เช็คกันอีกที ตำแหน่งงาน Digital Marketing ที่น่าสนใจในปี 2020 มีอะไรบ้าง?

เช็คกันอีกที ตำแหน่งงาน Digital Marketing ที่น่าสนใจในปี 2020 มีอะไรบ้าง?

ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่มากมาย ทั้งโรคระบาดที่มีการแพร่กระจาย และ เรื่องต่าง ๆ ในสังคม ซึ่ง “การทำงานในด้าน Digital Marketing” ก็เช่นกัน โดยเฉพาะเทรนด์ที่เริ่มมีการตั้งเป้าหมาย โดยเน้นไปที่การทำให้เกิด “Conversion” ให้มากขึ้น (Conversion คือ การกระทำบางอย่างที่ธุรกิจต้องการให้ลูกค้าตัดสินใจลงมือทำ เช่น การซื้อสินค้า หรือ การลงทะเบียน เป็นต้น)

และด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มี ส่งผลให้การทำงานในด้าน Digital Marketing มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ซึ่งในวันนี้เราจะมาอัปเดตตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ที่น่าสนใจในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมากันครับ

ตำแหน่งงาน Digital Marketing 2020

ตำแหน่งที่ 1 : Content Creator 


ตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งแรก นั่นคือ Content Creator ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าธุรกิจไหนที่มีการทำการตลาดออนไลน์ ตำแหน่งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว 

สำหรับตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ในการ “สร้างสรรค์คอนเทนต์” เพื่อนำไปเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Facebook, Instagram, YouTube, Website, Blog และช่องทางอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบคอนเทนต์ที่ตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้ต้องผลิตออกมา ขึ้นอยู่ว่าธุรกิจนั้นจะใช้ช่องทางใดในการทำการตลาดบ้าง 

และด้วยความหลากหลายจุดนี้ ทำให้ทักษะของ Content Creator ในธุรกิจแต่ละที่ จะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีทั้งทักษะการเขียน การใช้โปรแกรมกราฟิก 

คุณสมบัติที่สำคัญของ Content Creator


ความคิดสร้างสรรค์ และ อัปเดตข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อให้คอนเทนต์ที่ออกมา มีความแปลกใหม่ และ น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าในอนาคตความสนใจของลูกค้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร การหมั่นอัปเดตข่าวสาร จะช่วยให้เราสามารถตามเทรนด์ได้ทันอยู่เสมอ

ความเข้าใจในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของลูกค้า หรือ ธรรมชาติของช่องทางการตลาดที่ใช้ เพื่อการผลิตคอนเทนต์ออกมาได้อย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การทำคอนเทนต์จะต้องทำให้เกิด “Conversion” ได้

ทักษะด้านการเขียน ที่ผู้เป็น Content Creator จะต้องมีทักษะการเขียนให้มีความน่าสนใจ และ จำเป็นจะต้องมีทักษะในการเรียบเรียงเนื้อหาคอนเทนต์ให้น่าติดตาม

ทักษะด้าน SEO ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพราะในปัจจุบันการเขียนคอนเทนต์ ถ้าไม่มีการเน้นที่ SEO ก็อาจจะทำให้บทความของเราหายไปจากหน้าแสดงผลลัพธ์การค้นหา เช่น เมื่อลูกค้าค้นหาคำว่า “เรียน Digital Marketing” ถ้าเว็บไซต์ใดไม่มี SEO ก็จะทำให้ถูกเว็บไซต์ที่มี SEO ดันไปอยู่หน้าท้าย ๆ จนลูกค้าไม่เห็น เป็นต้น

ทักษะด้านการสื่อสาร และ การทำงานเป็นทีม เนื่องจากการทำคอนเทนต์บางครั้งก็ไม่ได้เป็นแค่งานของคน ๆ เดียว โดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่ในทีมจะต้องประสานงานกันกับฝั่ง Graphic Designer เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

ตำแหน่งที่ 2 : Content Strategist  


สำหรับตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้ คือตำแหน่งที่มีการทำงานร่วมกันกับ Content Creator โดยตรง โดยหน้าที่สำคัญ ของตำแหน่ง Content Strategist นี้คือ “การวางกลยุทธ์การตลาดสำหรับคอนเทนต์ และ การจัดการให้ดี เพื่อให้คอนเทนต์ที่ผลิตออกมามีคุณภาพ และ เกิดผลลัพธ์” ซึ่งตัวอย่างของหน้าที่ที่สำคัญของตำแหน่งนี้ นั่นคือการทำตารางการลงคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญของ Content Strategist 


