ลองนึกภาพในมุมคนอ่าน เวลาที่เราค้นหาบางสิ่งบางอย่างบน Google แน่นอนเรามักจะกดเข้าไปยังบทความจากเว็บไซต์ที่อยู่อันดับแรก ๆ ก่อนเสมอ
ซึ่งในมุมมองของผู้เขียน คงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ๆ ถ้าเราเขียนบทความออกมาได้ดี เป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ แต่กลับไม่ค่อยมีคนได้อ่าน เพียงเพราะบทความไม่ติดหน้าแรกของการค้นหาบน Google
และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับนักการตลาดออนไลน์ และนักเขียนคอนเทนต์ที่จะต้องคำนึงถึงการทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือการทำให้บทความบนเว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกในผลลัพธ์การค้นหา เมื่อลูกค้าทำการค้นหาผ่าน Search Engine โดยการทำ SEO นี้จะช่วยเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างมหาศาล โดยไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ภาพตัวอย่างบทความที่ติดอันดับแรกบน Google Search
ขั้นตอนการเขียนบทความให้เอื้อต่อ SEO
ขั้นที่ 1 : เลือกหัวข้อที่จะเขียน ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย โดยเลือกจาก
- ความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย (Persona)
- สังเกตหัวข้อที่นิยมจากบล็อกคู่แข่ง (Competitor Blogs)
- สังเกตหัวข้อที่นิยมจากกลุ่มสนทนาในแวดวงธุรกิจของเรา (Group)
ขั้นที่ 2 : ค้นหาคีย์เวิร์ดที่คนใช้เสิร์ชเยอะและตรงกับเนื้อหาที่เรานำเสนอ ทำได้โดย
- พิมพ์บนช่องการค้นหาบน Google และดูคำยอดนิยมในแถบที่แสดงขึ้นมา
- ใช้ Google Keyword Planner เพื่อดูปริมาณการค้นหาคีย์เวิร์ดนั้นๆ รวมถึงราคาคีย์เวิร์ด และคำใกล้เคียงเป็นไอเดียในการเลือกใช้ด้วย
ขั้นที่ 3 : เขียนเนื้อหาที่ครอบคลุม และมีความยาวบทความไม่สั้นจนเกินไป
- เนื้อหาควรครอบคลุมหลายๆคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง
- ความยาวบทความไม่สั้นจนเกินไป Google มักจะชอบบทความยาว เพราะสามารถทำความเข้าใจว่าบทความนั้นเกี่ยวกับอะไรได้ดีกว่าบทความสั้นๆ
ขั้นที่ 4 : เขียนคอนเทนต์คุณภาพให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้อ่าน
- ไม่เขียนย่อหน้าแรก ยาวจนเกินไป จนไม่ดึงดูดใจให้อ่านต่อ
- ใส่มีเดียอื่นๆลงไปด้วย เช่น รูปภาพ วิดีโอ พอดแคสต์
ขั้นที่ 5 : นำคีย์เวิร์ดที่ค้นหา มาใช้กับคอนเทนต์
- ใส่คีย์เวิร์ดลงใน Headline
- ใส่คีย์เวิร์ดลงใน Meta Description
- ใส่คีย์เวิร์ดไว้ในลิงก์ URL
- ใส่คีย์เวิร์ดไว้ในรูปภาพ
- วางคีย์เวิร์ดไว้ใน 100 คำแรกของหน้าเว็บไซต์
- ใส่ Internal link เพื่อลิงก์ไปบทความอื่นๆด้วย
ขั้นที่ 6 : แชร์บนโซเชียลมีเดีย
- เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบทความอื่นๆ เพื่อเพิ่มปริมาณการเข้าชม
- ยิ่งมีปริมาณการเข้าชมเยอะมากขึ้น อันดับการค้นหาก็จะยิ่งสูงขึ้น
ขั้นที่ 7 : วิเคราะห์ผลลัพธ์
