี้ ทุกคนมีความยูนีคของตัวเอง เราในฐานะที่ต้อง Interact กับเขา เราต้องเคารพในความเป็นตัวของเขา
  4. ความรัก (Love) ทุกคนต้องการความรัก แต่ความรักไม่ได้หมายความว่ารักแบบแฟน แต่เป็นเพื่อน เป็นเจ้านายลูกน้องก็รักกันได้ ถ้าเจอใครหน้าซีดๆ เศร้าๆ ก็ถามได้ว่าเป็นอะไร เรื่องแบบนี้มันคือการซัพพอร์ตเขา คอยอยู่ข้างๆเขา อยู่เบื้องหลังเขา เขาก็จะรู้สึกโอเค จริงๆหน้าที่ของผู้บริหารในปัจจุบัน มันเป็นหน้าที่ที่ต้องไกด์ไลน์ให้กับเขา คอยทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัย ไม่ได้ยืนอยู่แค่คนเดียว มีคนที่คอยสนับสนุนให้เขา ซึ่งความรักนี่สำคัญมาก
  5. การเจริญเติบโต (Growth) ทุกคนอยากก้าวหน้า ไม่มีใครอยากอยู่กับที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หรือความรัก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงชอบถามว่าเมื่อไหร่จะแต่งงานซักที พ่อแม่ชอบถามคู่รักว่า เมื่อไหร่เธอจะมีลูกซักที คือมันต้องมีอนาคต มันมีคำถามว่า คนที่ทำงานกับเราอะ เขารู้สึกว่าตัวเองมีอนาคตหรือยัง อนาคตอาจไม่ต้องสวยหรูแบบสิบปีข้างหน้า อาจจะเป็นแค่สามเดือน หกเดือน แบบว่าโปรเจคนี้เสร็จจะมีการโปรโมท และถ้าเสร็จแล้วมันต้องเจ๋งแน่ อันนี้มันคือความสุขจากการที่ได้เติบโต การใช้เทคนิคแบบใหม่ การใช้โปรแกรมใหม่ อันนี้มันทำให้เขาเก่งขึ้น เขาโตขึ้น นั่นคือการเติบโต ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องตอบแทนด้วยเงินอย่างเดียว อย่างที่บอกว่าเงินมันเป็นอะไรที่ง่ายมาก ถึงแม้จริงๆมันจะสำคัญ มันทำให้เรามีข้าวกิน
  6. การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน (Contribution) การให้แบบนี้จะทำให้เรามีความสุข เคยเป็นใช่ไหมเวลาเราไปวัด เราทำบุญใส่บาตรให้วัด พระก็ให้พรและบทสวด มันเป็นความเชื่อว่าเราจะได้บุญ ซึ่งบุญหน้าตาเป็นยังไงเราก็ไม่รู้ สมมติเราไปทำบุญกับเด็กพิการ ซึ่งพอเรามอบให้เขาแล้วเนี่ย บางทีเขาจะยกมือไหว้เรา เขายังจะยกมือไม่ได้เลย คือแล้วเราทำไปทำไม แต่เราทำแล้วมีความสุข ซึ่งมันเป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ แล้วเราจะให้คนอื่นได้ยังไงโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน บางคนบอกว่างั้นผมต้องรวยก่อน ผมจึงจะให้ได้โดยที่ผมไม่หวังผล ผมก็จะถามกลับว่า แล้วรวยของคุณมันคือเท่าไหร่ วันนี้มีแสนนึง มีล้านนึงรวยหรือยัง? มีล้านนึงก็สักสิบล้านละกัน สิบล้านเป็นร้อยล้าน ร้อยล้านเป็นพันล้าน เห็นได้จากข่าวที่คนรวยมีเป็นหมื่นล้านแต่ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่พอ ดังนั้นความรวยมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ตรงที่เรา “พอ” เราพอเมื่อไหร่เราก็รวยเมื่อนั้น พอเรารวยแล้ว เราพอแล้ว ส่วนที่เกินมันก็คือส่วนที่เหลือ ส่วนที่เหลือก็คือส่วนที่เราสามารถให้ได้ ถ้าเราไม่รู้สึกพอ เราก็จะไม่มีส่วนที่จะไปให้กับคนอื่น ดังนั้นเราต้องเริ่มจากพอ

คำว่ารวยหรือพอเนี่ย ผมไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงเวลาก็ได้ เราบอก โหว เวลาน้อยจังเลย เวลาไม่เคยพอเลย เพราะว่าเราไม่เคยจำกัดมันหรือเปล่า ว่าพอมันอยู่ที่ตรงไหน พอเหลือปุ๊บเราก็เอาไปทำงาน ทำจนสิบหกชั่วโมง มันก็ไม่เคยพอ แต่ถ้าเรารู้จักลิมิตมัน เราก็จะเริ่มมีเวลาเหลือและมาแบ่งให้คนอื่นได้ หรือแม้กระทั่งพลัง นอนอยู่บ้านเสาร์อาทิตย์ไม่มีอะไรทำ เนี่ยพลังเราเหลือ เอามาใช้ให้คนอื่นก็ได้ เช่น พี่เก่งทำ Creative Talk มันเป็นงานที่ผมจัดฟรี โดยเป้าหมายแรกคือ สนุก อยากให้คนได้ความรู้ คือเป้าหมายของ Creative Talk คือให้คนได้ความรู้ แต่หลังๆมาพี่เก่งอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับการทำงาน การให้ความรู้คนมันก็ได้บุญนะ  แต่เราก็ไม่ได้คิดถึงบุญ แต่เราแค่คิดว่าคนได้ความรู้และเรามีความสุขกับมัน น้องก็จะรู้สึกแฮปปี้ มันก็เป็นการช่วยพาเขาไปสู่ข้อหก ซึ่งก็คือช่วยให้เขาสามารถ Contribute ให้กับสังคมได้ โดยที่เขาไม่ต้องใช้เงิน แต่ใช้สองอย่างที่เหลือคือ เวลาและกำลัง

