เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่า “วิดีโอคอนเทนต์ที่ดีเป็นอย่างไร?” การมีจำนวนยอดรับชมเยอะๆอย่างเดียว เพียงพอสำหรับการเป็นคอนเทนต์ที่ดีแล้วหรือไม่? คำตอบของคำถามนี้เป็นสิ่งที่หลายๆธุรกิจมองข้าม แท้จริงแล้ววิดีโอคอนเทนต์ที่ดี คือวิดีโอที่ตอบโจทย์ความต้องการหรือเป้าหมายของเราและลูกค้า ซึ่งเป้าหมายนี้จะแตกต่างกันไปตาม Customer journey ที่จุดประสงค์จะเริ่มตั้งแต่สร้าง Awareness ไปจนถึง Conversion วิดีโอที่ตอบโจทย์เป้าหมายนี้ได้ต่างหากถึงจะเป็นวิดีโอคอนเทนต์ที่เกิดประโยชน์จริง และเป็นคอนเทนต์ที่เรียกว่าดีได้
ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสรรค์วิดีโอคอนเทนต์ให้ดีได้? Video Marketing Ep.03 นี้มีคำตอบ เพราะเราจะพาผู้อ่านไปพบกับกลยุทธ์การวางแผน ที่จะทำให้วิดีโอที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาตรงตามเป้าหมายและเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
1.ตั้งเป้าหมายและวัดผลให้ถูกต้อง (Video Goals With Right KPIs)
ทุกครั้งก่อนที่เราจะสร้างวิดีโอใดๆขึ้นมา เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า วิดีโอนี้สร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อะไรขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการออกแบบทุกๆคอนเทนต์เลย เราจะต้องวางเป้าหมายของวิดีโอที่จะทำเสมอ การรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร จะช่วยให้คุณเลือกประเภทวิดีโอได้ตรง และเลือกตัววัดผล (KPI) ที่เหมาะสมกับวิดีโอนั้นๆได้
เป้าหมายของธุรกิจจะแบ่งตามขั้นการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) สำหรับ Video marketing จะประกอบด้วย 3 ขั้นหลักๆคือ ขั้นตอนของการรับรู้แบรนด์ (Awareness), ขั้นตอนของการพิจารณา (Consideration) และขั้นตอนสุดท้ายคือการตัดสินใจ (decision or action (conversion))
ขั้นตอนของการรับรู้แบรนด์ (Awareness)
ขั้นตอนนี้เป็นการทำให้คนแปลกหน้า รับรู้ว่าเรามีตัวตน เป็นช่วงที่ลูกค้ารับรู้ปัญหาที่เจอ จึงค้นคว้าหาตัวเลือก และยังไม่แน่ใจว่าต้องการความช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงจากแบรนด์ไหนหรือไม่ ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นต้องเข้าถึงผู้ชมให้กว้างที่สุด เพื่อให้ลูกค้าพบเห็น และรับรู้ว่ามีแบรนด์เราอยู่
ในขั้นตอนนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การวัดผลจาก
- View : จำนวนการรับชมวิดีโอ ซึ่งการนับจำนวนในแต่ละช่องทางก็มีความแตกต่างกัน เช่นใน Facebook และ Instagram จะเริ่มนับ View ก็ต่อเมื่อมีผู้รับชมวิดีโอนานเกิน 3 วินาทีขึ้นไป เป็นต้น
- Impression : คือจำนวนครั้งที่แสดงวิดีโอโฆษณาออกไป ถึงแม้ว่าจะแสดงโฆษณาซ้ำกับคนเดิมก็ตาม
รูปภาพตัวอย่างด้านบน เป็นหน้าแสดงผลลัพธ์วิดีโอคอนเทนต์บน Youtube ที่แสดงค่า Impression และจำนวน View ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า วิดีโอนี้มีจำนวนคนเห็นวิดีโอทั้งหมดประมาณ 266,300 คน มีจำนวนคนดูวิดีโอครบ 30 วินาทีเป็นจำนวน 35,200 คน คิดเป็นอัตราส่วนคนดูวิดีโอครบ 30 วินาทีต่อจำนวนคนเห็นทั้งหมด (View-through rate) เป็น 13.2% เป็นต้นค่ะ
ขั้นตอนที่ลูกค้าพิจารณาสินค้า (Consideration)
