อย่างที่ทราบกันดีว่า Instagram ถือเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอันดับต้นๆของคนไทย ถ้าจำนวนคนใช้เยอะ ก็เป็นโอกาสดีของธุรกิจ ที่จะทำให้ร้านค้าของเรานั้นเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วย Instagram จึงเป็นช่องทางยอดนิยมสำหรับการทำการตลาดด้วยเช่นเดียวกัน ธุรกิจไหนที่มองข้ามช่องทางนี้ไป ก็อาจจะพลาดโอกาสดีๆ และก้าวไม่ทันธุรกิจที่จำเป็นจะต้องปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ในยุคนี้ด้วย
ในวันนี้ Steps Academy จึงได้นำเทคนิคพื้นฐานของการทำการตลาดบนช่องทาง Instagram มานำเสนอสำหรับ SME หรือผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถเริ่มทำธุรกิจบนช่องทาง Instagram ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะประกอบไปด้วยอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
1. การตั้งค่าบัญชี Instagram ธุรกิจ
กรอกคำอธิบายบริษัทให้สั้น กระชับ
คำอธิบายเพจควรบอกให้ผู้ติดตามทราบได้อย่างรวดเร็วว่า ธุรกิจของคุณคืออะไร ขายอะไร หรืออยากนำเสนออะไร แต่ต้องทำให้ผู้ที่กดเข้ามารับรู้ได้ แบบสั้นกระชับ
ตัวอย่างเช่น แบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายยอดนิยมอย่าง Lululemon ที่ใส่คำอธิบายเพจเป็นวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การของความสุข สุขภาพ และความสนุกสนาน เมื่อสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ของเขา อีกทั้งยังใส่แฮชแท็กของแบรนด์ลงไปด้วย ช่วยให้ทุกคนที่เข้ามาดูเพจได้รับรู้แฮชแท็กของแบรนด์
ที่มา : instagram/lululemon
ถ้าธุรกิจของคุณมีหน้าร้าน สามารถใส่ข้อมูลจำเป็นอย่างสถานที่ตั้ง หรือเวลาเปิด-ปิด ลงไปได้เช่นเดียวกันค่ะ ลองคิดดูค่ะว่าเราอยากจะบอกข้อมูลสำคัญอะไรกับผู้ใช้บ้าง ใส่ลงไปในส่วนคำอธิบายนี้ได้เลย แต่ต้องไม่ยาวจนเกินไปนะคะ
ใส่ลิงก์เพื่อให้คลิกกลับไปยังเว็บไซต์ของคุณด้วย
นอกเหนือจากคำอธิบายธุรกิจแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการใส่ลิงก์ เพื่อดึงผู้ใช้งานให้กลับไปยังเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากบางครั้งขั้นตอนการเลือกซื้อสินค้า รวมไปถึงขั้นตอนการกดตัดสินใจซื้อบน Instagram อาจจะยังไม่สะดวกสบายเท่ากับการเข้าไปดำเนินการในเว็บไซต์ การใส่ลิงก์เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าไปดำเนินการเลือกซื้อ กดซื้อในเว็บไซต์ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ไว้ใน Instagram ของเราค่ะ
รวมไปถึงช่องทางการพูดคุย หากลูกค้ารวมถึงคุณสะดวกที่จะพูดคุยในช่องทางอื่นๆ คุณก็สามารถใส่ลิงก์ เพื่อนำลูกค้าไปยังช่องทาง Line ที่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยโต้ตอบ หรือปิดการขายได้กว่า ก็ได้เช่นกันค่ะ
ตัวอย่างการใส่ลิงก์เพื่อดึงไปยังเว็บไซต์ เมื่อต้องการซื้อสินค้า
ที่มา : instagram/potterybarn
