Boost Post กับ Facebook Ads ต่างกันอย่างไร ? เลือกใช้ยังไงให้ได้ผลลัพธ์

Boost VS FB Ads ต่างกันอย่างไร

เคยยิงโฆษณา Facebook Ads กันไหม ? หลายคนที่ได้ฟังคำถามนี้อาจจะตอบอย่างมั่นใจว่า ”เคยใช้” ผ่านการเสียเงินให้กับปุ่ม “Boost Post”

ความจริงแล้วการ “Boost Post” ไม่ใช่การยิงโฆษณา “Facebook Ads”

หลังจากเห็นข้อความด้านบน เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะตกใจ เพราะทุกครั้งที่เสียเงินไปกับการ Boost Post ก็นึกว่ามันคือการยิง Facebook Ads มาโดยตลอด แต่ความจริงแล้วการ Boost Post และการยิงโฆษณาผ่าน Facebook Ads นั้นเป็นคนละเรื่องกัน แค่มีความคล้ายกันเท่านั้น 

แล้ว Boost Post กับ Facebook Ads ต่างกันอย่างไร ? 

Boost Post คืออะไร ?  


“Boost Post
คือการกดโปรโมตโพสต์บนหน้า Timeline ของ Facebook Page เราเพื่อให้โพสต์นั้น ๆ ของเรา เข้าถึงคนได้มากขึ้น ซึ่งการแสดงผลจะออกมาเหมือนกับ Facebook Ads 

ตัวอย่างการแสดงผลของการ Boost Post
ตัวอย่างการแสดงผลของการ Boost Post

และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ทุกคนสับสน และเข้าใจผิดไปว่าการเสียเงิน Boost Post คือการยิงโฆษณา Facebook Ads ด้วยความที่การแสดงผลออกมามีหน้าตาที่เหมือนกัน แต่ในความเหมือนกันตรงนั้น แท้จริงมีความแตกต่างกันอยู่ แต่ก่อนหน้าที่เราจะไปดูว่ามันต่างกันอย่างไร เรามาทำความเข้าใจการ Boost post กันก่อนครับ

การ Boost Post มีเป้าหมายเพื่ออะไร ? 

การ Boost Post มีเป้าหมายอยู่เพียงแค่ การรับรู้แบรนด์ (Aware) ให้รู้จักออกไปเป็นวงกว้าง และการสร้าง การมีส่วนร่วม (Engagement) กับโพสต์นั้น ๆ รวมทั้งการทำให้คนส่งข้อความ (Message) มาหาเรา ซึ่งส่วนใหญ่ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็น ยอดไลก์ คอมเมนต์ และ แชร์ 

โดยขั้นตอนการ Boost Post นั้นก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากการเข้าไปกดปุ่ม “Boost Post” กันก่อน ซึ่งปุ่ม “Boost Post” ก็สามารถหาเจอได้สองที่ ซึ่งจุดแรกก็คือมุมขวาล่างของโพสต์ของเรา ที่ได้มีการโพสต์ไปแล้วเรียบร้อย ส่วนจุดที่สองเราสามารถไปกด “Boost Post” ได้ที่ด้านบนของ Facebook Page ซึ่งเมื่อกดไป ก็จะมีหน้าต่างให้เราเลือกว่าจะทำการ Boost Post โพสต์ใดบ้าง

และเมื่อเลือกเสร็จแล้ว ก็จะมีตัวเลือกต่าง ๆ ให้เราเลือก ซึ่งหลัก ๆ จะประกอบไปด้วย เป้าหมาย (Goal) กลุ่มเป้าหมาย (Audience) งบประมาณ (Budget) และ ระยะเวลาที่อยากแสดงผล (Duration) ตามตัวอย่างด้านล่าง

ตัวอย่างปุ่ม “Boost Post” ด้านบนของ Facebook Page
ตัวอย่างปุ่ม “Boost Post” ด้านบนของ Facebook Page
 ตัวเลือกเป้าหมาย (Goal) ในการ Boost Post

ตัวเลือกเป้าหมาย (Goal) ในการ Boost Post
 ตัวอย่างตัวเลือกต่าง ๆ ในการตั้งค่า Boost Post

ตัวอย่างตัวเลือกต่าง ๆ ในการตั้งค่า Boost Post

Facebook Ads คืออะไร ?  


