ทำการตลาดออนไลน์ ให้ถูกใจลูกค้า ถูกที่ ถูกเวลา ต้องเริ่มวิเคราะห์ Customer & Channel

digital-marketing-strategy-customer-channel

สำหรับการทำการตลาดในยุคนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Digital Marketing ได้กลายเป็นส่วนสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบันไปแล้ว ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคน ที่เกี่ยวโยงกับดิจิทัลแทบจะทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจท้ังขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ให้ต้องลงมือทำ Digital Marketing  

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว หลายๆธุรกิจก็ยังไม่เข้าใจ Digital Marketing มากพอ โดยอาจจะทำแค่เพียงสร้างเพจ สร้างคอนเทนต์ที่ตนเองคิดว่าดี และทำโฆษณาเผยแพร่ออกไป โดยที่ยังไม่ได้วิเคราะห์เป้าหมาย ไม่ได้ทำความเข้าใจลูกค้า ขาดการวัดผล สรุปโดยรวมคือ ขาดการวางกลยุทธ์ที่ดี  จึงส่งผลให้สื่อสารคอนเทนต์ไม่ตรงความต้องการแท้จริงทั้งของธุรกิจและกลุ่มเป้าหมาย เลยไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดการซื้อ ซึ่งองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการทำ Digital marketing ที่ผู้ทำธุรกิจ และนักการตลาดควรจะมีเลยก็คือ

  • รู้จักตนเอง (Goal & Brand)
  • รู้จักลูกค้า (Customer)
  • รู้จักตลาด (Channel)
  • มีการวัดผลลัพธ์ (KPI)
  • มีทีมที่ดี (Team)

บทความแนะนำ 

“5 ปัจจัยสำคัญ สำหรับผู้เริ่มต้นทำ Digital Marketing ให้คุณเห็นภาพรวมและพร้อมเติบโตในยุคดิจิทัล”

https://stepstraining.co/strategy/5-factor-digital-marketing

โดยในส่วนของการรู้จักตนเอง หรือการมี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ “4 องค์ประกอบสำคัญในการตั้งเป้าหมายเมื่อคุณเริ่มต้นวางกลยุทธ์ Digital Marketing” ซึ่งจะกล่าวถึงตัวช่วยกำหนดเป้าหมายอย่างเครื่องมือที่ชื่อว่า “SMART” รวมถึงกลยุทธ์ที่จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นี้ด้วยค่ะ

และเมื่อคุณมีเป้าหมายของธุรกิจที่ชัดเจน ไม่หลงทาง และรู้ว่ากำลังทำการตลาดเพื่อจุดประสงค์อะไรได้แล้ว ส่วนสำคัญถัดไปที่คุณจะต้องศึกษาคือ “ลูกค้า”

รู้จักลูกค้า (Customer)

digital-marketing-strategy-customer

 

ถ้าคุณรู้ความต้องการลูกค้าพร้อมๆไปกับเป้าหมายธุรกิจ จะทำให้คุณสามารถทำการตลาดให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายได้ ตัวอย่างเช่น 

ธุรกิจบริการ : โรงแรม/ที่พัก

เป้าหมายธุรกิจ  : “ได้มาซึ่งข้อมูลลูกค้า” 

เป้าหมายลูกค้า  : “ท่องเที่ยวราคาประหยัด”

การเข้าใจเป้าหมายทั้งสองฝ่าย จะทำให้คุณสามารถทำการตลาดได้อย่างเหมาะสม เช่น จัดทำแคมเปญ “แลกรับคูปองส่วนลดที่พัก เมื่อลงทะเบียนข้อมูลกับเรา” ซึ่งแคมเปญนี้ทำให้คุณได้รับข้อมูลลูกค้าที่ต้องการ ส่วนลูกค้าได้รับส่วนลดที่พักและท่องเที่ยวในราคาที่ประหยัดขึ้น ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจากการเข้าใจความต้องการร่วมกัน

 