ความเป็นผู้นำ และ มีความสามารถในด้านการประสานงาน
เนื่องจากจะต้องเป็นผู้ควบคุม และ จัดการ การทำคอนทนต์ของ Content Creator เพื่อให้งานสอดคล้องไปตามแนวทางที่ได้ถูกวางเอาไว้ 

มีความเข้าใจในช่องทางการทำการตลาดออนไลน์แต่ละช่องอย่างดี เพื่อให้คอนเทนต์ที่ผลิตออกมาตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งนี่ก็รวมถึงการเข้าใจพฤิตกรรมของลูกค้า เพื่อดูว่าจะต้องลงคอนเทนต์อย่างไร 

ทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล ก็เช่นกัน ที่ตำแหน่ง Content Strategist  จะต้องใช้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ และ นำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการทำการตลาดด้วยคอนเทนต์ 

ความเข้าใจในธุรกิจ

ตำแหน่งที่ 3 : Community Manager 


ในการทำ Digital Marketing ที่มีการใช้ช่องทางต่าง ๆ ให้ลูกค้ากับเราเข้าใกล้กันมากขึ้น ทำให้การจัดการด้านความสัมพันธ์ลูกค้า กลายเป็นอีกหนึ่งคีย์สำคัญที่จำช่วยให้ธุรกิจของเรา สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างเหมาะสม

ด้วยความสำคัญเช่นนี้ ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจควรมีตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing อีกตำแหน่งที่เรียกว่า “Community Manager” ซึ่งมีหน้าที่ในการสื่อสารกับลูกค้า และ การสร้างสังคม (Community) ที่ดีขึ้นมาระหว่างธุรกิจของเรา และ ลูกค้า หรือ ระหว่างลูกค้ากันเอง เช่น Facebook Group หรือ Open Chat ของ LINE  

คุณสมบัติที่สำคัญของ Community Manager 


ทักษะในด้านมนุษยสัมพันธ์
เพราะตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด ดังนั้นการเลือก Community Manager ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี ก็จะทำให้แบรนด์มีความสบายใจเรื่องนี้ได้

ทักษะการจัดการที่ดี ด้วยความที่ตำแหน่งนี้จำเป็นที่จะต้องดูแลหลากหลายช่องทาง รวมทั้งยังต้องคอยตอบคำถามลูกค้าจำนวนมากต่อวัน ดังนั้นทักษะการจัดการนี้จึงเป็นทักษะที่สำคัญ

มีความยืดหยุ่นในการตอบคำถาม เพราะว่าการที่จะต้องรับมือกับลูกค้า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราจะต้องพบเจอกับใคร การมีความยืดหยุ่นในการตอบคำถามจะทำให้ Community Manager สามารถรับมือได้กับลูกค้าหลายรูปแบบ

มีความเข้าใจถึงคาแรคเตอร์ของธุรกิจ เพื่อให้การสื่อสารไม่ผิดไปจากคาแรคเตอร์ของแบรนด์ที่วางเอาไว้ ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ที่ลูกค้าจดจำได้ เป็นไปตามที่เราอยากให้พวกเขาจดจำ

ตำแหน่งงาน Digital Marketing 2020


ตำแหน่งที่ 4 : Email Marketing Specialist 


ในปัจจุบันการทำ Email Marketing นับเป็นช่องทางการทำการตลาดออนไลน์ ที่เรียกว่าจะขาดแทบไม่ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ซึ่งทำให้การทำ Email Marketing จะต้องมีความละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม อันเป็นผลทำให้บางธุรกิจอาจจำเป็นต้องใช้ตำแหน่ง Email Marketing Specialist เพื่อการทำ Email Marketing ให้เกิดลลัพธ์ที่ดี และ ลดความเสี่ยงที่จะส่งผิดให้น้อยลง

คุณสมบัติที่สำคัญของ Email Marketing Specialist


ความเข้าใจด้านการตลาดออนไลน์ผ่านอีเมล (Email Marketing)
ซึ่ง Email Marketing ก็มีรายละเอียดอยู่ไม่น้อย เช่น ประเภทของอีเมลที่มีทั้ง อีเมลด้านธุรกรรมต่าง ๆ  (Transactional Email) เช่น การยืนยันการสั่งซื้อ กับ อีเมลขายสินค้าและประชาสัมพันธ์ (Promotional Email) เช่น การประกาศสินค้าใหม่ ประกาศโปรโมชั่น เป็นต้น

ทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะ Email Marketing มีข้อมูลเชิงลึกให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อัตราการคลิก อัตราการเปิด และ อื่น ๆ ดังนั้นตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลอยู่ด้วย

มีความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากการส่ง Email เมื่อถูกส่งไปแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ ตำแหน่งนี้จึงควรมีความละเอียด รอบคอบเข้าไว้ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด 

ทักษะการเขียนและการสื่อสาร เพราะว่าการทำการตลาดผ่านอีเมลนั้น มีข้อเสียอยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือหากเราเขียนหัวจดหมายได้ไม่น่าสนใจ ก็จะส่งผลให้ลูกค้าไม่แม้แต่จะเปิดอ่านอีเมลนั้น ๆ หรือถ้าหากเนื้อหาด้านในสื่อสารไม่ชัดเจน ก็แทบจะไม่มีโอกาสให้เราได้แก้ตัวอีกรอบ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทักษะการเขียนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้

ทักษะการใช้งานเครื่องมือ Email marketing  ที่มีอยู่หลากหลายในตลาด ให้เราสามารถเลือกใช้ได้ เช่น Activecampaign และ Sendinblue เป็นต้น  ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้เหล่า Email Marketing Specialist สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตำแหน่งที่ 5 : Chatbot Developer / AI Specialist 


ด้วยความนิยมของการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแชทที่มีมากขึ้น ทำให้ Bot และ AI ต่าง ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำการตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ Chatbot ในการปิดการขาย หรือ การตอบคำถามลูกค้าเบื้องต้น 

ดังนั้นอีกหนึ่งตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ที่สำคัญ นั่นก็คือตำแหน่ง Bot Developer หรือ AI Specialist นั่นเอง โดยตำแหน่งนี้มีหน้าที่ใน การออกแบบ Chatbot หรือ AI ขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับการให้บริการ และ ตอบคำถามลูกค้า (Cutomer Service) เพื่อประสบการณ์ที่ดี 

และนอกจากนี้ Chatbot หรือ AI ยังช่วยให้ธุรกิจประหยัดเวลา และ ค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ลดอัตราการตอบคำถามลูกค้าซ้ำ ๆ และ ลดความจำเป็นในการใช้แอดมินช่วงเวลากลางคืน (ซึ่งมีค่าจ้างที่สูงกว่า)

คุณสมบัติที่สำคัญของ Bot Developer / AI Specialist 


ทักษะในการรับฟัง
เพราะผู้สร้างบอทจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ลูกค้าจะเข้ามาทักเพื่ออะไร ถามคำถามในลักษณไหน ดังนั้นทักษะนี้จะช่วยให้เราเข้าใจในพฤติกรรม และ ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น 

ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เพื่อให้ Chatbot ที่ถูกสร้างออกมานั้นมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าการสื่อสารกับ Chatbot ครั้งนี้ไม่แข็งทื่อเกินไป

ทักษะความชำนาญด้านการสร้าง Chatbot และ AI เช่น การใช้โปรแกรมในการสร้าง Chatbot ต่าง ๆ อย่าง “Manychat” ที่สามารถสร้าง Chatbot สำหรับ Facebook Messenger ได้ และ “Dialog flow” ที่สามารถสร้าง Chatbot สำหรับ LINE ได้เป็นต้น

ตำแหน่งที่ 6 : SEO / SEM Specialist 


ในการทำการตลาดออนไลน์ยุคปัจจุบัน อย่างที่รู้กันว่า Search Engine Marketing ยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการทำ SEO (Search Enigne Optimization) ที่เป็นช่องทางในการชักนำลูกค้าให้เข้ามาในเว็บไซต์จำนวนมากได้แบบฟรี ๆ ด้วยการทำให้เว็บไซต์ติดอันดับการค้นหาเป็นอันดับแรก ๆ  อย่างไรก็ตามธุรกิจจะสร้างแต่คอนเทนต์ขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ ด้วยการแข่งขันที่สูงซึ่งมีโอกาสทำให้คอนเทนต์หายไปจากผลการค้นหาหน้าแรก

