User Generated Content (UGC) คืออะไร?
UGC ย่อมาจาก User Generated Content หมายถึง การที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ลงมือผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีการกล่าวถึงแบรนด์ ที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีความสนใจ โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างผู้บริโภคกลุ่มนี้เลย
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าของแบรนด์ The Horse แบรนด์สินค้าแฟชั่นทำจากหนัง ที่มีความดูดีมีสไตล์ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้านี้ไปแล้ว ลูกค้าก็มักจะถ่ายรูปสินค้าลงในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #thehorse
นี่แหละค่ะคือ User Generated Content (UGC) ที่ลูกค้าเล่าถึงแบรนด์เอง โดยที่แบรนด์ไม่ได้เสียเงินจ้าง ซึ่งตรงนี้เองเราสามารถนำมาทำการตลาดต่อได้ อย่างรูปด้านล่างที่ทางแบรนด์ The Horse รวบรวมรูปสินค้าสวยๆ ที่ลูกค้าเป็นผู้โพสต์ มาโปรโมทต่อใน IG Story เป็นต้นค่ะ
ที่มา : blog.hootsuite.com
ในยุคปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ได้ให้ความสำคัญ User Generated Content (UGC) เป็นอย่างมาก เพราะคนในยุคดิจิทัลนั้นมีการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดายและฉับไว ค้นหาทุกอย่างได้จากโทรศัพท์
ประกอบกับการที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือกับแบรนด์น้อยลง แต่จะให้ความเชื่อถือกับคนใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก หรือผู้บริโภคด้วยกันเอง รวมไปถึงเหล่า Influencer ที่ตัวเองติดตาม ซึ่งทำให้แบรนด์ต่างๆในยุคหลังๆต้องปรับกลยุทธ์ มีการจ้าง Influencer Blogger Celebrity ต่างๆ ในการ Review สินค้าหรือบริการของแบรนด์นั้นๆ
อย่างไรก็ตาม Influencer ในปัจจุบันนี้เริ่มมีเกลื่อนโลกโซเชียลเต็มไปหมด บางรายรีวิวตามความจริง แต่บางรายก็รีวิวอวยแบรนด์ตามที่พวกเขาถูกจ้างมา แต่ลูกค้ากลับค้นหาความจริงจากแบรนด์มากขึ้น ทำให้ User Generated Content ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ลูกค้าจริงสร้างขึ้นมาเองจากความพึงพอใจ มีผลต่อการตัดสินใจมากขึ้นค่ะ
ข้อดีของ User Generated Content (UGC)
- การที่ผู้บริโภคผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ถูกจ้างมานั้น ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น
- ลูกค้าได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์
- เพิ่ม Engagement ให้กับทางแบรนด์
- ประหยัดงบประมาณในการจ้าง Influencer เพราะลูกค้าของเราจะเป็น Influencer ให้แทน และคอนเทนต์ยังมีความเป็นธรรมชาติไม่ปรุงแต่งอีกด้วย
- ประหยัดเวลาในการทำคอนเทนต์ใหม่ๆ
- ช่วยลดงบประมาณในการทำ PR หรือ โฆษณา เพราะมีผู้บริโภคคอยกระจายข่าวสารให้