อีกหนึ่งตัวอย่างจาก ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

เป้าหมายธุรกิจ  : “ได้มาซึ่งข้อมูลลูกค้า”

เป้าหมายลูกค้า  : “ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวหน้า”

เช่นเดียวกัน เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนและรู้ถึงความต้องการของลูกค้า ก็จะสามารถนำมาใช้ออกแบบแคมเปญได้ ตัวอย่างเช่น “พิเศษ! รับผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ขนาดทดลองฟรี แค่คุณคลิกลงทะเบียน” โดยแคมเปญนี้ตอบโจทย์ทั้งคุณ (ได้ข้อมูลลูกค้า) และตอบโจทย์ลูกค้า (ได้ทดลองสินค้าก่อนซื้อขนาดจริง) เป็นการทำการตลาดอย่างตรงความต้องการทั้งสองฝ่ายค่ะ

อย่างไรก็ตาม มองในทางกลับกัน ถ้าข้อเสนอที่สร้างขึ้นไม่ได้สนองในสิ่งที่พวกเขาต้องการ แน่นอนว่าพวกเขาคงจะไม่ลงทะเบียน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่คุณเสนอให้ แม้จะฟรีก็ตาม

ลองนำมาเปรียบเทียบกับตัวเรา เช่นเดียวกันค่ะ ต่อให้สินค้า หรือข้อเสนอที่เห็นตรงหน้าเรานั้นดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่รูปแบบที่เราชอบ ไม่ได้แก้ปัญหาให้เราได้ เราก็คงไม่สนใจ ไม่อยากซื้อสินค้าชิ้นนั้น ใช่ไหมคะ

 

เครื่องมือวิเคราะห์ลูกค้า

มาถึงตรงนี้อาจจะเกิดคำถามขึ้นว่า “แล้วเราควรจะวิเคราะห์ลูกค้าอย่างไร วิเคราะห์อะไรบ้าง” โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์ลูกค้า มักจะใช้เครื่องมือดังต่อไปนี้

  • Customer Persona : เพื่อรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร อยากแก้ปัญหาอะไร
  • Digital Touchpoint   : เพื่อรู้ว่าควรทำการตลาดช่องทางไหน เวลาใด
  • Customer Journey  : เพื่อรู้ว่าควรให้ความสำคัญช่องทางใดมากที่สุด

สรุปโดยรวมแล้วการวิเคราะห์ทั้ง 3 นี้จะช่วยให้คุณสามารถกำหนด “ใจความของเนื้อหา” “เวลา” และ “ช่องทาง” ที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ทำโฆษณา หรือแคมเปญการตลาดได้ค่ะ

ส่วนรายละเอียดของเครื่องมือทั้ง 3 จะเป็นอย่างไรบ้างนั้นไปติดตามกันต่อค่ะ

 

Customer Persona

ใช้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการ รวมถึงปัญหาที่ลูกค้าได้พบเจอ ตัวอย่างเช่น Customer Persona วิเคราะห์ได้ว่า ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย คือคุณเอ็มมี่ ต้องการจองสายการบินไปญี่ปุ่น และที่พักที่สะดวกสบายต่อผู้สูงอายุ ที่นั่งไม่คับแคบและที่พักปลอดภัยเดินทางสะดวก ดังรูปตัวอย่างด้านล่างค่ะ

customer-persona

 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลนี้จะทำให้คุณสามารถระบุใจความของคอนเทนต์ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น “แพคเกจดีๆสำหรับคนในครอบครัว ด้วยเที่ยวบินตรงไปญี่ปุ่นพร้อมที่พัก ที่เน้นความสะดวกสบายไปกับที่นั่งกว้างขวาง ที่พักเดินทางสะดวก ปลอดภัย ใจกลางแหล่งท่องเที่ยว สบายกายสบายใจตลอดทริปการเดินทางไปกับเรา สายการบิน STEPS Airline” เป็นต้นค่ะ