“Facebook Ads”
คือ การลงโฆษณาออนไลน์บน Facebook ที่เราสามารถปรับแต่งได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่ง Facebook Ads ก็จะประกอบไปด้วยเเป้าหมายหลัก ๆ 3 ส่วนได้แก่ การรับรู้ (Awareness) การตัดสินใจ (Consideration) และ การกระทำที่เราต้องการ (Conversion) ซึ่งทั้ง 3 ส่วนก็สามารถปรับแต่งและแบ่งได้เป็นเป้าหมายย่อย ๆ ได้อีกอันประกอบไปด้วย

1. การรับรู้ (Awareness)


1.1 การรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness)
  คือ การเพิ่มการรับรู้ ให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

1.2 การเข้าถึง (Reach) คือ เป้าหมายในการแสดงโฆษณาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะแสดงให้เห็นแค่กลุ่มคนที่เรากำหนดไว้เป็นกลุ่มเป้าหมาย

2. การตัดสินใจ (Consideration)


2.1 ยอดเข้าชมเว็บไซต์ (Traffic)
คือ เป้าหมายในการเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ ที่เราได้ระบุ URL เอาไว้ เช่น บล็อก หรือ หน้าเว็บไซต์ขายสินค้า

2.2 การมีส่วนร่วม (Engagement) คือ เป้าหมายในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ที่พบเห็นโฆษณา ซึ่งผลลัพธ์ส่วนใหญ่ที่ได้มาจะเป็น การกดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ 

2.3 การติดตั้งแอปฯ (App Installation) คือ เป้าหมายในการเพิ่มยอดการติดตั้งแอปฟลิเคชั่น

2.4 ยอดการชมวิดีโอ (Video View) คือ เป้าหมายในการเพิ่มยอดเข้าชมวิดีโอที่เราได้ทำการโพสต์ไว้ สำหรับเป้าหมายที่มีโอกาสกดดูสูง

ตัวอย่าง Lead Ads ของ Facebook Ads
ตัวอย่าง Lead Ads ของ Facebook Ads

ที่มา newsfeed.org

2.5 ข้อมูลลูกค้า (Lead Generation) คือ เป้าหมายในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ ที่มีโอกาสเป็นไปได้ในการกลายเป็นลูกค้าสูง เช่น การยิงโฆษณา Facebook Ads เพื่อให้เกิดการลงทะเบียน

2.6 ข้อความ (Message) คือ เป้าหมายในการกระตุ้นให้เกิดการส่งข้อความเข้ามาถามรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้า และ บริการ 

ตัวอย่าง Facebook Ads เพื่อกระตุ้นให้ส่งข้อความ
ตัวอย่าง Facebook Ads เพื่อกระตุ้นให้ส่งข้อความ

3. การกระทำบางอย่างที่เราต้องการ (Conversion)


3.1 การกระทำตามที่เราต้องการ (Conversions) 
เป้าหมายนี้คือการเพิ่มยอดการทำอะไรสักอย่างที่เราต้องการให้ลูกค้า หรือ ผู้ใช้คนนั้น ๆ ทำ ซึ่งเป็นได้ทั้ง การเพิ่มสินค้าลงตะกร้า การลงทะเบียน และ การซื้อ เป็นต้น

3.2 ยอดขายในแคตตาล็อก (Catalogue Sales) คือ เป้าหมายในการเพิ่มยอดขาย ของสินค้าที่อยู่ในหน้าแค็ตตาล็อกบน Facebook 

3.3. เพิ่มยอดการเข้าร้านค้า (Store Traffic)  คือ เป้าหมาย ในการเพิ่มยอดผู้เข้าชมร้านค้า ซึ่งมักจะเหมาะกับการยิงโฆษณา ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ทั้งนี้ ในการเริ่มต้นยิงโฆษณา Facebook Ads เราสามารถทำได้ผ่านการใช้งานเครื่องมือที่ชื่อว่า Facebook Ads Manager”  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการ สร้างโฆษณา และระบุว่ากลุ่มเป้าหมายคือใครได้ในเครื่องมือเดียว

ตัวอย่างหน้าตาเครื่องมือ Facebook Ads Manager
ตัวอย่างหน้าตาเครื่องมือ Facebook Ads Manager

Boost Post กับ Facebook Ads แตกต่างกันอย่างไร ? 


หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักทั้ง Boost Post และ Facebook Ads กันไปแล้ว เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามีอะไรที่เป็นข้อแตกต่างระหว่าง Boost Post และ Facebook Ads ที่สำคัญบ้าง ซึ่งจะทำให้เราตัดสินใจเลือกใช้งานได้ง่ายมากขึ้น

Boost Post สะดวกกว่า แต่ Facebook Ads ทำอะไรได้มากกว่า ? 

ในจุดแรกเราจะมาดูกันที่การใช้งานกันก่อนนะครับ ซึ่งในด้านของการใช้งาน Boost Post นี้ จะมีข้อดีอยู่ที่ความสะดวกสบาย เพราะสามารถทำได้ง่าย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปใช้เครื่องมืออื่น 

ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่า Facebook Ads จะมีการเข้าใช้งานที่อาจจะยุ่งยากกว่า ด้วยความที่ต้องออกไปยังหน้า Facebook Ads Manager แต่ก็แลกมาด้วยความสามารถที่ทำได้มากขึ้น ซึ่งใน Facebook Ads Manager นี้เราสามารถปรับแต่งโฆษณาได้กว้างกว่าการ Boost Post 

ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตได้จากลิสต์เป้าหมายที่เราสามารถกำหนดได้ของ Facebook Ads เมื่อนำไปเทียบกับเป้าหมายของการ Boost Post ที่เน้นเพียงแค่การเพิ่มการรับรู้ (Awareness) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) เป็นหลักเท่านั้น

การตั้งเป้าหมายในการ Boost Post
การตั้งเป้าหมายในการ Boost Post
การเลือกเป้าหมายของ Facebook Ads
การเลือกเป้าหมายของ Facebook Ads

นอกจากเรื่องของเป้าหมายแล้ว Facebook Ads ยังมีอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้มากกว่าการ Boost Post ซึ่งประกอบไปด้วย 2 อย่างดังต่อไปนี้

1. การเลือกจุดหมายปลายทางของโฆษณา ถึงแม้ว่าในการ Boost Post เราจะสามารถกำหนดได้ แต่ก็เป็นแค่การกำหนดปลายทางง่าย ๆ ที่มีแค่เพียงการเลือกให้แสดงผลผ่านหน้า Timeline ของ Instagram และ Facebook เท่านั้น ในขณะที่การทำ Facebook Ads เราจะระบุได้มากกว่า เช่น ความสามารถในการกำหนดให้โฆษณาไปแสดงผลที่ Instagram Stories หรือ อื่น ๆ เป็นต้น

2. การออกแบบที่ทำได้มากขึ้น ในการ Boost Post เราจะสามารถทำได้แค่โปรโมตโพสต์ ที่เราเคยโพสต์ไปแล้วเท่านั้น (เช่น วิดีโอ รูปภาพ ลิงก์)  ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในการออกแบบให้มันตรงกับเป้าหมาย ในขณะที่การทำ Facebook Ads นั้น เราสามารถออกแบบได้หลายรูปแบบมากกว่า เช่น รูปแบบ Carousel ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการโฆษณา Facebook Ads ที่มีลักษณะเป็นภาพสไลด์ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถทำได้ทั้งการใส่ “Call to Action” เข้าไปในโฆษณาซึ่งจะช่วยทำให้ผู้พบเห็นรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ

ตัวอย่าง Facebook Ads ประเภท Carousel
ตัวอย่าง Facebook Ads ประเภท Carousel

ที่มา Facebook for Business

Facebook Ads เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

นอกจาก Facebook Ads จะสามารถออกแบบ และปรับแต่งโฆษณาได้มากกว่าการ Boost Post แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ Facebook Ads ทำได้มากกว่านั่นก็คือ การตั้งกลุ่มเป้าหมาย (Audience) ได้อย่างแม่นยำ 

ถึงแม้ว่าการ Boost Post จะสามารถระบุกลุ่มเป้าหมาย (Audience) ตามหลักประชากรศาสตร์ (Geography) และ ความสนใจ (Interests) แต่ก็อาจจะไม่ได้สามารถทำได้อย่างแม่นยำขนาดนั้น

ในขณะเดียวกัน Facebook Ads ก็มีฟีเจอร์ที่จะช่วยให้เราสามารถตั้งกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ Custom Audience และ Lookalike Audience

การตั้งกลุ่มเป้าหมาย (Audience) ของ Facebook Ads
การตั้งกลุ่มเป้าหมาย (Audience) ของ Facebook Ads