หากเป้าหมายของคุณคือการดึงดูดผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า กลุ่มเป้าหมายของคุณจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา (Consideration) พวกเขาจะมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์เพราะตระหนักถึงปัญหา และเล็งเห็นว่าแบรนด์ของเรามีโอกาสแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการของพวกเขาได้ ขั้นตอนนี้พวกเขาจะแสดงความคิดเห็น อ่านรีวิว และขอคำแนะนำ ในขั้นตอนนี้คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวิดีโอของคุณดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้แล้ว
ในขั้นตอนนี้มุ่งเน้นไปที่การวัดผลจาก
- View-through rate /Click-through rate : คือจำนวน View ทั้งหมด หรือจำนวนการ Click เพื่อดูวิดีโอหารด้วยจำนวน Impression เป็นค่าที่สามารถบ่งชี้เปอร์เซ็นต์ความสนใจในวิดีโอนั้นๆจากจำนวนการมองเห็นวิดีโอทั้งหมดได้
- Watch time : ระยะเวลาที่ผู้ชมรับชมวิดีโอ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าผู้ชมชื่นชอบเนื้อหาอะไร จึงใช้เวลารับชมวิดีโอนั้นนานกว่าปกติ ตรงข้ามกับวิดีโอที่พวกเขาคลิกแล้วละทิ้งเพราะแสดงถึงความไม่สนใจในเนื้อหาเหล่านั้น
จากรูปภาพตัวอย่างเดียวกัน ขั้นตอนนี้จะพิจารณาไปที่ค่า Click-through rate (จำนวนการคลิกดูวิดีโอ/จำนวนการมองเห็นวิดีโอทั้งหมด)
จากรูปภาพด้านบนที่ค่า Click-through rate = 13.2% จึงอธิบายง่ายๆได้ว่า วิดีโอนี้มีจำนวนคนที่คลิกดูวิดีโอจริงๆจากจำนวนคนเห็นวิดีโอทั้งหมด 13.2% ค่ะ แต่ถ้าค่านี้เป็น 0 แสดงว่าวิดีโอนี้ไม่มีคนคลิกดูเลยแม้จะเห็นวิดีโอนี้แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีค่า Watch time ซึ่งกรณีของรูปภาพที่ยกมานี้ (watch time(minutes)=46.4k) จะแสดงจำนวนผู้คนที่รับชมวิดีโอครบ 1 นาทีว่ามีจำนวนประมาณ 46,400 คนค่ะ
ทั้ง Click-through rate , View-through rate และ Watch time เป็นค่าที่บ่งบอกได้ว่าผู้ชมเริ่มพิจารณาสิ่งที่เรานำเสนอผ่านวิดีโอนี้แล้วหรือไม่ ได้ค่ะ
ขั้นตอนการตัดสินใจ (Decision or action (conversion))
ในขั้นตอนนี้ เป้าหมายของคุณอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจ เป็นขั้นที่ลูกค้าใกล้จะซื้อของแล้ว คุณจึงต้องแน่ใจว่าวิดีโอชิ้นนี้จะช่วยปิดการขายได้ ในขั้นตอนนี้แบรนด์จึงควรให้ความสำคัญกับการให้คุณค่า เน้นประโยชน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และทำให้ผู้ชมจินตาการภาพตนเองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆของคุณได้
ในขั้นตอนนี้มุ่งเน้นไปที่การวัดผลจาก
- Clicks : ในกรณีนี้จะหมายถึงจำนวนผู้คนที่คลิกองค์ประกอบในวิดีโอ โดยปกติจะเป็นส่วนที่นำพวกเขาไปยังลิงก์ภายนอก เช่นเว็บไซต์หรือหน้าเพจผลิตภัณฑ์ของคุณ ยิ่งผู้ชมดูวิดีโอของคุณนานเท่าใดพวกเขาก็จะมีส่วนร่วมกับเนื้อหามากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะคลิกมากขึ้นเท่านั้น
- Calls : วัดจากจำนวนการโทรเข้ามายังบริษัทหลังรับชมวิดีโอ ยิ่งเปอร์เซ็นต์การโทรเข้ามาสูงแสดงถึงความน่าสนใจของวิดีโอนั้นสูงด้วย
- Signups : การสมัครใช้งานแสดงถึงความสนใจของผู้ชมในการรับข้อมูลเพิ่มเติม คุณอาจขออีเมล์ชื่อเต็ม หมายเลขโทรศัพท์หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจคุณ ซึ่งเป็นรูปแบบของการรักษาลูกค้าที่มุ่งหวังที่จะซื้อสินค้า เพื่อการขายในอนาคต