- วิเคราะห์ผลผ่าน Google analytics เพื่อดูพัฒนาการ สิ่งที่ดีขึ้น และสิ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อพัฒนาบทความต่อๆไป
ขั้นที่ 1 : เลือกหัวข้อที่จะเขียน ให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นตอนแรกของการเขียนบทความเพื่อให้ติดอันดับ SEO คือการเลือกหัวข้อเรื่องที่จะเขียน ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ตรงที่เราต้องเลือกให้ตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายของเราสนใจ และอยากที่จะคลิกเข้ามาอ่าน
โดย 3 วิธีการในการหาไอเดีย เพื่อนำมาเป็นหัวข้อเรื่องที่เราจะเขียนให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ มีดังต่อไปนี้ค่ะ
Group (ศึกษาจากกลุ่มสังคมออนไลน์)
- เป็นเว็บไซต์เฉพาะกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องนั้นๆมาคุยกัน หรือเว็บไซต์สำหรับถามตอบในเรื่องที่สนใจ เช่น Pantip, Reddit เป็นต้น
- กลุ่มในโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Group, LINE Group, LINE OpenChat เป็นต้น
เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์ว่ากลุ่มเป้าหมายพูดคุยถึงเทรนด์ที่กำลังสนใจอะไรบ้าง สิ่งที่เป็นประเด็นในช่วงนั้น ๆ ที่ต้องการคำตอบคืออะไร สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเป็นหัวข้อที่ยอดเยี่ยม และครอบคลุมความสนใจได้
Competitor (ศึกษาจากแนวทางของคู่แข่ง)
- เว็บไซต์บล็อกของคู่แข่ง
- ช่องทางโซเชียลมีเดียของคู่แข่ง
เพื่อสังเกตดูว่า เรื่องใดที่กำลังเป็นที่นิยมคล้ายๆกันในหลายๆ บล็อก เพื่อนำมาปรับปรุง นำเสนอเรื่องนั้นในมุมที่แตกต่างได้
Personas (วิเคราะห์จากข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย)
- วิเคราะห์จาก Customer Persona หรือ Customer Avatar ว่าพวกเขามีความต้องการอะไร อยากแก้ไขปัญหาอะไร หรือสนใจในเรื่องอะไร เพื่อนำมาเขียนบทความที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา
ตัวอย่าง Customer Avatar
ตัวอย่างการเลือกหัวข้อ
ตัวอย่างนี้เป็นของเว็บไซต์ Backlink ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาคือ นักการตลาด หัวข้อการสนทนาที่กลุ่มเป้าหมายกำลังสนใจที่สุดคือ “How to get backlink to your website” ตามรูปด้านล่าง
พวกเขาจึงสร้างโพสต์คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องขึ้นมา เพื่อตอบคำถามนั้นขึ้นดังรูปด้านล่าง
ขั้นที่ 2 : ใช้คีย์เวิร์ดที่คนค้นหาเยอะ และตรงกับเนื้อหาคอนเทนต์
คีย์เวิร์ดเป็นส่วนสำคัญในการทำ SEO โดยคีย์เวิร์ดจะเชื่อมโยงระหว่าง คำที่คนค้นหาจำนวนมาก กับ บทความบนเว็บไซต์ของเรา ในบางครั้งเราเขียนบทความเรื่องเดียวกัน แต่ใช้คำต่างกัน เช่น เขียนคอนเทนต์ กับ เขียน Content จำนวนการค้นหา (Volume) บน Google ก็ต่างกันด้วย ดังนั้นเราควรค้นหาคีย์เวิร์ดหรือคำที่คนใช้ในการค้นหามากกว่า มาใช้กับการเขียนในบทความเพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกพบเห็น และช่วยให้บทความของเราเป็นคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์การค้นหาส่วนใหญ่ค่ะ
