ในปัจจุบันคำว่า การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยงานย่อย ๆ ในธุรกิจอีกต่อไป
เมื่อเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล 5.0 เต็มตัวแล้ว การใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ในด้าน Digital Marketing จะไม่ใช่แค่เรื่องการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงคนจำนวนมาก (Mass) อีกต่อไป แต่จะครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
- การรับรู้แบรนด์ (Awareness)
- การสร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement)
- การกระตุ้นให้ลูกค้าพิจารณา (Consideration)
- การกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ (Making Decision)
- การกระตุ้นให้เกิดการซื้อ (Purchase)
- การกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ (Repurchase)
- การดูแลลูกค้าในระยะยาว (Retention)
- การกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ (Advocacy)
เมื่องานของฝ่ายการตลาดมีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
เมื่อจำนวนงาน และจำนวนข้อมูลที่เราต้องจัดการมีมากขึ้นขนาดนี้
เราก็จำเป็นที่จะต้องมีตัวช่วยซึ่งก็คือ Marketing Technology นั่นเอง
หลังจากที่ทางทีมงาน STEPS Academy ได้เริ่มต้นเรียนรู้ Marketing Technology มาระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งได้รับการแบ่งปันข้อมูลจาก คุณ จิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ Corporate Marketing Department บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Marketing Tech Thailand ทำให้เราสังเกตเห็นว่า
Marketing Technology ที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีความหลากหลาย
ทั้งจุดประสงค์ในการใช้งาน และ ความเกี่ยวข้องกับงานแต่ละส่วนขององค์กร
นั่นทำให้เราเห็นถึงประโยชน์ในการแบ่งปันข้อมูลความรู้ ความเข้าใจใน Marketing Technology เพื่อการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม และ มีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยวันนี้ STEPS Academy ได้รับเกียรติ จากคุณ จิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ มาเป็นผู้แบ่งปันความรู้ด้าน Marketing Technology ให้แก่ผู้อ่านทุกคน โดยจะขอเริ่มต้นที่บทความแรกกับ Marketing Technology 101 ครับ
1. Marketing technology คืออะไร ?
Marketing technology คือเทคโนโลยีที่รวมถึงเครื่องมือ (Tool) และ ระบบ (Platform) ที่พัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านกิจกรรมทางการตลาด (Marketing) ทั้งเพื่อการจัดการแคมเปญทางการตลาดที่ง่ายขึ้น การสื่อสารกับลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น และการวัดผลได้แม่นยำขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้บางกรณีเราอาจเห็นการเรียก Marketing technology แบบผสมผสานว่า “Martech”
โดยส่วนใหญ่เครื่องมือที่เรียกว่า Martech จะมีลักษณะเฉพาะตัวดังนี้
- เครื่องมือ Martech เหล่านี้ โดยส่วนมากจะเป็นเครื่องมือในรูปแบบของบริการที่ติดตั้งอยู่บนระบบ หรือ ฐานข้อมูลของผู้ให้บริการ (Cloud Service) โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะนำเครื่องมือ Martech มาติดตั้งอยู่บนระบบของผู้ใช้งาน ในลักษณะที่ผู้ใช้งานจะต้องทำการดูแลระบบเอง (On – Premise)
- ค่าใช้จ่ายของแต่ละเครื่องมือ มีหลักการเก็บค่าใช้จ่ายที่หลากหลายตามการให้บริการของแต่ละเครื่องมือ เช่น ค่าใช้จ่ายคิดตามจำนวนผู้ใช้งาน (User) คิดตามจำนวนการเข้าใช้ หรือ เข้าชม (Traffic)
- ใช้เวลาในการติดตั้งระบบ (Deployment) รวดเร็วกว่าเครื่องมือประเภทที่ติดตั้งบนระบบของผู้ใช้งานเอง (On – Premise)
- ถูกออกแบบมาให้พร้อมใช้งาน ผู้ใช้งานทุกคนในระบบจะสามารถเห็นเครื่องมือต่าง ๆ (Feature) และ หน้าที่ของแต่ละอัน (Function) เหมือนกัน
- Martech บางตัวมีอยู่ในตลาดมาอย่างเนิ่นนาน ทำให้มีความยืดหยุ่น ปรับปรุงระบบและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรองรับประเภทลูกค้าที่หลากหลายได้
- Martech หลาย ๆ ตัว มีรูปแบบการใช้งานที่เป็นมิตรกับนักการตลาดทั่วไป โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งฝ่ายไอทีจนมากเกิน
- Martech เป็นเครื่องมือที่จำเป็นจะต้องมีการวางแผนในระยะยาว ทั้งการติดตั้งระบบ (Deployment) และการใช้งานร่วมกัน (Intregration) ให้ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ด้านการตลาดที่วางเอาไว้ได้

ที่มา Mudassar Iqbal
2. ทำไมต้องใช้ Marketing technology ?
เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า หรือบริการ ทุกวันนี้มักจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับ Digital ในแบบใดแบบหนึ่งไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจที่เป็นธุรกิจบนโลกดิจิทัล ที่มีรายได้จากช่องทางอย่างดิจิทัลเต็มตัว ( Digital Business)
- ธุรกิจที่มีการขายสินค้าบริการผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การเปิดช่องทางการขายผ่าน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ทั่วไป
- ธุรกิจที่มีการผสมผสานกัน เช่น ทำการตลาดบนช่องทางสื่อออนไลน์ แต่พาคนไปสร้างยอดขายที่ออฟไลน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้ลองสังเกตตัวอย่างธุรกิจที่ผมยกตัวอย่าง 3 ข้อด้านบน จะเห็นได้ว่า
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบไหน ก็ต้องมีการทำการตลาด ทั้งผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Marketing) จากการโฆษณา (Advertising) การวิเคราะห์ วัดผล (Analytic) หรือ แม้แต่การสื่อสารกับลูกค้า (Communication)
ซึ่งจากการที่นักการตลาดอย่างเราที่ต้องมีงานมากมายให้จัดการใน 1 วัน ความหลากหลายรูปแบบของข้อมูล (Data) การจัดทำแคมเปญและการที่จะต้องปรับเปลี่ยนแคมเปญอย่างรวดเร็ว การต้องพยายามเข้าใจพฤติกรรมดิจิทัลของลูกค้า ทำให้เราต้องการเครื่องทุ่นแรง ซึ่ง Marketing Technology เข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
3. Marketing technology มีประโยชน์กับใครบ้าง ?
3.1 ธุรกิจ Startup
ตลาด Martech (Marketing Technology) ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และยังมีผู้ประกอบการใหม่ๆ ในตลาดนี้น้อย ซึ่งทีผ่านมามี Martech ที่ประสบความสำเร็จระดับ Unicorn หลายราย โดยผมขออนุญาตยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ครับ
- DoubleClick ธุรกิจ Startup ด้าน Martetch ที่มีมูลค่ากิจการ 99,014 ล้านบาทเมื่อตอนขายให้กับ Google มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเหล่านักโฆษณา เอเจนซี่ และ สื่อต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ โดย DoubleClick เป็นธุรกิจที่ให้บริการในการช่วยเหลือด้านการบริหารพื้นที่โฆษณา และ การจัดการแคมเปญการตลาด เช่น
- Ad-Serving ตัวช่วยของสื่อ ในการจัดการการแสดงผลโฆษณาบนพื้นที่เว็บไซต์ของสื่อต่าง ๆ
- Ad Delivery ตัวช่วยของนักโฆษณา ในการควบคุมจำนวน และ ระยะเวลาการแสดงโฆษณา
- Behavioral Targeting ตัวช่วยในการแบ่งประเภทโฆษณาที่จะแสดงผลให้เหมาะสมกับประเภทของผู้เข้าชมเว็บไซต์ เช่น สื่อประเภทข่าวที่มีหลากหลายหัวข้อ สามารถเลือกได้ว่าหัวข้อกีฬา ให้แสดงโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเท่านั้น
- Admob ธุรกิจ Startup ด้าน Martetch ที่มีมูลค่ากิจการ 23,956 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชันต่าง ๆ ที่ต้องการจับคู่โฆษณาที่เหมาะสมเพื่อมาลงบนแอพพลิเคชันของตัวเอง
ภาพแสดงการทำงานของ Admob ที่มา support.google.com
- Surveymonkey ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าการขายกิจการ 64,980 ล้านบาท โดยให้บริการเครื่องมือสำหรับสร้างแบบสอบถามออนไลน์ ให้แก่ธุรกิจที่ต้องการวัดผลตอบรับจากลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคต

ที่มา surveymonkey.com
3.2 เอเจนซี่การตลาดดิจิทัล (Digital agency) และ ที่ปรึกษาทางด้านดิจิทัล (Digital consultant)
สามารถขยายรูปแบบการให้บริการรองรับงานด้าน Martech เช่น