- Sales : การขายจะเชื่อมโยงโดยตรงกับจำนวนผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณหลังจากดูวิดีโอ แต่โดยปกติแล้วยอดขายจะไม่เกิดขึ้นทันที ดังนั้นคุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ายอดขายมาจากการรับชมวิดีโอนี้จริง จากการติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้(Digital touchpoint) ที่เป็นไปได้มาทำการวิเคราะห์ต่อ
2. เลือกประเภทให้เหมาะสมกับเป้าหมาย
หลังจากที่เราตั้งเป้าหมาย รับรู้แล้วว่าวิดีโอที่จะจัดทำขึ้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร สิ่งที่จะต้องคำนึงถัดไปคือ การเลือกประเภทของวิดีโอให้เหมาะสมกับเป้าหมายนั้นๆ หลักการเลือกประเภทวิดีโอให้เหมาะสมกับเป้าหมายสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://bit.ly/video-marketing-ep02
กล่าวโดยสรุปสำหรับแนวทางการเลือกประเภทวิดีโอ
ประเภทวิดีโอสร้าง “Brand Awareness”
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่ต้องทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าเรามีตัวตน รับรู้ว่าแบรนด์เกี่ยวกับอะไร มีสินค้าบริการ รวมถึงค่านิยมแบบไหน ซึ่งประเภทที่เหมาะสมกับขั้นตอนนี้มีดังต่อไปนี้ค่ะ
- Brand Film : เป็นรูปแบบวิดีโอที่นำเสนอให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าของแบรนด์ รับรู้ว่าแบรนด์คืออะไร มีค่านิยมแบบไหน
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=PqsJGddjUUw
- Education / How to Video : เป็นวิดีโอให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของแบรนด์ ในรูปแบบที่ตรงกับความสนใจของลูกค้า และพวกเขานำไปใช้ได้จริงด้วย
ที่มา : https://youtu.be/El3IZFGERbM
- Animation Video : เป็นรูปแบบวิดีโอการ์ตูนแนะนำแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย เพลิดเพลิน และดึงดูดความสนใจ
ที่มา : https://vimeo.com/176584437
ประเภทวิดีโอที่ทำให้ลูกค้า “พิจารณาและตัดสินใจซื้อ”
ขั้นตอนนี้ ประเภทวิดีโอต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ต่อปัญหาที่ลูกค้าพบเจอได้ รูปแบบวิดีโอจะเอื้ออำนวยให้พวกเขารู้สึกมั่นใจที่จะซื้อสินค้า ซึ่งประเภทวิดีโอที่เหมาะสมมีดังต่อไปนี้ค่ะ
- Testimonial Video : คือรูปแบบวิดีโอรีวิว ผ่านการสัมภาษณ์ความรู้สึกลูกค้าผู้ที่เคยใช้สินค้าและบริการของเรา (เพื่อยืนยันว่าสินค้าและบริการดีอย่างไร)
ที่มา : https://youtu.be/N9JzLqzXSZ0
- FAQ Video : คือวิดีโอตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆที่ลูกค้ามีกับสินค้าและบริการของแบรนด์
ที่มา : https://youtu.be/mPF5lB2LCqA
- Demonstration /Instructions Videos : คือวิดีโอสาธิต แนะนำการใช้งานสินค้าและบริการ
ที่มา : https://youtu.be/0Ljm1_wvDQs
- UGC (User Generated Content) Video : คือวิดีโอคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้ใช้งานสินค้าและบริการนั้นๆเอง เป็นผลจากการชื่นชอบ และพึงพอใจในสินค้าของแบรนด์
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=UAxqf5ZAssw&feature=youtu.be
3. เลือกเวลาที่ใช่ตรงกลุ่มเป้าหมาย (Digital touchpoint)
ด้านบนคือรูปภาพตัวอย่างแสดงการวิเคราะห์ชีวิตประจำวันของลูกค้า ว่าในแต่ละวันมีกิจกรรมใดบ้าง ช่วงเวลาไหน ซึ่งคุณต้องวิเคราะห์ต่อถึงช่องทางที่พวกเขาใช้ระหว่างทำกิจกรรมนั้นๆในแต่ละวันด้วย