นอกจากนี้ การใช้คอนเทนต์ที่มาจากผู้บริโภค ยังเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรา สามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่องในระยะเวลานานอีกด้วย เพราะในโลกของดิจิทัล ธุรกิจใดที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าได้ ธุรกิจนั้นก็จะอยู่ได้นาน สร้างยอดขายเติบโตได้เรื่อยจากลูกค้าเดิมที่มั่นคงเหล่านั้นค่ะ
ประเภทของ User Generated Content (UGC)
โดยหลักๆ แล้ว UGC มักจะอยู่ในสามหมวดหมู่ใหญ่คือ ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ
ซึ่งสามารถแยกย่อยออกมาได้อีกเป็น
- Social Media Content : ทุกวันนี้มีคนถ่ายภาพ และแชร์ภาพหรือวิดีโอต่างๆ ลงบนโซเชียลจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดในนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือธุรกิจบางอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ เสื้อผ้า แฟชั่น โรงแรม สถานที่เที่ยว เมื่อใดก็ตามที่มีคนโพสต์ข้อความโซเชียลที่เกี่ยวกับคุณ ไม่ว่าจะเป็นทวีต หรือโพสต์ใน Facebook Instagram นั่นคือ UGC ทั้งหมด
ที่มา : www.instagram.com
- Reviews and Testimonials : รูปแบบนี้จะเป็นในลักษณะของการวิเคราะห์ วิจารณ์ ให้คะแนนว่าเป็นอย่างไร ดีหรือไม่อย่างไร มีทั้งรีวิวในแพลตฟอร์มของพวกเขาเอง หรือรีวิวในสื่อกลาง อย่างเช่น เครื่องสำอางที่มักรีวิวใน Jeban Pantip เป็นต้น
ที่มา : cosmenet
- Blog Posts : จะเป็นในลักษณะของบล็อกต่างๆ ที่มีการหยิบหรืออ้างอิงการใช้งานสินค้าและบริการของแบรนด์ ตัวอย่างเช่น หากสินค้าคุณคือลิปสติก เมื่อใดก็ตามที่บล็อกเกอร์ความงาม (ที่คุณไม่ต้องเสียเงินจ้าง) ใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณในการสอนแต่งหน้า ไม่ว่าจะเป็นในบล็อกโพสต์หรือวิดีโอนี่คือ UGC
ที่มา : rebeccakshores.com
***ในเนื้อหาหลังจากนี้เราจะขอใช้ตัวย่อ UGC แทนคำว่า User Generated Content ซึ่งเป็นชื่อเต็ม เพื่อให้บทความกระชับมากขึ้น
วิธีสร้าง UGC เพื่อเพิ่มยอดขาย
1. สร้างพื้นที่รีวิวและให้คะแนนจากลูกค้า
เนื่องจากผู้บริโภคสมัยนี้นิยมดูรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า การสร้าง UGC รูปแบบนี้จึงมีส่วนช่วยให้การตัดสินใจซื้อนั้นง่ายและเร็วขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรจะทำเลยก็คือ สนับสนุนให้ลูกค้าได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นในเว็บไซต์ หรือบนโซเชียลมีเดียของแบรนด์เอง รวมถึงชักนำให้พวกเขารีวิวสินค้าในช่องทางสาธารณะหรือบล็อกสาธารณะด้วย เช่น ถ้าเป็นแบรนด์เครื่องสำอาง คุณสามารถชักนำให้พวกเรารีวิวใน Cosmenet, Vanilla ซึ่งเป็นบล็อกสาธารณะที่มีการนำเสนอในเรื่องนี้ค่ะ
คุณสามารถชักจูงให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็น หรือให้คะแนนได้ โดยเสนอรหัสส่วนลดแลกเปลี่ยน หรือของขวัญเล็กๆน้อยๆจูงใจ และถ้าหากแบรนด์คุณได้ความคิดเห็นส่วนหนึ่งในเชิงลบ ก็อย่าเพิ่งน้อยใจ เพราะนี่ถือเป็นข้อมูลที่ดีให้แบรนด์เรานำไปปรับปรุงพัฒนาต่อให้ดีขึ้นได้