สรุปเลยก็คือ Customer Persona สามารถช่วยให้คุณนำไปใช้ต่อยอดในส่วนของเนื้อหาคอนเทนต์ แคมเปญ โฆษณา เพื่อสื่อสารและนำเสนอประโยชน์ของสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการ และตอบโจทย์ปัญหาที่พวกเขาพบเจอได้นั่นเองค่ะ

 

Digital Touchpoint

เมื่อเราเข้าใจความต้องการของลูกค้าผ่าน Customer Persona และนำเสนอออกมาผ่านข้อความหรือใจความของคอนเทนต์ได้แล้ว เครื่องมือถัดมาที่จะพูดถึงคือ Digital Touchpoint เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นช่องทางที่ลูกค้าใช้เพื่อจะตัดสินใจซื้อ 

โดย Digital Touchpoint จะช่วยให้รู้ว่าช่องทางไหนที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานบ่อยที่สุด ในช่วงเวลาใด นำไปใช้ต่อยอดในการเลือกช่องทาง และเวลา ในการนำเสนอคอนเทนต์ ให้กลุ่มเป้าหมายพบเจอคุณได้ง่ายมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อสินค้ามากขึ้นด้วยค่ะ

digital-touch-point

 

จากรูปตัวอย่างการวิเคราะห์ Digital Touchpoint จะทำให้คุณเห็นว่า ช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานบ่อยที่สุดคือ Line ช่องทางที่ใช้รองลงมาในวันธรรมดาคือ Instagram และ Facebook อีกทั้งใช้งาน Youtube มากที่สุดในวันหยุด ซึ่งช่วงเวลาในการใช้งานแต่ละช่องทางก็ต่างกันตามรูปภาพด้านบน เช่น ใช้งาน Instagram วันธรรมดาในช่วงเวลา 8.00-10.00 น. และ 12.00-14.00 น. และใช้งาน Facebook วันธรรมดาในช่วงเวลา 8.00-10.00 น. และ 20.00-22.00 น. เป็นต้นค่ะ

และอย่างที่ได้กล่าวไปว่า Digital Touchpoint ไม่ได้เจาะจงถึงช่องทางที่ลูกค้าใช้เพื่อตัดสินใจซื้อ แต่เป็นช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานบ่อย ดังนั้นช่องทางเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในเรื่องของโอกาสการพบเห็น ซึ่งเป็นโอกาสในการซื้อ 

จากตัวอย่างที่วิเคราะห์ ถ้าคุณอยากให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสเห็นโพสต์ของคุณมากที่สุด จึงควรทำโฆษณาหรือคอนเทนต์ผ่าน Instagram ในช่วงเวลา 8.00 – 10.00 น. หรือ 12.00-14.00 น. และ Facebook ในวันธรรมดา ช่วง 8.00-10.00 น. และ 20.00-22.00 น เป็นต้นค่ะ และเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายใช้งาน Line บ่อยที่สุด ในทุกๆคอนเทนต์จึงควรใส่ช่องทางติดต่อผ่าน Line เข้าไปด้วยเสมอ เพราะมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะติดต่อมาทางช่องทางนี้ ซึ่งเป็นช่องทางที่พวกเขาคุ้นชินมากที่สุดค่ะ

 

Customer Journey

เนื่องจาก Digital Touchpoint ไม่ได้เจาะจงถึงช่องทางที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ จึงต้องมีเครื่องมือถัดมาที่เรียกว่า Customer Journey 

Customer Journey ใช้เพื่อวิเคราะห์ลำดับการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้น จนตัดสินใจซื้อ ยกตัวอย่างเช่น ลำดับขั้นการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายเมื่อจะซื้อสินค้าหรือบริการ 

  1. เริ่มจากการหาข้อมูลรีวิวผ่าน Search Engine ก่อน
  2. จากนั้นอ่านรีวิวเพิ่มเติมต่อจากเพจที่เกี่ยวข้อง
  3. ศึกษาโปรโมชั่น วันและเวลา
  4. เปรียบเทียบราคาหลายๆแบรนด์
  5. Search อีกครั้งเกี่ยวกับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

