อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่ายุคนี้คือยุคดิจิทัลที่ใคร ๆ ก็หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก รวมไปถึงฝั่งธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ต่างก็หันมาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาระบบการซื้อขาย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่เราจะพูดถึงในวันนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารต่อยอดธุรกิจได้ นั่นคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลลูกค้า (Customer Data) นั่นเองค่ะ
ข้อมูลของลูกค้า หรือที่เราเรียกว่า Data ในโลกออนไลน์นั้น จะเกี่ยวข้องกับความสนใจ และพฤติกรรรมการบริโภคสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลจากลูกค้าเปรียบเสมือนกับการมีขุมทรัพย์อยู่ในมือ เนื่องจากการที่เรามีข้อมูลเหล่านี้ สามารถบ่งชี้ได้ว่าปัจจุบัน ลักษณะการบริโภคสินค้าเป็นอย่างไรบ้าง พฤติกรรมและความสนใจของลูกค้าในปัจจุบันมีทิศทางเป็นแบบไหน สิ่งเหล่านี้ หากผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ตรงจุด จะทำให้เกิดกลยุทธ์ในการสร้างธุรกิจ และเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
และไม่ว่าผู้บริโภคยุคดิจิทัลจะทำอะไรผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสาร ก็จะต้องสร้างข้อมูลส่วนตัวเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์
นอกจากการที่ทุกคนต้องสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในโลกออนไลน์แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์จะมีอัลกอริทึ่มสำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ด้วยเช่นกัน
สถิติจาก Wearesocial แสดงให้เห็นถึงข้อมูลของลูกค้า ที่ใช้โซเชียลมีเดียในปี 2023 ในเชิงข้อมูล demographic
ในฝั่งของ sproutsocial ยังเผยสถิติว่า 90% ของผู้บริหารชั้นนำใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อมาวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย (updated 2023)
จากสถิติข้อมูลของลูกค้า ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมโลกออนไลน์ ชี้ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดีย สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายเป็นอย่างมาก ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามเทรนด์โลก ซึ่งผู้ประกอบการควรคำนึงถึง การปรับตัวของแบรนด์เพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัล และเลือกสรรกลยุทธ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง
หนึ่งในวิธีการต่อยอดธุรกิจที่ได้ผลลัพทธ์ที่ดีคือ การนำข้อมูลที่มีอยู่ในมือมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้แบรนด์เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าจริง ๆ โดยที่นักการตลาดใช้ระบบเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า
1. Big Data คือกุญแจสำคัญในการเข้าถึงลูกค้า
หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่าทำไม Data ถึงสำคัญมากต่อธุรกิจ แล้ววิธีการจัดการข้อมูลเหล่านี้เขาทำอย่างไรกัน บทความนี้ จะขอเริ่มอธิบายให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับเทคนิคการนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการวางแผนทางการตลาดกันค่ะ
- ทำไม การจัดการข้อมูลที่มีอยู่ในมือถึงสำคัญต่อแบรนด์ ?
ก่อนอื่นเลย คุณควรหาวิธีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ให้เป็นระบบ เพราะนั่นคือขั้นตอนแรกของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรเพิกเฉยต่อการจัดการข้อมูลเหล่านี้
หากข้อมูลลูกค้าที่คุณมียังไม่ได้มีการจำแนกให้เป็นระเบียบ หรือคุณคิดว่าสิ่งนี้ไมจำเป็นต่อการสร้างธุรกิจคุณอาจพลาดโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้า
ดังนั้นเราขอแนะนำให้คุณเริ่มจัดระบบข้อมูลที่คุณมีให้เป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อช่วยให้คุณได้เข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงการตอบสนองจากลูกค้า เมื่อได้ใช้สินค้าหรือบริการจากแบรนด์ไปแล้วค่ะ
- ผู้ประกอบการสามารถจัดระเบียบ Big Data ที่มี ได้อย่างไรบ้าง?