ตัวอย่างด้านล่างเป็นการสร้าง UGC โดยออกแบบหน้าสินค้าบนเว็บไซต์ ลูกค้าจะสามารถให้คะแนนและแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าชิ้นนั้นๆ ได้ เป็นประโยชน์ให้กับผู้เข้าชมสินค้าได้มีข้อมูลเพิ่มเติมในการตัดสินใจ รวมถึงถ้าสินค้าของเราดี ลูกค้ามีความประทับใจ รีวิวที่เกิดขึ้นก็จะดีตามมา ส่งผลโดยตรงให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์มากขึ้นด้วยค่ะ
ที่มา : https://www.smartinsights.com
2. สร้างแคมเปญการแข่งขัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เบื้องลึกของมนุษย์ทุกคนชอบการแข่งขัน หรืออีกมุมหนึ่งก็คือ ชอบความรู้สึกของชัยชนะ หรือการถูกยอมรับ วิธีนี้จึงเป็นอีกเทคนิคหนึ่ง ในการดึงลูกค้าให้เข้าร่วมเพื่อผลิต UGC ให้กับแบรนด์ได้
วิธีนี้มักจะถูกใช้กับแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ ลูกค้าคนใดถ่ายภาพสวยก็ได้นำไปโพสต์ลงในช่องทางของแบรนด์ รวมถึงได้รางวัลกลับไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น GoPro แบรนด์ดังในด้านกล้องและการถ่ายภาพ โพสต์เกือบทั้งหมดในโปรไฟล์ของพวกเขามักจะสร้างขึ้นจากผู้ใช้สินค้า Gopro จริงๆ ซึ่งรูปเหล่านี้ก็ได้มาจากแคมเปญการแข่งขันที่พวกเขาจัดขึ้น ดังแสดงในรูปด้านล่างนั่นเอง
ข้อดีของการใช้ UGC รูปแบบนี้ก็คือ เมื่อเป็นรูปแบบการแข่งขัน รูปภาพหรือวิดีโอที่ได้มา มักจะมีคุณภาพ มีความสร้างสรรค์ที่แตกต่าง รวมถึงเห็นแล้วสะดุดตากว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อแบรนด์มากๆ และ UGC จากลูกค้าที่มากมายและเจ๋งๆแบบนี้ ทำให้ Gopro เป็นอีกหนึ่งผู้นำในด้านอุปกรณ์ถ่ายภาพสาย Adventure ระดับโลกไปเลยล่ะค่ะ
ที่มา : www.instagram.com
แต่ใช่ว่า UGC จากการแข่งขันจะใช้ได้กับแบรนด์ที่เกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปได้เพียงอย่างเดียว เราสามารถนำมาปรับใช้ได้กับสินค้าหรือบริการหลายๆอย่างได้ เช่น แข่งขันถ่ายภาพสร้างสรรค์กับสินค้าของแบรนด์ ถ่ายภาพสวยงามกับโรงแรม ที่พัก สถานที่เที่ยว หรือสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจประเภทอาหารได้เช่นกัน
อย่างตัวอย่างด้านล่างของแบรนด์ Taco Bell ร้านอาหาร Fast Food ที่พวกเขาสร้างสรรค์ฟิลเตอร์วิดีโอใน Snapchat ของแบรนด์พวกเขาเองเป็นรูปอาหาร ซึ่งมีการประกวดแข่งขันกันในช่องทางโซเชียลมีเดีย ด้วยความตลก สนุกสนานทำให้ผู้คนถ่ายภาพและวิดีโอด้วยฟิลเตอร์นี้กันมากมาย รวมถึงแชร์ไปยังเพื่อนๆ ต่อๆ กันไปอีกด้วย ทำให้ฟิลเตอร์ดังกล่าวนี้มีผู้เล่นมากถึง 224 ล้านคน และเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ประสบความสำเร็จมากๆ ใน Snapchat ค่ะ
#listenupListenup @tacobell Even your Snapchat filter is upset by the lack of #lavasauce. Diablo sauce just doesn't cut it. #belltopay pic.twitter.com/zo8hGkMmnt
— The Bell Raiser (@bellraiser) October 31, 2017
ที่มา : https://twitter.com/i/status/925450592843116547
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่มีงบมากพอจะสร้างแคมเปญบน Snapchat จากตัวอย่างดังกล่าว คุณก็สามารถใช้การประกวดอื่นในช่องทางโซเชียลมีเดียได้ ไม่ว่าจะเป็น