- การติดตั้งเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม และ Marketing suite ต่างๆ (Deployment หรือ การนำไปติดตั้งในระบบ)
- ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ในการเลือกใช้เครื่องมือ Marketing technology
ทั้งนี้อย่างน้อย เอเจนซี่การตลาดดิจิทัลในยุค Marketing Technology ต้องพัฒนาทักษะ (Skillset) ในการใช้การเครื่องมือ (Toolset) ประเภท Martech ที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า
3.3 นักการตลาด
อาจต้องเจอกับความยุ่งยากของการใช้งานระบบที่หลากหลาย และ การต้องวุ่นวายกับข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ แต่ก็แลกมากับข้อดี เช่นการมี ข้อมูลเชิงลึก (insight) ที่ชัดเจนขึ้น มีการวัดผลที่แม่นยำขึ้น (Data accuracy) การสร้างแคมเปญต่าง ๆ เข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว (Speed to market) และ สื่อสารได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น (Relevance)
3.4 คนทำงานด้านข้อมูล
คนทำงานด้านข้อมูลอย่าง นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) หรือ นักวิจัยข้อมูล (Data Scientist) นอกจากจะต้องเจอกับปริมาณข้อมูลแบบ 3Vs ซึ่งได้แก่
- Volume หรือ จำนวนข้อมูล
- Velocity หรือ ความเร็วของข้อมูล
- Variety หรือ ความหลากหลายของข้อมูล
แล้วยังต้องใช้ความสามารถในการออกแบบวิธีเชื่อมโยงข้อมูล (Integration) ข้ามแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างไรก็ตาม คนทำงานด้านข้อมูลก็ยังได้ประโยชน์จาก Martech เช่น การมีเครื่องมือช่วยทำวิจัยตลาดใหม่ๆ (Market research) และ การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าบนโลกดิจิทัลมากขึ้น (Digital behavior)
4. ประเภทของ Marketing Technology มีอะไรบ้าง

ที่มา chiefmartec.com
ปัจจุบัน Martech ทั่วโลกมีมากกว่า 8,000 ตัวเลือกและแต่ละสำนักก็มีการแบ่งประเภทของ Martech ไว้หลากหลายรูปแบบโดยผมขอแบ่งประเภทของ Martech ไว้เป็นหมวดหมู่คร่าว ๆ ดังนี้ครับ
4.1 Marketing Analytics และ Performance Tracking & Attribution
เทคโนโลยีประเภทวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด การวัดประสิทธิภาพต่าง ๆ การวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งข้อมูลเชิงพฤติกรรมของลูกค้า และ ข้อมูลของแคมเปญโฆษณา เป็นต้น
4.2 Cloud/Data Integration Platform
เทคโนโลยีประเภทการรวบรวมข้อมูลระหว่างระบบ เช่น ระบบการหาข้อมูลลูกค้าแบบอัตโนมัติ (Automate lead) และ การส่งข้อมูลลูกค้า (Lead information) ข้ามระบบ ระบบการกระจายงาน (Task Assignment) และ การให้คะแนนคุณภาพของข้อมูลลูกค้า (Lead Scoring)
4.3 Business/Customer Data Visualization Technologies
เทคโนโลยีประเภทการทำข้อมูลให้เป็นการนำเสนอเชิงรูปภาพ หรือเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลดิบออกมาเป็นภาพ เช่น กราฟ, พล็อต, แผนที่, ตาราง และสามารถนำมาประกอบเป็นชุดแผงการบริหารงาน (Dashboard) เพื่อช่วยให้เห็นรายงาน (Report) ได้ชัดเจน ประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การสื่อสารข้อมูลได้ตรงกัน, มีการเจาะลึกข้อมูลได้ลึกขึ้น และการค้นพบข้อมูลเชิงลึกที่ไม่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ (Deeper Insights)
4.4 Conversion Rate Optimization / Personalization
เทคโนโลยีประเภทสร้างประสบการณ์ (User experience) ที่หลากหลายทั้งการสื่อสารข้อความแบบ Dynamic และ การปรับรูปแบบบริการ (Service) ให้เหมาะสมกับการแบ่งส่วนตลาด (segmentation) ต่าง ๆ ของลูกค้า
