แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดของการทำการตลาดออนไลน์คือ “ยอดขาย” ซึ่งการเขียน Copywriting หรือการเขียนคำโฆษณา เป็นอีกวิธีการที่จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายนี้ได้ แต่ถ้าหากวันนี้ Copywriting ของคุณยังไม่สามารถช่วยให้ปิดการขายได้อย่างที่ตั้งใจ ลองตรวจสอบดูก่อนหรือไม่ว่า
คุณได้ละเลยข้อผิดพลาดในการเขียน Copywriting เหล่านี้อยู่หรือเปล่า?
ข้อผิดพลาดที่ 1 : พูดถึงแต่ “คุณสมบัติ” แต่ลืมบอก “ประโยชน์” ของสินค้า
สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเรียนรู้เอาไว้เลย เมื่อเราเป็นนักการตลาด หรือนักเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้า นั่นก็คือ “Features” และ “Benefits” ของสินค้าจริงๆแล้วต่างกัน!
Features คือคุณสมบัติที่สินค้านั้นมี เป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของผลิตภัณฑ์เช่น แบตเตอรี่สำรอง มีความจุ 10,000 mA, เครื่องเล่น Mp3 มีความจุ 1GB เป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้รับชมก็ไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีว่า ฟีเจอร์เหล่านี้มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ, การใช้งานจริง, ที่จับต้องได้จริงๆ เป็นอย่างไร
ในทางกลับกัน Benefits หรือประโยชน์ของสินค้า จะอธิบายผลลัพธ์ที่ผู้ใช้จะได้จากการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา ซึ่งนั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้คนซื้อสินค้า เพราะเห็นภาพที่ชัดเจนต่อการใช้งานจริงมากกว่า
ที่มา : Help Scout
ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนระหว่าง Feature และ Benefit
- Feature : MP3 รุ่นนี้สามารถจุได้ถึง 1GB
ถ้าเขียน Copywriting โดยระบุแต่คุณสมบัติแบบนี้ บางคนอาจจะประเมินได้ แต่บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าความจุ 1 GB นี้มากน้อยยังไง หรือสามารถจุเพลงได้เป็นจำนวนเท่าไหร่
- Benefit : สามารถบรรจุเพลงได้ถึง 1,000 เพลง
เป็นวิธีที่ดีกว่าถ้าเราอธิบายประโยชน์ของ MP3 นี้เลยว่า สามารถบรรจุเพลงได้ถึง 1,000 เพลง ซึ่งทุกคนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า สินค้าชิ้นนี้บรรจุเพลงได้เยอะ ทันทีที่ได้เห็นคำอธิบายสินค้าค่ะ
ข้อผิดพลาดที่ 2 : ไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
เมื่อเราไม่เข้าใจ หรือไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง นั่นจะส่งผลให้เราเขียน Copywriting ไปยังกลุ่มคนที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ใช่เป้าหมายที่จะซื้อสินค้า
ตัวอย่างเช่น หากเราขายรถสำหรับครอบครัว เราอาจคิดไปเองก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนตัดสินใจซื้อ จะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวแน่ๆ นั่นก็คือ “พ่อ” นั่นเอง จึงทำให้เลือกใช้โทนเสียงของการเขียนโฆษณา ที่สื่อถึง “พ่อ” หรือฝ่ายชายเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลล่าสุดก่อนว่า จริงๆแล้ว 82% ของการตัดสินใจสุดท้ายเวลาซื้อรถครอบครัว เป็นการตัดสินใจของ “แม่” มากกว่า ดังนั้นทางที่ดีที่สุด กลุ่มเป้าหมายของรถครอบครัวควรจะครอบคลุมโทนของการโฆษณาให้เข้าถึงได้ทั้งพ่อและแม่
ดังนั้นถ้าหากเราเขียนเฉพาะเจาะจงถึง พ่อ เพียงอย่างเดียว เราอาจกำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่อยู่ก็เป็นได้ค่ะ
“Content จะดีได้อย่างไร ถ้าสื่อสารออกไปไม่ถูกกลุ่ม”