เมื่อผ่านการเดินทางทั้ง 5 ขั้นตอน แล้วจึงเกิดการตัดสินใจซื้อ ดังรูปตัวอย่างด้านล่างค่ะ

customer-journey
การวิเคราะห์ Customer Journey ดังกล่าวจะช่วยให้คุณมองเห็นว่า ช่องทางใดที่มีผลต่อการตัดสินใจ เพราะใช้เป็นแหล่งอ้างอิงเมื่อจะซื้อสินค้าและบริการบางอย่าง เป็นการวิเคราะห์ที่ช่วยคัดกรองว่าคุณควรทำโฆษณา และให้ความสำคัญกับช่องทางใดมากที่สุด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อ

และจากการวิเคราะห์ในภาพตัวอย่างนี้เอง จะเห็นว่าช่องทางสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมายคือ Search Engine ทำให้คุณลำดับความสำคัญได้ และหันมาทำคอนเทนต์ที่เอื้อต่อ SEO ทำโฆษณาผ่าน SEM ซึ่งเป็นช่องทางทางฝั่ง Search Engine มากขึ้น หรือถ้าหากธุรกิจคุณยังไม่เคยทำการตลาดผ่าน Search Engine นี่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสที่ดี ที่จะเริ่มลงมือทำ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้เพราะมีโอกาสการตัดสินใจซื้อที่มากขึ้น ตามพฤติกรรมที่เราได้วิเคราะห์มาแล้วนี้เองค่ะ

และถ้าหากใครต้องการรายละเอียดการวิเคราะห์เจาะลึกลูกค้าบนโลกออนไลน์เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลด E-book

รู้จักตลาด (Channel)

digital-marketing-strategy-channel

 

หลังจากวิเคราะห์ลูกค้าผ่านเครื่องมือทั้ง 3 อันได้แก่ Customer Persona, Digital Touchpoint และ Customer Journey กันไปแล้ว คุณจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า คุณควรจะนำเสนอเนื้อหาอะไร ให้ตรงใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และเริ่มรู้ว่าควรทำการตลาดผ่านช่องทางใด ที่เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเห็น และเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้

และเมื่อลองสังเกตดู จะมีปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวโยงเข้ามา อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโอกาสในการซื้อสินค้า นั่นก็คือ Channel หรือ ช่องทาง นั่นเองค่ะ

หลังจากที่คุณเริ่มรู้แล้วว่าควรจะเลือกช่องทางใดในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายบ้างจากการวิเคราะห์ลูกค้า สิ่งที่ต้องทำต่อคือ ศึกษารายละเอียดของช่องทางที่คุณจะใช้งานนั้นๆด้วย ว่ามีข้อควรรู้อะไรบ้างที่สำคัญ หรือมีขั้นตอนอะไร ที่ทำให้การทำการตลาดบนช่องทางนั้นๆสำเร็จ ซึ่งในหัวข้อนี้จะขอพูดคุยถึง 2 ช่องทางหลักๆ ที่คนใช้งานกันมากที่สุดนั่นก็คือ Social Media และ Search Engine ค่ะ

Social Media 

channel-social-media

 

ช่องทางแรกที่เราจะพูดถึงก่อน คือ Social Media เป็นช่องทางที่ผู้คนบนโลกออนไลน์ใช้งานมากที่สุดในชีวิตประจำวัน เพื่ออัพเดทข่าวสาร ติดตามข้อมูล และสร้างสัมพันธ์ทางสังคมบนโลกออนไลน์ จึงเปรียบเหมือนประตูบานแรก ที่ช่วยทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก (Brand Awareness) ทำให้ผู้ติดตามเข้าถึงและมี

ปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์แบบสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น (Reach and Engagement) รวมถึงได้ผลพลอยได้ในเรื่อง Sales Conversion หรือ ยอดขายได้อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดบนช่องทาง Social Media ให้สำเร็จจะต้องมีการวางกลยุทธ์ที่ดี อันประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

  1. Marketing Objectives – การตั้งเป้าหมาย หรือจุดประสงค์ของธุรกิจในแต่ละช่องทาง มักอ้างอิงในมุมของการนำเสนอสาร ว่าคุณต้องการนำเสนอเพื่อจุดประสงค์อะไร ซึ่งมักจะแบ่งตามขั้นการเดินทางของลูกค้า ดังนี้
    • Reach & Awareness การเข้าถึงและการรับรู้
    • Engagement กระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้ชม/ ผู้ติดตาม
    • Lead Generation กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มสนใจซื้อสินค้าหรือบริการของแบรนด์
    • Sale เป้าหมายสำหรับการขาย
  1. Customer Analytics – ทำความเข้าใจลูกค้าจาก Customer Persona และวิเคราะห์ผ่าน Customer Journey ร่วมกับ Digital Touchpoint 
  2. Content Formation – การออกแบบคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับแต่ละช่องทาง และเหมาะสมกับประเภทของลูกค้า
    • จุดเด่นและข้อจำกัดของ Social Media ต่างๆ
    • ขนาดของคอนเทนต์แบบ รูปภาพ ในแต่ละช่องทาง
    • ขนาดของคอนเทนต์แบบ วิดีโอ ในแต่ละช่องทาง
  1. KPI – การติดตาม วัดผล เก็บสถิติ ที่เหมาะสมในแต่ละช่องทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้

ซึ่งทั้งหมดนี้คือขั้นตอน และองค์ประกอบพื้นฐานของการทำการตลาดบนช่องทางโซเชียลมีเดียที่คุณควรรู้ อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวไปเป็นเพียงสรุปเชิงภาพรวมของการทำการตลาดผ่านช่องทางนี้เท่านั้น สำหรับรายละเอียดของหัวข้อต่างๆที่ได้กล่าวไป ตัวอย่าง รวมถึงข้อมูลขนาดของคอนเทนต์แต่ละช่องทาง สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ E-book “Social Media Marketing 101” ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย จากลิงก์นี้ได้เลยค่ะ https://docs.stepstraining.co/fm03-social-media-marketing-101-ebook

 

Search Engine

channel-search-engine

 

แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นช่องทางยอดนิยม และมักจะเป็นประตูบานแรกที่ลูกค้าพบเจอเรา แต่การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เพียงช่องทางเดียว ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์และการันตีได้ว่าเราจะประสบความสำเร็จสำหรับการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ เพราะ ณ ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภค มีการค้นหาข้อมูล อัปเดตข่าวสารผ่านหลายๆช่องทาง และหนึ่งในช่องทางที่ผู้ใช้งานออนไลน์นิยมใช้ก็คือ Search Engine ค่ะ

โดยในหัวข้อนี้ จะขอพูดถึงภาพรวมต่างๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดผ่านช่องทาง Search Engine ซึ่งเราจะเริ่มต้นกันจาก 

สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทำ Search Marketing ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจ

  • ต้องรู้ว่า User หรือคนที่เป็นลูกค้าของเราจะ Search คำว่าอะไรเป็นอย่างแรก หรือที่เราเรียกมันว่า Keyword การใช้ Keyword ที่ตรงกับสิ่งที่คนค้นหา จะเป็นใบเบิกทางสำคัญให้คนสามารถเข้ามาเจอเว็บไซต์ของเราได้ จึงเพิ่มโอกาสให้คนเห็นสินค้าและบริการ หรือจนกระทั่งเกิดการซื้อได้ค่ะ
  • ข้อความโฆษณาของเราต้องมีความน่าสนใจ มีความดึงดูด และชูจุดขายของเราได้ เพราะคำโฆษณาที่โดน ที่ตรง จะสามารถช่วย Lead ให้อยากคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ต่อได้ค่ะ 
  • Landing page หรือเว็บไซต์ของเรา ถือเป็นหัวใจสำคัญของ Search Engine เพราะจะต้องนำทางคนที่จะมาเป็นลูกค้าของเราเข้าไปในเว็บไซต์หรือเข้าไปในหน้าที่เขาต้องการค้นหาจริงๆได้ ถ้าเว็บไซต์เรามีการวางระบบที่ดี มีการนำทางไปยังหน้าของสินค้า บริการที่เขากำลังหาอยู่ ก็จะสามารถทำให้ปิดการขายได้ค่ะ