วิธีการค้นหาคีย์เวิร์ด
ในส่วนของการหาคีย์เวิร์ดเพื่อการเขียนบทความสำหรับ SEO เราสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกันค่ะ ซึ่งวันนี้เราจะขอแนะนำเครื่องมือสำคัญ ๆ ที่สามารถใช้ในการหาไอเดีย และ หาคีย์เวิร์ดเพื่อทำ SEO ได้
1.ใช้ Google Suggest
คือการพิมพ์ค้นหาธรรมดา ๆ บน Google แล้วดูคำที่ถูกแนะนำในแถบที่แสดงขึ้นมา โดย Google จะแสดง คีย์เวิร์ดหลักที่เราเขียน พร้อมกับคำขยายที่คนมักค้นหาคู่กัน
ดังรูปด้านล่าง ที่เราค้นหาคำว่า เพิ่มยอดขาย คำขยายที่คนมักค้นหาคู่กันคือ “เพิ่มยอดขาย ภาษาอังกฤษ” “เพิ่มยอดขาย ออนไลน์” เป็นต้น เป็นวิธีการค้นหาคีย์เวิร์ดที่คนค้นหามากที่สุดแบบคร่าว ๆ ค่ะ
2.ใช้ Google keyword planner
เครื่องฟรีอย่าง Google Keyword Planner นี้ จะช่วยให้คุณค้นหาคีย์เวิร์ดสำหรับ SEO ได้ละเอียดขึ้น ซึ่งรวมถึงการบ่งบอกปริมาณการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ในแต่ละเดือน และบอกปริมาณคู่แข่งที่ใช้คำนั้น ๆ ว่ามีจำนวนมาก ปานกลาง หรือน้อย และบอกราคาคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ถ้าอยากจะซื้อคีย์เวิร์ดเพื่อโฆษณาให้อยู่ลำดับต้น ๆ ของ Google อีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยเสนอแนะคีย์เวิร์ดใหม่ ๆ ที่ใกล้เคียง ให้เราสามาารถพิจารณาว่าจะเลือกคีย์เวิร์ดไหนเพื่อไป SEO ได้ค่ะ
นอกจากเครื่องมือ 2 เครื่องมือนี้ที่สามารถหาคีย์เวิร์ดเพื่อทำ SEO ได้ ยังมีอีกหลากหลายเครื่องมือที่น่าสนใจ ซึ่งเราสามารถนำไปใช้เพื่อการทำ SEO ให้ตรงจุด เช่น Ubersuggest และ Google Trend เป็นต้น
ขั้นที่ 3 : เขียนเนื้อหาให้ครอบคลุม และมีความยาวบทความไม่น้อยจนเกินไป
ถ้าเราอยากจะเพิ่มอันดับการค้นหาให้บทความใด บทความหนึ่งอยู่อันดับแรก ๆ เราควรนำเสนอบทความที่เนื้อหาสามารถครอบคลุมคีย์เวิร์ดหลาย ๆ อย่างที่กลุ่มเป้าหมายจะสนใจในเรื่องนั้น ๆ ได้
ดังตัวอย่างด้านล่าง ที่จริง ๆ นื้อหาที่เขียนเกี่ยวข้องกับ “5 Mobile SEO Tips” แต่การนำเสนอเนื้อหาในลักษณะครอบคลุม คือครอบคลุมทั้งความหมาย เทคนิค วิธีการในการทำ Mobile SEO ในบทความเดียวนี้เลยจะมีโอกาสติดอันดับมากกว่า พวกเขาจึงใช้หัวข้อครอบคลุมในเชิง Definitive Guide แทนซึ่งมีทั้งคีย์เวิร์ด “Mobile SEO” “Mobile Optimization” และ “Guide Mobile SEO” เป็นต้น
และแน่นอนว่ามันได้ผล ไม่กี่เดือนถัดมา คอนเทนต์นี้ของพวกเขาติดอันดับ 1ในคีย์เวิร์ด “Mobile SEO” ได้จริง ๆ ดังรูปที่แสดงด้านล่างค่ะ
การเขียนเนื้อหาให้ครอบคลุม แน่นอนว่าจะทำให้บทความมีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลดีต่ออันดับการค้นหาให้สูงขึ้นด้วย เพราะจากสถิติ 10 อันดับต้น ๆ ที่ติดอันดับ SEO มักมีความยาวประมาณบทความประมาณ 2,000 คำ ดังกราฟที่แสดงด้านล่าง
ทำไมบทความยาว ๆ ถึงส่งผลดีต่อ SEO มากกว่า ?