ดังนั้นการมี SEO / SEM Specialist ที่ทำหน้าที่วางแผนการทำ Search Engine Marketing ให้ดี จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากทั้ง SEO และ SEM เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีองค์ประกอบอยู่หลากหลาย เช่น การเลือกคีย์เวิร์ด การประมูลพื้นที่โฆษณา และการออกแบบเว็บไซต์ เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญของ SEO / SEM Specialist


เข้าใจหลักการทำงานของ SEO และ SEM
การทำงานด้าน Digital Marketing ในตำแหน่ง SEO / SEM Specialist นี้ ทักษะที่สำคัญที่สุด คือ รู้หลักการทำงานของ SEO และ SEM โดยเฉพาะหลักการทำงานของ Search Marketing ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เว็บไซต์นั้น ๆ ติดอันดับที่ดีขึ้น

เข้าใจวิธีการค้นหา/เลือกใช้คีย์เวิร์ด ที่จะต้องรู้วิธีการค้นหา และ เลือกใช้ระหว่าง คีย์เวิร์ดที่มีจำนวนการค้นหามาก (High-volme keywords) กับคีย์เวิร์ดที่มีจำนวนการค้นหาน้อย (Low-Volume Keywords) นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องรู้จักเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ช่วยในการค้นหาคีย์เวิร์ดเหล่านี้ เช่น Google Trend และ Google Keyword Planner เป็นต้น

เข้าใจวิธีการใส่คีย์เวิร์ดลงในเว็บไซต์ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ในเนื้อหาบทความเท่านั้น การทำงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่ง SEO / SEM Specialist จะต้องรู้ทุกองค์ประกอบที่จะทำให้อันดับของเว็บไซต์ขึ้นไปอยู่ในอันดับต้น ๆ 

อัปเดตข่าวสารของอัลกอริทึม Google เป็นประจำ เป็นอีกสิ่งที่ตำแหน่ง SEO / SEM Specialist ควรอัปเดตอยู่เสมอ เพื่อให้ตามทันทุกการเปลี่ยนแปลง ที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับบนหน้าแสดงผลลัพธ์การค้นหา

ทักษะด้านการจัดการ เพราะว่าการทำงานด้าน Digital Marketing ในตำแหน่ง SEO / SEM Specialist จะต้องคอยตรวจสอบ และ ทำการปรับแคมเปญ SEO และ SEM ต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งถ้าทักษะในการจัดการทำได้ไม่ดี จะทำให้การทำงานแต่ละแคมเปญ เกิดความสับสนอย่างแน่นอน

ทักษะด้านการเขียน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อความโฆษณา (Copy) หรือการเขียนบทความให้น่าติดตาม และ น่าสนใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำให้คนอ่านเว็บไซต์ของเรามากขึ้น

ทักษะด้านการวิเคราะห์ ทักษะนี้ก็ยังคงเป็นทักษะที่ตำแหน่งงาน SEO / SEM Specialist จำเป็นต้องมีเช่นเดียวกัน โดยเราจะต้องวิเคราะห์ได้ทั้ง พฤติกรรมการเข้าชมเว็บไซต์ และ ความสนใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 

ตำแหน่งงาน Digital Marketing


ตำแหน่งที่ 7 : UX / UI Designer


User Experience (ประสบการณ์ของลูกค้า) และ User Interface (หน้าตาการใช้งานแอป ฯ หรือ เว็บไซต์) เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การตลาดออนไลน์ได้ผลในระยะยาว ทั้งความประทับใจของผู้ใช้ที่ได้ และรูปแบบการใช้งานที่ง่าย ซึ่งจะทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้ง 

ดังนั้นในการทำงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่ง UX / UI Designer จึงยิ่งมีความจำเป็นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับยุคปัจจุบันที่หลาย ๆ แบรนด์ใหญ่ ๆ เริ่มหันมามีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชัน

หน้าที่หลัก ๆ ของ UX / UI Designer คือ การออกแบบการใช้ของเว็บไซต์ หรือ แพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งานได้ง่าย และ มีหน้าตาที่สวยงาม เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้การเขียน JavasScript, HTML CSS Code ด้วย

ตำแหน่งงาน Digital Marketing 2020


คุณสมบัติที่สำคัญของ UX / UI Designer 


ทักษะการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ และ การมีส่วมร่วมกับเว็บไซต์ของลูกค้า
เป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับตำแหน่งด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจความต้องการ และ พฤติกรรมของผู้เข้าชมเว็บไซต์ หรือ ผู้ใช้แอป ฯ ของตน เพื่อให้สามารถออกแบบมาได้ตรงกับความต้องการ