ส่วนสำคัญลำดับถัดมา ที่จะลืมพูดถึงไปไม่ได้เลยเมื่อทำ Search Engine สิ่งนั้นก็คือ SEO และ SEM ค่ะ

 

SEO & SEM คืออะไร?

what-seo-sem

 

SEO (Search Engine Optimization) 

คือการทำให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้นๆของ Search Engine (แบบไม่มีค่าใช้จ่ายโฆษณา) ซึ่งการทำ SEO แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ SEO On Page กับ SEO Off Page 

SEO On Page คือ การทำให้องค์ประกอบต่างๆภายในเว็บไซต์ เอื้อประโยชน์ให้เว็บสามารถติดอันดับต้นๆของการค้นหาได้ ไม่ว่าจะเป็น หัวเรื่องของหน้าเว็บ, การรู้จักนำลิงค์เชื่อมไปยังหน้าอื่นๆภายในเพจเราเพื่อให้เกิดการคลิกดูภายในเพจอย่างต่อเนื่อง, คำอธิบายหน้าเว็บไซต์ และอื่นๆอีกมากมายที่จะทำให้เว็บเราดูน่าสนใจ น่าดึงดูด ให้คนเข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

ตัวอย่างนี้คือหนึ่งในการทำ SEO Onpage เป็นการใช้ Keyword ในบทความ คือคำว่า “Blog Success factor” โดยแทรกอยู่ทั้งในหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง และในส่วนเนื้อหา เพื่อเอื้อให้เว็บไซต์ติดอันดับบนๆเมื่อค้นหาคีย์เวิร์ดนี้ รวมถึงมีการแทรกลิงก์บทความอื่นของเว็บ เพื่อให้ผู้เข้าชมยังคงอยู่ในเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องด้วยค่ะ

seo-on-page

ที่มา : https://blog.pagezii.com/difference-between-on-page-and-off-page-seo/

 

SEO Off Page คือ การโปรโมทเว็บไซต์ของเราในเว็บอื่นๆ เพื่อเพิ่มจำนวนให้คนเข้ามาดูเว็บเรามากขึ้น เช่นการไปติดป้ายโฆษณากับเว็บดังๆ ที่คนเข้าชมเยอะๆ อีกกรณีคือการที่เว็บไซต์ถูกอ้างอิงในบทความหรือคอนเทนต์อื่นๆที่ดี จึงมีการลิงก์มายังหน้าเว็บไซต์เรา จัดอยู่ในรูปแบบนี้เช่นกันค่ะ 

และนี่คือตัวอย่าง SEO Off page ที่มาในรูปของการรีวิวจากบล็อคอื่นๆ ซึ่งมีการอ้างอิงลิงก์ไว้ด้วย จึงช่วยเพิ่มทราฟฟิกในการเข้าเว็บให้มากขึ้นค่ะ

backlink-exampleที่มา : https://blog.monitorbacklinks.com/seo/example-of-a-backlink/

ไม่ว่าจะเป็น SEO แบบ On Page หรือ Off Page ก็มีความสำคัญต่อการทำการตลาดในช่องทางนี้ทั้งคู่ ซึ่งคุณควรจะต้องทำควบคู่กันไป ช่วยเพิ่มปริมาณการเข้าถึงเว็บไซต์ได้มากขึ้นจากการทำทั้งสองทางค่ะ