ดังเช่นกรณีที่ยกตัวอย่างไป ถ้าเราเขียนโฆษณาถึงฝ่ายชาย หรือคุณพ่อเพียงอย่างเดียว เราอาจจะโฟกัสไปที่โทนความรู้สึกแข็งแกร่ง เสนอจุดเด่นที่ความทนทาน เร็วแรงของสมรรถนะรถ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนตัดสินใจสุดท้ายคือแม่ แต่ถ้าเราศึกษาหาข้อมูลอย่างดีมาก่อน เราอาจจะนำเสนอสินค้าโดยเน้นที่ประโยชน์การใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆในรถ ว่ามีหน้าจอมองหลัง ช่วยในการถอยรถได้ง่ายขึ้น เบาะกว้างสบายมีสมาชิกหลายคนก็ไม่อึดอัด ระบบเบรคปลอดภัย ไม่ว่าใครก็ขับสบาย ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจซื้อรถของคุณแม่ หรือรถครอบครัวมากกว่า จึงทำให้มีโอกาสขายสินค้าได้มากกว่า ถ้าหากนำเสนอในจุดนี้
ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มเขียน Copywriting หรือเขียนคอนเทนต์ใดๆก็ตาม ควรหาข้อมูลให้ถูกต้อง แน่ใจเสียก่อนว่า เรากำลังจะเขียนถึงใคร คนที่จะซื้อสินค้าของเราจริงๆเป็นใคร มีพฤติกรรมการซื้อเป็นอย่างไร ให้แน่ชัดก่อนค่ะ
ที่มา : ifunny.com
ข้อผิดพลาดที่ 3 : ลืมคำนึงถึง SEO
ดังที่เราทราบว่าเว็บไซต์ได้กลายเป็นช่องทางจำเป็นไปแล้วในปี 2019 นี้ สังเกตได้จากสถิติดังรูปด้านล่าง ที่ Google ยังคงเป็นช่องทางการค้นหาอันดับ 1 สำหรับคนไทยอยู่
ที่มา : Hootsuite
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่อง SEO เวลาที่เราเขียน Copywriting หรือเขียนบทความบนเว็บไซต์ด้วย ซึ่งตัวแปรสำคัญของการเชื่อมโยงการเขียนคอนเทนต์ กับ SEO โดยตรงเลยนั่นก็คือ “Keyword” หรือคำที่กลุ่มเป้าหมายเราใช้ค้นหานั่นเอง
“Keyword” นี้ สามารถนำมาใช้กับการเขียน Headline ของบทความ เนื้อหาของบทความ ยิ่งถ้าเรามีข้อมูล คือรู้ว่าคีย์เวิร์ดใดที่คนใช้ค้นหามากที่สุดและตรงกับสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ แล้วนำมาใช้ในการเขียน ข้อมูลนี้ก็จะมีประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ (Traffic) ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่พวกเขาจะเข้ามาเห็นสินค้า และบริการของเรามากขึ้นค่ะ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการที่พักในพัทยา เมื่อค้นหาคีย์เวิร์ดง่ายๆด้วย Google Search จะเห็นว่าคำค้นหาที่ฮิตที่สุดคือ “ที่พักพัทยา” แต่คำที่กว้างเกินไปแบบนี้ มีโอกาสยากมากที่เว็บไซต์เราจะติดอันดับแรกๆในการค้นหา ลองดูคีย์เวิร์ดที่คนค้นหาเยอะเหมือนกันแต่เจาะจงมากกว่า และใกล้เคียงกับบริการของเรามากที่สุดอย่าง “ที่พักพัทยา ติดทะเล ราคาถูก” เป็นคีย์เวิร์ดที่ตรงกับเรา และมีการค้นหาสูงด้วย คีย์เวิร์ดนี้ถ้านำไปใช้กับการเขียน Headline หรือบทความในเว็บไซต์ ก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่คนค้นหา แล้วจะเจอเว็บไซต์ของเราได้ง่ายมากขึ้นค่ะ
ภาพการค้นหาคีย์เวิร์ดง่ายๆ ผ่าน Google Search
ข้อผิดพลาดที่ 4 : ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานบนมือถือ
จากสถิติตามรูปภาพด้านบนจะเห็นว่า มีคนไทยถึง 71% ที่มีบัญชีโซเชียลมีเดียบนมือถือ หรือเล่นโซเชียลผ่านมือถือ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
รวมถึงวัยผู้ใหญ่ในไทยที่ใช้ Smart Phone กันมากถึง 71% เป็นตัวการันตีว่า การทำคอนเทนต์ของเราไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม ควรรองรับการรับชมบนมือถือด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ค่า Bounce Rate อัตราการเข้าชมเว็บไซต์แล้วออกเลย บนมือถือนั้นสูงกว่าค่าที่รับชมบนคอมพิวเตอร์ นั่นแสดงว่ามีคนเข้าชมเว็บไซต์ผ่านมือถืออยู่ แต่หลายธุรกิจไม่ทำเว็บไซต์ รวมถึงคอนเทนต์ให้รองรับกับการรับชมผ่านมือถือด้วย หลายๆครั้งจึงเสียโอกาสในการทำยอดขายไปง่ายๆ จากการพลาดเรื่องนี้เพียงนิดเดียว
ข้อควรปฏิบัติเพื่อเขียนคอนเทนต์ให้เหมาะต่อการใช้งานบนมือถือ
- Headline ต้องสั้นกระชับ
- คำที่ใช้ในบทความควรง่ายและสั้น
- ใช้ Bullet Point เพื่อให้การอ่านเลื่อนขึ้นลงบนมือถือดูง่ายขึ้น
- ใช้รูปภาพแทนคำอธิบายบ้าง