ดังนั้นอย่าลืมที่จะใส่ลิงก์ลงไปในหน้าเพจ Instagram ของคุณด้วย ไม่ว่าจะเป็นลิงก์ที่พาไปยังหน้าเว็บไซต์หลัก หน้าซื้อขายสินค้า หน้าแสดงสินค้า ช่องทางการติดต่ออื่นๆ หรือลิงก์เพื่อดึงไปยังหน้าบทความก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ
เลือกชื่อเพจและรูปภาพที่จดจำได้ บ่งบอกถึงแบรนด์คุณได้ดี
วิธีที่ดีที่สุด คือใช้ชื่อเพจใน Instagram ให้เป็นชื่อเดียวกับร้านหรือธุรกิจของคุณ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้ใส่เครื่องหมายต่างๆ เสริมลงไปแต่ยังต้องรักษาให้ชื่อใกล้เคียงกับชื่อธุรกิจมากที่สุด
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการใช้ชื่อเพจในช่องทางต่างๆ ควรทำให้เป็นชื่อเดียวกัน หรือคล้ายกันมากที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งาน หรือลูกค้าเกิดความสับสนค่ะ
ในส่วนของรูปภาพ ควรใช้รูปโลโก้ร้าน หรือตัวละครอะไรก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่ทุกคนจดจำได้ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ
2. ออกแบบโพสต์บน Instagram ให้มีประสิทธิภาพ
ให้ความสำคัญกับคุณภาพของ Visual Content
Instagram นั้นเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เน้นเรื่องของ Visual Content หรือคอนเทนต์ประเภทรูปภาพและวิดีโอเป็นอย่างมาก
ดังนั้นถ้าอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในช่องทางนี้ อยากให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ คุณจะต้องให้ความสำคัญกับรูปหรือวิดีโอที่ใช้ด้วย
โดยหลักพื้นฐานของภาพที่มักเป็นที่นิยมบน Instagram จากข้อมูลของเว็บไซต์ Buffer ได้ระบุไว้ว่า
- ภาพที่ใช้โทนสว่าง มักจะได้รับการกด Likes มากกว่าภาพที่ใช้โทนมืด 24%
- ภาพที่พื้นหลังมีการเว้นพื้นที่ให้โล่งๆ มักจะได้รับการกด Likes มากกว่าภาพที่แน่นและยุ่งเหยิง 29%
- ภาพที่เลือกใช้สีโดดเด่นเพียงสีเดียว หรือมีโทนสีที่โดดเด่นโทนเดียว จะได้รับการกด Likes มากกว่าภาพที่ใช้สีหลากหลาย 17%
นอกจากนี้ควรรักษาคุณภาพของภาพที่ใช้ หรือวิดีโอให้คมชัดสวยงามด้วยเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น Instagram ของเพจ glitterguide ที่นำเสนอโดยเลือกใช้โทนสีไปในทางเดียวกันคือสีชมพูพาสเทล สีเขียวมินท์ สีฟ้า รวมถึงใช้ภาพโทนสีสว่าง สดใส เมื่อแต่ละรูปเรียงเข้าด้วยขึ้น จึงทำให้เพจดูสวยงาม น่าดึงดูดใจ นั่นเองค่ะ
ที่มา : instagram/glitterguide
อีกตัวอย่างเป็นของ fornstudio ที่เลือกใช้รูปภาพสีสว่าง และเลือกโทนสีที่ไปในทางเดียวกันทุกๆรูป คือสีขาว สีครีม สีส้มอ่อน และสีน้ำตาล ทำให้ภาพของเพจ มีความเป็นเรื่องเดียวกัน ดูแล้วสวยงาม น่าสนใจค่ะ
ที่มา : instagram/fornstudio
สำหรับคนที่ต้องการทำการตลาดใน Instagram จึงแนะนำให้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการตกแต่งภาพ ถ่ายภาพเบื้องต้นเอาไว้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทำได้ง่ายขึ้นผ่านมือถือ ภาพคมชัดไม่แพ้กล้อง และสามารถใส่ฟิลเตอร์ แต่งภาพผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆบนมือถือได้ด้วย เพื่อให้ภาพสินค้าของร้านเรานั้น สวยงามน่าดึงดูดใจบนช่องทาง Instagram ไม่แพ้แบรนด์อื่นๆนั่นเองค่ะ