หรือที่ได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ คือ ระหว่างที่ลูกค้ากำลังจะซื้อสินค้า A ระบบจะมีการนำเสนอสินค้า B ที่ลูกค้าน่าจะสนใจ (Recommendation & Related items)
โดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ การทำให้ลูกค้ารายนั้น ๆ มีการซื้อสินค้าในปริมาณเยอะขึ้น (Up sale & Cross sale) อัตราส่วนผู้ใช้งานทั่วไป หรือ ผู้ที่มีการซื้อสินค้าจริง (Conversion Rate) หรือการสร้างความประทับใจต่อสินค้าและองค์กร (Brand Loyalty) เป็นต้น
4.5 Advertising Technology
เทคโนโลยีประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการโฆษณา (Advertising) เพื่อประโยชน์ทั้งด้านประสิทธิภาพแคมเปญ (Efficiency) ทั้งด้านการวัดผลที่แม่นยำ (Accuracy) ด้านการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงกลุ่ม (Target) โดยอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ดังนี้
- Social Media Advertising การโฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
- Advertiser Campaign Management การบริหารแคมเปญโฆษณา
- Data management platform (DMP) การโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ผ่านระบบ DMP
4.6 Visitor Identification Software
เทคโนโลยีที่ช่วยยืนยันตัวตนของผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือ Website Visitor เบื้องต้น เช่นการนำ IP address ไปแปลงเป็นเมือง ประเทศ เทคโนโลยีบางตัวสามารถนำ IP address นั้น ๆ ไปต่อยอดได้ ว่าผู้เข้าชมเว็บของเรา มาจากบริษัท สถาบันการศึกษาไหน เป็นต้น
4.7 Affiliate Marketing & Performance-based advertising
เทคโนโลยีที่ช่วยการทำการตลาดแบบช่วยขาย โดยที่เจ้าของสินค้าจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ช่วยขายตามประสิทธิภาพที่ได้ เช่น ค่าตอบแทนเป็น ส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ ของราคาสินค้า
โดยหน้าที่ของผู้ช่วยขาย คือการนำสินค้าไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เว็บบล็อก โซเชียลมีเดีย โดยผู้ช่วยขายแต่ละรายจะมี ลิ้งก์เฉพาะตัว เจ้าของสินค้าสามารถตรวจสอบได้ว่าการซื้อ-ขายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากผู้ช่วยขายรายไหน
4.8 Content Marketing Tools
4.9 Search marketing tool
เทคโนโลยีที่ช่วยในการทำ Search marketing ซึ่งหมายรวมทั้ง การโฆษณาบนแพลตฟอร์มการค้นหาข้อมูล หรือ Search advertising (Google adword) หรือ Organic Search (SEO) เช่น ใช้ Martech ทำหน้าที่ตรวจสอบเว็บไซต์ ในด้านต่าง ๆ เช่นการตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของลิ้งก์ภายในเว็บไซต์ (Internal link error) ตรวจสอบความเร็วในการโหลดของหน้าเว็บไซต์ (Page load speed), ตรวจสอบการถูก index ใน Google Algorithm, ใช้สำหรับ ติดตามผลคำที่เราใช้เพื่อโฆษณา (keyword) ทั้งเรื่องอันดับ (Ranking) จำนวนการคลิก จำนวนครั้งของการแสดงโฆษณา (Impression) และ การใช้เครื่องมือเพื่อตรวจจับลิ้งก์จากเว็บไซต์ภายนอกอื่น ๆ ที่พาผู้ใช้งานมาสู่เว็บไซต์ของเรา (Backlink)
4.10 Social Media Marketing
เทคโนโลยีที่ช่วยทำการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้สะดวกขึ้น โดยในกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยๆได้ดังนี้
- Social media channels management เครื่องมือที่ช่วยให้เราบริหารจัดการช่องทาง (Channel) ของเราได้ง่ายขึ้น ทั้งการวางตารางคอนเทนต์ การบริหารกำลังผลิตคอนเทนต์ของทีมงาน การบริหารข้อมูลลูกค้าทางกล่องข้อความ (Chat box) หรือ การสนทนาผ่านโปรแกรม Messaging ต่าง ๆ