การจัดระเบียบข้อมูล เพื่อนำมาต่อยอดในธุรกิจโดยทั่วไปแล้วจะมีวิธีการที่เรียกว่า Data Science Process หรือ วิธีการนำข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือมาจำแนกให้เป็นหมวดหมู่เพื่อทำการวิเคราะห์ และผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ที่จำแนกเรียบร้อยแล้วมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อวางแผนการตลาด โดยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
- การเก็บข้อมูลจากลูกค้า ( Obtain data )
- การทำความสะอาดข้อมูล หรือ การจำแนกข้อมูลให้เป็นระบบมากขึ้น ( Scrub data )
- การวิเคราะห์ข้อมูล และค้นหาสิ่งที่น่าสนใจ (Explore data)
- การสร้างโมเดล เพื่อทำการคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น (Model data)
- การแปลงข้อมูล เพื่อนำมาช่วยในการตัดสินใจวางกลยุทธ์ (Interpret data)
2. ลงทุนกับระบบ Analytic
กุญแจสำคัญในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของลูกค้าที่คุณมี คือ การลงทุนกับ Big Data Analytic หรือระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยให้ธุรกิจต่อยอดไปได้ไกลขึ้น
ในวงการธุรกิจขนาดใหญ่โดยส่วนมาก ให้ความสำคัญคัญของการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยจะใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยจัดเรียงข้อมูล และมีแผนกสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าโดยเฉพาะ เพื่อจัดการบริหารข้อมูลและนำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการตลาด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าขนาดธุรกิจของคุณอาจไม่ได้ใหญ่โต หรืออยู่ในระดับผู้ประกอบรายย่อย แต่ถ้าหากคุณตัดสินใจลงทุนกับระบบเพื่อวิเคราะห์ทิศทางการบริโภคสินค้าและบริการ อาจช่วยต่อยอดแผนการตลาดได้ดีขึ้น เหตุผลนั่นก็เพราะข้อมูลที่คุณมี สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างตรงจุดนั่นเองค่ะ
เรามาดูตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ข้อมูลลูกค้าในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดกันค่ะ
- Netflix ใช้ระบบข้อวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการตลาดแบบ Personalization
สำหรับแบรนด์ในดวงใจของใครหลายๆคนอย่าง Netflix ที่ได้เก็บข้อมูลลูกค้า (Customer Data) จากยอดผู้ติดตาม (Subscribe) ที่มีมากกว่า 100 ล้านคน มารวบรวมไว้ในระบบ เพื่อเป็นประตูสู่ช่องทางการโฆษณา
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นสมาชิก Netflix คุณก็อาจจะพอทราบคร่าว ๆ ใช่ไหมล่ะคะ ว่าบางครั้ง Netflix จะส่งอีเมลเพื่อแนะนำซีรีส์ยอดนิยมมาให้คุณได้เลือกชมหรือการแจ้งเตือนผ่านแอป ซึ่งซีรีย์หรือภาพยนต์ที่ Netflix ส่งมาให้คุณ อาจเป็นหนังเรื่องใหม่ล่าสุด หรืออาจจะเป็นประเภทหนังที่คุณเคยดูอยู่แล้ว เช่น หนังแอคชั่น หรือแนวคอมเมดี้
เหตุผลที่ Netflix ส่งหนังหรือซีรีย์แนวคล้ายๆกันมาให้ นั่นก็เพราะ ระบบอัลกอริทึ่มสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลได้เก็บประวัติการรับชมหนังของคุณเอาไว้ก่อนหน้านี้ หรือเก็บข้อมูลจากการที่คุณเคยค้นหาซีรีส์เพื่อรับชม เพื่อทำการประมวลผล และส่งซีรีส์ที่คุณชอบกลับไปให้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่คุณ อาจจะดูหนังที่ทาง Netflix นำเสนอ ซึ่งกลยุทธ์การตลาดเช่นนี้เรียกว่า Personalization ค่ะ
- ธนาคาร UOB ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการบริหารความเสี่ยง
ธนาคาร UOB ในประเทศสิงคโปร์ ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อป้องกันความเสี่ยงบางอย่างที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากธนาคาร UOB มีลูกค้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก และองค์กรนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเงิน ดังนั้น UOB จึงใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดการบริหารความเสี่ยง โดยแรกเริ่มนั้น ธนาคารต้องใช้เวลาคำนวณหาความเสี่ยงประมาณ 18 ชั่วโมง แต่เมื่อธนาคารได้เริ่มใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูล
ผลลัพธ์ที่ได้ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ดังนั้น UOB จำเป็นต้องหาวิธีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานค่ะ
- Amazon ใช้ระบบทำการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อต่อยอดธุรกิจ
ภาพจาก: https://www.geekwire.com
ที่ผ่านมา ทุกคนน่าจะทราบกันดีว่า Amazon คือเว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับการชอปปิงออนไลน์ และปีที่ผ่านมา Amazon ได้สร้างแบรนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีชื่อว่า Amazon Fresh and Whole Food ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
การวางแผนรุกการตลาดประเภทออฟไลน์นี้ มาจากการนำข้อมูลจากลูกค้าในเว็บไซต์ มาทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภค และระบบโลจิสติกในการขนส่งสินค้า รวมไปถึงการนำข้อมูลเชิงลึกมาต่อยอ ดเพื่อสร้างธุรกิจระหว่างการซื้อขายอาหารสดและผู้ผลิตสินค้าอีกด้วยค่ะ
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาเครื่องมือวัดผล เราได้รวบรวมตัวอย่างโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลยอดนิยมที่ใช้เพื่อนำไปปรับใช้กันค่ะ
1. DOMO
DOMO เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อใช้จัดการข้อมูลเชิงธุรกิจ ซึ่งใช้งานง่าย และสามารถแสดงผลได้ตามเวลาจริง ข้อดีในการใช้ DOMO ในการวิเคราะห์คือผู้ใช้สามารถจัดการข้อมูลผ่านอุปกรณ์มือถือได้ทั้งในระบบ IOS และ Android ค่ะ
เหมาะกับธุรกิจประเภท: S, M, L
ระบบปฎิบัติการที่ใช้: Mac, Window, Linux
2. Sisense Software
Sisense เป็นโปรแกรมสำหริบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถดึงข้อมูลเชิงลึกที่ต้องการออกมาใช้ได้ในทันที การใช้งานไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ทันที หากข้อมูลในระบบมีความผิดปกติ แถมราคายังไม่สูงมากด้วยค่ะ
เหมาะกับธุรกิจประเภท: S, M, L
ระบบปฎิบัติการที่ใช้: Mac, Window, Linux
3. Google Analytics Software
โปรแกรมนี้อาจจะเป็นที่คุ้นหูสำหรับนักการตลาดเนื่องจากในวงการการตลาดออนไลน์มักนิยมใช้กันอย่างมาก ข้อดีในการใช้โปรแกรม Google Analytics คือการที่ระบบ จะรายงานผลการวิเคราะห์จากการติดตามผู้เข้าเว็บไซต์ และการการนำข้อมูลไปในการสร้างแคมเปญทางการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างยอดขาย
เหมาะกับธุรกิจประเภท: S, M, L
ระบบปฎิบัติการที่ใช้: Mac, Window, Linux
4. IBM Cognos Analytics
หากคุณมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก ระบบวิเคราะห์ข้อมูลของ IBM สามารถช่วยให้คุณจำแนกข้อมูลขนาดใหญ่และแสดงผลออกมาในรูปแบบของสถิติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกราฟ หรือแบบชาร์ตข้อมูล อีกทั้งระบบยังสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
เหมาะกับธุรกิจประเภท: S, M, L
ระบบปฎิบัติการที่ใช้: Mac, Window, Linux
โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างเครื่องมือที่ยกขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจแบบพอสังเขปก่อนตัดสินใจซื้อ ความจริงแล้วนั้นยังมีโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกนั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ราคาที่เหมาะสม และฟังก์ชั่นการใช้งานของโปรแกรมที่สามารถนำไปยอดให้กับธุรกิจของคุณได้ค่ะ
3. ใช้ข้อมูลย้อนหลัง
บางคนอาจจะคิดว่าข้อมูลที่เรามีสามารถช่วยประเมิณผลได้ในอนาคต แต่กุญแจสำคัญอีกประการ คือการเรียนรู้วิธีนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้จากในอดีต
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการใช้ข้อมูลการขายเมื่อ 5 – 10 ปีที่แล้วมาวิเคราะห์รูปแบบการซื้อขาย