ใช้กฎการขาย 20/80
ตามกฎทั่วไปของการตลาดบนโซเชียลมีเดียแนะนำว่า เราควรเน้นการโพสต์ขายสินค้าแค่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของโพสต์ทั้งหมด อีก 80 เปอร์เซ็นต์ควรมุ่งเน้นไปที่คอนเทนต์คุณภาพที่สามารถดึงดูดผู้ติดตามได้แบบไม่เน้นไปที่สินค้าหรือบริการโดยตรง
ให้หลีกเลี่ยงการโพสต์ในเชิงโฆษณาแบบโจ่งแจ้ง หรือในลักษณะการยื่นข้อเสนอมากจนเกินไป เพราะเป็นเหมือนการยัดเยียดบังคับผู้ติดตามให้ซื้อ หากโพสต์ในลักษณะนี้มากๆ
มาลองดูตัวอย่างโพสต์นี้จาก Instagram ของร้านกาแฟที่พอร์ตแลนด์ชื่อว่า Stumptown ซึ่งเป็นตัวอย่างการโพสต์ขายสินค้าแบบไม่ยัดเยียดค่ะ
ที่มา : instagram/stumptowncoffee
เนื่องจากตอนนั้นในพอร์ตแลนด์ เป็นช่วงที่ผู้คนกำลังเจอกับสภาพอากาศร้อน แทนที่แบรนด์จะเขียนในลักษณะขายโดยตรงแต่ใช้คำสั้นๆง่ายๆอย่าง “Heat wave, cool brews” ที่บ่งบอกว่าเราสามารถสู้กับอากาศร้อนง่ายๆ ด้วยกาแฟเย็นๆสักแก้ว ถือเป็นการขายแบบนุ่มนวล ไม่ยัดเยียดจนเกินไปนั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะไม่สามารถโพสต์ขายสินค้าได้เลย แค่เพียงต้องรักษาสมดุล หรือกฎ 20/80 ไม่ให้มีมากไปเท่านั้นเองค่ะ
ใช้ภาพจากลูกค้าหรือแฟนเพจ (User generated Content : UGC)
คอยกระตุ้นให้ลูกค้า รวมถึงแฟนเพจใช้แฮชแท็กของแบรนด์ เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้เรารับรู้ได้ว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร รวมถึงเป็นผลดีให้เราสามารถนำมาโพสต์บนหน้าเพจหลักของเราได้ด้วย
การนำภาพจากลูกค้า (User generated Content : UGC) มาใช้ ช่วยสร้างความรู้สึกประทับใจให้กับผู้ติดตาม เป็นผลให้อยากจะใช้สินค้าต่อๆไปมากขึ้น อยากโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์มากขึ้น เป็นการสร้างความรู้สึกภักดี รวมถึงช่วยให้แบรนด์สามารถได้เห็นไอเดียใหม่ๆจากโพสต์ของลูกค้าได้อีกด้วยค่ะ
ตัวอย่างการนำคอนเทนต์จากลูกค้า มาใช้โพสต์บนหน้าเพจ Instagram ของแบรนด์
ที่มา : instagram/blackmilkclothing
ใช้ Instagram Stories ทำการตลาด
“Instagram Stories” หรือ “IG Stories” เป็นช่องทางที่ผู้ใช้สามารถโพสต์รูปภาพ และวิดีโอต่างๆ ที่เต็มไปด้วยสติกเกอร์และข้อความที่น่าสนใจ แต่อนุญาติให้ปรากฎโพสในช่องทางนี้ได้เพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น
เหตุใดจึงควรใส่ใจสร้างคอนเทนต์ผ่านช่องทาง Instagram Stories เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด แทนที่จะเน้นการโพสต์ Instagram บนหน้าเพจร้านค้าธรรมดาๆ” ทั้งนี้เพราะ
- Instagram Stories มีผู้ใช้งานถึง 400 ล้านคนในแต่ละวัน
- Instagram Stories เป็นช่องทางที่ผู้ใช้รู้สึกสนุก และสร้าง Engagement ผู้คนได้มากกว่า
- แม้ว่าโพสบน Instagram Stories จะแสดงผลได้ไม่นาน แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมแก่ธุรกิจ