มีทักษะความเข้าใจความรู้ทางเทคนิคในการออกแบบเว็บไซต์ หรือ แพลตฟอร์ม เช่น ภาษา CSS HTML, JavaScript และ JQuery เป็นต้น ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ออกแบบเว็บไซต์ และ สามารถช่วยให้เราเข้าใจถึงความเป็นไปได้ของการออกแบบต่าง ๆ  

ทักษะด้านการทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานด้าน Digital Marketing ในตำแหน่ง UX / UI Designer จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับตำแหน่งอื่น ๆ ในทีมหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer) หรือ แม้แต่ฝั่งการตลาด เพื่อทำความเข้าใจสินค้า รวมไปถึง เป้าหมายบริษัท

ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และ การออกแบบ เพื่อความสวยงามของเว็บไซต์ ที่จะมอบเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำของผู้ใช้ที่เข้ามา การออกแบบ UX / UI จะต้องมีทักษะในด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ว่าจะออกแบบหน้าตาออกมาอย่างไร ให้ทั้งเข้าใจง่าย ใช้งานง่าย และ สวยงาม

ตำแหน่งที่ 8 : E-commerce Developer

ในช่วงเวลาปัจจุบันที่หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มหันมามีแพลตฟอร์ม E-Commerce เป็นของตัวเอง ทำให้ Web Developer ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำ E-Commerce เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกับช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งทำให้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มให้ความสคัญกับการพัฒนาระบบ E-commercce 

โดยหน้าที่ของ E-commerce Developer ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกับ Web Developer เดิม เพียงแต่จะเพิ่มการให้ความสำคัญ กับการทำให้ E-commerce นั้น ๆ เกิดประสิทธิภาพ เช่น 

  • การทำให้การซื้อสินค้า และ ชำระสินค้าทำได้ง่ายบนทุกการใช้งาน (คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต) 
  • การทำให้การเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) จากจุดเริ่มต้น ไปจนการกดสั่งซื้อ (Conversion) สั้นลง 
  • การพัฒนาเว็บไซต์ ให้ลูกค้าสามารถเลือกตัวเลือก (Option) ในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น
  • การออกแบบ Landing Page ให้เหมาะกับสินค้า และ สอดคล้องกับโฆษณาออนไลน์ที่ยิงออกไป 

เพราะยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคของ “Conversion” (การกระทำบางอย่างที่เราต้องการให้ลูกค้าลงมือกระทำ) การออกแบบเว็บไซต์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และ ก่อให้เกิด Conversion เร็วขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็น

คุณสมบัติที่สำคัญของ E-Commerce Developer 


ความรู้ในด้านการสร้างเว็บไซต์ และ เครื่องมือ / ภาษาต่าง ๆ ทางคอมพิวเตอร์
เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดเหมือนกัน กับตำแหน่ง Web Develpoer ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ PHP, HTML, JavaScript หรือ CSS

มีความเชี่ยวชาญด้านการทำเว็บไซต์ E-Commerce เช่น การเข้าใจในความแตกต่างของเว็บไซต์ธรรมดากับ E-Commerce หรือ การเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำใ้ห้ระบบ E-Commerce ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทักษะด้านการทำงานเป็นทีม แน่นอนว่าการทำงานด้าน Digital Marketing “ทีม” เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการมีทักษะในการทำงานร่วมกันกับทีม ก็จะทำให้สามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้ตรงกับจุดมุ่งหมายของทีมมากขึ้น

ทักษะด้านการจัดการ และ วัดผล เพราะการทำงานด้าน Digital Marketing ในตำแหน่งนี้ ไม่ได้มีแค่เพียง “การสร้างเว็บไซต์” เท่านั้น เนื่องจากปกติการสร้างเว็บไซต์ มักจะเป็นไปตามหลักการ CI/CD หรือ กระบวนการทำงานที่เริ่มตั้งแต่การสร้าง ไปจนถึงการจัดการ และ สังเกตการณ์  (Monitor) และ วัดผล ตลอดเวลา

ตำแหน่งงาน Digital Marketing


ตำแหน่งที่ 9 : Data Analyst


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มหันมาทำการตลาดที่มีแนวทางอิงจาก “ข้อมูล” มากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้ตะแหน่ง Data Analyst ยังคงเป็นที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ

โดยตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้ มีหน้าที่หลัก ๆ ในการใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ มาเก็บเอาไว้เป็น ทรัพย์สิน (Asset) ของบริษัท และ ทำการวิเคราะห์เพื่อตีความ และ ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการตลาดในครั้งต่อ ๆ ไป รวมทั้งยังการทำ Report ของชุดข้อมูลเหล่านั้นให้ทีมอื่น ๆ ได้ดูด้วยเช่นกัน

คุณสมบัติที่สำคัญของ Data Analyst


ทักษะด้านการคำนวณ
การทำงานด้าน Digital Marketing ในตำแหน่ง Data Analyst ทักษะสำคัญที่จำเป็นจะต้องใช้นั่นคือทักษะในการคำนวณ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่จะต้องคอยคำนวณสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับทีมนั่นเอง

การใช้ภาษาในการเขียนโปรแกรมเพื่อจัดการกับฐานข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่เราเก็บมาได้ จะกลายเป็นชุดข้อมูลจำนวนมหาศาล การมีทักษะในด้านนี้จะทำให้สามารถจัดการข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และดึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างภาษา เช่น SQL เป็นต้น

ทักษะในการวิเคราะห์ ตีความชุดข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว Data Analyst จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ เพื่อแปลผลสถิติต่าง ๆ ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์ เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า หรือ ยอดขายสินค้าต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น

มีความละเอียด รอบคอบ คุณสมบัตินี้เป็นคุณสมบัติที่หลาย ๆ ตำแหน่งก็ควรจะมีเช่นกัน แต่สำหรับตำแหน่ง Data Analyst จะมีความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ เพราะการคำนวณที่ผิดพลาด หรือ การวิเคราะห์ที่ผิดไป จะส่งผลให้แนวทางที่วางเพื่ออนาคตเอาไว้อาจสูญเปล่า

ทักษะด้านการนำเสนอ / สื่อสาร เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาแล้ว อีกขั้นตอนที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ทีมที่รับช่วงต่อทำงานไปในแนวทางทิศเดียวกัน นั่นคือการสื่อสารที่ดี ซึ่งการทำงานด้าน Digital Marketing ในตำแหน่งนี้จำเป็นจะต้องสื่อสารให้เข้าใจ

ตำแหน่งที่ 10 : Digital Marketing Strategist


ตำแหน่งที่เราคุนเคยอย่างตำแหน่ง Digital Marketing Strategist ก็ยังคงเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการทำ Digital Marketing อยู่เช่นเดิม โดยตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ในการวางแผน วางกลยุทธ์ต่าง ๆ และสร้างโปรเจกต์ กำหนดระยะเวลา พร้อมวางแผนงบประมาณ ให้สามารถทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ข้อมูลต่าง ๆ และความเข้าใจในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย

คุณสมบัติที่สำคัญของ Digital Marketing Strategist 

ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการตลาด เพราะการวางแผน Digital Marketing ที่ดี จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในด้านการตลาดอย่างแท้จริง 

ความเป็นผู้นำ และ การสื่อสารที่ดี เนื่องจากตำแหน่งงานด้าน Digital Marketing ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ที่จะต้องวางกลยุทธ์ และ สื่อสารให้ทีมเข้าใจ รวมทั้งการนำทีมให้แต่ละโปรเจกต์สำเร็จอย่างลุล่วง

เข้าใจในความต่างของแต่ละช่องทางการตลาดออนไลน์ เพราะการทำ Digital Marketing มีช่องทางที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube หรือ Google ซึ่งก็มีรายละเอียด และความแตกต่างอยู่มากมาย การวางแผนให้ดีจึงจะต้องเข้าใจ และเลือกวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละช่องทาง

ทักษะในการวิเคราะห์ และ วัดผล เป็นองค์ประกอบสำคัญ ของการเป็น Digital Marketing Strategist ที่ดี เพราะการวางแผน จำเป็นต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์ออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งรวมทั้งการวัดผลด้วยเช่นเดียวกัน ที่จะต้องรู้จักการตั้ง KPI เพื่อให้การทำการตลาดออนไลน์มีการพัฒนาอยู่เสมอ

ทักษะในการจัดการ และ วางแผนงบประมาณ

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

Recommended Topics

7 tips สำหรับธุรกิจในการเลือกเอเจนซี่ (Digital Agency) ที่ใช่
Boost Post กับ Facebook Ads ต่างกันอย่างไร ? เลือกใช้ยังไงให้ได้ผลลัพธ์