- วิดีโอสอนใช้สินค้าที่สร้างสรรค์ที่สุด
- วิดีโอรีวิวสินค้าที่ดีที่สุด
- ภาพถ่ายสินค้าที่สวยที่สุด หรือสร้างสรรค์ที่สุด
โดยการแข่งขันนี้อาจจะใช้การติดแฮชแท็กเพื่อเข้าร่วมแคมเปญการแข่งขันขณะนั้น หรือใช้การแท็กชื่อแบรนด์โดยตรงก็ได้ แล้วแต่การตัดสินใจของผู้ทำสร้างแคมเปญค่ะ
หลังจากที่คุณคิดหัวข้อแข่งขันได้แล้ว ก็ลองพิจารณาสิ่งจูงใจ หรือข้อเสนอดีๆให้ลูกค้าอยากมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัล ส่วนลด ของขวัญ เพื่อดึงดูดใจให้พวกเขาเข้าร่วมค่ะ
3.สร้างแฮชแท็กของคุณเองขึ้นมา
แฮชแท็กเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญๆ ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ในปัจจุบันที่เราจะต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาที่มากขึ้น เพื่อให้ผู้คนหรือผู้ติดตามมองเห็นคอนเทนต์ของเราได้
แฮชแท็กยอดนิยม ซึ่งตรงกับสินค้าและบริการของแบรนด์ จะมีส่วนช่วยให้คนที่กำลังค้นหาสิ่งนั้นๆ อยู่ มีโอกาสเจอแบรนด์ของเราได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าแบรนด์ของคุณอยากโดดเด่นและมีตัวตน คุณควรสร้างแคมเปญและแฮชแท็กที่ไม่เหมือนใครของตัวเองขึ้นมา สิ่งนี้จะช่วยให้คุณค้นหา UGC ที่เกิดจากลูกค้าเพื่อนำไปใช้งานต่อได้ง่ายขึ้น เพราะแฮชแท็กเป็นเหมือนแหล่งของ UGC ที่ทางแบรนด์เอง และลูกค้า สามารถเข้ามาค้นหารีวิวภาพจริงเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านการเสิร์ชด้วยแฮชแท็กนั้นๆ ค่ะ
ดังตัวอย่างด้านล่าง ที่ทางแบรนด์ Wayfair บริษัทจำหน่ายและให้คำปรึกษาการตกแต่งบ้าน สร้างแฮชแท็กของตนเองขึ้นมากับแคมเปญ #WayfairAtHome แบ่งปันรูปถ่ายของลูกค้าในบ้านของพวกเขาเอง จากฝีมือของแบรนด์ หรือเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ รูปภาพทั้งหมดนี้เกิดจากการอัปโหลดโดยลูกค้าเองผ่านแฮชแท็ก ซึ่งตอนนี้ถูกนำมาใช้มากกว่า 30,000 ครั้งบน Instagram แล้ว
ที่มา : www.sendible.com
อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นของแบรนด์ Sugar Bear Hair แบรนด์ผลิตภัณฑ์วิตามินบำรุงผมและเล็บในรูปแบบเยลลี่ พวกเขาสร้างแฮชแท็กของแบรนด์ตัวเองขึ้นมาเช่นเดียวกันคือ #sugarbearhair ดังที่เห็นในรูป เป็นช่องทางให้ผู้ใช้สินค้าถ่ายภาพอัปเดตตนเองกับสินค้า ว่าเคยทานแล้วนะ ใช้แล้วผมดีขึ้น ผมหนาขึ้น รวมถึงแบ่งปันวิธีการทานวิตามินรูปแบบต่างๆ ที่สร้างสรรค์ ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้แฮชแท็กนี้อยู่กว่า 130,000 คนเลยล่ะค่ะ
ที่มา : www.sendible.com
คุณสามารถเริ่มสร้างแฮชแท็กเพื่อสร้าง UGC ได้โดย
- คิดแฮชแท็กที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งรวมชื่อแบรนด์ของคุณลงไปด้วย
- โปรโมทแฮชแท็กคุณในช่องทางโซเชียลมีเดีย
- สนับสนุนให้ลูกค้าใช้แฮชแท็ก โดยอาจจะแทรกเชิญชวนในอีเมลยืนยันการสั่งซื้อ เป็นต้น
- คอยติดตามแฮชแท็กที่เราสร้างขึ้นมาเสมอๆ เพื่อเก็บบันทึก รูปภาพ วิดีโอ ที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในโซเชียลมีเดียของแบรนด์ต่อได้