และใช้ระบบการจัดการเอกสาร แยกแยะข้อมูลการขายลูกค้าที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภค
ถึงแม้ว่า ในสมัยก่อนธุรกิจของคุณอาจจะไม่มีระบบซอฟต์แวร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บข้อมูล แต่คุณสามารถแปลงเอกสารจากแฟ้มข้อมูลที่คุณมี ให้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลได้
ข้อดีของการใช้ข้อมูลย้อนหลัง คือการที่ธุรกิจของคุณสามารถพัฒนารูปแผนการตลาดภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสมได้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตไปมากกว่าที่คุณคิด
4. ประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มยอดขายให้ถูกช่องทาง
การสร้างรายได้โดยที่มีรายจ่ายน้อยลง ไม่ว่าธุรกิจไหนก็สนใจ ดังนั้น Data-Driven Marketing เป็นวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและชุดข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นตัวชี้วัด มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสินค้า หรือธุรกิจที่คุณมี นอกจากจะทำให้ยอดขายของคุณเพิ่มขึ้น แต่คุณยังสามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไปได้อีก
เราจะขอยกตัวอย่าง 3 แพลตฟอร์มยอดนิยมที่ผู้ประกอบการมักใช้ในการโฆษณา ได้แก่ Facebook Instagram และ Instagram ซึ่งจากภาพสรุปได้ว่า หากธุรกิจของคุณต้องการลงทุนยิงโฆษณาผ่าน Facebook และ Instagram ของแบรนด์คุณนั้นอาจได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และ ควรลดค่าใช้จ่ายในการยิงโฆษณาผ่าน Youtube และทุ่มเทเวลาไปกับการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดผ่าน Facebook และ Instagram เพื่อให้ผลลัพธ์ในการดำเนินธุรกิจมีเป้าหมายที่ชัดเจน และสามารถสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจากสองแพลตฟอร์มนี้ค่ะ
จากภาพด้านบน ทาง Oberlo ได้แสดงสถิติว่าในช่วงปีที่ผ่านมา Facebook เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่ยอดนิยมสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ใช้เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าที่มีผู้ใช้งานมากว่าสองพันเก้าร้อยล้านรายทั่วโลก (Updated 2023)
5. วิเคราะห์หาลูกค้าที่มีแนวโน้มว่าจะยกเลิกบริการ
การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ที่ไม่ว่าจะทำอะไร ก็สะดวกและรวดเร็วไปเสียทุกอย่าง
ไม่ว่าลูกค้าจะสมัครสมาชิกหรือสร้าง User ผ่านระบบออนไลน์ ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกัน การขอยกเลิกบริการ ก็สามารถทำได้เพียงแค่เลื่อนนิ้วผ่านหน้าจอมือถือเช่นกัน
ในวงการธุรกิจ ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดอาจเคยได้ยินคำว่า Customer Churn ซึ่งหมายถึง ลูกค้าเก่า หรือลูกค้าขาประจำที่เป็นสมาชิกในระบบที่ซื้อสินค้าและบริการของคุณอยู่เป็นประจำ เกิดเปลี่ยนใจ ยกเลิกบริการ หรือหยุดซื้อสินค้ากับคุณ
ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องหาวิธีเพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ โดยใช้ข้อมูลลูกค้าวิเคราะห์หาแนวโน้มที่จะทำให้ลูกค้าของคุณยังคงภักดีต่อแบรนด์ และสนับสนุนสินค้าและบริการของคุณอยู่ ซึ่งการใช้ระบบวิเคราะห์ลูกค้า จะสามารถอธิบายได้ว่าสินค้าตัวไหน ลูกค้าชื่นชอบเป็นพิเศษ หรือการบริการลักษณะใดที่เป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้า ทำให้ธุรกิจของคุณ สามารถมุ่งเน้นไปที่การขายสินค้าที่เป็นที่กำลังนิยมหรือยื่นข้อเสนอดีๆที่ลูกค้าไม่ควรพลาด เพื่อโน้มน้าวใจกลุ่มคนเหล่านี้ให้กลับมาบริโภคสินค้าและบริการจากคุณอีกครั้ง
6. ใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลจากลูกค้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ นั่นก็คือการวิเคราะห์พฤติกรรม และความสนใจของผู้บริโภค ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งสถิติการใช้ข้อมูล หรือ Big data จาก IBM พบว่ามีการโพสต์ภาพและวีดีโอ เติบโตมากขึ้นถึง 80 %