Instagram stories จึงเป็นช่องทางที่มองข้ามไปไม่ได้เลยค่ะสำหรับการทำการตลาดในปัจจุบันนี้
ตัวอย่าง Instagram Stories
ที่มา : instagram/tacobell
3. ใช้ #แฮชแท็ก
แฮชแท็กเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญๆที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าบน Instagram โดยเฉพาะปัจจุบันที่เราจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาที่มากขึ้น เพื่อให้ผู้คนหรือผู้ติดตามมองเห็นคอนเทนต์ของเราได้
แฮชแท็กยอดนิยม ซึ่งตรงกับสินค้าและบริการของแบรนด์ จะมีส่วนช่วยให้คนที่กำลังค้นหาสิ่งนั้นๆอยู่ มีโอกาสเจอแบรนด์ของเราได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้งานแฮชแท็กที่ดีจะต้อง…
ไม่ใส่แฮชแท็กมากจนเกินไป
ถึงแม้ Instagram จะสามารถใส่แฮชแท็กได้มากถึง 30 ครั้งต่อโพสต์ แต่คุณก็ไม่ควรติดแฮชแท็กเยอะมากเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้ผู้เห็นโพสต์รู้สึกถึงการยัดเยียด หรือพยายามมากจนเกินไปได้
ใส่แฮชแท็กไว้ที่คอมเมนต์ดีกว่าใส่ไว้ในโพสต์
เนื่องจากบางครั้งเรามีแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องเยอะ การใส่แฮชแท็กไว้ในโพสต์อาจจะทำให้ดูพยายามมากเกินไปอย่างที่กล่าวไปแล้วได้ จึงควรนำแฮชแท็กใส่ไว้ที่คอมเมนต์แทน เพราะการใส่แฮชแท็กในคอมเมนต์ก็ให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับการใส่แฮชแท็กในโพสต์ค่ะ แต่ไม่ทำให้โพสต์ดูรกจนเกินไปได้
สร้างแฮชแท็กเอง
ถ้าแบรนด์ของคุณอยากโดดเด่นและมีตัวตน คุณควรสร้างแคมเปญและแฮชแท็กที่ไม่เหมือนใครของตัวเองขึ้นมา สิ่งนี้จะช่วยทำให้เกิด User generated Content หรือคอนเทนต์ที่มาจากลูกค้าอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ได้ เพราะแฮชแท็กเป็นเหมือนแหล่งของ User generated Content ที่ทางแบรนด์เอง และลูกค้า สามารถเข้ามาค้นหารีวิวภาพจริงเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านการเสิร์ชด้วยแฮชแท็กนั้นๆ
คุณสามารถเริ่มสร้างแฮชแท็กเพื่อสร้าง User generated Content ได้โดย
- คิดแฮชแท็กที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งรวมชื่อแบรนด์ของคุณลงไปด้วย
- โปรโมทแฮชแท็กคุณในช่องทางโซเชียลมีเดีย
- สนับสนุนให้ลูกค้าใช้แฮชแท็ก โดยอาจจะแทรกเชิญชวนในอีเมลยืนยันการสั่งซื้อ เป็นต้น
- คอยติดตามแฮชแท็กที่เราสร้างขึ้นมาเสมอๆ เพื่อเก็บบันทึก รูปภาพ วิดีโอ ที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในโซเชียลมีเดียของแบรนด์ต่อได้
ตัวอย่างของแบรนด์ Wayfair บริษัทจำหน่ายและให้คำปรึกษาการตกแต่งบ้าน สร้างแฮชแท็กของตนเองขึ้นมากับแคมเปญ #WayfairAtHome แบ่งปันรูปถ่ายของลูกค้าในบ้านของพวกเขาเอง จากฝีมือของแบรนด์ หรือเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ รูปภาพทั้งหมดนี้เกิดจากการอัปโหลดโดยลูกค้าเองผ่านแฮชแท็ก ซึ่งตอนนี้ถูกนำมาใช้มากกว่า 30,000 ครั้งบน Instagram แล้ว
ที่มา : www.sendible.com
ที่มา
articles.bplans.com
sproutsocial.com