- Social Campaign Management หรือ การบริหารจัดการแคมเปญบนโซเชียลมีเดีย เครื่องมือ Martech กลุ่มนี้ ช่วยให้เราสามารถ สร้างแคมเปญประเภทที่มีการใช้แฮชแท็ก (Hashtag Campaign) เพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย หรือ แคมเปญประเภทที่มีการกล่าวถึงแบรนด์ (Fanpage’s Mention) ให้สามารถจัดการและสังเกตการณ์บนหน้า Feed ได้ ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่มีการใช้แฮชแท็กเป็นประจำอย่าง Twitter และ Instagram
- Influencer Marketing หรือ การใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสายต่าง ๆ มาช่วยในการทำการตลาดของเรา ก็สามารถใช้ Martech เข้ามาช่วยได้เช่นกัน โดยสามารถช่วยได้ทั้งการหาเหล่าผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่มีอยู่ในตลาด หรือ การนำรายชื่อพวกเค้าเหล่านั้นเข้าไปในระบบเพื่อทำการติดตามผลลัพธ์ (Track Performance) และจัดเก็บเป็นข้อมูลดิจิทัลเอาไว้ (Digital Profiles)
- Social Media Monitoring & Listening หรือ การสังเกตการณ์และการรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ Martech สามารถเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ เช่น การเข้าถึงความคิดเห็นของผู้บริโภค (Sentiment) ที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย ต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นตัวช่วยในการรับมือกับวิกฤต (Crisis Management) และ เก็บข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า (Insight) ไว้ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ หรือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ร่วมกันกับลูกค้าเก่า

ที่มา Kred
4.11 Marketing Cloud Suites
การให้บริการในรูปแบบของชุดเครื่องมือ Martech ที่ถูกรวบรวมเอาไว้ และถูกนำเสนอขายโดยบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการแยกขายตามโปรแกรมย่อยที่มีลักษณะหน้าที่แตกต่างกันไป (Module) หรือ รูปแบบเฉพาะ (features) ของเครื่องมือนั้น ๆ โดยแต่ละค่ายจะมีการแบ่งที่แตกต่างออกไป แต่โดยส่วนมากแล้วในทุก ๆ ค่ายมักจะมีเครื่องมือดังนี้
- Marketing Automation Module : เครื่องมือการตลาดอัตโนมัติ
- Customer Database Module :เครื่องมือเก็บข้อมูลลูกค้า
- Analytic Module : เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล
- Content Creator Module : เครื่องมือในการสร้างคอนเทนต์
สำหรับบริษัทที่เราคุ้นเคยกันที่มี Marketing Cloud Suites ให้บริการนั้น ก็ได้แก่ Salesforce , IBM Watson Marketing Cloud, Sitecore, Adobe, Hubspot หรือ Pam (บริษัท Martech จากประเทศไทย) นั่นเอง

ที่มา Adobe
สำหรับตอนต่อไป (EP2) ผมจะแนะนำเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในแต่ละหมวดหมู่ข้างต้น อย่างละเอียด พร้อมเจาะลึกเรื่องการตลาดอัตโนมัติ (Marketing Automation) และ ชุดเครื่องมือ (Marketing Cloud Suites) จากบริษัทชั้นนำขนาดด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่น Saleforce, Adobe, Useinsider, Hubspot, Pam ครับ
📢📢 หลักสูตรใหม่ Data-Driven Content Strategy หลักสูตรสำหรับการวางกลยุทธ์คอนเทนต์ที่มี “Data” เป็นตัวขับเคลื่อน โดยหลักสูตรนี้จะมีทั้งภาพรวมการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการทำคอนเทนต์ และเวิร์คชอปการใช้เครื่องมือ Martech ที่จะเป็นอีกอาวุธลับของคุณ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