- เนื้อหาที่ยาวขึ้นจะช่วยให้ Google มีข้อมูลให้ตรวจสอบมากพอ ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร และมั่นใจได้มากขึ้นว่าเว็บไซต์เราเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนั้นๆที่เราใส่ลงไปด้วย
- อย่างที่กล่าวไปว่าบทความที่ยาว มักจะครอบคลุมเนื้อหาที่ผู้เข้าชมต้องการมากกว่า และตอบคำถามของผู้ค้นหาได้ดีกว่า จึงมักถูกคลิกเข้ามาดูมากกว่าด้วย
- คอนเทนต์ที่ยาว มีแนวโน้มจะถูกอ้างอิงลิงก์ (Backlink) หรือถูกนำไปเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ มากกว่า
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่ยาวเพียงอย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์ผู้อ่านได้ เนื้อหาเหล่านั้นจะต้องมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ และเอื้อต่อการอ่านของผู้เข้าชมควบคู่มาด้วย ซึ่งเราจะพูดถึงในข้อต่อไปค่ะ
ขั้นที่ 4 : เขียนคอนเทนต์คุณภาพให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้อ่าน
นอกจากจะองค์ประกอบอื่น ๆ ที่กล่าวไป เรายังต้องคำนึงถึง “User Experience” หรือประสบการณ์ที่ดีเมื่อกดเข้ามาอ่านบทความในเว็บไซต์เราด้วย โดยบทความเรานั้นต้องอ่านเข้าใจง่าย น่าสนใจ ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการ เพราะหากผู้คนชื่นชอบเนื้อหาของเราก็มีสิทธิ์ที่จะถูกแชร์ออกไป มีคนอ่านมากขึ้น ก็จะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีต่อไปนี้
4.1 จงทำให้ประโยคแรกของเนื้อหาของคุณสั้น กระชับ
ด้วยพฤติกรรมของคนสมัยนี้ ที่มีข้อมูลผ่านเข้าตาในแต่ละวันมากมาย เมื่อพวกเขาต้องการเข้ามาค้นหาคำตอบอะไรบางอย่าง พวกเขาจึงมักจะชอบแสกนก่อนว่าเนื้อหานั้นตรงกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่ โดยเฉพาะย่อหน้าแรก ๆ ถ้าส่วนต้นของเราบรรยายยาวเกินไป ไม่ได้ใจความ ผู้อ่านก็จะสนใจลดน้อยลงและออกไปในที่สุด จึงเป็นการดีกว่าถ้าเราเปิดมาด้วยย่อหน้าสั้น ๆ และสื่อสารว่าเกี่ยวกับอะไรในช่วงแรกๆเลย
ดังตัวอย่างด้านล่าง
อีกวิธีการที่ช่วยดึงความสนใจช่วงต้น และไม่ทำให้ย่อหน้าแรก ๆยาวเกินไป คือการใช้รูปภาพวางไว้ในส่วนต้นของบทความเข้าช่วย ดังรูปด้านล่าง
4.2 แนะนำให้เพิ่มสื่อรูปแบบอื่นๆลงในเนื้อหาบทความ
ลองเพิ่มสื่ออื่นๆอย่างเช่น วิดีโอ, พอดแคสต์, แผนภูมิ, แบบทดสอบ, เกม อินโฟกราฟิก หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่หลากหลายในการอ่านบทความนั้น ๆ ให้ผู้อ่านชื่นชอบ พึงพอใจ และใช้เวลาอยู่บนหน้าบทความเว็บไซต์ของเราได้นานขึ้น ส่งผลดีต่ออันดับการค้นหาหรือ SEO มากขึ้นด้วย
- คนที่ชอบวิดีโอก็จะใช้เวลาในการดูวิดีโอ YouTube ในบทความของเรา
- คนที่ชอบอ่านจะอ่านเนื้อหาในบทความของเรา
- คนที่ชอบฟังก็จะใส่หูฟังและฟังพอดแคสต์ของเรา
ตัวอย่างการใช้มีเดียอื่น ๆ ในบทความ
ตัวอย่างการใส่ Infographic ในบทความ
ตัวอย่างการใส่ วิดีโอ ในบทความ
ยิ่งเรามีสื่อหลายๆแบบ ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้อ่านที่หลากหลายความชอบมากขึ้นด้วยค่ะ
4.3 เพิ่มความโดดเด่นให้ประโยคสำคัญ เพื่อความสบายตาในการอ่าน