- มีการเว้นช่องไฟ หรือช่องวางของเนื้อหา เพื่อไม่ให้การเลื่อนอ่านรกสายตาเกินไป
- ขนาดมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือวิดีโอ ต้องไม่ใหญ่เกินไป จนส่งผลให้การเปิดโหลดบนมือถือนั้นช้า
ตัวอย่างหน้าเพจเว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานบนมือถือ
ที่มา : mobirise.com
ที่มา : mobirise.com
ที่มา : mobirise.com
ข้อผิดพลาดที่ 5 : ขาด Call to Action (CTA)
เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่หน้าเว็บไซต์หลายที่ไม่มีการใส่ Call to Action (CTA) คุณลงมือทำงานหนักทุกอย่างผ่าน Copy หรือโฆษณาเพื่อดึงให้พวกเขาเข้ามายังเว็บไซต์แล้ว อย่าลืมนำทางต่อไปยังจุดสุดท้ายของเป้าหมายที่ต้องการ ด้วย Call to Action (CTA)
ตัวอย่างเช่น การกรอกแบบฟอร์มการติดต่อ หรือลงทะเบียนข้อมูล การมี CTA จะทำให้พวกเขารู้ว่าลำดับถัดไปจะต้องทำอะไร ถ้าเราเขียน Copy ดีแล้ว ดึงพวกเขาเข้ามาได้แล้ว แต่พอเข้ามาถึง ต้องสับสนไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรหรือติดต่อเรายังไง เราอาจจะสูญเสียลูกค้าไปอย่างน่าเสียดายมากๆเลยค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมี CTA แล้ว แต่กลับไม่ดึงดูดพอที่ทำให้อยากคลิก นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจเช่นกัน ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำทั่วๆไปอย่าง “คลิกที่นี่” “ลงทะเบียน” แต่ให้ใส่คำดึงดูดเพิ่มเติม เช่น “คลิกรับสิทธิพิเศษฟรีทันที” “รับข้อมูลฟรีทันที” เป็นต้น
ตัวอย่าง Call to Action
1.Neflix : Join free for month ระบุชัดเจนเลยว่า รับชมฟรีนะ เป็นเวลา 1 เดือน ลองคิดว่าถ้า Neflix ใช้คำธรรมดาๆอย่าง “Sign up free” คงไม่น่าดึงดูดเท่านี้ใช่ไหมล่ะคะ
ที่มา : Netflix
2.DesignCuts : แตกต่างอย่างชัดเจน มีการใช้เทคนิคแสดงราคาส่วนลดใน CTA อีกครั้ง ให้เห็นตอนคลิกกันไปเลยว่า คลิกแล้วลดราคาไปเยอะเท่านี้เลยนะ ใครเห็น CTA นี้ โดยเฉพาะสาวๆคงต้องพ่ายแพ้ต่อส่วนลดนี้แน่ๆเลยค่ะ
ที่มา : DesignCuts
เสริมเทคนิคเพิ่มเติม
เราสามารถนำหลักการ “FOMO” หรือ “Fear of Missing Out” มาปรับใช้กับการเขียน Copywriting รวมถึงปรับใช้กับปุ่ม CTA ได้ เป็นเทคนิคหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้รับชม เห็นแล้วรู้สึกพลาดไม่ได้ที่จะต้องรีบซื้อ ต้องคลิก ซึ่งมีเทคนิคดังต่อไปนี้
อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ > เขียน Copywriting ให้คนตัดสินใจซื้อ ด้วยเทคนิค “FOMO”
https://stepstraining.co/content/fomo-copywriting-for-convert-example
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มีข้อไหนที่เราเผลอละเลยกันไปบ้างหรือเปล่า สำหรับบทความนี้ทีมงานหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังเขียน Copywriting อยู่ อยากให้บทความนี้เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยตรวจสอบการเขียนของเราว่า ยังมีอะไรที่ต้องปรับปรุง หรือพัฒนาหรือไม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจที่ผู้อ่านทุกคนต้องการต่อไปได้ค่ะ
และถ้าหากผู้อ่านท่านใดอยากพัฒนาทักษะในการเขียนคอนเทนต์ด้านอื่นๆแบบครอบคลุม สามารถสมัครเรียนคอร์สเจาะลึกด้านคอนเทนต์ได้ที่หลักสูตร Digital Content Marketing ตามลิงก์นี้ได้เลยค่ะ https://stepstraining.co/digital-content-marketing
ที่มา
http://www.alexcattoni.com/the-5-biggest-copywriting-content-writing-mistakes-that-are-killing-your-online-business/
https://www.relevance.com/10-copywriting-mistakes-to-avoid/
https://www.crazyegg.com/blog/common-copywriting-mistakes/
https://www.copyblogger.com/conversion-copywriting-mistakes/