ผู้เขียน : คุณ จิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์
ตำแหน่ง : ฝ่ายดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Marketing Tech Thailand
เรียบเรียง : STEPS Academy
ตารางคำศัพท์สำหรับ Marketing Technology
คำศัพท์ | ความหมาย |
Marketing Technology | เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการตลาด |
Cloud Service | บริการที่ติดตั้งอยู่บนระบบ หรือ ฐานข้อมูลของผู้ให้บริการ |
On – Premise | บริการที่ติดตั้งอยู่บนระบบของผู้ใช้ |
Traffic | จำนวนการเข้าชม / เข้าใช้ |
Deployment | การนำไปติดตั้งบนระบบ |
Integration | การใช้งานร่วมกัน / การเชื่อมต่อข้อมูล |
Insight | ข้อมูลเชิงลึก |
Data Analyst | นักวิเคราะห์ข้อมูล |
Data Scientist | นักวิจัยข้อมูล |
Volume | จำนวนข้อมูล |
Velocity | ความเร็วข้อมูล |
Variety | ความหลากหลายของข้อมูล |
Market Research | การทำวิจัยตลาด |
Digital Behavior | พฤติกรรมบนโลกดิจิทัล |
Marketing Analytics | การวิเคราะห์ตลาด |
Performance tracking & Attribution | การวัดประสิทธิภาพ |
Cloud/ Data Integration Platform | การรวบรวมข้อมูลระหว่างระบบ |
Automate lead | ระบบหาข้อมูลลูกค้าอัตโนมัติ |
Lead Information | การส่งข้อมูลลูกค้า |
Data Visualization | การนำเสนอข้อมูลในเชิงรูปภาพ |
Task Assignment | ระบบกระจายงาน |
Lead Scoring | การให้คะแนนคุณภาพข้อมูลลูกค้า |
Up – sale | การกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่แพงขึ้น |
Cross – sale | การกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยการเสนอสินค้าที่เกี่ยวข้อง |
Page load speed | ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ |
Dashboard | ชุดแผงการบริหารงาน |
Conversion rate Optimization | การเพิ่มสัดส่วนการขาย |
Personalization | การทำให้มีลักษณะเฉพาะตัวบุคคล |
Advertiser Campaign Management | การบริหารแคมเปญโฆษณา |
Data Management Platform | ระบบจัดการฐานข้อมูล |
Visitor Identification Software | เทคโนโลยียืนยันตนผู้เข้าชมเว็บไซต์ |
Affiliate Marketing | การทำการตลาดแบบช่วยขาย |
Performance-based Advertising | การทำโฆษณาอิงตามประสิทธิภาพ |
Content Marketing Tools | เครื่องมือช่วยทำการตลาดคอนเทนต์ |
Search Marketing Tools | เครื่องมือช่วยการตลาดบนแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล |
Organic Search | การโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้นหาแบบธรรมชาติ (ฟรี) |
Internal Link Error | ความผิดพลาดจากการเชื่อมต่อของลิงก์ภายในเว็บไซต์ |
Impression | จำนวนครั้งการแสดงโฆษณา |
Backlink | ลิงก์ภายนอกที่พาเข้าสู่เว็บไซต์ |
Hashtag Campaign | แคมเปญการตลาดที่ใช้ # แฮชแท็ก |
Fanpage’s Mention | แคมเปญที่มีการกล่าวถึงแบรนด์ |
Influencer Marketing | การทำการตลาดแบบใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิด |
Social Media Monitoring / Listening | การสังเกตการ์ณและการรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย |
Sentiment | ความคิดเห็น |
Crisis Management | การจัดการสภาวะวิกฤต |
Marketing Cloud Suites | ชุดเครื่องมือการตลาดที่ถูกรวบรวมไว้ |
Module | โปรแกรมย่อยที่มีหน้าที่ต่างกันไป |
Marketing Automation | การตลาดอัตโนมัติ |
Customer Database | ฐานข้อมูลลูกค้า |