บางครั้งเนื้อหายาวๆ ตัวอักษรเยอะๆ ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกเบื่อ หรืออัดแน่นเกินไปจนไม่อยากอ่าน การเพิ่มความโดดเด่นให้ประโยคสำคัญ หรือส่วนที่ต้องการจะเน้น ก็สามารถช่วยเบรคสายตาให้ผู้อ่าน ให้พวกเขาโฟกัสในสิ่งที่เราอยากจะสื่อ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความสะดวกในการอ่านมากขึ้นได้
ขั้นที่ 5 : นำคีย์เวิร์ดที่ค้นหา มาใช้กับคอนเทนต์
ตัวอย่างการใช้คีย์เวิร์ด ขอยกจากบล็อก “The 9-Step SEO Strategy for 2019” ดังรูปด้านล่าง
คีย์เวิร์ดหลักของบทความนี้คือ “SEO Strategy” ซึ่งได้รับการค้นหาค่อนข้างสูง อยู่ที่ 2.4k ต่อเดือน ดังรูป
แต่ด้วยคีย์เวิร์ดดังกล่าว กว้างเกินไป ยิ่งคีย์เวิร์ดกว้าง คู่แข่งยิ่งใช้เยอะ เมื่อการแข่งขันสูงจะส่งผลให้บทความของเราติดอันดับต้นๆได้ยาก พวกเขาจึงปรับคีย์เวิร์ดเป็น “SEO Strategy 2019” ที่คนค้นหาเยอะเช่นกัน แต่ตีวงให้แคบมากขึ้น จึงมีการแข่งขันน้อยกว่า และมีแนวโน้มติดอันดับได้เร็วกว่าค่ะ
ซึ่งจุดที่เราควรนำคีย์เวิร์ดไปใช้มีดังต่อไปนี้
5.1 ใส่คีย์เวิร์ดลงใน Headline
เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ Google รับรู้อย่างชัดเจน ว่าบทความนี้เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ด SEO Strategy และ SEO Strategy 2019 นี้นะ เมื่อถูกค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดก็แนวโน้มที่จะติดอันดับได้
5.2 ใส่คีย์เวิร์ดลงใน Meta Description
เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเราใส่คีย์เวิร์ดลงไปทั้งใน Headline และ Meta Description จะเป็นการช่วยตอกย้ำให้ Google เข้าใจเพิ่มไปอีกว่าบทความเราเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดดังกล่าวนี้
5.3 ใส่คีย์เวิร์ดไว้ในลิงก์ URL
5.4 วางคีย์เวิร์ดไว้ใน 100 คำแรกของเนื้อหา
ทั้ง 4 จุดที่กล่าวมา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Google เรียนรู้และเข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่าบทความของเราเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนี้
5.5 แทรกลิงก์หน้าอื่น ๆ ของเว็บไซต์ ลงในบทความ
นอกเหนือจากปัจจัยของจำนวนการเข้าชมเว็บไซต์ที่มีผลต่ออันดับ SEO แล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อ SEO ด้วยเช่นกัน เช่น เวลาในการเปิดอ่านบทความ Bounce Rate เป็นต้น โดย Bounce Rate เป็นส่วนที่บ่งบอกพฤติกรรมของผู้เข้าชมว่า บทความของเราตรงใจผู้อ่านมากน้อยแค่ไหนในคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ยิ่งคนอ่านนาน ไม่กดออกไปยังเว็บไซต์อื่น Google ก็จะคิดว่าบทความของเราที่ขึ้นตามคีย์เวิร์ดนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ตรงใจผู้อ่านและตอบโจทย์ ระบบก็จะให้เราอยู่อันดับต้น ๆ ของ SEO ค่ะ
ซึ่งวิธีในการลด Bounce Rate บนเว็บไซต์นั่นก็คือ การใส่ลิงก์ไปยังบทความอื่น ๆ บนเว็บไซต์ โดยใช้วิธีแทรกในบทความที่เขียน เพื่อให้ผู้อ่านยังคงอยู่อ่านบทความในเว็บไซต์ของเรา ไม่ออกไปเข้าเว็บไซต์อื่น ๆ
ขั้นที่ 6 : แชร์บนโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์