4.สร้างแคมเปญเฉพาะบุคคล (Personalized) ขึ้นมา
Personalized Marketing เป็นการตลาดที่กำลังเป็นที่นิยมมากๆ ในตอนนี้ หลายบริษัทพยายามทำให้ สินค้าและบริการของตนเอง ตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Netflix ที่จัดหมวดหมู่ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ให้ตรงพฤติกรรมลูกค้าแต่ละคน Amazon ที่นำเสนอสินค้าหน้าแรกตามพฤติกรรมการซื้อและความสนใจของแต่ละคน การตลาดแบบเฉพาะเจาะจงนี้สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ดี และยังช่วยนำเสนอสินค้าที่ตรงความต้องการมากขึ้น ยอดขายก็เพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกัน แคมเปญที่เป็น Personalized นี้ ก็ผลักดันให้ลูกค้าอยากบอกต่อ แบ่งปันในโซเชียลมีเดียกลายเป็น UGC ให้กับเราได้ด้วยเช่นกัน
ดังตัวอย่างของ Coca-Cola ในแคมเปญ #ShareACoke ซึ่งขวดผลิตภัณฑ์ติดฉลากที่แตกต่างกันไว้ ให้ลูกค้าเลือกข้อความตามที่ตนเองชอบ ซึ่งแคมเปญดังกล่าวทำให้เกิด UGC ขึ้นมากมาย ลูกค้าถ่ายภาพสินค้า พร้อมบรรยายเหตุการณ์ของแต่ละคนลงในโซเชียลมีเดีย ถือเป็น UGC ที่โปรโมทสินค้าได้เป็นอย่างดี ใครเห็นก็ต้องอยากไปลองซื้อขวดที่มีข้อความนี้กันบ้างใช่ไหมคะ
ที่มา : Brandsynario
ที่มา : twitter.com/RyanTrabuco/status/
ที่มา : www.instagram.com
แนวทางการนำ UGC ไปใช้กับธุรกิจ
หลังจากที่เรารู้แนวทางการสร้าง UGC ขึ้นมาแล้ว ต่อมาเป็นการนำ UGC เหล่านั้นไปใช้งานกับการตลาด ซึ่งประกอบไปด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
1. นำรูปภาพ UGC ไปใช้แสดงบนเว็บไซต์
อย่างที่ได้เคยกล่าวไปว่า รูปภาพจากผู้ใช้งานจริง มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะภาพถ่ายสินค้าธรรมดาเพียงอย่างเดียว ผู้ชมอาจจะไม่เห็นภาพว่า ถ้าใช้ในสถานการณ์จริงจะเป็นอย่างไร การนำรูปภาพ UGC มาไว้บนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของการซื้อขาย จึงเป็นตัวช่วยให้ผู้เข้าชมเว็บตัดสินใจซื้อได้มากขึ้นค่ะ
ดังตัวอย่างด้านล่างของ MVMT แบรนด์แฟชั่นเครื่องดับอย่างนาฬิกา แว่นตา จิวเวลรี่ เว็บไซต์ของพวกเขารวบรวมรูปถ่ายจากลูกค้าใน Instagram เก็บไว้เป็นหมวดหมู่หนึ่งชื่อ “SHOP OUR INSTAGRAM” บนเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งผู้เข้าชมเว็บสามารถเลื่อนดูรูปที่ลูกค้าใส่ในชีวิตจริงได้ รวมถึงถ้าอยากซื้อก็สามารถกดซื้อได้ทันทีจากรูปถ่ายเหล่านี้ด้วย
ที่มา : MVNT Website
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นของ Sigma แบรนด์เครื่องสำอางค์ชั้นนำ ที่รวบรวมรูปภาพของลูกค้าที่ใช้งานสินค้าเอาไว้บนเว็บไซต์ เมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อ ก็จะเห็นการใช้งานเครื่องสำอางค์นั้นจริงๆ ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร ผ่านผู้ใช้เหล่านี้ค่ะ
ที่มา : insights.newscred.com
2. นำไปโพสต์บนโซเชียลมีเดียโปรไฟล์