ถ้าหากยังไม่สามารถวิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจงได้ เราสามารถอ้างอิงจากภาพรวมพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของบุคคลทั่วไปเพื่อทดลอง วัดผล หาช่วงเวลาที่ลงวิดีโอคอนเทนต์แล้วให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจคุณต่อไปได้ค่ะ
ภาพด้านล่างคือตัวอย่างช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงคอนเทนต์ของแต่ละช่องทาง จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน การจะลงวิดีโอคอนเทนต์ใดๆ จึงควรเลือกช่องทางที่เหมาะสม รวมถึงเวลาต้องเหมาะสมกับช่องทางนั้นๆที่เราเลือกลงด้วยค่ะ ช่วงเวลาที่หยิบยกมานี้ คุณสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับธุรกิจของคุณได้ค่ะ
4. เพิ่มเติมเทคนิคเล็กๆที่คนทำวิดีโอคอนเทนต์ไม่ควรมองข้าม
ปิดท้ายกันด้วยเทคนิค ปัจจัยต่างๆที่นักทำวิดีโอคอนเทนต์ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อใช้ประกอบการทำวิดีโอคอนเทนต์ในแต่ละครั้งให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด
อย่าทำวิดีโอยาวจนเกินไป
นักการตลาดส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์ ต่างพูดในทางเดียวกันว่า “วิดีโอสั้นๆมักให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า” ในแง่ของ Engagement และ Conversion ซึ่งโดยปกติแล้ววิดีโอจะมีจำนวนผู้รับชมลดลงอย่างมากหลังจากเล่นวิดีโอผ่านไป 90 วินาที
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยาวของวิดีโอคอนเทนต์ที่เหมาะสมของแต่ละช่องทางก็มีความแตกต่างกัน เพราะพฤติกรรมในการรับชม การใช้โซเชียลมีเดียแต่ละช่องทางมีความต่างกัน เราจึงควรเลือกความยาวของวิดีโอให้เหมาะกับช่องทางนั้นๆด้วย ดังตัวอย่างด้านล่างค่ะ
สำหรับวิดีโอตัวอย่างที่น่าสนใจ เป็นของแบรนด์ Mom’s Touch ร้านขายเบอร์เกอร์ไก่ในเกาหลีใต้ ที่นำเสนอสินค้าไก่ทอดรสเผ็ดให้เข้าถึงลูกค้าได้ แม้วิดีโอจะมีความยาวเพียง 5 วินาทีเท่านั้น เนื้อหาวิดีโอเป็นเพียงแกะที่แสดงให้คุณเห็นว่าปีกไก่ของพวกเขานั้นเผ็ดจริงๆ
ที่มา : https://youtu.be/tpGrz0ByxGI
รักษาความสม่ำเสมอในการโพสวิดีโอคอนเทนต์
แม้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวิดีโอคอนเทนต์คือคุณภาพ และประโยชน์ของเนื้อหาวิดีโอ แต่ปัจจัยสำคัญรองลงมาที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความสม่ำเสมอ ยิ่งคอนเทนต์ที่เราแชร์บนโซเชียลมีเดียนั้นมีประโยชน์ เข้าใจง่ายจนผู้ชมผู้ติดตามชื่นชอบ พวกเขาก็จะคาดหวังที่จะเห็นคอนเทนต์อื่นๆตามไปด้วย จึงควรสร้างคอนเทนต์ที่ดีนี้อย่างสม่ำเสมอ
ความสม่ำเสมอในการโพสวิดีโอคอนเทนต์ในแต่ละช่องทางก็มีความแตกต่างกัน จำนวนการโพสวิดีโอคอนเทนต์ที่น้อยเกินไป หรือมากเกินไปนั้น เป็นสิ่งที่ธุรกิจควรหลีกเลี่ยง เราจึงควรเลือกลงวิดีโอในความถี่ที่พอเหมาะ ดังตัวอย่างด้านล่างค่ะ
ตัวอย่างที่ดีมากๆ สำหรับความสม่ำเสมอในการลงคอนเทนต์ คือ Tasty นอกเหนือจากเนื้อหาคอนเทนต์ที่ดี ให้ประโยชน์ในเรื่องของเทคนิคการทำอาหารน่ารับประทานต่างๆแล้ว ทาง Tasty ยังรักษาความสม่ำเสมอในการลงคอนเทนต์ด้วย ทำให้ผู้ชมที่คอยติดตามมั่นใจว่าจะได้รับคอนเทนต์ดีๆต่อไปอย่างแน่นอน และยินดีรอคอยที่จะชมวิดีโอถัดๆไปของพวกเขาอยู่เสมอค่ะ
เพิ่มเติม CTAs (Call to Action) ลงในวิดีโอด้วย