แม้ว่าบทความจะอยู่บนเว็บไซต์และช่องทางหลักที่คนจะค้นหาเจอ คือ Search Engine แต่จะให้เราพึ่งพาช่องทางการค้นหานี้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอสำหรับการทำ SEO ให้ได้อันดับต้น ๆ โดยอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยด้าน SEO นั่ก็คือการแชร์บทความบนโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, LinkedIn หรือช่องทางอื่น ๆ ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์เราได้ และยิ่งผู้เข้าชมเว็บไซต์เยอะ ก็ยิ่งทำให้ Google รับรู้ว่าผู้อ่านชอบคอนเทนต์เรา เป็นผลให้จัดอันดับบทความเราให้อยู่ในอันดับต้น SEO ต้น ๆ ค่ะ
เช่นเดียวกับบทความตัวอย่างนี้ที่เผยแพร่ลงบน Twitter เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมดังตัวอย่างด้านล่างค่ะ
แต่ถ้าบทความไหนที่เราวางเป้าหมาย ต้องการให้มีจำนวนผู้เข้าชมมาก ๆ ในบทความนั้น เพราะต้องการโปรโมตให้คนรู้จัก หรือบทความนั้นส่งผลต่อยอดขายโดยตรง นำพาให้เกิดการลงทะเบียน สมัครสมาชิกต่อได้ นอกจากเราจะแชร์ลงโซเชียลมีเดียปกติแล้ว เราอาจจะซื้อโฆษณาเพิ่มกับบทความนี้ได้ ดังตัวอย่างด้านล่างค่ะ
ขั้นที่ 7 : วิเคราะห์ผลลัพธ์ และนำไปพัฒนาการเขียนบทความต่อไป
เราลองปรับเปลี่ยนให้บทความของเราเอื้อต่อ SEO มากขึ้นแล้ว ก็ถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจสอบผลลัพธ์ เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบผลลัพธ์ของเว็บไซต์ให้เราได้ก็คือ Google Analytics
เครื่องมือนี้จะช่วยให้เรารู้ว่า..
- บทความของเรามีจำนวนผู้เข้าชมมากน้อยแค่ไหน มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ (Pageviews)
- ผู้ชมใช้เวลากับบทความของเราเป็นอย่างไร (Avg. Time On Page)
- เข้ามาอ่านบทความแล้วออกไปยังเว็บไซต์อื่นเลยหรือไม่ (Bounce Rate)
- จำนวนหน้าโดยเฉลี่ยที่ผู้อ่านเข้าถึง เพื่อดูว่าพวกเขาสนใจอ่านหน้าอื่นๆต่อหรือไม่ (Pages/ Session)
นอกเหนือจากนี้ เรายังสามารถตรวจสอบได้อีกว่า คีย์เวิร์ดที่เราใช้ในบทความนั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้างผ่าน Google Analytics ได้เช่นเดียวกันในหมวดหมู่ (Acquisition > Search Console >Queries)
เพื่อดูว่าคีย์เวิร์ดที่เราตั้งใจใส่ไว้ในบทความ
- มีคนเห็นเท่าไหร่ (Impressions)
- มีจำนวนคนที่เห็นแล้วคลิกเท่าไหร่ (Click)
- คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ CTR (Click-Through Rate) เท่าไหร่
- และอยู่ในอันดับที่ดีหรือไม่ของคีย์เวิร์ดนั้นๆ (Average Position)
วิเคราะห์ผลลัพธ์เหล่านี้ เพื่อดูว่าควรพัฒนาตรงไหน และควรเก็บส่วนที่ดีใดไว้ เพื่อให้บทความครั้งต่อๆไปของเราดีขึ้น และติดอันดับแรกของการค้นหาได้นานๆนะคะ
และนี่คือ 7 ขั้นตอนทั้งหมดของการทำให้บทความบนเว็บไซต์ของเราให้ติดหน้าแรกของ Google ได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะทำทุกอย่างให้บทความเอื้อต่อ SEO อย่างที่สุด แต่ใช่ว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นได้ในไม่กี่วัน เรายังคงต้องรอและใช้ระยะเวลาหนึ่ง แต่มั่นใจได้ว่า ถ้าเราทำตามขั้นตอนเหล่านี้สม่ำเสมอในทุกๆบทความ เป็นไปได้ไม่ยากที่เว็บไซต์ และบทความของเราจะติดอันดับแรกของการค้นบน Google ได้อย่างแน่นอนค่ะ
ที่มา Backlinko