 

SEM (Search Engine Marketing) 

คือการทำโฆษณา(แบบมีค่าใช้จ่าย) บนแพลตฟอร์มของ Search Engine ซึ่งทำขึ้นเพื่อให้เว็บไซต์ได้ไปปรากฏอยู่บนผลการค้นหาในทันที ซึ่งจะแสดงผลอยู่ด้านบนของหน้าจอผลการค้นหาค่ะ

SEM สามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า PPC หรือ Pay-per-click ซึ่งเป็นรูปแบบการคิดโฆษณาพื้นฐานของ Search Engine ที่จะคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ลงโฆษณา เมื่อมีการคลิก Ads โฆษณาบน Search Engine

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น รูปตัวอย่างด้านล่าง จะแสดงหน้าจอผลลัพธ์การค้นหา ซึ่งแสดงสัดส่วนของ SEO และ SEM ให้คุณเห็นอย่างชัดเจนค่ะ

sem-ppc-vs-seo-google-search-results

ภาพจาก : https://www.business2community.com/seo/whats-difference-seo-sem-matter-02015195

ข้อดี-ข้อเสีย

SEM 

ข้อดี : สามารถขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ บน Search Engine ได้ในทันที ด้วย ‘คีย์เวิร์ด’ ที่ต้องการ 

ข้อเสีย : เมื่อเงินหมด Traffic จาก SEM ก็หมดตาม 

SEO 

ข้อดี : เมื่อเว็บไซต์สามารถไปปรากฏบนผลการค้นหาในหน้าแรก ๆ ของ Search Engine ได้ จะมี Traffic ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เสียเงินค่าโฆษณา 

ข้อเสีย : ใช้เวลานานในการทำ SEO, ไม่การันตีผลลัพธ์ และต้องมีการทำ SEO อย่างต่อเนื่อง 

โดยสรุปแล้ว ทั้งสองรูปแบบนั้นก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งการทำการตลาดผ่านช่องทาง Search Engine ให้สำเร็จ จะต้องทำทั้งสองรูปแบบควบคู่กัน เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับการค้นหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ลูกค้าค้นหาเมื่อไหร่ก็เจอ เป็นที่น่าเชื่อถือ และเพิ่มโอกาสการเข้าเว็บไซต์ จนปิดการขายได้ค่ะ

และนี่คือ 2 ส่วนสำคัญหลักๆในการทำ Digital Marketing นั่นก็คือ Customer และ Channel อันเป็นสองส่วนสำคัญต่อการทำการตลาด โดยเฉพาะสำหรับ Content marketing เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ ได้ตรงใจความต้องการลูกค้า ในช่องทาง เวลา และรูปแบบที่เหมาะสม นำพาไปสู่เป้าหมายหลักคือการตัดสินใจซื้อได้อย่างง่ายดายมากขึ้น และยอดขายเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม Customer และ Channel เป็นเพียงบางส่วนของการทำการตลาดออนไลน์เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ และรายละเอียดย่อยอีกหลายอย่าง ที่ธุรกิจจะต้องนำมาใช้งานประกอบกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางออนไลน์ได้ ซึ่งหากคุณต้องการเรียนรู้องค์ประกอบสำคัญทั้งหมด และลงมือทำจริงโดยมีผู้เชี่ยวชาญในด้าน Digital Marketing โดยตรงมาเป็นผู้แนะนำให้ สามารถเรียนได้จากคอร์ส DMS (Digital Marketing Specialist) ทั้ง 6 สัปดาห์ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้เลยค่ะ

DMS (Digital Marketing Specialist)

https://stepstraining.co/digital-marketing-specialist

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

5 ขั้นตอน สร้าง Brand Identity ให้น่าจดจำอย่างแบรนด์ระดับโลก
4 องค์ประกอบสำคัญในการตั้งเป้าหมายเมื่อคุณเริ่มต้นวางกลยุทธ์ Digital Marketing