ข้อดีในการเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์ จะสามารถชี้วัดได้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการนำเสนอแบรนด์ กำลังใช้แพลตฟอร์มประเภทใดอยู่ และแบรนด์ของคุณควรใช้รูปแบบตอนเทนต์ที่กำลังเป็นกระแส ดึงดูดความสนใจจากลูกค้า และทำให้การโฆษณาสินค้าเหล่านั้นจูงใจผู้บริโภคให้เกิดการซื้อขาย
7. ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
การที่ผู้ประกอบการนำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามาต่อยอดธุรกิจ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญคือ การแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่พนักงานในองค์กร เพื่อให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าและมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น
- ฝ่ายบริการลูกค้า จะต้องรู้ลึกและรู้จริง เกี่ยวกับข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างที่ลูกค้ารู้สึกกังวล หรือนำเสนอทางเลือกที่ลูกค้าพีงพอใจ
- ฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย จำเป็นที่จะต้องมีความรู้และเข้าใจตรงกันว่า พฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายขององค์กรเป็นอย่างไร เพื่อสร้างแคมเปญให้ตอบโจทย์ และฝ่ายขายสามารถนำเสนอลูกค้าได้อย่างตรงใจ
ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าmข้อมูลดิจิทัลที่แบ่งปันนั้นสามารถเข้าถึงได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจในอนาคต
8. ระบบ Automation ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ระบบ Automation คือการที่ธุรกิจนำเทคโนโลยี หรือระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิต ซึ่งผลลัพธ์จากการใช้ระบบอัตโนมัติ จะทำให้คุณภาพของการผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือขึ้น ประหยัดต้นทุนและเวลาได้มากขึ้น
การนำระบบ Automation ใช้เพื่อจัดเรียงข้อมูล ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องปลดพนักงานออกจากงาน แต่การใช้เทคโนโลยีจะช่วยประหยัดเวลาของมนุษย์และทำให้เรามีเวลาทุ่มเทไปกับการทำงานด้านอื่น ๆ เช่น การวางแผนกลยุทธ์ หรือการคิดไอเดียใหม่ ๆ
การใช้ระบบอัลกอริทึ่มเพื่อเรียบเรียงข้อมูล มีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ให้เป็นระเบียบ และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้ในอนาคตได้
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างลักษณะของ Marketing Automation มาให้ชมกันค่ะ
เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปในระบบ ข้อมูลนี้จะถูกเก็บไปยัง Database อีเมลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในคลังข้อมูล เมื่อคุณต้องการส่งโปรโมชั่น หรือข่าวสารใหม่ ๆ ให้ยังลูกค้า คุณสามารถนำข้อมูลของลูกค้าในส่วนนี้มาใช้ได้ โดยการส่งอีเมลกลับไปยังกลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกอบการควรไว้วางใจเทคโนโลยี หรือโปรแกรมวิเคราะห์ที่คุณมี มาจัดการกับข้อมูลดิจิทัล เพื่อประหยัดเวลาในการวิเคราะห์ และใช้เก็บข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอนาคตค่ะ
สรุป
การนำข้อมูลของลูกค้าที่คุณมีมาจัดเรียงในระบบดิจิทัล และประยุกต์ใช้ในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับธุรกิจของคุณได้ ยิ่งคุณรู้ลึกและรู้จริงถึงข้อมูลผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คุณเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าดีขึ้นเท่านั้น และคุณยังสามารถเพิ่มโอกาสนำเสนอสินค้าและบริการได้อย่างตรงจุดมากขึ้นอีกด้วย
หากคุณสนใจบทความที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Data สำหรับการต่อยอดหรือพัฒนาธุรกิจของคุณ เรายังมีบทความที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมตามลิงก์ด้านล่างนี้ค่ะ
คอนเทนต์แนะนำ
ข้อมูลจาก:
digitalmarketinginstitute, thelead, smartdatacollective, ibmbigdatahub และ mentionlytics