“Custom Audience” การตั้งกลุ่มเป้าหมายด้วยข้อมูลเฉพาะ

“Custom Audience” คือการตั้งกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการใช้ข้อมูลที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็น อีเมล และ เบอร์โทรศัพท์  หรือแม่กระทั่งรายชื่อผู้ที่เคยเข้าชมเว็บไซต์ หรือ คนที่เคยสั่งซื้อสินค้าไปจาก E-commerce ของเรา ซึ่งการตั้งเป้าหมายเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกค้าเก่าของเรามีโอกาสกลับมาซื้ออีกครั้ง ซึ่งการทำการตลาดรูปแบบนี้เรียกว่า “Remarketing” 

“Lookalike Audience” การตั้งกลุ่มเป้าหมายที่มีความคล้ายกับลูกค้าเก่า

“Lookalike Audience” คือการตั้งกลุ่มเป้าหมาย ที่เราสามารถระบุให้เป็นกลุ่มคนที่มีความคล้ายกับลูกค้าเก่า ซึ่งนี่จะทำให้กลุ่มคนที่โฆษณาของเราเข้าถึง จะมีโอกาสกลายเป็นลูกค้าสูงขึ้น ซึ่งการทำการตลาดด้วยฟีเจอร์นี้ จะทำให้ธุรกิจของเรามีฐานลูกค้าที่ขยายกว่าเดิม

โดยวิธีการหนึ่งที่จะช่วยในการเก็บข้อมูลลูกค้า ก็คือการใช้ “Facebook Pixel” ติดตั้งเข้าไปยังเว็บไซต์ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของผู้เข้าชม หรือแม้แต่การใช้ “Lead Ads” (รูปแบบโฆษณาที่มีเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้า) เพื่อทำการสะสมข้อมูล

Boost Post กับ Facebook Ads รูปแบบไหนเหมาะกับใคร ? 


ในการเลือกใช้งานระหว่างกาาร Boost Post และ Facebook Ads เราสามารถเลือกได้จากปัจจัยในแง่ต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้ทั้งในแง่ของการใช้งาน ที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน และเห็นได้ชัดว่าเหมาะกับใคร รวมทั้งในแง่ของประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเลือกใช้ได้ง่ายมากขึ้น

ในแง่การใช้งาน

ในแง่ของการใช้งานทั้งสองช่องทางทั้ง Boost Post และ Facebook Ads ก็มีความต่างที่ค่อนข้างจะชัดเจน ซึ่งการใช้งาน Boost Post จะเน้นที่ความง่าย สะดวกสบาย และ รวดเร็ว ซึ่งจะต่างจากการใช้ Facebook Ads ที่มีขั้นตอนมากกว่าตั้งแต่การตั้งค่า ไปจนถึงการที่ต้องสลับหน้าไปที่ Facebook Ads Manager 

ในแง่ประสิทธิภาพ 

ในด้านประสิทธิภาพของการปรับแต่ง การ Boost Post จะสามารถเน้นได้แค่เพียงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมเท่านั้น ซึ่งประสิทธิภาพจะต่างกัน กับ Facebook Ads ที่สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของโฆษณา พร้อมการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้หลากหลายและ เข้าถึงลูกค้าได้แม่นยำมากกว่า 

ดังนั้นในการเลือกใช้ต้องดูว่าแต่ละช่องทางเหมาะกับความต้องการในใจของคุณหรือเปล่า ถ้าหากคุณเป็นคนที่ชอบความสะดวกสบาย หรือ เป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ต้องการให้โพสต์เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ในระยะเวลาสั้น ๆ แบบไม่ได้เจาะจงโดยเฉพาะ ก็จะเหมาะกับการ“Boost Post” นั่นเอง 

“Facebook Ads” ก็จะเหมาะกว่า และ เป็นการทำการตลาดที่ระยะยาวมากกว่า

ที่มา Impactbnd, smartbugmedia และ qiigo

เรียนสอบถาม คอนเทนต์นี้ คุณชอบไหมคะ

ความคิดเห็นของคุณมีความสำคัญกับเรา ขอบคุณนะคะ

Learn More

เช็คกันอีกที ตำแหน่งงาน Digital Marketing ที่น่าสนใจในปี 2020 มีอะไรบ้าง?
5 วิธีการสร้าง Carousel Content บน Instagram เพื่อเพิ่ม Engagement ให้ได้ผล!