เป็นอีกหนึ่งวิธีการยอดนิยมของแบรนด์ต่างๆ ที่จะนำภาพที่สร้างขึ้นจากลูกค้าเอง มาโพสต์อีกครั้งบนโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของแบรนด์ ให้ลูกค้ารู้สึกถึงการใช้งานได้จริง ใกล้เคียงกับชีวิตจริง มากกว่ารูปภาพ หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ถ่ายจากมืออาชีพ แล้วเกินจริงไปสำหรับพวกเขา
ดังตัวอย่างของ Garmin แบรนด์ที่โด่งดังในอุตสาหกรรมด้านกิจกรรมกลางแจ้ง และฟิตเนส พวกเขามีโปรไฟล์อินสตาแกรมเฉพาะที่ชื่อว่า Garmin Outdoor ซึ่งมีไว้โพสต์ UGC หรือคอนเทนต์ที่มาจากลูกค้าโดยเฉพาะ อีกทั้งเสริมทัพด้วยแฮชแท็ก #GarminPro เพื่อให้ผู้ที่สนใจสินค้าของแบรนด์ สามารถดูการใช้งานจากลูกค้าคนอื่นๆ ได้ในช่องทางนี้เลย ซึ่งผลักดันการตัดสินใจซื้อได้ดีมากๆค่ะ
ที่มา : Instagram
3. นำรีวิวมาเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายสินค้า
เนื่องจาก UGC มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ การนำคอนเทนต์ที่มาจากลูกค้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น ภาพการใช้งาน หรือวิดีโอรีวิว มาใช้ประกอบกับรูปสินค้า และคำบรรยาย มีส่วนช่วยให้ผู้ชมเห็นภาพการใช้งานจริงมากขึ้น ประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น ส่งผลให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นด้วยค่ะ
ดังตัวอย่างด้านล่างของแบรนด์ BOOM by Cindy Joseph แบรนด์ด้านเครื่องสำอาง ที่นำความคิดเห็นของลูกค้า วางไว้เหนือคำบรรยายสินค้าของแบรนด์ มีใจความบ่งบอกว่าใช้สินค้าชิ้นนี้แล้ว มีแต่คนทักว่าไปทำอะไรมาถึงเปล่งปลั่ง สดใส เพื่อดึงดูดใจผู้ชมในช่วงต้น รวมถึงยังมีการนำ Video Testimonial มาประกอบสินค้าชิ้นนั้นๆ ด้วยค่ะ
ที่มา : Boom Website
4. นำวิดีโอรีวิวมาแสดงในหน้า Homepage ของเว็บไซต์
วิดีโอรีวิว เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ UGC ที่ลูกค้าบอกเล่าความประทับใจที่มีต่อแบรนด์ วิดีโอที่มาจากเสียงผู้ใช้จริง แน่นอนว่าจูงใจให้ผู้ชมคนอื่นๆสนใจในสินค้าและบริการได้ดี ซึ่งคุณสามารถนำวิดีโอจากลูกค้าจริงเหล่านั้นมานำเสนอไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ได้ ดังรูปภาพจากแบรนด์ BioClarity แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่แสดงด้านล่างค่ะ
ที่มา : BioClarity
และนี่คือสิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับ User Generated Content (UGC) ไม่ว่าจะเป็นความหมาย ข้อดี วิธีการสร้าง รวมถึงการนำไปใช้กับการตลาดของคุณด้วย
ที่มา
https://stepstraining.co/content/user-generated-contenthttps://stepstraining.co/content/user-generated-content
https://crowdriff.com/resources/blog/what-is-user-generated-content
https://www.sendible.com/insights/user-generated-content-for-clients
https://www.relevance.com/how-to-boost-your-brand-with-user-generated-content/
https://grin.co/blog/user-generated-content/
https://insights.newscred.com/10-ideas-for-getting-more-user-generated-content/