พูดถึง Creative Talk นอกจากความรู้แล้ว ผมว่าเขาได้รู้อะไรกับการทำงานแบบ Contribute แบบนี้ ผมว่าเขารุ้จักการให้ เพราะว่าผมไม่ได้ให้เงินเขาเลย ไม่ได้อะไรเลย ได้เต็มที่ก็ตั๋วหนังที่เราแจกกันในงาน ตั๋วหนังที่ได้บางทีก็ได้มาจากตั๋วที่เหลือด้วย บางทีเก็บมาจากเก้าอี้ที่เขาเก็บไม่หมด เราก็เห็นมันเหลือก็เอามาแจกจ่ายกัน หรือของบางอย่างที่แจกไม่หมดเราก็มาแจกน้อง คือเราจะเป็นคนที่ได้คนสุดท้ายของทุกอย่าง ผมมีความเชื่อว่าการที่เราจะทำให้คนรู้สึก Respect เราได้ เราต้อง Leader is last คือเราต้องได้คนสุดท้าย ซึ่ง Respect ไม่ได้ได้มาโดยง่าย มันจะได้โดยจากการที่เราให้เขาก่อน แล้วเขาถึงจะให้ Respect กลับมาหาเรา มันเป็นสิ่งที่ถ้าผมให้เงินใครสักคนหนึ่งหมื่นบาท แล้วบอกว่าเขาว่าช่วยเคารพพี่หน่อย เขาก็จะเคารพเราเพราะได้เงิน วันไหนที่ไม่ให้เขาเขาก็จะรู้สึกว่า โอเค ซึ่งมันไม่มีความจริงใจ Respect มันต้องเกิดจากการที่ให้เขาก่อน การทำงาน Creative Talk น้องๆก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการให้ ความจริงอย่างงานนี้ ทุกครั้งที่ทำเราขาดทุน ครั้งนี้เกือบจะพออยู่ได้ แต่ปรากฏว่ามันมีความผิดพลาดบางอย่างที่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม น้องๆก็มารวมตัวกันและมาบอกว่าเด่วเขาช่วยกันชดใช้ในความผิดพลาดครั้งนี้ ตอนหลังผมก็บอกว่าไม่ต้อง คืออย่างน้อยเขาได้เรียนรู้แล้วว่า เขาต้องรู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบ มันต้องมีการให้อะไรแบบนี้ด้วย ผมรู้สึกว่าในสังคมเราชินกับการรับมากกว่าการให้ เราดูคลิปได้ฟรี ดูหนังฟรี เรียนรู้อะไรฟรี เรารับมาจนชิน จนเราไม่เคยให้ ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องสอนวิธีการให้ ซึ่งถ้าเราได้ให้จริงๆ เราจะรู้สึกว่ามันดีมาก

 

พอทีมงานได้รู้จักการให้จากงาน Creative Talk พอกลับมาจากงาน มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับพวกเขาไหม?

ผมคิดว่าการให้มันมีผลเยอะมากเลยนะ หลายเรื่อง อย่างน้อยๆ อย่างแรกคือ เรารู้สึกไม่เห็นแก่ตัว เราจะเอาความเป็นตัวตนของเราออกไป เราจะมองเห็นคนอื่นมากขึ้น เราจะไม่เห็นเงินหรือของที่เราจะได้รับตอบแทน ดังนั้นบางอย่างเราสามารถที่จะทำอะไรให้ได้ฟรีๆ เช่น เห้ยงานนี้หนักวะ เราก็จะเข้าไปช่วยเขาฟรีๆ หรืองานที่ทำไม่ทัน ต้องอยู่ล่วงเวลา เราก็จะช่วยทำโดยที่ไม่นึกว่าเกินมาสองชั่วโมงเราต้องได้โอที หรือแม้กระทั่งการให้มันมีผลในเรื่องของความน่าเชื่อถือในตัวเราด้วย ถ้าสมมติว่ามีคนคิดว่าผมเป็นคนที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่คิดถึงเรื่องเงินก่อนเลย วันนึงอยู่ในห้องประชุมด้วยกันสิบคน พอมีปัญหา ทุกคนช่วยกันออกความคิดเห็น ทุกคนยกมือและเสนอแนะ ผมก็เสนอแนะ มันมีโอกาสที่คนคนนั้นจะฟังผมมากกว่าคนอื่น เพราะคนนั้นเห็นว่าพี่เก่งเป็นคนที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ Take Advantage กับคนอื่น ดังนั้นเขาจะรู้สึกว่าเชื่อเรามากกว่า ซึ่งอันนี้มันเป็นผลพลอยได้ มันไม่ใช่อะไรที่มันวางแผนมาแล้ว คือมันเป็นผลพลอยได้และเราก็ไม่ควรรู้สึกด้วยว่าเขาจะต้องรู้สึกแบบนี้กับเรา จะต้อง Trust เรา มันเป็นอะไรที่เดี๋ยวมันก็มาเอง

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

20 แนวคิดที่นักการตลาดยุคดิจิทัลต้องมี
ทบทวนความรู้เน้นๆ จากงาน Creative Talk 2017