เนื่องจากเป้าหมายสำคัญสำหรับ Video Marketing คือการได้รับข้อมูลลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย(Lead) หรือการคลิกเข้าสู่เว็บไซต์เพื่อสั่งซื้อสินค้า(Action) เป้าหมายเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มี Call to action (CTAs) บนวิดีโอของคุณ
อีกสิ่งที่หลายธุรกิจมองข้ามคือ การวาง CTAs ไม่จำเป็นต้องวางท้ายวิดีโอ(หรือถัดจากตอนท้าย)เสมอไป เราสามารถทำให้ CTAs ปรากฏขึ้นภายใน 20 วินาทีแรกของวิดีโอก็ได้ เพื่อให้ผู้ชมวิดีโอสามารถคลิกได้ทุกเมื่อที่พวกเขารู้สึกถึงแรงจูงใจ
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=zs7xO5P3Az4
ตัวอย่างวิดีโอดังกล่าว เป็นมิวสิกวิดีโอที่ประสบความสำเร็จของ Coldplay ที่รับบริจาคและสนับสนุนการกุศลแคมเปญ Red Nose Day โดยวิดีโอนี้ใส่ Call to action ลงไปตั้งแต่ 10 วินาทีแรกเลยเพื่อสร้างการกระตุ้นแรก ต่อจากนั้นกระตุ้นการตัดสินใจถัดมาด้วยเสียง ก่อนที่จะจบมันด้วย Call to action อีกครั้ง
อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นของ Gary Vaynerchuk ที่ใช้รูปตัวการ์ตูนหมีน่ารักถือป้ายShare เป็น Call-to-action ของวิดีโอนี้ เพื่อกระตุ้นผู้คนให้อยากแชร์หลังดูวิดีโอจบ
เลือกใช้ Keyword ให้ตรงกับความต้องการของผู้ค้นหา
การสร้างวิดีโอคอนเทนต์ที่ดีเหล่านี้ จะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่มีใครเห็น ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างโอกาสให้คนพบเห็นวิดีโอคอนเทนต์ของเราให้มากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่เราโพสวิดีโอลงบน Search engine หรือแม้กระทั่งบนช่องทางโซเชียลมีเดีย เราจะต้องตั้งชื่อให้ชัดเจน และเลือกแท็กที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงเลือกใช้ keyword ที่ตรงกับคอนเทนต์เราและตรงกับคำที่ผู้คนสนใจค้นหามากที่สุด วิธีนี้จะช่วยให้การค้นหาเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของคุณได้ดีและรวดเร็วที่สุดค่ะ
ด้านบนเป็นตัวอย่างวิดีโอที่ตั้งชื่อชัดเจนว่าเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Tomato Pasta ทำให้เมื่อคนค้นหาคอนเทนต์เกี่ยวกับ Tomato Pasta ก็จะเข้ามาเจอวิดีโอนี้ได้ทันทีเลยค่ะ
กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่เราจะสามารถผลิตวิดีโอคอนเทนต์ที่ดีและตอบโจทย์เป้าหมายที่ต้องการได้ เราจะต้องตั้งเป้าหมายสำรวจความต้องการแท้จริงต่อวิดีโอคอนเทนต์นั้นๆก่อน เพื่อขั้นตอนถัดไปสามารถเลือกประเภทของวิดีโอที่เหมาะสมได้ และใช้ KPIs วัดผลวิดีโอที่ผลิตออกมาได้ตรงจุดประสงค์ที่สุด
ทีมงานหวังว่า บทความนี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ทำวิดีโอโดยตรงที่กำลังมีปัญหาจัดทำวิดีโอแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ รวมถึงนักการตลาดที่จำเป็นต้องมองภาพรวมของการทำ Video Marketing สามารถนำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อวางแผน ตรวจสอบวิดีโอที่เราผลิตออกมาว่ายังขาดสิ่งสำคัญตรงไหน หรือนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาให้วิดีโอคอนเทนต์เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจสูงสุดต่อไปได้อย่างไรค่ะ
แหล่งที่มา
https://www.smartinsights.com/digital-marketing-platforms/video-marketing/bring-content-marketing-to-life-with-videos/
https://www.lemonlight.com/blog/the-video-marketing-kpis-you-need-to-know/